เรื่องราวแห่งความพยายามของ 'เอนก สีเขียวสด' จากเด็กครอบครัวยากจนใน จ.อ่างทอง ที่ต้องพลัดถิ่นมาทำงานเมืองหลวงตั้งแต่อายุ 14 ปี สู่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของ 'เอนกฟาร์มนกกระทา' และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ธุรกิจนกกระทาที่มีเครือข่ายมากกว่า 20 จังหวัด และผลผลิตไข่วันละ 20 ล้านฟอง!

"ทุกความพยายามอาจไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทุกความสำเร็จล้วนมาจากความพยายาม" คำกล่าวของใครสักคนหนึ่ง ที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เคยได้ยินเมื่อนานมาแล้ว แม้เราจะไม่รู้ชื่อผู้กล่าวอย่างแท้จริง แต่นั่นก็เป็นข้อคิดที่ติดอยู่ในใจเสมอมา 

วันนี้เราจึงขอยกหนึ่งเรื่องราวของ 'ความสำเร็จ' จากการสนทนากับชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า 'เอนก สีเขียวสด' มาถ่ายทอดให้ผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักกัน เขาเป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่พยายามก้าวผ่านอุปสรรคในชีวิต จนกลายเป็นเจ้าของธุรกิจระดับร้อยล้าน และยิ่งใหญ่ไปถึงระดับอาเซียน

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจมีบางคนเริ่มคิดว่า "เขารวยอยู่แล้วหรือเปล่าเลยสำเร็จได้?" แต่นั่นไม่ใช่เลย… เขามาจากครอบครัวที่ยากจน ต้องขวนขวายทุกอย่าง จนกระทั่งวันนี้เขากลายเป็น เจ้าของและผู้ก่อตั้งเอนกฟาร์มนกกระทา และเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ประจำปี 2565 

...

ทีมข่าวฯ ขอชวนผู้อ่านทุกคนค่อยๆ เลื่อนลงอ่านเนื้อหาข้างล่างอย่างตั้งใจ แต่เราเชื่อว่าแม้จะอ่านไม่ครบทุกบรรทัด ทุกคนก็ยังได้ข้อคิดการใช้ชีวิตกลับไปแน่นอน

ได้เรียนถึงเพียง ป.7 เพราะบ้านค้าขายขาดทุน : 

คุณเอนกเกิดเมื่อ พ.ศ. 2500 ปัจจุบันอายุ 67 ปี เขาเล่าว่า จุดเปลี่ยนครั้งแรกของชีวิตเริ่มต้นขึ้นเมื่ออายุ 6 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่พ่อกับแม่แยกทางกันอยู่ระยะหนึ่ง เหตุเกิดจากพ่อเป็นลูกผู้ใหญ่บ้าน มีสติปัญญาดี พูดจาไพเราะ แต่ดื่มเหล้าเก่ง และติดเล่นการพนัน เล่นหนักจนถึงขึ้น 'เอาบ้านไปจำนอง' และในที่สุดบ้านก็โดนยึด! ทำให้พ่อรู้สึกละอายใจเลยหนีแม่ไปบวช พอแม่รู้เรื่องเลยส่งไปอยู่กับพ่อที่วัดตั้งแต่ตอนนั้น

"ตอนที่ได้ไปอยู่วัด มันทำให้ผมได้ซึมซับบางอย่างมาเหมือนกันนะ เราได้เห็นว่าแม้คนจะรวย จน เด็ก ผู้ใหญ่ หรือมีชาติตระกูลขนาดไหน แต่พอเขามาที่นี่ทุกคนจะนอบน้อม ถ่อมตน มีมารยาท ทำให้ได้ซึมซับเรื่องดีๆ ตรงนั้นไป"

ผู้ก่อตั้งเอนกฟาร์มนกกระทา เล่าอีกหนึ่งเรื่องที่เขามองว่า 'โชคดีที่ได้มาเป็นเด็กวัด' นั่นก็คือ หลวงพ่อได้ขอให้ครูคนหนึ่งที่เขาพักอาศัยอยู่ในวัด ช่วยสอนหนังสือบรรดาเด็กวัดในช่วงเย็น ถ้าเป็นสมัยนี้ก็เปรียบได้กับติวเตอร์ ทำให้บางเนื้อหาพวกเราถูกสอนก่อนคนอื่น นี่เลยเหมือนความได้เปรียบตอนที่เราไปอยู่วัด

หลังจากคุณเอนกเรียนจบ ป.3 พ่อของเขาก็ศึกษาจบนักธรรมเอกเช่นกัน พ่อจึงตัดสินใจกลับไปอยู่กับแม่ คุณเอนกก็ได้ตามกลับไปด้วย เขาบอกกับทีมข่าวฯ ว่า หลังจากนั้นได้ไปเรียนต่อ ป.4 - ป.7 ที่โรงเรียนวัดแห่งอื่น ส่วนตัวเป็นคนเรียนค่อนข้างดี อันดับ 1-5 ของชั้นจะมีเราอยู่ตลอด 

"ประมาณ พ.ศ. 2513 พอเรียนจบ ป.7 พ่อก็พาไปฝากที่โรงเรียนวิเศษไชยชาญ "ตันติวิทยาภูมิ" ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอที่มีชื่อเสียงมาก แต่ปรากฏว่าพอฝากได้ ที่บ้านขาดทุนจากการเลี้ยงหมู แม่พูดกับผมว่า 'ถ้ามึงไปเรียน แล้วใครจะช่วยแม่ใช้หนี้ล่ะลูก' ตอนนั้นผมร้องไห้หนักเลยเพราะรู้ว่าจะไม่ได้เรียน ครูเขาก็มาขอแม่ว่า จะส่งเสียเอง แต่แม่ก็ยังย้ำว่า 'แล้วใครจะช่วยแม่' สุดท้ายผมก็เลยไม่ได้ไปเรียนต่อ"

...

เข้ากรุงเทพฯ ทำงานอู่ซ่อมรถ "ไม่ได้ดี ไม่ต้องกลับมา" : 

หลังจากรู้ตัวว่าไม่ได้เรียนต่อ และการศึกษาก็คงจะต้องหยุดชะงักอยู่ที่ ป.7 เมื่อลูกของป้ามาชวนไปทำงานที่อู่ในกรุงเทพฯ แถวลาดพร้าว ด.ช.เอนก ในวัย 14 ปี จึงตัดสินใจไปทำงานด้วยในฐานะเด็กแรงงาน มีหน้าที่ช่วยงานจิปาถะ เช่น กวาดเก็บอู่ เก็บเครื่องมือ รวมไปถึงช่วยล้างห้องน้ำ มีที่พักให้ฟรี อาหารเลี้ยง 3 มื้อ และค่าตอบแทนเดือนละ 100 บาท

"ก่อนจะไปทำงาน 'ก๋ง' บอกไว้ว่า 'ไปทำงานก็อย่าขี้เกียจ เวลาทำงานให้หมั่นขยัน คนเขาจะได้รัก ถ้าไม่ได้ดีก็ไม่ต้องกลับมา ส่วนเวลาได้เงินมา ถ้าหิวต้องซื้อกิน ถ้าอยากอย่าไปกิน ถ้าหิวกินเลย ใช้และกินเท่าที่จำเป็น' สมัยนั้นเราทำตามคำสอนโดยไม่คิดอะไรมาก แต่พอโตมาถึงได้รู้ว่า นั่นเป็นคำสอนที่ลึกซึ้งมาก"

คุณเอนก เล่าต่อว่า ผมพยายามประหยัดให้ได้มากที่สุด เวลาเขากดกริ่งเรียกกินข้าว จะต้องรีบวางของแล้วไปกิน เพราะถ้าไปถึงช้ากับข้าวอาจจะหมด แล้วก็เวลาพวกพี่ๆ เขาใช้ซื้อของ เขาจะชอบให้เงินเป็นค่าตอบแทน ให้ผมไปซื้อขนมกิน แต่ผมจะเอาเงินนั้นออมเก็บไว้ จนพวกพี่ๆ เขาต้องบอกว่า "กูไม่ได้ให้มึงเก็บ กูให้มึงกิน"

...

แล้วคุณเอนกในวัยเพียง 14 รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ต้องไกลบ้านเพื่อมาทำงานที่กรุงเทพฯ ทีมข่าวฯ สอบถามไปยังปลายสาย ก่อนที่ผู้ก่อตั้งเอนกฟาร์มนกกระทา จะตอบกลับเราด้วยเรื่องเล่าที่เนื้อหาค่อนข้างเศร้า แต่เขากลับมีเสียงหัวเราะแทรกอยู่เป็นระยะ เพื่อบ่งบอกว่า เรื่องเหล่านั้นไม่ใช่ความทุกข์ของวันนี้แล้ว…

"ตอนผมไปทำงานที่อู่ คิดถึงบ้านทุกวัน ร้องไห้ทุกวัน เพราะตัวเองไม่เคยไกลบ้านมาก่อน นั่งเขียนจดหมายหาแม่ก็ไม่เคยได้ส่งสักที เพราะว่าน้ำตามันหยดเปียกกระดาษตลอด (หัวเราะ) เงินเดือนเดือนแรกผมก็ไม่ได้เก็บไว้ใช้ ส่งให่แม่หมดเลย 100 บาท"

"หลังทำงานได้ประมาณ 3 เดือน พ่อแวะมาเยี่ยม ตอนเห็นพ่อดีใจมาก ความรู้สึกมันจุกอกไปหมด เพราะที่ผ่านมาผมมองทางกลับบ้านทุกวัน หันหน้าไปทางบ้านตลอด พ่อถามว่าลำบากไหม ผมบอกว่าลำบาก เขาเลยถามต่อว่าจะกลับไหม เราบอกว่าไม่กลับ แต่จะเอาเงินฝากพ่อไปแทน ซึ่งที่ผมไม่ยอมกลับ ก็เพราะเชื่อคำที่ก๋งเคยบอกไว้"

"มึงนี่มันโง่ ไอ้ควายป่า" คำด่าของเถ้าแก่ ทำความคิดเปลี่ยน : 

...

ด.ช.เอนก ช่วยทำงานไปได้สักระยะ วันหนึ่งก็มีคำพูดเข้ามากระแทกจิตใจ ทำให้เขาเริ่มเปลี่ยนความคิด และในหัวก็เริ่มมีความทะเยอทะยานเข้ามา เพราะคำด่าจาก 'เถ้าแก่'

คุณเอนกย้อนความทรงจำให้ทีมข่าวฯ ฟังว่า สมัยนั้นเถ้าแก่เขาจะลงมาทำงานด้วย วันนั้นเขาบอกเราว่า "มึงไปหยิบไขควงมาหน่อย" ไอ้เราก็กลัวเถ้าแก่มาก เรียกทีใจจะขาด รีบขานรับก่อนจะเดินแบบเด๋อๆ ด๋าๆ ไปหาของตามประสาเด็กบ้านนอก 

"ผมเดินโด่เด่ไปที่ตู้เก็บเครื่องมือ ยืนดูอยู่อย่างนั้นเพราะไม่รู้ว่าอันไหนคือไขควง ผมเดินกลับมาด้วยมือเปล่า เขาถามว่าของอยู่ไหน ผมตอบว่าไม่มีครับ"

เท่านั้นแหละ!!! เถ้าแก่เสียงดังขึ้นมาว่า "ไอ้ควาย มึงนี่มันโง่ ไอ้ควายป่า" ซึ่งตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่า ควายป่ามันโง่ขนาดไหน แต่รู้แค่ว่าน้ำตาผมนี่ร่วงเลย เพราะไม่เคยถูกด่าว่าโง่ ที่ผ่านมาตอนอยู่บ้านนอก ไม่ว่าเราจะยากจนยังไงก็ไม่มีใครมาด่าแบบนี้ 

"เหตุการณ์ต่อจากนั้น คือ เถ้าแก่ชี้ไปที่ตู้ให้ดูของที่ใช้ไปหา ผมจึงรู้ว่าไอ้ที่บ้านเราเรียกว่า 'สกรูไล' คนกรุงเทพฯ เข้าเรียกไขควง"

เจ้าของเอนกฟาร์มนกกระทา อธิบายต่อว่า พอมองย้อนกลับไป ก็มาคิดว่าที่เถ้าแก่เขาด่าเรา เขาไม่ได้เกลียดหรอก แต่เขาแค่ชินปาก และโตมาเราคิดได้ว่า คนนี้ถือเป็ครูคนแรกที่ทำให้เราอยากเป็นเถ้าแก่ เป็นเหมือนหนึ่งแรงผลักดันให้เรา 

อย่างไรก็ตาม ณ วันนั้น ผมเสียใจและไม่พอใจกับคำพูดมาก มานั่งคิดกับตัวเองว่า "วันหนึ่งกูต้องเป็นเถ้าแก่ให้ได้" ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้ซึ้งใจว่าเถ้าแก่หมายความอะไร แต่รู้แค่ว่าจะไม่อยากเป็นลูกจ้างไปเรื่อยๆ 

คุณเอนกทำงานที่อู่แถวลาดพร้าวได้ประมาณ 5 เดือน ก่อนตนและลูกของป้าจะย้ายไปอยู่ที่อื่น เขาได้ขึ้นเงินเดือนเป็น 200 บาท ทำงานไปอีกประมาณ 6 เดือน ก็ย้ายงานอีกครั้ง และได้รับเงินเดือน 300 บาท "ตอนนั้นผมเป็นเด็ก ไม่ว่าจะทำเก่ง ทำขยันอย่างไรก็แล้วแต่ ผมก็ยังได้เงินน้อย เลยเลือกย้ายงานบ่อยเพราะเงินเดือนจะได้ขึ้น"

รับงานเอง-วิ่งรถสองแถว-ไปทำงานซาอุฯ : 

เมื่ออายุเข้า 18 ปี เอนกได้ตัดสินใจลาออกอีกครั้ง เพื่อจะไปรับงานเหมาเอง ถึงอย่างนั้นเถ้าแก่ก็บอกว่า "ช่วงที่ไม่มีงานจะทำยังไง งั้นถ้าไม่มีงานจริงๆ ก็กลับมาได้เสมอ"

เอนกได้มาทำอู่อยู่ที่บริเวณซอยสามัคคี ปากเกร็ด ณ พื้นที่นี่เอง ที่เขาได้รู้จักกับชายชาวมุสลิมคนหนึ่งซึ่งอยู่หมู่บ้านใกล้กัน ชายคนนั้นชอบมาแซวเอนกว่า ทำงานขยันแบบนี้ รวยและเงินเยอะแน่ๆ แต่เอนกตอบกลับไปว่า "ไม่หรอก ส่งให้พ่อกับแม่ทั้งนั้น"

อาจจะด้วยความขยันและกตัญญู ทำให้สิ่งที่คุณเอนกเข้าใจมาตลอดเริ่มเห็นผล ชายชาวมุสลิมคนนั้นบอกเขาว่า จะขายรถสองแถวให้ แล้วเอาไปวิ่งรับส่งผู้โดยสาร ย่านปากเกร็ด-นนทบุรี ขายในราคา 45,500 บาท ส่งเดือนละ 3,000 บาท หรือวันละ 100 บาท หรือมีเท่าไรก็ส่งมาก่อนก็ได้

"ตอนแรกไปขอแม่หมื่นนึง แม่บอกไม่มี พ่อเลยพาไปยืมเงินน้ามาจ่าย พอได้รถแล้วก็เลยให้เพื่อนเป็นคนขับ ส่วนน้องชายแท้ๆ ให้มาเป็นกระเป๋ารถ ส่วนตัวผมก็ยังรับงานอยู่ที่อู่ด้วย ให้น้องกับเพื่อนวิ่งรถ เก็บค่าโดยสารคนละ 50 สตางค์ - 1 บาท มีรายได้เข้ามาตลอด วันนึงเหลือ 300 กว่าบาท"

เมื่ออายุเข้า 20 ปี คุณเอนกได้บวชเป็นพระ และหลังจากสึกออกมา เพื่อนที่เคยทำอู่ด้วยกันมาชวนไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย

"พอเพื่อนมาชวน เขาบอกว่าเงินเดือนเป็นหมื่น ถ้าเราอยากไปจะให้ยืมค่าสมัครก่อน ก็เลยตัดสินใจไปสมัคร ผ่านไปประมาณ 21 วัน ทุกอย่างเรียบร้อยพร้อมเดินทาง ผมเลยได้ไปทำงานซาอุฯ ตั้งแต่ปี 2521 ตอนแรกสมัครไปในตำแหน่งพ่นสีรถยนต์ แต่ก็มีงานอื่นที่ได้ทำด้วย คือการพ่นสีพระราชวัง ตอนนั้นได้เงินเดือน 1 หมื่นบาท มีโอทีแยกให้อีกต่างหาก"

ช่องทางหารายได้ของคุณเอนกไม่ได้มีเท่านั้น เขาบอกกับเราว่า ช่วงที่เดินทางกลับมาเมืองไทย จะหาของไปขายด้วย เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มชูกำลัง นอกจากนั้นตอนที่อยู่ซาอุฯ ได้รับจ้างซักผ้า โดยการออกค่าตู้ซัก และให้เพื่อนเป็นคนซักผ้า เมื่อมีรายได้จะแบ่งกันคนละครึ่ง 

"ตอนที่ทำหลายๆ อย่างเสริมกัน เราได้เงินมาเพิ่มอีกประมาณ 30,000 บาท เหนือไปกว่านั้น ได้ทั้งประสบการณ์ วิธีคิด และภาษา ถึงจะไม่ได้พูดถูกแกรมม่า แต่ก็สื่อสารได้รู้เรื่อง"

กลับมาอยู่เมืองไทย และจุดเริ่มต้นจับงาน 'นกกระทา' : 

หลังจากทำงานที่ซาอุฯ นานถึง 6 ปี คุณเอนกตัดสินใจกลับมาอยู่ประเทศไทย โดยที่ไม่ขอรับใบผ่านงาน เขาได้อธิบายให้เราฟังว่า ที่ไม่ขอรับใบผ่านงาน เพราะถ้ารับมาแล้ว วันหนึ่งเดี๋ยวก็อยากกลับไปอีก แต่ใจตอนนั้นคิดว่า 'พอกันทีกับการเป็นลูกจ้าง'

เมื่อกลับมาอยู่เมืองไทย คุณเอนกได้แต่งงานตอนอายุ 27 ปี และได้ปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ ย่านประชาชื่น โดยทำธุรกิจเล็กๆ ในตึกเตี้ยๆ แห่งหนึ่ง เขาไปรับซื้อมะพร้าวจากระยอง และราชบุรี มากะเทาะขายให้บริษัทบางแห่ง และตามตลาดแถวบางเขน ราชวัตร เตาปูน บางซื่อ ปากเกร็ด และ นนทบุรี ธุรกิจดำเนินไปได้ปีกว่า และทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้สวย! จนกระทั่ง…

"ชาวบ้านโทรแจ้งตำรวจ เพราะงานที่เราทำมันเสียงดัง ซึ่งก็เสียงดังจริงๆ เนื่องจากเราต้องลงมะพร้าว และปอกมันอยู่ตลอด เราเลยมองว่ากลับบ้านดีกว่า ตอนนั้นมีแผนในหัวว่า จะรับของจากกรุงเทพฯ แล้วไปวิ่งขายส่งตามตลาดใน จ.อ่างทอง"

ช่วง พ.ศ. 2528 เมื่อคุณเอนกตัดสินใจกลับไปบ้าน เขาไม่คิดว่าก่อนเลยว่าตนเองจะต้องมายุ่งเกี่ยวกับฟาร์มนกกระทาที่พ่อและแม่ทำอยู่…

เจ้าของเอนกฟาร์มนกกระทา เล่าว่า มีแม่ค้ามาบอกให้แม่เลี้ยงนกกระทา แล้วเขาจะรับซื้อผลผลิตเอง สุดท้ายแล้วเขาก็รับซื้อเฉพาะตอนที่เขาขายได้ พอขายไม่ได้เขาก็ไม่มาเอาของ ช่วงที่ผมกลับไปบ้าน แม่มาบอกว่า ขายไข่ไม่ได้มา 5 วันแล้ว ไข่ตกค้างอยู่ประมาณหมื่นฟอง ให้พ่อไปตามเขาก็ไม่ยอมมาซื้อ เขาบอกว่าขายให้คนอื่นเลย ตอนนั้นได้แต่คิดว่า "เอาเปรียบแม่กูนี่หว่า" เลยตัดสินใจเอาไข่จำนวนนั้นไปตระเวนขายในกรุงเทพฯ 

เข้าสู่วงการนกกระทาเต็มตัว! : 

"ผมเอาไข่ใส่ลังกระดาษ ลังละ 1,000 ฟอง เพื่อไปตระเวนขายตาม ปากเกร็ด เตาปูน บางซื่อ ราชวัตร จนขายหมด เสร็จแล้วก็กลับบ้าน พูดมันก็เหมือนง่ายใช่ไหม แต่กว่าจะขายได้ก็ยากพอตัว"

คุณเอนก เล่าต่อว่า ถึงเราจะพยายามขายราคาถูกแค่ไหน เขาก็ไม่ยอมซื้อเรา โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเขารับซื้อเรา แล้วเราไม่เอาไข่มาขายอีก เจ้าอื่นเขาก็จะไม่ยอมขายให้แล้ว เพราะแม่ค้าเปลี่ยนไปซื้อเจ้าอื่น ผมเลยบอกว่า 

"เอางี้นะ… เอาไข่ไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องเอาไปหมดก็ได้ ซื้อของเราบางส่วน ที่เหลือก็ไปซื้อคนอื่น แล้วยังไม่ต้องให้เงินด้วย เดี๋ยวเที่ยวหน้ามาใหม่ค่อยเอาเงินให้ และถ้ามาอีกรอบของเหลือก็เอามาให้ผม แล้วเอาของใหม่ไป นี่ยอมทั้งลดราคาของ และไม่เก็บเงิน เพื่อให้ขายออก"

หลังจากใช้กลยุทธ์ข้างต้น ทำให้คุณเอนกได้รับออเดอร์ไข่นกกระทามาอีก 15,000 ฟอง แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้น เพราะไข่จากฟาร์มที่รวมได้มีแค่ประมาณ 10,000 ฟอง วิธีแก้ปัญหาก็คือ ไปรับซื้อจากเจ้าอื่นที่ขายแพงกว่า เรียกได้ว่า แม้ขาดทุนก็ต้องยอม เพื่อให้จำนวนไข่ครบตามออเดอร์ 

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถามว่า ทำไมถึงเลือกทำแบบนั้น ผู้ก่อตั้งเอนกฟาร์มนกกระทาบอกว่า สำหรับผมแล้ว มันคือการ 'ขาดทุนวันนี้เพื่อกำไรวันข้างหน้า' เพราะเราไปรับออเดอร์เขามา ทั้งๆ ที่ยังเป็นหน้าใหม่ ทุนก็น้อย ดูไร้ความน่าเชื่อถือ ถ้าเราทำไม่ได้แบบที่รับปาก มันจะยิ่งลดความน่าเชื่อถือลงไปอีก 

"การเสียเปรียบครั้งนั้น มันจะช่วยให้เราเติบโตได้ เราทำตามที่เขาต้องการได้ เขาก็จะให้ความไว้ใจเรากลับมาเป็นสิ่งตอบแทน" คุณเอนกกล่าว

สร้างเครือข่ายธุรกิจ "กินแบ่ง ไม่กินรวบ" : 

ความคิดของ คุณเอนก สีเขียวสด ดูท่าจะมาถูกทาง เขาสามารถขยายกิจการได้อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ 'เอนกฟาร์มนกกระทา' กลายเป็นธุรกิจที่มีการผลิตแบบครบวงจร มีโรงงานแปรรูปไข่นกกระทาที่ทำมาร่วมกว่า 20 ปี ปริมาณไข่มากถึง 20 ล้านฟองต่อวัน ทั้งจากฟาร์มของตนเอง และฟาร์มเครือข่าย ที่มีอยู่กว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย!

นอกจากนั้น ไข่นกกระทาใบจิ๋วเหล่านี้ ยังเดินทางสู่ร้านค้าและร้านอาหารชั้นนำของประเทศ ไม่เพียงเท่านั้น! ยังมีการส่งออกไปต่างประเทศอีกด้วย เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี และแถบตะวันออกกลาง และตอนนี้ก็ถือว่า คุณเอนก เป็นเจ้าของฟาร์มนกกระทาใหญ่สุดในอาเซียน และมีเงินหมุนเวียนในเครือข่ายหลักร้อยล้านบาท

ทีมข่าวฯ ถามว่า แนวคิดในการทำงานลักษณะนี้เรียกว่าอะไร คุณเอนกตอบว่า "กินแบ่ง ไม่กินรวบ"

สำหรับแนวคิดดังกล่าว คุณเอนกได้ขยายความไว้อย่างน่าสนใจว่า มันเป็นการ 'แบ่งอาชีพ' ให้ผู้อื่นเข้ามาเป็นเครือข่ายของฟาร์ม เรียกง่ายๆ ว่า ให้ทุกคนได้มีโอกาสเป็นเถ้าแก่ เพื่อให้เกิดการ 'แบ่งรายได้' ช่วยกระจายเงินให้ผู้คนเข้าสู่ห่วงโซ่ของธุรกิจ 

นอกจากนั้น การนำแนวคิดนี้มาใช้ จะช่วย 'กระจายความเสี่ยง' เช่น ภัยธรรมชาติ โรค หรือเหตุการณ์ไม่คาดคิดอื่นๆ เมื่อมีที่หนึ่งได้รับความเสียหาย จะมีฟาร์มที่อื่นๆ สร้างผลผลิตได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อธุรกิจ และความต้องการของลูกค้า 

"ธุรกิจของเราดำเนินงานอย่างครบวงจร ตั้งแต่ขายนกกระทา ไข่สด ไข่แปรรูป เปลือกไข่ มูลนก สิ่งเหล่านี้ก็เหมือนตัวอย่างของการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่ามากที่สุด" ผู้ก่อตั้งเอนกฟาร์มนกกระทากล่าวกับเรา

เติบโตด้วยปัญหา : 

ชีวิตที่ผ่านมาของชายที่ชื่อ 'เอนก สีเขียวสด' มีปัญหาเข้ามาทดสอบเขาสารพัด เขาต้องล้มบ้าง คลานบ้าง เดินบ้าง วิ่งบ้าง หรือทำอย่างไรก็ได้ให้ก้าวต่อไปข้างหน้า โดยที่จะไม่ยอมถอยหลังกลับ

"เติบโตด้วยปัญหา" นี่คือคำที่เขากล่าวกับทีมข่าวฯ เราจะเห็นได้ว่า เรื่องเล่าแห่งชีวิตตั้งแต่บรรทัดแรก ชายคนนี้ผ่านปัญหามาตลอด และการเติบโตของธุรกิจเขา หลายต่อหลายครั้งก็มาจาก 'ปัญหา' อีกเช่นเคย คุณเอนกเล่าว่า 

"มีช่วงหนึ่งที่ไข่สดเหลือ ผมเลยคิดเอามาทำเป็นไข่ต้มขาย แต่จะใช้คนมานั่งปอกเปลือกทีละลูก ก็ค่อนข้างเสียเวลา เลยติดต่อเพื่อนให้มาช่วยพัฒนาเครื่องปลอกไข่ และก็ทำได้สำเร็จเป็นรายแรกของโลก ทำให้สามารถปอกไข่ได้มากกว่า 70,000 ฟองต่อชั่วโมง"

"พอมีไข่ต้มแล้วก็นำมาใส่ถุงมัดหนังยางขาย พัฒนามาเรื่อยๆ จนเข้าสู่การบรรจุแบบสุญญากาศ เก็บได้ประมาณ 1-2 เดือน คราวนี้เราอยากให้มันไปได้มากกว่านั้น อยากให้ตีตลาดส่งออกได้ เลยพยายามพัฒนาจนสามารถบรรจุในกระป๋องได้ ซึ่งเก็บได้นานถึง 2 ปี"

คุณเอนก กล่าวว่า ทำตรงนี้มาประมาณ 35 ปีแล้ว อยากจะพัฒนาวงการนกกระทาให้มากกว่านี้ อยากสร้างรากฐานที่มั่นคงให้ประเทศของเรา ผมพร้อมส่งต่อความรู้ให้ผู้อื่นเสมอ ใครที่สนใจ สถาบันไหนที่อยากให้เด็กๆ เข้ามาเรียนรู้ สามารถติดต่อเข้ามาดูงานได้ที่ 'เอนกฟาร์มนกกระทา' ได้เสมอ

ขอบคุณความจนที่ทำให้เติบโต : 

ก่อนการสนทนาจะจบลง คุณเอนก สีเขียวสด ฝากส่งท้ายข้อเตือนใจ ที่ได้ตกตะกอนจากความคิดตลอดชีวิตของชายวัยใกล้ 70 ผ่าน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงทุกคนว่า…

"เวลาจะทำงานหารายได้อะไร อย่าไปมองว่าเรามีรายรับเท่าไร แต่ให้ดูว่า เราเหลือเท่าไรเมื่อหักค่าต่างๆ ออกไปแล้ว สิ่งนั้นแหละจะเป็นกำไรและความสำเร็จที่แท้จริงของเรา"

"ผมพูดเสมอว่า ผมต้องขอบคุณความยากจนเลยนะ ความยากจนทำให้ผม อดทน เพียร มานะ ถ้าผมมีเหมือนคนอื่นๆ มาตั้งแต่แรก ผมคงอ่อนแอและเปราะบาง สำหรับผมความยากจนเป็นสารตั้งตนของคนที่ประสบผลสำเร็จ เราจนมาก่อน เราเลยพยายามดิ้นรนที่จะเป็นเจ้าของบางอย่าง"

"อยากบอกทุกคนว่า ชีวิตคนเราไปเป็นลูกจ้างก่อนก็ได้ แต่ถ้าวันหนึ่งมีโอกาสเป็นเจ้าของได้ ต้องเป็นนะ ตอนนี้ยังเป็นไม่ได้ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยก็น่าจะคิดไว้บ้าง เพราะบางคนทั้งชีวิตนี้อาจจะไม่เคยคิดเลยว่าจะมีอะไรเป็นของตัวเอง อยากให้ทุกคนมีฝันเป็นแรงผลักดัน"

เมื่อการสนทนาได้จบลง และไร้เสียงจากปลายสาย ทีมข่าวฯ พอจะรวบรวมสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาเข้าในหัว แล้วฉุกคิดได้ว่า… ปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เราควรเรียนรู้เข้าไว้ แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เราจะได้ฝึกฝนตัวเองไปเรื่อยๆ วันหนึ่งเราจะกลายเป็นคนที่แข็งแกร่ง มุมานะ อดทน และแทบจะลืมความลำบากที่ผ่านมา เหลือไว้เพียงความทรงจำดีๆ ที่ทำให้เติบโต

อ่านบทความที่น่าสนใจ :