คุยกับ เจ้าของพอดีฟาร์ม ข้าวญี่ปุ่น เบื้องหลัง เป็นแรงงานไทย ไปทำเกษตรที่ญี่ปุ่น ก่อนกลับมาปลูกในไทย เผยเคล็ดลับทุกขั้นตอน รายได้งาม...
เวลานี้ ข้าวหอมมะลิของไทย กิโลกรัมละ 35-45 บาท แต่สำหรับ นายเสกสรรค์ โพธิสาร เจ้าของพอดีฟาร์ม ข้าวญี่ปุ่น อุดรธานี เลือกที่จะปลูกข้าวญี่ปุ่น ขายกิโลกรัมละ 100 บาท เรียกว่า "แตกต่าง" อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเจ้าตัวเรียกว่า "ทำน้อย ได้มาก" กับงาน "เกษตรประณีต" บริหารจัดการในพื้นที่เพียง 10 ไร่ มีรายได้ เดือนละหลักแสนบาท...
เสกสรรค์ เล่าว่า เดิมทีเป็นลูกเกษตรกรนี่แหละ แต่ยังไม่ได้ทำเกษตร ไปเรียนจบ ปวส. เกี่ยวกับการบัญชี กระทั่งในปี 2550 มีโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น ราว 3 ปี ซึ่งเป็นการไปทำงานแบบถูกกฎหมาย ซึ่งเราถูกส่งไปโดยกรมจัดหางาน สิ่งที่ทำก็คือการเกษตร ซึ่งสิ่งที่เห็นคือ การทำงานด้านเกษตรของเขา มีความเป็นระเบียบมากกว่าบ้านเรา มีการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย จะเรียกว่าเป็นเกษตรแบบประเทศพัฒนาแล้ว เพราะเขามีเครื่องมือ และเครื่องจักร ทำให้ทุกอย่างมันง่ายไปหมด
หลังจากกลับบ้านมา เราก็ได้ความรู้จากตรงนั้น แต่ก็ไม่ได้เริ่มทำเกษตร เราไปทำงานที่โรงงานประกอบรถยนต์ก่อน ก่อนจะหันกลับมาทำเกษตร...
...
เจ้าของพอดีฟาร์ม เล่าว่า รุ่นพ่อแม่ที่ทำเกษตรนั้น ก็เหมือนกับคนอื่นๆ คือ ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกอ้อย มัน ทำนา ทำทุกอย่างวนๆ ไป ก็ไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ก็พอมีที่ดินอยู่บ้าง แต่หลังจากไปญี่ปุ่นมา รู้สึกว่าสิ่งที่ต้องทำ คือ ต้องทำ "เกษตรประณีต"
เกษตรประณีต คือ ความเอาใจใส่ แม้พื้นที่ไม่ใหญ่
นายเสกสรรค์ เล่าถึงแนวคิด "เกษตรประณีต" ว่า หลักการก็ไม่ได้อะไรมาก คือ ความเอาใจใส่ ซึ่งญี่ปุ่น เขาก็ทำลักษณะแบบนี้ การเกษตรของเขา ใช้พื้นที่ไม่เยอะมาก และการปลูกพืชของเขา เน้นเรื่อง "มูลค่า" คือทำน้อยได้มาก ซึ่งระหว่างอยู่นั่น เราก็หาข้อมูลด้านการเกษตร การปลูกข้าวของเขาไปด้วย "ความรู้" บางอย่างเราก็หาจากอินเทอร์เน็ต ยูทูบ ซึ่งช่วงนั้นก็ยังไม่เข้าถึงอย่างทุกวันนี้...
"หลังจากทำงานโรงงานได้ 5 ปี รู้สึกว่า สุดท้ายเราก็ต้องทำเกษตร เมื่อมีที่ดินของตัวเอง และสิ่งที่อยากทำ คือ ต้องแตกต่างจากคนอื่น โดยเน้นหลักการผสมผสานด้วย จึงได้เริ่มต้นลองผิดลองถูก..."
นายเสกสรรค์ ยอมรับว่า ช่วงแรกที่ทดลองปลูกข้าวญี่ปุ่นนั้น ทำด้วยความไม่มั่นใจ เพราะการปลูกข้าวที่ญี่ปุ่นนั้น มีสภาพอากาศค่อนข้างเย็น แตกต่างจากบ้านเรา ที่สำคัญคือ การปลูกในบ้านเรานั้น ไม่มีตัวอย่าง
หลักการปลูกข้าวญี่ปุ่น
นายเสกสรรค์ เผยว่า การปลูกข้าวญี่ปุ่นก็คล้ายข้าวอื่นๆ คือ เราต้องเริ่มต้นจากปลูกในกระบะก่อน แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ข้าวญี่ปุ่นนั้น จะอ่อนแอกว่าข้าวไทย เราต้องดูแลในช่วงต้นนี้อย่างประณีต เรียกว่าดูแลอย่างใกล้ชิด โดยหมั่นรดน้ำ ป้องกัน หนู นก มากวน
"โดยในช่วงการเพาะต้นกล้านั้น จะใช้เวลาประมาณ 25 วัน ถึง 1 เดือน ที่สำคัญ คือ เราเพาะปลูกแบบนอกฤดูกาลด้วย ซึ่งข้าวของเราสามารถผลิตได้ทั้งปี สิ่งที่ลองผิดลองถูกที่ว่า คือ การทดลองกับสภาพอากาศต่างๆ ที่เจอในประเทศไทย"
บางเดือนร้อนจัด บางเดือนเจอฝนเยอะ หากเจอแสงมากไปเราก็ต้องหาที่บังแสง รายละเอียดในการดูแลมันเยอะมาก ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ที่ใช้วิธีการดูแลแตกต่างกัน...
ส่วนการใช้ดินนั้น ข้าวญี่ปุ่น สามารถปลูกได้หมด เพียงแต่เขาจะอ่อนไหวกับสารเคมีมาก ดังนั้น การปลูกข้าวญี่ปุ่น ควรเน้นใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือ พวกอินทรียวัตถุ ขี้วัว ไถกลบตอซัง ก่อนลงข้าวเราต้องเตรียมดินไว้ก่อน ซึ่งทำแบบญี่ปุ่นเลย เป็นแปลงเล็กๆ แต่ใส่ใจในการดูแลและการผลิต
...
หลังจากผ่าน 25 วันแล้ว จากนั้นเราก็มาเตรียมดิน ไถ ปั่นดิน ก่อนจะปักดำ โดยเคล็ดลับตรงนี้มันอยู่ที่การอนุบาลตั้งแต่แรก คือ ต้องพยายามไม่ให้เกิน 1 เดือน ที่เหลือก็ปักดำ ปกติ หากดินดี จะวางระยะห่างกันสัก 30 ซม. เป็นแถวตรงๆ เพื่อดูแลเรื่องหญ้า
"ข้าวญี่ปุ่น ระยะปลูกจะสั้นกว่าข้าวไทย แค่เพียง 2 เดือน ก็จะออกรวงแล้ว หลังจากนั้นอีกเพียง 1 เดือน ก็เก็บเกี่ยวได้แล้ว ก็คือรวมเพียง 90 วัน สิ่งสำคัญ คือการใช้ปุ๋ยบำรุง เราจะเน้นเรื่องอินทรียวัตถุเป็นหลัก ส่วนใครที่เน้นให้ได้เยอะ เขาอาจจะใช้เคมีร่วมด้วย ซึ่งสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าว่าชอบแบบไหน"
ข้าวญี่ปุ่น ในไทย กับ ข้าวนำเข้า รสชาติแตกต่างกัน
เกษตรกรปลูกข้าวญี่ปุ่น ยอมรับว่า ข้าวญี่ปุ่น ที่อยู่ในไทยนั้น รสชาติอาจจะสู้จากญี่ปุ่น ไม่ได้ การปลูกข้าวนั้น รสชาติต่างกันเพราะ "สภาพอากาศ" บ้านเราอากาศอบอุ่นกว่า รสชาติที่ได้ก็จะเป็นเอกลักษณ์ของเรา การปลูกข้าวในบ้านเราจะโตเร็วกว่า ขณะที่สภาพอากาศหนาว พืชจะโตช้ากว่า
"เมื่อสภาพอากาศแตกต่างกัน ข้าวที่โตขึ้นมา มันก็จะปล่อยสารต่างกันไปด้วย..."
...
ถามตรงๆ ว่า เคยอยู่ญี่ปุ่นมา เคยกินข้าวที่ญี่ปุ่น กับกินข้าวญี่ปุ่นของตัวเองที่ปลูก อันไหนอร่อยกว่ากัน นายเสกสรรค์พูดอย่างเป็นกลางว่า ญี่ปุ่นอร่อยกว่าจริงๆ แต่มันก็ไม่ได้แตกต่างกันเยอะมาก คนที่ไปญี่ปุ่น กินข้าวญี่ปุ่นกลับมากินของเรา เขาก็บอกว่าไม่ได้ต่างกันมาก
เมื่อถามว่า ในเชิงรสชาติ หากให้อธิบาย จะต่างกันอย่างไร นายเสกสรรค์ กล่าวว่า เรื่องความนุ่ม คือพอๆ กัน แต่กลิ่น...นั้น ของญี่ปุ่นจะเด่นกว่า เพราะเขาปลูกอากาศหนาวกว่า ส่วนข้อดีเราจะมีเรื่องด้านราคา ได้กินข้าวญี่ปุ่นในราคาเท่านี้เชื่อทุกคนรับได้ ที่สำคัญ คือ สิ่งที่เราทำ เรายังมีการสอนและส่งต่อความรู้ ทำให้คนไทยได้กิน
ผลผลิตและรายได้ 60,000-100,000 บาท
นายเสกสรรค์ เผยว่า เราสามารถผลิตได้ประมาณเดือนละ 1 ตัน หากเป็นข้าวเปลือก ตันละ 35,000 บาท หากเป็นข้าวสารเราขายกิโลกรัมละ 100 บาท เพราะเมื่อเอาข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารแล้ว น้ำหนักจะหายไป 600-700 กิโลกรัม
ลูกค้าส่วนใหญ่ จะมาจากหลายทาง ทั้งออนไลน์ สนใจสั่งซื้อ หรือ คนที่เข้ามาชมสวน โดยทั้งหมดล้วนเป็นรายได้หลายๆ ทาง นอกจากข้าวญี่ปุ่นแล้ว ยังมีเกษตรอื่นๆ เช่น กล้วย ไม้ป่า ผักไฮโดรโปนิกส์ ซึ่งก็มีคนเข้ามาชม...
...
นอกจากนี้ เรายังให้คำแนะนำสำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้น ทำเกษตร ดังนั้น รายได้ของเรามาจากหลายทาง ทั้งผลผลิต ขายต้นกล้า ขายข้าวสาร นอกจากนี้ ยังมีการสอน การให้ลูกค้าเข้ามาชมสวน ฉะนั้น รวมๆ รายได้จะเฉลี่ยเดือนละ 60,000-100,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผลผลิตด้วย...
คำแนะนำสำหรับผู้เริ่มต้น
เมื่อถามว่า คนจะเริ่มต้นทำเกษตร ต้องทำอย่างไร นายเสกสรรค์ แนะนำว่า คนที่จะทำเกษตรได้ ก่อนอื่นต้องดูอุปนิสัยของตนเองก่อน ว่าสู้งานหรือไม่ เพราะงานเกษตรต้องใช้แรงเยอะ พื้นที่เหมาะไหม เหมาะกับอะไร ประเมินการลงทุน ว่าต้องลงทุนแค่ไหน สูงเกินไปไหม...คุ้มหรือไม่
"หากลงทุนมาก บุกเบิก จ้างคนขุด หากขุดแล้วตอบโจทย์หรือไม่ หากได้รับคำตอบว่าเสี่ยง เราจะไม่แนะนำ แต่...ถ้าใจรักอยู่แล้ว พอมีที่ดิน ซึ่งเป็นของพ่อแม่อยู่แล้ว และเป็นการต่อยอดแบบนี้ก็ต้องมาดูว่าเหมาะกับอะไร การทำเกษตรประณีต ใช่ว่าจะทำได้แต่ข้าวญี่ปุ่น เราสามารถปลูกพืชอะไรก็ได้ เราควรจะปลูกพืชโดยเริ่มต้นจากความปลอดภัยในการทำงาน และสิ่งสำคัญอีกเรื่อง คือ การตลาด เราต้องรู้ก่อนว่าจะขายใคร เราต้องทำตลาดนำการผลิต เป็นไปได้ก็สร้างตัวตนให้คนรู้จักก่อน ต้องรู้จักปรับปรุง ให้ทันยุคสมัย เช่น ออนไลน์ เราก็ต้องทำ เป็นต้น"
อ่านบทความที่น่าสนใจ