เผยอาชีพแปลกทำเงิน ทำฟาร์ม แมงป่องช้าง ตะขาบ อสรพิษร้าย ขายดี มีราคา รายได้หลักแสนบาทต่อเดือน พี่แต๋ว เผยแรงบันดาลใจ และที่มา...

เรียกว่าเป็นอีกอาชีพแปลกที่สุด อาชีพหนึ่ง ซึ่งถ้าใครเคยดู “ทายาทอสูร” ที่ส่งต่อ “ตะขาบ” ให้กับทายาทผู้หญิง แต่ถ้าเจอ “เธอ” คนนี้ ไม่ต้องส่งต่อ เพราะเธอรับซื้อหมด รวมถึง เอามาเลี้ยงทำเงินซะด้วย...

ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง “พี่แต๋ว” หรือ นางสัมฤทธิ์ ประตังภาโล อายุ 51 ปี ที่บ้านเลขที่ 134 หมู่ 8 บ้านสร้างแก้ว ต.เชียงยืน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม

พิษโควิด กระทบอาชีพหลัก ตัดสินใจ กลับบ้านดูแลแม่  

พี่แต๋ว เล่าว่า เดิมเธอทำงานอยู่ที่ กทม. มีอาชีพรับผลิตเสื้อผ้า ทำงานตามออเดอร์ แต่ปรากฏว่า มาเจอโควิด-19 ทุกอย่างเงียบหมด ขายของไม่ได้เลย ประกอบกับ ว่าแม่เริ่มป่วยและไม่มีใครดูแล ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราต้องตัดสินใจ เดินทางกลับบ้าน เพื่อมาดูแลแม่ ทุกคนพี่น้องทำงานหมด จะปล่อยให้แกอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ เราจึงตัดสินใจกลับมาดูแลแกอย่างใกล้ชิด 

...

นางสัมฤทธิ์ เล่าต่อว่า ตอนกลับมา ก็ไม่รู้จะทำอะไร... หาข้อมูลต่างๆ ก็คิดว่าน่าจะเลี้ยงอะไรขาย ก็เลยเริ่มต้นด้วยการทำ “ฟาร์มจิ้งหรีด”

การเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะคิดว่า “อายุ” ในการเลี้ยงนั้นใช้เวลาไม่นาน เลี้ยงไปแล้ว ใช้เวลาเพียง 45 วัน ก็สามารถนำไปขายได้ และอีกอย่างก็เป็นที่นิยมรับประทานกัน หรือเอาไปบดเป็นผงสกัดโปรตีน 

“ตอนนั้นลงทุนไปหลายหมื่นบาท เพราะต้องทำโรงเรือน ทำบ่อจิ้งหรีด รวมๆ กัน จำนวน 12 บ่อ เพราะหากเราต้องการเลี้ยงแบบ “มืออาชีพ” เราจำเป็นต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างมาก เพราะ จิ้งหรีด นั้น อ่อนไหวมาก แค่โดนสารเคมีเพียงเล็กน้อย หรือ มีการฉีดยาฆ่าแมลง ที่พืช แล้วละอองมาถึง ก็ตายได้เลย”

นางสัมฤทธิ์ ยอมรับว่า ปัญหาใหญ่จริงๆ สำหรับการเลี้ยงจิ้งหรีด คือ ค่าอาหาร ราคาแพง และขึ้นราคาตลอด ซึ่งจิ้งหรีด มันจะกินหัวอาหารสำเร็จรูป เราก็ซื้อมาใช้ พอเริ่มใช้ไปเรื่อยๆ ราคาก็ขึ้นเรื่อยๆ จาก 400 กว่าบาท จนถึงเวลานี้ ราคา 580 บาท โดยหากไม่ซื้อร้านขายส่ง ก็จะราคาทะลุไป 620 บาท กลับกัน ราคาจิ้งหรีดที่ขายนั้นได้ราคาเดิม... โดยขาย ราคา 70-90 บาท/กิโลกรัม หากเป็นโรงงาน เขาจะนำไปทำโปรตีน
“เลี้ยงจิ้งหรีดขั้นตอนเยอะมาก และต้องเลี้ยงอย่างสะอาดจริงๆ เจออะไรนิดหน่อย เขาก็ตาย สารเคมี นิดหน่อยก็ตาย อากาศร้อนมากก็ไม่รอด..”

เปลี่ยนจาก “จิ้งหรีด” เป็น “ตะขาบ-แมงป่อง”

จากปัญหา “จิ้งหรีด” ทำให้ต้องกลับมาคิดทบทวนและหาทางแก้ปัญหา เผอิญระหว่างที่นั่งคิดนั้น หันมาเห็น “แมงป่องช้าง” มันเดินมา จะมากินจิ้งหรีดของพี่

“แมงป่องนี่ก็เห็นเขาขายอยู่ในแผง...จึงตัดสินใจไปสำรวจตลาด ดูตามแผงต่างๆ อุ้ย..ราคามันก็ดีอยู่ เรามาดูที่เยาวราชเลย ราคาตอนนั้นแมงป่อง เขาขายเป็นตัว ตัวละ 60 บาท เราก็ปิ๊งไอเดียเลย แมงป่องช้าง บ้านเราก็มีเยอะอยู่”

พี่แต๋ว เล่าต่อว่า เราคิดว่า หากเราจะเลี้ยง จะเลี้ยงได้ไหม... จึงเริ่มต้นด้วยการหาแหล่งของมัน โดยให้ชาวบ้านแถวบ้านไปขุดไปจับมาให้ สิ่งที่เราทำคือ เราทำควบคู่กับการขาย คือ ขายด้วย เลี้ยงด้วย รับซื้อด้วย โดยเรา “เหมา” รับซื้อทุกขนาด หากยังไม่โต เราก็มาเลี้ยงให้โต

พอเลี้ยงแมงป่อง เราเห็นว่ามีรายได้เข้ามา จึงเปลี่ยนจาก “บ่อจิ้งหรีด” ที่เดิมมี 12 บ่อ เหลือเพียง 2 บ่อ เพราะเลี้ยงไว้เพื่อเป็น “อาหาร” ให้กับ “แมงป่องช้าง” ซึ่งเรารับซื้อไป แต่ขายเป็นตัว โดยเราจะคัดเลือกเฉพาะตัวพอเหมาะเพื่อขาย ซึ่งขายตัวละ 25-30 บาท ตามออเดอร์ที่ซื้อ หากซื้อมากก็ลดราคาให้ แต่ถ้าซื้อน้อยก็ 30 บาท

...

แมงป่องช้าง ที่เราขาย จะมีคนซื้ออยู่ 2 ประเภท คือ 1.ซื้อไปทอดเป็นอาหาร อย่างที่เราเห็นกัน กับอีกประเภท คือประเภทที่ 2 เขาเอาไปเลี้ยงเพื่อสวยงาม

ส่วน “ตะขาบ” เราก็ทำพร้อมกับ “แมงป่องช้าง” เพราะตอนที่เราสำรวจตลาดมันจะวางอยู่คู่กัน เราจึงเริ่มรับซื้อพร้อมๆ กัน

“ตลาดตะขาบ เราก็ทำคล้ายกับแมงป่อง คือการรับซื้อมาเป็น “ขนาด” หาก 4 นิ้ว ตัวละ 5 บาท หากยาว 5 นิ้ว ก็ราคา 10 บาท ราคาก็ไล่เรียงขึ้นไป จนไปถึงตัวใหญ่สุด ตัวละ 50 บาท ส่วนที่มาเป็นน็อกแช่แข็ง ใหญ่สุดก็ตัวละ 50 บาท หรือกิโลกรัมละ 500 บาท”

สำหรับลูกค้าแมงป่อง นั้นก็คล้ายกับ “แมงป่องช้าง” คือ เอาไปทอดขายก็มี ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นลูกค้าคนไทย ส่วนอีกกลุ่ม คือ เป็นคนต่างประเทศ จะเอาไปสตัฟฟ์ ทำยา และเลี้ยงสวยงาม

เมื่อถามว่า แต่ละประเภท จะเลือกขนาดอย่างไร พี่แต๋ว อธิบายว่า เราจะเป็นคนถามเขา ว่าวัตถุประสงค์ที่ซื้อไป เอาไปทำอะไร เพราะเราจะเป็นคนเลือก

“หากลูกค้าจะนำตะขาบไปสตัฟฟ์ เขาจะเลือกขนาด 6 นิ้ว เพราะมันจะพอดีกับกล่องใส่ เขาบอกว่ามาตรฐานกล่องจะขนาดประมาณนี้...ส่วนกรณีเอาไปทำเป็นตัวยา เขาไม่เลือกขนาด เขาเอาหมดทุกไซส์ โดยเอาไปตากแห้งก่อน และเราจะส่งเป็นกิโล โดยเราขายกิโลกรัมละ 3,000 บาท โดยใช้ตะขาบนับร้อยตัว เพราะ 1 ตัว สด 1 กิโลกรัมจะประมาณ 60-70 ตัว แต่หากเอาไปตากแห้งแล้ว จะต้องเพิ่มเป็น 3 เท่า ถึงจะได้ 1 กิโลกรัม

“คนจีนเขารับซื้อจากเราไม่อั้นเลย โดยเฉพาะตะขาบตากแห้งเพื่อนำไปทำยา ซึ่งลูกค้าของเรา เราแทบไม่ต้องออกไปหาเลย ส่วนมากเขาจะเข้ามาหาเราเอง เขาเห็นเราจากออนไลน์”

...

เมื่อถามว่า ในประเทศไทย มีเลี้ยงแบบพี่แต๋ว เยอะไหม แม่ค้าอสรพิษ บอกว่า ก็ไม่เคยเห็นที่อื่นเหมือนกันที่เลี้ยงแบบนี้ คงเป็นเราที่เดียวละมั้ง ที่เลี้ยงและซื้อตะขาบ

“ที่ผ่านมา เราพยายามหาคนที่เลี้ยงเหมือนกับเรา เพื่อขอคำปรึกษาว่า มีเคล็ดลับในการเลี้ยงอย่างไรเหมือนกัน แต่เราก็หาไม่ได้...”

กระทรวงเกษตรฯ มีการส่งเสริมในการเลี้ยงแมงป่อง กับ ตะขาบ บ้างไหม นางสัมฤทธิ์ บอกว่า ไม่มีใครมาหาเธอเลย คิดเองว่า “ไม่รู้ว่าเขาจะกล้าส่งเสริมไหม ทั้งนี้ ตลาดตะขาบ นั้น ไม่ใช่ตลาดเล็กๆ”

แมงป่อง ตะขาบ เลี้ยงดูไม่ยาก 

เคล็ดลับในการเลี้ยง ตะขาบ และ แมงป่อง คืออะไร สัมฤทธิ์ บอกว่า ไม่มีเคล็ดลับอะไรเลย เราก็เลี้ยงปกติ ถึงเวลา ก็ให้อาหารมัน เอาจิ้งหรีดมาให้มันกิน โดยให้อาหาร 2-3 วันครั้ง

“ส่วนตัวก็รู้สึกกลัวเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่เคยโดนตะขาบ หรือ แมงป่อง กัด เราพยายามป้องกันตัวเองตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่จะไปให้อาหาร เราจะต้องมีสติ เพราะเขามีพิษ เราระมัดระวังมาก”

...

รายได้หลักแสนต่อเดือน ใครสนใจพร้อมให้คำแนะนำ

สำหรับรายได้ของ การขายแมงป่อง กับ ตะขาบ นั้น เรียกว่าไม่แน่นอน บางเดือนขายแมงป่องอย่างเดียวก็ได้ ประมาณ 1 แสน ขณะที่ตะขาบ มันมีน้อยแต่ราคาดีกว่า หากจะคิดเป็นค่าเฉลี่ยกลมๆ ก็น่าจะเดือนละแสน เนื่องจากของที่มีขายไม่เพียงพอ  

ถ้ามีคนอยากจะเลี้ยง “แมงป่องช้าง ตะขาบ” บ้าง จะแนะนำอย่างไร พี่แต๋ว บอกว่า ก็สามารถโทรมาคุยกับเธอได้ พร้อมที่จะบอกเคล็ดลับทุกอย่าง...

สำหรับเบอร์โทรของพี่แต๋ว ที่ให้ไว้คือ 09-5254-2114 ถ้าใครอยากเลี้ยง ก็ลองโทรปรึกษาเธอดูครับ...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ที่มารูป : พี่แต๋ว สัมฤทธิ์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ