เรื่องเล่า เบื้องหลัง 30 ปี หญิงแกร่ง บ้านบ่อเหมืองน้อย จ.เลย ร่วมปลูกพืชบุกเบิกแนวกันชน กึ่งถูกบังคับปลูกถั่วไร้ค่า ชาวบ้านแห่ถอนทิ้ง สุดท้าย กลายเป็น อาณาจักรแมคคาเดเมีย รายได้นับ 10 ล้าน อุ้มเกษตรกรมากกว่า 250 ครัวเรือน...

หากจู่ๆ มีคนมาแนะนำให้คุณปลูกพืช 3-4 ชนิด โดยไม่เป็นที่รู้จักในประเทศไทย บนที่ดินที่รัฐจัดสรรให้จำนวน 10 ไร่ ในพื้นที่ห่างไกล แนวตะเข็บชายแดนไทย ในหมู่บ้าน “แนวกันชน” กับประเทศเพื่อนบ้าน คุณจะเอาไหม...

และนี่คือ เรื่องราวของ “หญิงแกร่ง” ใน จ.เลย ที่ชื่อ กัลยณัฏฐ์ พระศรีนาม ประธานกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย ต.แสงภา อ.นาแห้ว จ.เลย หนึ่งในต้นแบบที่ ยอมปลูก “เม็ดถั่ว” ที่เรียกว่า แมคคาเดเมีย ที่เมื่อสมัย 30 ปีที่แล้ว ชาวบ้านแทบไม่รู้จัก ไถทิ้งกันเป็นว่าเล่น แต่เวลานี้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจมูลค่าสูงชนิดหนึ่ง

คุณยิ่ง หรือ นางกัลยณัฏฐ์ เล่าเรื่องราวชีวิต ภายใต้แผ่นหลังเล็กๆ ที่ตัดสินใจร่วมโครงการในพระราชดำริ ที่เธอเรียกว่า “แกมบังคับ” ให้เราฟัง...

...

จุดเริ่มต้น 2 หมู่บ้านแนวกันชน กับพืชผลเมืองหนาว ที่ไม่มีใครรู้จัก 

เธอเล่าว่า การเดินทางเข้ามาปลูก “แมคคาเดเมีย” นั้น มาจาก “กองทัพภาคที่ 2” อยากจะตั้งหมู่บ้านใหม่ ในเชิงความมั่นคง 2 หมู่บ้าน “บ่อเหมืองน้อย”  และ “ห้วยน้ำผัก” ซึ่งสมัยก่อน เคยมีปัญหาที่ชายแดน มีการรบกกัน และเวลาต่อมา คือมีการตกลงกันได้ จึงมีการแบ่งเขตแดน โดยใช้ แม่น้ำเหือง เป็นแนวเขต จึงมีการตั้งหมู่บ้านเพื่อแสดงออกว่านี่คือเขตประเทศไทย โดยภาครัฐจะจัดสรรพื้นที่บ้านให้หลังละ 10 งาน พร้อมที่ทำกิน 10 ไร่ โดยผู้ที่จะมาอาศัยนั้น ก็เหมือน “ทหารกองหนุน”  

นางกัลยณัฏฐ์ เล่าต่อว่า เดิมทีชาวบ้านเขาก็อยู่แถบนี้อยู่แล้ว มีอาชีพปลูกข้าวโพด หาของป่า ทำไร่เลื่อนลอย และที่สำคัญคือ พื้นที่ดังกล่าว อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล ประมาณ 700 เมตร ซึ่งต่อมามีนักวิชาการจากโครงการหลวงเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องก็เข้ามาศึกษาพื้นที่ในการปลูกพืชระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาว

“สิ่งที่ทางโครงการหลวงศึกษานั้น ระยะยาวได้แก่ แมคคาเดเมีย ระยะกลาง อะโวคาโด ท้อ พลับ และระยะสั้นคือ สตรอว์เบอร์รี กาแฟ โดยเป็นพืชเมืองหนาวที่ภาคเหนือเขาปลูก”

เดิมที คุณยิ่ง ทำอะไรมาก่อน เธออมยิ้ม บอกว่า เดิมทีเป็นคน “บัวใหญ่” จ.นครราชสีมา ทำหลายอย่างเลย เรียบจบด้านเกษตร ทำงานสัตวบาล โรงงาน และอีกหลายอย่าง... เมื่อเราเดินทางเข้ามา ทางทหารก็เหมือนฝากความหวังไว้กับเรา เพราะเราเหมือนจะมีความรู้มากกว่าคนอื่นๆ จึงกลายเป็น “เกษตรกรนำร่อง”

แล้วทำไมเขาถึงเลือกคุณยิ่ง เธอเล่าว่า เราจบด้านเกษตรฯ จึงมีพื้นฐานมากกว่าคนอื่น และสามีเองก็เป็นทหารกองหนุน (ทหารที่ปลดประจำการ แต่อยากให้มาอาศัยในพื้นที่) และโครงการก็ “จ้างชาวบ้าน” ให้เขามาปลูกพืช ซึ่งสมัยเมื่อ 30 ปีก่อนนั้น ไม่มีใครรู้จัก

“พืชแต่ละชนิดที่ให้ปลูก เขาจะได้ค่าจ้างปลูก คนละ 50 บาท ส่วนตัวเราได้ 100 บ้าน เพราะมีพื้นฐานมากกว่าคนอื่น ส่วนสาเหตุที่ตัดสินใจเข้าไป เรามองว่าเป็นโอกาส เพราะได้บ้าน 1 หลัง ที่ดินอีก 10 ไร่”

ยากลำบาก หาของกินแทบไม่ได้ 

คุณยิ่ง ยอมรับว่า ตอนที่เข้าไปช่วงแรกนั้นยากลำบากมาก เนื่องจากคนที่นี่เขากินได้ทุกอย่าง แต่เรากินไม่ได้ เจองู ชาวบ้านวิ่งใส่ แต่เราวิ่งหนี เรียกว่า เดิมชาวบ้านเขากินสิ่งมีชีวิตทุกอย่าง กบ เขียด กินหมด แต่เรากินไม่ได้เลย เหลือเพียงปลาทูเน่าๆ ที่รถกับข้าววิ่งเข้ามา 2 ครั้ง/สัปดาห์

“ช่วงปี 2534-2535 ตอนนั้นเรียกว่ารู้สึกอัตคัด ขาดแคลน แต่ยังดีว่า ถึงแม้เราไม่มีเนื้อสัตว์กิน แต่เรายังกินพืชผักได้ ด้วยฐานที่เป็นคนอีสาน (ใต้) อยู่แล้ว หน่อไม้ ผักต่างๆ เราก็กินหมด”

ปลูกพืชกินเล่น...แล้วมันจะไปรอด?

...

ตอนที่เราเริ่มให้ปลูก เจ้านายฯ คือ ผู้กอง ที่เรารู้จัก เขาก็เอามาให้เราดู นี่ไง “แมคคาเดเมีย” มันเป็นถั่วชนิดหนึ่งที่กินเล่นๆ...

แล้วมันจะไปรอดได้ไง...” กัลยณัฏฐ์ ตั้งคำถาม

ผู้กอง ก็หยิบ “แมคคาเดเมีย” ของเมืองนอกมาให้กิน “อ้าว...ลองกินดู มันก็เป็นแบบนี้แหละ”

กัลยณัฏฐ์ ยอมรับว่า กินไปแล้ว ก็รู้สึกไม่มั่นใจ ตอนนั้น เงินเดือน 3,000 บาท ให้เราทำ เราก็ทำ ให้เราปลูกอะไร เราก็ปลูก ปรากฏว่า 3 ปีแรกที่ปลูก คือการ “แลดู” เพราะไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย (หัวเราะ)

โครงการให้ “แมคคาเดเมีย” มาคนละ 50 ต้น ต้องปลูก 10 ปี!! ที่เหลือก็ปลูกท้อ กาแฟ อราบิกา เสาวรส (ชาวบ้านเรียกกะทกรก) คนละ 2 ไร่ ซึ่งเขาให้เราทำอะไรเราก็ทำ โดยไม่รู้สึกกดดัน เพราะเดิมพ่อแม่ก็เป็นเกษตรกรมาก่อน

สิ่งสำคัญคือ อ.นาแห้ว จ.เลย ตรงนี้ ถือเป็นถิ่นทุรกันดาร แต่อีกด้านหนึ่ง คือมีพื้นที่ธรรมชาติที่สมบูรณ์มาก เรียกว่า อะไรก็ตามลงไปในดินได้ผลที่ดีทั้งหมด เราจึงปลูกผักสวนครัวไว้กินเองด้วย และแถมยังมีเหลือขาย

...

    

ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ไถ “แมคคาเดเมีย” ทิ้ง

นางกัลยณัฏฐ์ เผยว่า ช่วงการปลูกในช่วงแรก เป็นอะไรที่ลำบากมาก ไฟต์บังคับเลย คือ เขาอยากให้ปลูกสตรอว์เบอร์รี แต่คนในถิ่นนี้ เขาไม่ชอบ “ผลไม้เปรี้ยว” ปลูกมาก็ขายไม่ได้ แต่เราก็เริ่มศึกษา นี่หรือ “สตรอว์เบอร์รี” เราก็ไปเก็บ “ไหล” (ส่วนขยายพันธุ์) มาปลูก พอเราดูแลดีๆ ปลูกไม่เยอะ แค่งานเดียว ปรากฏว่า มันให้ผลดี เราก็เก็บไปขาย ที่ อ.ด่านซ้าย กิโลกรัมละ 50 บาท

“ขายวันเดียว ได้เงิน 600 บาท...ฉันจะไม่ไปไหนละ จากนั้นปีที่สองปลูกมากขึ้น 2 งาน ปีที่ 3 ปลูกเป็นหมื่นต้น ซึ่งเราทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูก ขุดดิน เก็บ แพ็ก เอาไปขาย ซึ่งเราปลูกแบบธรรมชาติ ใส่ปุ๋ยคอกธรรมดา ขี้หมู ขี้วัว ขี้ควาย”

2-3 ปีแรก นั้น คุณยิ่ง อยู่อย่างอดทน บวกกับการขาย พืชระยะสั้นอย่าง “สตรอว์เบอร์รี” ทำให้เธอและครอบครัวหาเงินอยู่ได้ นอกจากนี้เธอคือเกษตรกรนำร่อง ส่งเสริมการปลูก “เสาวรส” 400 ไร่ ที่ อ.นาแห้ว แล้วนำไปส่งโรงงาน ปรากฏว่า เมื่อชาวบ้านปลูกได้จำนวนมาก เมื่อไปส่งโรงงาน โรงงานให้กิโลกรัมละ 4 บาท เรารับซื้อ 3 บาท แต่ผลผลิตที่ได้กลับได้เป็นเท่าตัว คือจากตั้งเป้า 3 ตัน แต่ได้ผลผลิต 6 ตัน ซึ่งเราขอชาวบ้าน 1 บ้าน เป็นค่าดำเนินการ กระทั่ง ปีต่อมา โรงงานขอซื้อในราคา 3 บาท เราก็ต้องไปต่อชาวบ้านขอซื้อในราคา 2 บาท

เช่นเดียวกัน กับการปลูกสตอรว์เบอร์รี ทีแรกเราก็ปลูกเพื่อขายเอง กระทั่ง เจอผู้กองที่มีโอกาสกลับมาเยี่ยม ผู้กองบอกว่า “เธอไม่ต้องปลูกเองหรอก เธอแนะนำชาวบ้านให้ปลูก แล้วเธอเป็นตัวแทนขาย ซึ่งตอนนั้นเราก็รับซื้อกับชาวบ้านในราคาประกัน...

...

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ หากเข้าสู่ระบบโรงงานแล้ว โรงงานก็พยายามกดราคาคุณ ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำให้ได้คือ การเรียนรู้ พัฒนาองค์ความรู้ด้วยตัวเอง ตอนนั้น ขายสตอรว์เบอร์รีมาได้ มีเงินเก็บอยู่แสนกว่าบาท จึงเดินหน้าทำ “วิสาหกิจชุมชน” เป็นตัวแทนในการวางแผนปลูก แปรรูปให้กับชาวบ้าน

เช่น ในการทำธุรกิจ น้ำเสาวรส ใช้องค์ความรู้ของชาวบ้านที่อัดหน่อไม้ มาอัดเป็นน้ำเสาวรส 100% โดยมีการ “ต้ม” ในถังน้ำ 200 ลิตร จากนั้นก็แช่น้ำให้เย็น กลายเป็นการพาสเจอไรซ์โดยธรรมชาติ โดยมีการคิด ทำผลิตภัณฑ์พร้อมดื่ม...

10 ปีผ่าน “แมคคาเดเมีย” เริ่มออกสู่ตลาด

นางกัลยณัฏฐ์ เล่าว่า หลังจาก “แลดู” ต้น “แมคคาเดเมีย” อยู่ 3 ปี ปีที่ 4 ก็เริ่มที่จะดูแล กระทั่ง ตัดหญ้า ให้ปุ๋ย ขี้วัว ขี้ควาย โดยไม่ได้ดูแลอะไรมาก กระทั่ง 10 ปีผ่านมาไป ผลเริ่มออก เราจึงทดลองด้วยการ “คั่ว” ด้วยตัวเอง...

“ทำไมเราคั่วแล้ว แมคคาเดเมีย ไม่กรอบ เหมือนคนอื่นเขา...เราเรียนรู้วิธีการคั่วอยู่หลายปี กระทั่ง เริ่มเข้าที่”

ประเด็นปัญหา คือ ระหว่างที่ปลูกแมคคาเดเมีย บ้านละ 50 ต้นนั้น ชาวบ้านบางส่วนเขาไม่เอาแล้ว บางบ้านไถทิ้งแล้วบอกทางการว่าเน่าตาย หันกลับมาปลูกข้าวโพด ซึ่งตอนนั้น ทางโครงการได้ให้ชาวบ้าน บ้านละ 50 ต้น 2 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 75 ครัวเรือน เท่ากับว่า เวลานั้นมีการสนับสนุนแมคคาเดเมีย จำนวน 7,500 ต้น แต่ที่เหลือจริง คือ 1,000 ต้น และเหลืออีก 900 ต้น ที่กรมวิชาการเกษตรมาปลูก

“ตอนที่มาอยู่ใหม่ๆ ชาวบ้านแถบนี้เขาก็ปรามาสว่า “จะพออยู่พอกินเหรอ” เพราะเราเป็นคนต่างถิ่น เราเรียกเราว่าเป็น “คนใต้” (อีสานใต้) เพราะเรากินทุกอย่างเหมือนเขาไม่ได้ แต่ต่อมาเราก็พิสูจน์ตัวเอง โดย 10 ปีที่อดทนปลูก “แมคคาเดเมีย” พอถึงเวลาขาย มันก็ขายได้ “เว่อร์วัง!! เพราะไม่ว่าจะเป็นผลผลิต อโวคาโด หรือแมคคาเดเมีย เมื่อไปขายในกรุงเทพฯ ทุกคนล้วนอยากได้”

ในหลวง ร.9 วางรากฐานให้ทุกอย่าง หน่วยราชการต้องรับใช้เกษตรกร     

ประธานกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรบ้านบ่อเหมืองน้อย กล่าวว่า แมคคาเดเมีย ที่เราปลูกเอง กับของต่างประเทศ ตอนนี้เรากินได้แต่ของตัวเอง เรากินของต่างชาติมีความรู้สึกว่า “เหม็นหืน” ซึ่งการกิน “แมคคาเดเมีย” มันมีประโยชน์หลายอย่าง ลดไขมันในเส้นเลือด บำรุงสมอง ซึ่ง ของต่างประเทศนั้น ชอบผสมกับเนยขาว เพื่อให้มันออกมัน และเหนียว แต่ของเราจะแห้งๆ ทำให้ คาโบไฮเดตมันสุก

“เราขายมา 20 กว่าปีแล้ว ไม่พอขาย เมื่อก่อนเราอิจฉา พี่หมู่ พี่จ่า ที่มีเงินเดือนกิน เดี๋ยวนี้เขาอิจฉาเรา เราส่งเสริมการปลูก แมคคาเดเมีย อโวคาโด ซึ่งเมื่อก่อน จะเรียกว่า ถูกบังคับ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ในหลวง ร.9 ท่านวางไว้ให้ทุกอย่าง ด้วยที่เราเป็นคนชอบขาย พอมาอยู่ตรงนี้ ทำให้เราไปได้ไกลกว่าคนอื่น”

ปีหนึ่ง ขายประมาณ 40-50 ตัน โดยมีการปลูกของตัวเอง และ รับของเกษตรกรด้วย โดยมีหน่วยงานอื่นมาช่วยสนับสนุน โดยเรา รับประกันราคาให้กับเกษตร 80-120 ต่อกิโลกรัม (ลูกสด) ซึ่งตอนนี้เรามีศูนย์การแปรรูปที่หลากหลายที่สุด เรียกว่าได้มีมากกว่าที่อื่น เช่น ส้มตำแมคคาเดเมีย, ข้าวผัด อะไรๆ ก็แมคคาเดเมีย เพราะที่ทำแบบนี้เพราะ ไม่ว่าอะไรที่ผสมกับแมคคาเดเมียแล้ว เราสามารถตั้งราคาได้

“เกษตรกรไทยนั้นยิ่งใหญ่มาก เพราะในหลวง ร. 9 ท่าน ตั้ง กระทรวง ทบวง กรม เพื่อดูแลเกษตรกร ฉะนั้น เมื่อเรา คือ เกษตรกร เมื่อไหร่มีปัญหา วิ่งชน กับข้าราชการเหล่านี้ เขาจะต้องแก้ปัญหาให้ เพราะนี่คืองานเขา ทั้ง ก.เกษตร, พาณิชย์ หรือ มหาดไทย (กรมพัฒนาชุมชน) สาธารณสุข (ขึ้นทะเบียน อย.) ทุกอย่างมันเกี่ยวเนื่องกันหมด คนเหล่านี้จะต้องมาดูแลพวกเรา ทำอย่างไรให้ได้ อย. มีตลาด ได้มาตรฐาน ซึ่งแท้จริงแล้ว ในหลวงวางให้ข้าราชการ “รับใช้ประชาชน” แต่เราเองก็หลงกลเขา เวลาไปหาเขา เราก็พินอบพิเทา ทั้งที่มันคืองานของเขาอยู่แล้ว”

และหน่วยงานที่สำคัญอีกหน่วย คือ สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) เสธ (อดีตผู้กอง ที่พาเข้ามา) ได้พาเข้ามา บอก “เธอต้องกอดหน่วยงานนี้ให้ดี เพราะหากมีปัญหาเมื่อไหร่ เขาจะช่วยวิจัยได้ หากอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เขาให้คำปรึกษาได้ ซึ่งมี อาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็มาอยู่กับเราหมด โดยเขาจะเอาปัญหาของเรามาทำงานวิจัยแก้ไข..

หญิงแกร่ง แห่ง จ.เลย เลย เผยว่า ปัจจุบัน เธอต้องดูแลเกษตรกรในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 250 ครัวเรือน เฉพาะเกษตรกรในพื้นที่ ก็มากกว่า 150 ครัวเรือน ไม่รวมต่างถิ่นด้วย ซึ่งแต่ละปี วิสาหกิจชุมชน มีเงินราว 7-10 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณ 10 ล้าน ด้วยที่เราอยู่ในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ด้วย จึงทำให้พอมีศักยภาพ

ตอนมาครั้งแรก อยู่กระต๊อบ สิ่งที่เราทำนั้นค่อยๆ สร้างขึ้น มา จนมีชื่อเสียงระดับอำเภอ ประเทศ ขณะที่เมื่อก่อน บังคับให้ปลูกแมคคาเดเมีย ก็ไปดึงออกจากดิน แต่เดี๋ยวนี้ปลูกกันหมด ใครไม่ปลูก...เชย แค่เม็ดที่เอาไปปลูก ยังขายลูกละ 10 บาท  

“การที่เราจะเป็นเกษตรกร ก่อนอื่นเราต้องรู้ก่อนว่าเราอยู่ตรงไหน พื้นที่ตรงนั้น เหมาะปลูกอะไร แปรรูปอะไรได้บ้าง คนเป็นเกษตรกร จะประสบความสำเร็จได้ ต้องปลูกเป็น แปรรูปเป็น และขายเป็น ถึงจะบรรลุเป้าหมาย ต้องศึกษาและทำให้จบ แต่ถ้าไม่ได้ก็ดูที่ศักยภาพ ว่าจบได้แค่ไหน ซึ่งบางคนก็ส่งแบบลูกสด แต่บางคนก็ส่งแบบกะเทาะเปลือกมาแล้ว เราก็เอามาแปรรูปด้วยเคลือบช็อกโกเลต จากลูกละบาท เพิ่มเป็น 2 เพิ่มเป็น 3-4 บาท เป็นต้น”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ