คุยกับเจ้าของ "สนิทฟาร์มปลากะพง" ฉะเชิงเทรา พลิกวิกฤติโควิด จากที่ส่งขายสายการบิน เปลี่ยนวิธีคิด ให้เข้ามาตกเอง พ่อค้าแม่ค้าก็เข้ามาได้ พร้อมเคล็ดลับ 3 อย่างเลี้ยงให้โต...ชีวิตคนเรานั้น เกิดมาย่อมเจอปัญหาและอุปสรรค ถือเป็นบททดสอบชีวิตที่ยากจะหลีกเลี่ยง บางคนเกิดมารวย... ต้องคิด ต่อยอด และ รักษาความรวย ขณะที่ บางคนเกิดมา “ไม่รวย” ก็ต้องหาหนทาง ก้าวข้ามอุปสรรค ค้นหาวิธี “รวย”ด้วยหนทางต่างๆ แต่ที่แน่ๆ สำหรับคนยุคนี้ ที่เจอกันพร้อมเพรียง คือ ช่วงวิกฤติ “โควิด-19” “เกือบ” ทุกอาชีพนั้น เจอวิกฤติ ส่งผลประทบเป็นลูกโซ่ และหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ คือ “ไตรภพ โพธิ์อุบล” หรือคุณหนุ่ม เจ้าของ “สนิทฟาร์มปลากะพง” เลขที่ 42/2 หมู่ 5 ต.สองคลอง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา ที่เลี้ยงปลากะพง เพื่อส่งขายเพื่อเป็นอาหารให้ผู้โดยสารบนเครื่องบิน แต่...เมื่อเจอโควิด ล็อกดาวน์ สายการบินหยุดนิ่ง เขาจะทำอย่างไร... แต่ก่อนจะเข้าเรื่องนั้น เรามารู้จักภูมิหลังของเขาก่อน... ครอบครัวเกษตรกร จากชาวนา สู่ผู้เลี้ยงปลากะพงคุณหนุ่ม บอกเล่าว่า ครอบครัวของเขา เป็นครอบครัวเกษตรกร รุ่นปู่ย่า คือ ปลูกข้าว พอมาถึงรุ่นพ่อ ก็มาเลี้ยงปลาสลิด เพราะพื่้นที่แถวนี้ เหมาะแก่การเลี้ยงปลา แต่เมื่อมาถึงรุ่นเรา รู้สึกว่า การเลี้ยงปลาสลิดนั้น มีรายได้แค่รอบเดียว คือ ปีหนึ่ง สามารถจับขายได้แค่ครั้งเดียวต่อปี อีกทั้ง หากประสบปัญหา หรือ บริหารงานผิดพลาดเพียงนิดเดียว เงินที่ลงทุนมาจะไม่เหลือเลย เช่น ต่อ 1 บ่อ มีการลงทุนประมาณ 3 แสนบาท ใช้เวลา 1 ปี หากสุดท้ายแล้ว บริหารจัดการไม่ดี ขายได้เงินไม่ถึง 3 แสน แปลว่า คุณขาดทุน และเสียเวลา เสียแรงไปฟรีๆเพราะความเสี่ยงแบบนี้ จึงทำให้ ไตรภพ หันมาเลี้ยง “กุ้งกุลาดำ” เพราะพื้นที่เหมาะสม ช่วงหนึ่งราคาต่อกิโลกรัม ก็สูงมาก อย่าง 40 ตัว 1 กิโลกรัม ราคาถึง 700 บาท แต่หลังจากนั้น ราคาบูมมาก ก็มีเกษตรกรจำนวนมาก แห่เลี้ยงกันจำนวนมาก ทำให้ราคาตกลง นอกจากนี้ จากการเลี้ยงแล้ว เรายังพบว่า มันมีโรคระบาดเยอะ ยกตัวอย่าง “โรคหัวเหลืองในกุ้ง” ซึ่งสมัยก่อน เกษตรกรที่เลี้ยงกุ้ง ไม่รู้วิธีการจัดการดังเช่นปัจจุบัน บางคน เลือกที่จะปล่อยน้ำที่มีกุ้งเป็นโรคหัวเหลือง ทำให้เชื้อโรคกระจายไปในคลอง เกษตรกร ที่ไม่รู้ก็ดูดน้ำในคลองมาใช้ ก็ทำให้กลายเป็นโรคระบาด ได้รับความเสียหาย ทำให้กุ้งตายอย่างรวดเร็ว โรคนี้มันเป็นง่าย เสียหายเยอะ...เมื่อรู้สึกว่า “กุ้งกุลาดำ” เลี้ยงไม่ได้แล้ว เราจึงหันมาเปลี่ยนเป็น “กุ้งขาว” แต่สิ่งที่เผชิญ คือ เหมือนเรากำลัง “เสี่ยงโชค” เล่นหวย เล่นหุ้นนายไตรภพ อธิบายว่า การเลี้ยงกุ้งขาวนั้น ใช้เวลา 3 เดือน เดือนแรก คือ ลงทุน ขาดทุนแน่ๆ หากเลี้ยงแล้วไม่รอด หากเข้าเดือนที่สองได้ ก็จะเริ่มเสมอตัว แต่เมื่อเลี้ยงเข้าสู่เดือนที่ 3 เราก็จะได้กำไร ประมาณ 40% เมื่อเทียบกับเงินลงทุน “ความเสี่ยงของการเลี้ยงกุ้งขาว ก็คล้ายกุ้งกุลาดำ เพราะมีโรคเยอะ ต้องระมัดระวังมากในเดือนแรก ซึ่งต่อมา ได้มีการพบเทคนิคการเลี้ยงแบบใหม่ คือ เลี้ยงรวมกับบ่อปลานิล โดยปลานิล จะกินรำจากข้าวขัด เมื่ออาหารตกลงพื้นแล้ว ลูกกุ้งก็จะมากินต่อ ทำให้ต้นทุนของการเลี้ยงกุ้งขาว ถูกลง”เมื่อถามว่า ปลานิล ไม่กินลูกกุ้งหรือ..? นายไตรภพ อธิบายว่า หากเราเลี้ยงปลานิลให้กินจนอิ่มแล้ว มันก็จะไม่ไปกินกุ้ง กลับกัน หากเราเลี้ยงดูมันไม่ดี ปลานิล ก็กินกุ้งได้เช่นเดียวกัน ปลากะพง เลี้ยงง่าย ปลาเศรษฐกิจ เจ้าของสนิทฟาร์ม เผยว่า การเลี้ยงปลากะพง เพราะ ปลาชนิดนี้ สามารถเลี้ยงได้ไม่กี่ที่ในประเทศไทย ที่เลี้ยงแล้ว จะมีรสชาติดี ปลากะพง นั้น เป็นปลาสองน้ำ คือ เลี้ยงได้ในจืดและน้ำเค็ม ปลากะพง ในภาคใต้ จะเลี้ยงในน้ำเค็ม เนื้อปลาจะหวานมาก แต่หาก “น้ำเค็มมาก” เกินไป ปลาจะโตช้า ขณะเดียวกัน สภาพแวดล้อมจริงๆ ของกะพง คือ น้ำจืดและน้ำกร่อย โดยมันจะมักวางไข่ที่น้ำจืด และโตที่น้ำกร่อย ซึ่งเดิมทีแถวแม่น้ำปะกง จะมีแหล่งอาหารให้มันเยอะ3 ปัจจัยสำคัญ เลี้ยงปลากะพงนายไตรภพ ยอมรับว่า การเลี้ยงปลากะพง เพราะเป็นปลาเศรษฐกิจ ราคาดี การจัดการง่ายกว่า กุ้ง ส่วนตัว มีการเลี้ยงปลาไว้ 22 บ่อ บ่อละ 2-3 ไร่ สิ่งสำคัญของการเลี้ยง คือ1. พันธุ์ปลา : เราต้องได้ลูกพันธุ์ จากฟาร์มที่เชื่อใจได้ เพราะหากพันธุ์ไม่ดี ที่มีการฉีด “สารกระตุ้น” เยอะ จะส่งผลให้ปลาพิการเยอะ ทำให้ลูกปลาไม่สมบูรณ์แข็งแรง 2.อาหาร : แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ปลาเป็ด และ อาหารเม็ด ส่วนของที่ฟาร์ม เลือกใช้อาหารเม็ด เพราะ เหยื่อสด มีขีดจำกัด คือ หากเป็นฤดูร้อน กับ หนาว ก็จะหาปลาเป็ดได้ง่าย หากเจอหน้าฝน ซึ่งเป็นหน้ามรสุม เรือประมง จะออกไม่ได้ ราคาปลาเป็ดก็จะสูงขึ้น “ข้อดีของการใช้เหยื่อสดนั้น จะทำให้ปลาโตไวก่อน แต่อาหารเม็ด จะควบคุมได้”3.ควบคุมคุณภาพน้ำ : นอกจากเป็นเกษตรกรแล้ว เราต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วย คือเราต้องควบคุมคุณภาพน้ำให้เหมาะ โดยใช้เครื่องมือวัดค่าน้ำ โดยน้ำที่เหมาะสมต้องอยู่ที่ค่าดังนี้ คือPH : 7.7-8.1 (หากค่าน้อยกว่า 7.7 จะส่งผลให้ปลาเบื่ออาหาร หากมากกว่า 8.2 อาจเกิดอันตรายกับปลา) แอมโมเนีย (ก๊าซของเสียในน้ำ) : ไม่ควรเกิน 1 ก๊าซของเสียในน้ำไนไตรท์ (คล้ายกับก๊าซไข่เน่า) : เป็นพวกขี้ปลา ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคุมยากที่สุด “เราก็ใส่ “จุรินทรีย์” เพื่อไปย่อยขี้ปลา กลายเป็นแอมโมเนีย เราก็ใส่จุรินทรีย์อีกตัวเพื่อย่อยแอมโมเนีย ก็กลายเป็น “ไนไตรท์ ” ซึ่งเรา ใช้จุรินทรีย์น้ำแดง หรือ จุรินทรีย์สังเคราะห์แสง ต่อ 1 บ่อ 1 ไร่ ใช้ประมาณ 10 ไร่” โรคที่ต้องระวัง “เหงือกเน่า” สำหรับสิ่งที่ต้องระมัดระวังในการเลี้ยงปลากะพง คือ ระวังโรคเหงือกเน่า คือ ปรสิท ที่มากับน้ำ ไปเกาะเหงือกปลา ทำให้เป็นแปลที่เหงือจนเน่าได้ อีกอย่างคือ เห็บระฆัง ตัวนี้มันจะชอนไชไปใต้เกร็ดปลา และดูดเลือดปลา จนทำให้เนื้อปลาแหว่งเสียหาย ปลากะพง ยิ่งตัวใหญ่ ยิ่งอร่อย... นายไตรภพ เผยว่า ช่วงที่โควิดระบาด ทำให้สายการบินทั้งในและต่างประเทศ ต่างหยุดบิน ซึ่งเราส่งปลากะพง เป็นเมนู ให้กับ “การบินไทย” ซึ่งนอกจากหยุดบินแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องการเงินด้วย ต้องฟื้นฟูกิจการ ทำให้เราส่งปลาไม่ได้ “ตอนนั้น รัฐบาลได้มีมาตรการล็อกดาวน์ และ ห้ามคนรวมกลุ่มกัน แต่ด้วยที่เราเป็นบ่อปลา ในที่โล่ง เราจึงคิดไอเดีย คือ ให้คนมาตกปลากะพง สดๆ กันที่บ่อ นอกจากประชาชนทั่วไปแล้ว ยังมีกลุ่มพ่อค้า จำนวนหนึ่ง ที่เลือกจะมาตกเอง เพื่อเอาไปขายด้วย หรือ บางกลุ่มต้องการความสนุกจากการตกปลา แล้วยังเอาปลาไปขายได้ด้วย ซึ่งปัจจุบัน เราก็ยังเปิดบริการอยู่” นายไตรภพ เผยว่า ปลากะพง ที่คนนิยมซื้อ คือ อยู่ที่ระหว่าง 0.7-1.2 กก. เพราะ เหมาะในการทำอาหารขึ้นโต๊ะ เช่น กะพงทอดน้ำปลา นึ่งมะนาว นึ่งซีอิ๊ว จะใช้ที่น้ำหนัก 7-8 ขีด เพราะแล่เนื้อออกมาทอดน้ำปลา ก็จะพอดีจาน นึ่งมะนาว กับ นึ่งซีอิ๊ว ก็จะพอดี ขนาดหม้อไฟที่เป็นรูปปลา “ปลากะพง เหล่านี้จะยังเป็นกะพงอ่อน ถามว่าอร่อยไหม เอาจริงๆ จะสู้ กะพงแบบตัวโตเต็มวัยไม่ได้ หากเป็นกะพงตัวเล็ก จะสามารถทำอาหารได้ไม่มากแบบที่ยกตัวอย่างไป ส่วนหากเป็นกะพงตัวใหญ่ น้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม เมนูอาหารจะเปลี่ยนไป เขาจะนิยม มาทำแกง เพราะเวลานำมาต้ม “เนื้อปลากะพง” จะไม่แตกหรือเละ อร่อยกว่า เนื่องจากปลากะพง ยิ่งตัวใหญ่ยิ่งอร่อย” นายไตรภพ เผยว่า ช่วงที่เคยนำไปส่งครัวการบินไทย เขาจะเน้นย้ำมาเลยว่าต้องการปลากะพง น้ำหนัก 2 กิโลกรัมขึ้นไป เพราะเขานำไปทำได้หลายเมนู รวมถึง สเต๊ก ซึ่งเขาจะนำไปเสิร์ฟในระดับ เฟิร์สคลาส หรือ บิสเน็ตคลาสได้ เผยรายได้ 5 หมื่น / บ่อ / 6 เดือน เมื่อถามว่า รายได้เป็นอย่างไร เจ้าของสนิทฟาร์มปลากะพง แย้มว่า ในสมัยก่อนรายได้ดีกว่านี้ เมื่อก่อน ต่อรอบต่อบ่อ (6 เดือน) สามารถดาวน์รถได้ คือ ได้เงิน 2 แสนบาท แต่เดี๋ยวนี้ลดลงมา 3 เท่า เหลือประมาณ 5 หมื่น สาเหตุมาจากต้นทุน มาจากค่าอาหารปลาที่แพงขึ้น โดยเมื่อ 10 ปี ก่อน กระสอบหนึ่ง 700 บาท เดี๋ยวนี้ราคา 1,000 บาท เราใช้วันหนึ่งนับร้อยกระสอบ “สำหรับคนที่สนใจ และที่เป็นมือใหม่ นั้น สิ่งที่ต้องระวัง คือการคัดเลือกสายพันธุ์ปลา รองลงมา คือการเลี้ยงช่วง 30 วันแรก หากปลากินอาหารไม่ดี ก็แปลว่า คุณอาจจะเสมอตัว หรือขาดทุนทันที”ช่วงที่เป็นโรคได้ง่าย คือ ช่วงที่หน้าฝน กับ หน้าหนาว หากฝนตกเยอะ แล้วไม่ได้เปิดเครื่องอ็อกซิเจน น้ำในบ่อคุณจะกลายเป็น 2 ชั้น ก็คือ น้ำฝน และ น้ำในบ่อ อุณหภูมิที่ต่างกัน จะทำให้ปลาน็อกน้ำได้ ส่วนหน้าหนาวมีผลต่อการเลี้ยงปลากะพง อย่างมาก เพราะปลากะพง ชอบแสงแดด ในการย่อยอาหาร เขาจะชอบที่อุณหภูมิ 27-35 องศา หากวัดอุณหภูมิน้ำ ก็จะลดลง 4-5 องศา ฉะนั้น หากอากาศบนบกหนาวมาก มันจะไม่ค่อยกินอาหาร และมันจะไม่โต หากอากาศร้อนล่ะ ในเวลาแบบนี้ 44-45 องศาฯ จะเป็นอย่างไร นายไตรภพ เผยว่า มันจะกินเยอะขึ้น ของเสียก็จะทวีคูณ 3 เท่า เราก็แก้ปัญหาด้วยการควบคุมอาหาร เพราะแม้มันจะกินได้ ของเสียเพิ่ม แต่จุรินทรีย์ในการบำบัดน้ำ ก็ไม่สามารถทำงานได้ทัน หากของเสียเพิ่มมาก ก็จะทำให้ปลามีโอกาสตายได้สูง