- หลังจากที่ Who ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ เนื่องจากพบการระบาดหนักของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ในทวีปแอฟริกา ล่าสุดเริ่มทยอยพบการระบาดของเชื้อมายังภูมิภาคเอเชียแล้ว และยังพบเคสแรกในไทยด้วย ทำให้ต้องเร่งทำความรู้จักกับโรคนี้เพื่อป้องกันตัวเอง และคนใกล้ชิด จากโรคร้ายอย่างถูกวิธี
- ฮานส์ คลูก ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปขององค์การอนามัยโลก ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า ฝีดาษลิง(Mpox) นั้น ไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือเก่า ไม่ได้รุนแรงเหมือนกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รู้วิธีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคแล้ว แต่ก็ยากที่จะหยุดกระแสความตื่นตระหนกที่ยังคงเกิดขึ้นไปทั่วโลก
เรารู้อะไรเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง หรือ MPOX บ้าง
องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากพบการระบาดหนักของเชื้อสายพันธุ์ใหม่ในทวีปแอฟริกา ขณะที่ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหภาพยุโรปยอมรับว่า มีแนวโน้มที่จะพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในยุโรป
ขณะที่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขสำหรับโรคร้ายแรงเป็นครั้งแรก หลังพบการระบาดอย่างหนักของโรคนี้
นับว่าครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ นับตั้งแต่ พบการระบาดครั้งแรกทั่วโลกในปี 2022
ล่าสุดสถานการณ์ในเวลานี้พบว่าไวรัสฝีดาษลิงดังกล่าว ได้แพร่ระบาดออกไปนอกคองโกไปยังประเทศอื่นๆ ในทวีปแอฟริกาแล้ว โดยยังพบเป็นครั้งแรกทั้งในสวีเดน และปากีสถานด้วย
...
โรค MPOX คืออะไร?
โรค MPOX เดิมทีเรียกกันว่าเป็นโรคฝีดาษลิง โดยตรวจพบโรคนี้ครั้งแรกในคองโก เมื่อปี 1970 โดยจนถึงขณะนี้พบแล้ว 2 สายพันธุ์ได้แก่ clade 1 และ clade 2
โดยเชื้อสายพันธุ์ clade 1 เป็นโรคประจำถิ่นในลุ่มน้ำคองโกในแอฟริกากลางมานานหลายทศวรรษ ขณะที่สายพันธุ์ clade 2 ที่มีความรุนแรงน้อยกว่าได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาตะวันตก
Mpox สามารถระบาดจากคนไปสู่คนผ่านการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสร่างกายแบบใกล้ชิด โดยผู้ติดเชื้อจะมีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และมีแผลที่ผิวหนังเป็นลักษณะหนังโป่งพองขึ้นมา
ไวรัสดังกล่าวเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในเดือนพฤษภาคมปี 2022 เมื่อสายพันธุ์ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตน้อยกว่าที่เรียกว่า clade 2b ได้แพร่กระจายไปทั่วโลก โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอยู่ในกลุ่มชายรักชาย
โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกชี้ว่าในช่วงระหว่างเดือนมกราคมปี 2022 และมิถุนายน 2024 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากฝีดาษลิง208 ศพ และมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 99,000 รายใน 116 ประเทศทั่วโลก
มีข้อมูลอะไรใหม่บ้าง?
การระบาดระลอกล่าสุดเป็นสายพันธุ์ clade 1 อันตรายที่มีโอกาสเสียชีวิตมากขึ้น เพราะมีการกลายพันธุ์แล้ว โดยสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า clade 1b ถูกพบครั้งแรกในกลุ่มผู้ขายบริการในคองโก เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว (2023)
ขณะที่สัปดาห์นี้ที่สวีเดน มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อรายแรกนอกแอฟริกา ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขของสหภาพยุโรปต้องแจ้งเตือนไปยังชาติสมาชิกให้ยกระดับการเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาด ขณะที่ปากีสถานเป็นประเทศที่พบผู้ป่วยสายพันธุ์ใหม่รายแรกในทวีปเอเชีย
ไบรอัน เฟอร์กูสัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ระบุว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่การเดินทางระหว่างประเทศไปมาหาสู่กัน จะทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อมาถึงยุโรปได้ และมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดมากขึ้นในยุโรป หรือที่ต่างๆ เพราะในปัจจุบันนี้ก็ยังไม่มีเครื่องมือใดที่จะสกัดกั้นการระบาดข้ามประเทศเข้ามาของเชื้อ MPOX ได้
ใครเสี่ยงได้รับผลกระทบบ้าง?
เชื้อไวรัส MPOX สายพันธุ์ Clade 1 เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้โรคนี้มีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยในระยะหลังสามารถติดต่อกันโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ติดต่อกันจากการเล่นกันที่โรงเรียน โดยเชื้อสายพันธุ์ Clade 1b มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 3.6 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเด็กทารกและเด็กเล็กจึงกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด
...
ประเทศใดบ้างที่มีความเสี่ยง?
จำนวนเคสผู้ป่วย MPOX ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มีมากกว่าเคสตลอดทั้งปี 2023 แล้ว โดยเคสส่วนใหญ่อยู่ในประเทศคองโก โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วถึง 548 ศพในปีนี้ และในช่วงเดือนที่ผ่านมา ก็เริ่มพบการระบาดในประเทศบุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ส่วนประเทศไนจีเรียก็พบผู้ป่วยแล้ว 39 เคส แต่อาการไม่รุนแรง
มีวัคซีนป้องกันหรือไม่?
ในช่วงที่ฝีดาษลิงมีการระบาดในปี 2022 ก็เริ่มมีการใช้วัคซีนทั้งในยุโรป และอเมริกาเหนือในการควบคุมการระบาดบ้างแล้ว
แต่วัคซีนยังไม่ได้แพร่หลาย หรือแจกจ่ายไปยังประเทศในทวีปแอฟริกาที่เป็นพื้นที่การระบาดหลักแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด หน่วยงานสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าจะบริจาควัคซีนจำนวน 50,000 โดสไปยังคองโก
ขณะที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของแอฟริกา ได้บรรลุข้อตกลงกับสหภาพยุโรป และบาวาเรียน นอร์ดิก บริษัทยาสัญชาติเดนมาร์กแล้วว่า จะมีการแจกจ่ายวัคซีนจำนวน 200,000 โดส ไปยังภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งแม้ว่าจำนวนดังกล่าวจะยังไม่เพียงพอ แต่แอฟริกาคาดว่า จะสามารถจัดหาวัคซีนได้เพิ่มอีกราว 10 ล้านโดสเร็วๆ นี้ โดยทางบริษัทยา บาวาเรียน นอร์ดิก แถลงว่า ทางบริษัทจะยื่นขออนุมัติ ให้สามารถใช้วัคซีน MPOX ในเด็กอายุระหว่าง 12-17 ปี เพื่อเร่งควบคุมการระบาดให้เร็วยิ่งขึ้น
...
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา :channelnewsasia , BBC
คลิกอ่านข่าวเกี่ยวกับ ฝีดาษลิง