คุยกับเจ้าของโรงน้ำแข็ง ดัดแปลงพื้นที่น้อยๆ ปลูกถั่วงอกขาย รายได้หลักหมื่น/เดือน พร้อมแนะเทคนิค สามารถทำเป็นอาชีพที่ 2 ได้ ...

ปัจจุบันนี้เชื่อว่าหลายคนพยายามทำงาน และหา “อาชีพที่สอง” อยู่

ส่วนเหตุผลนั้น เพราะใครๆ ก็รู้ว่าเงินมันหายากขนาดไหน รายจ่ายที่ต้องใช้ในชีวิตประจำเป็นอย่างไร หรือต้องสำรองเงิน เพื่อลูกหลาน หรือคนที่รัก

และจากแนวคิด “หารายได้เสริม” นี่เอง เป็นที่มาของธุรกิจที่สองของ นายธนกร อังกูรภัคธรรม หรือ คุณกร เจ้าของกิจการปลูกถั่วงอก ที่ปลูกในตึกแถวโรงน้ำแข็งกลางกรุง ย่านวัดดวงแข และต่อมาได้ขยายกิจการเป็นการขายเมล็ดพันธุ์...

แรงขับเคลื่อน ส่งลูกเรียน จากโรงน้ำแข็ง สู่การปลูกถั่วงอก หารายได้เสริม 

นายธนกร เล่าให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ฟังว่า อาชีพปลูกถั่วงอก เพิ่งเริ่มต้นเมื่อ 5 ปีที่แล้วเอง เดิมคือช่วยแฟนทำกิจการโรงน้ำแข็ง แต่รู้สึกว่าอยากจะทำอาชีพที่สอง เพื่อหารายได้เพิ่มเติมให้กับลูก เพราะส่งลูกเรียนมหาวิทยาลัยถึง 3 คน

...

“ผมไม่มีความรู้ จบแค่ชั้น ป.6 แต่ก็อยากลองดู ก็เลยเลือกที่จะทดลองปลูก ถั่วงอก”

พี่กร ยอมรับว่าการปลูกถั่วงอก แม้จะดูไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายอย่างคิด เราไปเรียนกับครูสอน เสียเงินไปมากมาย

ช่วง 6 เดือนแรก เจอปัญหาเยอะมาก ถั่วงอกเน่า เป็นเชื้อรา ถั่วคายน้ำ ทำให้ถั่วนิ่ม ซึ่งเรื่องนี้เราไม่รู้จะถามใคร หากจะไปถามคนอื่น เขาก็ไม่บอก เราต้องไปเรียน...ซึ่งจะมีการคิดค่าคอร์สเรียนละ 30,000-40,000 บาท จากนั้นก็พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเองต่อ ทดลองด้วยวิธีต่างๆ ใช้เวลาเป็นปีถึงจะปลูกสำเร็จ ไม่ใช่ว่าเราปลูกไม่ขึ้นนะ แต่ปลูกแล้วมีส่วนที่เสียหายเยอะ ซึ่งเราต้องเสียเวลาเป็นวันๆ มาคัดส่วนที่เน่าเสียทิ้งไป จาก 50-60 กิโลกรัม คัดเหลือแค่ 10 กิโลกรัม สิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราทำไม่เป็น

“ช่วงที่นั่งคัดถั่วงอก 10 กว่าชั่วโมง ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืน มันทำให้เรารู้สึกท้อมาก...แต่คำว่าท้อ ที่เปรียบเสมือนวิกฤตินี่แหละ ทำให้เราเกิดปัญญา หลายๆ คน โดยเฉพาะเพื่อนก็ทักว่า “ไอ้นี่มันบ้า” ทำแบบนี้จะเกิดธุรกิจยังไง...”

ด้วยสภาพโรงน้ำแข็งที่แคบๆ มีพื้นที่เป็นช่องนิดเดียว ทำให้ใครหลายคนต่างปรามาสเขา ว่าไม่น่าจะไปรอด...

ฝึกจนช่ำชอง ปลูกถั่วงอกสำเร็จ

นายธนกร เผยว่า เมื่อเริ่มปลูกได้ ก็ต้องหาตลาด เราก็ไปถามคนอื่นๆ เลย โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าใกล้บ้าน บอกว่าเรามีถั่วงอกขาย ซึ่งบางรายเขาก็มารับ บางทีก็ไปส่ง ซึ่งการปลูกถั่วงอกนั้น เมล็ดพันธุ์ 2 กิโลกรัม จะได้ถั่วงอก 15 กิโลกรัม

เคล็ดลับการปลูกถั่วงอกของผมนั้น คือ การซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการคัดเลือกมา ส่วนมากจะมาจากเมียนมา เพราะเมล็ดพันธุ์ของเขาจะแข็งแรงกว่าของเรา ที่ว่า “แข็งแรง” เพราะเมล็ดพันธุ์ของเขาผ่านการคัดมา และที่ผ่านมาของเขามีการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ ทำให้ทนทานกว่าของเรา

“เมล็ดพันธุ์ของไทยนั้น ปลูกแล้วจะเสียหายเยอะกว่า เพราะเมล็ดพันธุ์ไม่ถูกพัฒนา และบางส่วนก็ไม่ได้ถูกคัด นี่เองเป็นสาเหตุที่เมล็ดพันธุ์ของไทย สู้ของเมียนมาไม่ได้ และเวลานี้เขาก็คืออันดับ 1 ที่สำคัญคือการค้าของเขา ผู้ขายเขารวมตัวกันกำหนดราคา”

เจ้าของกิจการถั่วงอกกลางกรุง ชี้ว่า รสชาติ “ถั่วงอก” ไทยกับเมียนมานั้น มีรสชาติไม่แตกต่างกัน เพียงแต่สายพันธุ์ของเราไม่แข็งแรงเท่ากับของเมียนมา มีโอกาสติดเชื้อราได้ง่าย สาเหตุเพราะบางครั้งเมล็ดพันธุ์ที่ถูกคัดแล้วเกรดยังไม่ได้ แต่กลับเอามาแจกให้กับเกษตรกรมาปลูก จึงกลายเป็นว่าเกษตรกรนั้นรับสายพันธุ์ที่ไม่แข็งแรงมาปลูก

“หลักการปลูกถั่วงอกของผม จะเอาเมล็ดพันธุ์มาแช่น้ำไว้ก่อน 8 ชั่วโมง จากนั้นก็มาคัดใส่ถังไว้ และรดน้ำทุก 2 ชั่วโมง โดยใช้สวิตช์ตั้งเวลาไว้ (ไทม์เมอร์)  ให้มีการรดน้ำเมล็ดพันธุ์ทุก 2 ชั่วโมง โดยในน้ำก็อาจจะมีการผสมปุ๋ยวันละครั้ง ทำเพียงเท่านี้เป็นเวลา 5 วัน ถั่วงอกก็จะเจริญงอกงาม”

...

ผลผลิตไม่เยอะ รายได้อยู่ได้ แต่อาชีพที่สาม คือ ขายเมล็ดพันธุ์

นายธนกร ยอมรับว่าปัจจุบันขายถั่วงอกไม่เยอะมาก สิ่งที่ทำในเวลานี้ คือ การเผยแพร่วิชาการปลูก เหมือนทำไว้โชว์ แต่ก็มีรายได้ ขายวันละ 50-60 กิโลกรัม หักลบกับต้นทุนแล้วก็จะมีกำไรเดือนประมาณ 1-2 หมื่น ที่ไม่เยอะ เพราะเราทำน้อยแล้ว แต่ถ้าทำวันละ 200-300 กิโลกรัม รายได้ก็จะมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังทำอยู่ เพราะเราต้องการให้ความรู้กับคนที่สนใจ

“ส่วนรายได้อีกทางหนึ่ง คือ เราก็ขายเมล็ดพันธุ์ เพราะเราเองก็เป็นคนนำเข้ามาขาย โดยขายเมล็ดพันธุ์ของเมียนมาอย่างเดียวเลย เพราะรู้สึกว่าของไทยยังไม่ได้มาตรฐาน สำหรับถั่วนั้นขึ้นอยู่กับค่าเงิน เพราะเวลาซื้อขายจะซื้อเป็นเงินดอลลาร์ เพราะเราต้องเอาเงินบาทไปซื้อเงินดอลลาร์ก่อน หากเงินเราแข็ง ก็ได้เยอะ เงินอ่อน ก็ต้องเสียเงินเยอะ”

สาเหตุที่เราเลือกที่จะขายเมล็ดพันธุ์เป็นหลักในเวลานี้ เพราะธุรกิจนี้เป็นงานที่เราต่อยอดมาจากถั่วงอก ที่สำคัญคือเวลาขายมันชัดเจน มีวันหยุด และที่สำคัญ คือ มันสามารถวางรากฐานให้ลูกหลานมาสานต่องานได้

...

ปลูก “ถั่วงอก” อาชีพที่สอง 

เจ้าของกิจการปลูกถั่วงอกในโรงน้ำแข็ง เผยว่า การทำอาชีพที่สอง ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะมันสร้างรายได้ให้กับเราได้ และการปลูกถั่วงอก ส่วนตัวผมมองว่าเป็นสิ่งดี เพราะหากรู้วิธีที่ถูกต้อง มันช่วยสามารถสร้างรายได้ได้ดี เนื่องจากการลงทุนจริงๆ ไม่มาก วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ก็ไม่แพง และหากยังไม่มีความรู้ ก็สามารถเข้ามากดดูในเพจ FB ได้ เพราะเราก็มีการแชร์วิธีการ องค์ความรู้ต่างๆ ไว้ ส่วนใครจะซื้อ หรือไม่ซื้อถั่วของเรา ก็แล้วแต่...

“สำหรับต้นทุนการปลูกถั่วงอกนะ ต่อ 1 กิโลกรัม หักค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าถั่วแล้ว จะไม่เกิน 10 บาท เพราะถั่ว 1 กก. กลายเป็น “ถั่วงอก” ได้ 10 กก. ขายกิโลกรัมละ 15-20 บาท ก็คือเราจะได้ถั่วงอก 10 เท่าของปริมาณเท่า ดังนั้น หากเราขายราคากิโลกรัมละ 15 บาท เท่ากับจะมีรายได้ 5 บาท/กิโลกรัม ซึ่ง 1 กระสอบ มี 50 กิโลกรัม หากเป็นถั่วใหม่จะราคา 2,800 บาท ปลูกถั่วงอกได้ 28,000 กิโลกรัม เท่ากับ 28 ตัน

ห่วงเกษตรกรไทย กับปัญหาการพัฒนาสายพันธุ์พืช

...

นายธนกร เล่าว่า จากการทำงานด้านนี้มา 5 ปี ลึกๆ แล้วรู้สึกเป็นห่วงเกษตรกรไทย โดยเฉพาะประเด็นในการวิจัยและพัฒนา หากเรามีเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ที่ดี มีการพัฒนา ในฐานะคนขายเมล็ด เราก็พร้อมจะอุดหนุนสินค้าไทย ในราคายุติธรรม  

“เราพยายามจะตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้การเพาะถั่วงอกเป็นอาชีพ แต่ทางเกษตรฯ อยากให้เราไปลงทะเบียนเกษตรกรก่อน ซึ่งส่วนตัวเราอยากให้คนไทยพัฒนาเมล็ดพันธุ์ และสนับสนุนเกษตรกรไทย หันมาปลูกเมล็ดพันธุ์ของไทย จะได้ไม่ต้องไปง้อพม่า เพราะทุกวันนี้เราซื้อถั่วจากพม่า ปีละหลายแสนตัน แค่ตัวผมเองขายเมล็ดถั่วเดือนละกว่า 2 พันกระสอบ”

นายธนกร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถั่วงอกนั้นเป็นผลผลิตที่จำเป็น กินผัดไทย หรือก๋วยเตี๋ยวไม่ใส่ถั่วงอก มันก็แปลกๆ ฉะนั้น หากเราทดลองด้วยการปลูกถั่วงอก สร้างรายได้วันละ 100-200 ก็ทำได้ หากเราปลูกได้แล้ว มันอาจจะต่อยอดเป็นอย่างอื่นได้ เช่น พริกป่น หรือพริกน้ำส้ม ส่งร้านค้าได้...

“คนที่เรียนกับผมไป หลายคนประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะคนในประเทศลาว ปีที่แล้วผมไปเยี่ยมเพื่อนที่เรียนกับผมที่ประเทศลาว เขาเอาเงินไปซื้อบ้านได้แล้วก็มี การเรียนจบสูงไม่ได้เป็นตัวแปรของความสำเร็จ ขอแค่มีความขยันและความอดทน อย่ามองว่าเป็นเงินน้อย..” นายธนกร กล่าว

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ที่มารูป : ถั่วงอก ธนกร 

อ่านบทความที่น่าสนใจ