คุยกับ “แอบ ฟาร์ม” จากหนุ่มวิน จยย. สู่วิถีเกษตรอินทรีย์ ในเนื้อที่ไม่ถึง 1 งาน และหลัก Permaculture ปลูกพืชให้งาม ก่อนต่อยอดด้วยแพะ mini pygmy เลี้ยงง่าย รายได้ดี...
ประเทศไทยเป็นชาติที่อยู่รอดด้วยเกษตรกรรม ระดับประเทศก็ขายสินค้าเกษตร แต่ระดับครัวเรือนก็สามารถ “เลือก” ที่จะอยู่ และกินอาหารปลอดภัยด้วยผลผลิตของตนเอง สำหรับ คทาวุธ ปั้นปรางค์ หรือ พี่แอบ เจ้าของฟาร์ม AB Farm เกษตรบ้านๆ นั้นเลือกอย่างหลัง เรียกว่ามีรายได้ไม่มากมาย แต่ไม่ขัดสน เพราะอยากหลีกหนีชีวิตที่อันตราย วุ่นวาย และมลพิษ
วิกฤติชีวิต จากวิน จยย. สู่วิถีเกษตรพอเพียง
พี่แอบ เล่าว่า เดิมทีขับวินมอเตอร์ไซค์ที่ “หนองมน” ทำอย่างนี้อยู่ 7-8 ปี และวันหนึ่งเราก็รู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง การขับวิน จยย. มันเจอกับอันตรายมากมาย ทั้งควันพิษที่ส่งผลกับสุขภาพ รวมไปถึงอุบัติเหตุด้วย และคิดว่าสุดท้ายของชีวิตขับวินมอเตอร์ไซค์ ไม่ตายจากโรคภัย ก็อุบัติเหตุ
โดยเหตุการณ์ที่พลิกผันในชีวิตเกิดขึ้นบนถนน วันหนึ่งเราขับรถไปส่งผู้โดยสาร แต่เผอิญมีรถเก๋งมาขับตัดหน้าเรา ซึ่งการชนครั้งนั้นไม่ได้รุนแรงมาก เราโชคดีที่ไม่ได้บาดเจ็บอะไรมาก ลูกค้าที่นั่งมาด้วยบาดเจ็บนิดหน่อย แต่...คนที่ขับรถมาปาดหน้าเรา ซึ่งถือว่าเขาผิด แต่กลับพูดว่า... “ซวยฉิบหาย”
...
อ้าว เราขับรถมาถูกต้อง แล้วเขาผิด แต่เขา “ซวย” แล้วเราล่ะเรียกว่าอะไร...?
พี่แอบ รู้สึกว่าทำไมสังคมเราเป็นแบบนี้ ทำอะไรแล้วไม่เคยโทษตัวเอง ไม่คิดว่าตัวเองผิด หากยังอยู่บนท้องถนนชีวิตจะอันตรายแน่ เราจึงไปหา “อาชีพอื่น” ที่สามารถหลบหลีกสิ่งเหล่านี้ได้ หนทางนั้นก็คือ “เกษตร”
นายคทาวุธ ยอมรับว่า ช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนอาชีพก็ถือว่ายาก แต่เราอยากเริ่มต้นให้ได้ เพราะเราไม่อยากจะเจอความวุ่นวาย ส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตเรา ก็เลือกที่จะ “บันเทิง” มากเกินไป จนเริ่มอิ่มตัว เป็นนักดนตรี ดื่มสุรา นอนตอนเช้า ขับวิน จยย. หลายอย่างในชีวิต ก็ถือว่าเป็นเรื่องบันเทิง ฉะนั้น หากจะมาทำเกษตร เราต้องปรับตัวเองใหม่ ด้วยการนอนเร็ว ตื่นเช้า สิ่งที่เราอยากได้ คือ การใช้ชีวิตสบายๆ แบบเศรษฐกิจพอเพียง ไม่ต้องไปวุ่นวายกับใครมาก เพราะตอนขับวินฯ ชีวิตมันวุ่นวายมาก ต้องทำรอบให้ได้มากที่สุด ฉะนั้น จึงรู้สึกว่าอยากจะมาปลูกผักกินเอง ชีวิตก็จะดีขึ้น
“เราใช้เงินทุนจากการเก็บออมตอนวิ่ง จยย. รับจ้าง โดยเกษตรอย่างแรกที่ทำ คือ การปลูกเห็ด การปลูกเห็ดทำให้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของพืช ซึ่งถือเป็นพืชที่โตเร็วมาก ยกตัวอย่าง ตอนเช้าเริ่มเห็นดอกเล็กๆ ตกเย็นเราเก็บได้แล้ว เอามาทำอาหาร และขายได้แล้ว”
องค์ความรู้จากการปลูกเห็ด
ตอนที่เราทำเห็ด เปรียบเสมือนเป็นการเก็บเกี่ยวความรู้ในการปลูกพืช โดยที่เราไม่รู้ตัว ได้เรียนรู้ถึงรายละเอียดในการปลูก เช่น อุณหภูมิ น้ำ เช่น ความชื้น เราไม่ได้ใช้อุปกรณ์ในการวัดเลย แค่ใช้ “ผิวหนัง” ของเราวัดดู และดูว่าเห็ดมันออกดอกดีหรือไม่ แค่นี้เราก็รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร...
“ทีแรกก็คิดจะใช้ตัววัดอุณหภูมิ ใช้เซนเซอร์วัดความชื้น แต่เพื่อนก็ทักมา “พี่เป็นเกษตรบ้านๆ ไม่ใช่หรือ” มันจึงเป็นที่มาว่าการใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านนี่แหละ หากเราไปบรรยายที่อื่น หรือไปสอนคนอื่นในถิ่นทุรกันดาร จะทำอย่างไร ฉะนั้น เราต้องหาวิธีการชดเชย และทุกวันนี้ก็ใช้วิธีการแบบนี้อยู่ โดยเห็ดนั้นชอบความชื้น และ “หน้าร้อน” เห็ดจะแพง ฉะนั้น สิ่งที่เราทำ คือ ทำให้เห็ดอยู่ในความชื้น แต่ต้องไม่มากเกินไป หากเห็ดเจอร้อน ชื้น จะขึ้นรา ฉะนั้น จึงต้องควบคุม เราจึงเลือกใช้ Timer ควบคุมระดับน้ำและความชื้น เพราะเห็ดจะโตได้ ไม่ได้โตจากน้ำ แต่โตจากความชื้น และอย่ารดน้ำมากเกินไป”
นี่คือองค์ความรู้ที่ได้จากการปลูกเห็ดที่เราได้ แต่...ในเวลาต่อมาเราก็เลิกทำเห็ด เพราะการปลูกเห็ดนั้นมีข้อเสียสำหรับเรา...
เจ้าของ “AB Farm เกษตรบ้านๆ” เผยว่า สาเหตุที่เลิกปลูกเห็ด และมาขายผักแทน เพราะเราไม่เก่งเรื่องการตลาด ที่สำคัญ คือ มีเวลาเก็บเกี่ยวเพียง 2 วัน หากแช่เย็นไว้ก็เก็บได้ไม่นาน
“เราขายของไม่เก่ง และที่สำคัญพอไปเจอคนพูดจาไม่ดีกับเรา เราก็ไม่อยากจะฟัง ไม่อยากได้ยิน พอเจอเราก็หลบ ซึ่งความจริงหากเราไปขายตามตลาดนัดแป๊บเดียว 2-3 ชั่วโมง ก็ขายหมด แต่กลับมาสุขภาพจิตไม่ดี ก็เลยถอย”
...
ปล่อย “เสื้อวิน” ปลูกผัก ต้องรอด!
พี่แอบ เล่าว่า ตอนที่ทำเห็ดนั้น เรายังขับวินอยู่บ้าง แต่พอมาเริ่มทำผักได้ 3 แปลง ก็ยังขับวินอยู่ กระทั่งมีการขยายเป็น 7 แปลง ปรากฏว่าไม่มีเวลาเลย ต้องปล่อยเสื้อวิน จยย. คิดว่ายังไงต้องรอด เพราะกลับมาขับวิน จยย. ไม่ได้
“ตอนแรกที่ปลูกผัก เราใช้วิธีการไฮโดรโปนิกส์ แต่เรารู้สึกว่าเมื่อเราปลูกไปแล้ว การปลูกแบบไฮโดรฯ ไม่ถือว่าเป็นเกษตรอินทรีย์ 100% สำหรับผม ไปเจออาจารย์ท่านหนึ่ง
เราถามเขาแค่คำเดียวว่า “ดิน” คืออะไร คำตอบที่ได้รับคือ “ซากพืช ซากสัตว์” จากนั้นเราก็เกิดไอเดียว่า หากเราไม่ใช้ดินเลยล่ะ คือ การใช้ซากพืช ซากสัตว์ที่ผ่านการหมักมาแล้วทั้งหมด จะเป็นอย่างไร...
ตอนที่ผมทำเกษตรแบบ “ไฮโดรฯ” เราทำดินไส้เดือนขายด้วย เมื่อเราทำดินไส้เดือนได้อยู่ตัวแล้ว เราก็มาเจอระบบ “Permaculture” ซึ่งถือเป็นการปลูกผักอินทรีย์ 100%
Permaculture : การทำเกษตรอินทรีย์โดยไม่ใช้ดิน ใช้อินทรียวัตถุมาทับถม โดยไล่เรียงจากของใหญ่ๆ ไว้ด้านล่างสุด เช่น ไม้ใหญ่ กระดูกสัตว์ ถ่าน กิ่งไม้ ใบไม้ มูลไส้เดือน ปุ๋ยหมัก โดยไล่เรียงจากความหยาบของอินทรียวัตถุ
...
อินทรียวัตถุขนาดใหญ่อยู่ล่างสุด มันจะย่อยหลังสุด ฉะนั้น อินทรียวัตถุที่ไม่ค่อยหยาบ เช่น มูลไส้เดือด ใบไม้ มันจะย่อยสลายไปก่อน ปุ๋ยหมักอยู่บนสุด เพราะมันผ่านการย่อยมาแล้ว 3-4 เดือน เราก็จะนำมาปลูกพืชได้ เพราะมันไม่เกิดความร้อนแล้ว
ส่วนอินทรียวัตถุใหญ่ๆ ที่อยู่ด้านล่าง เราเลือกชิ้นใหญ่ เพราะให้มีพื้นที่ให้อากาศแทรกตัวลงไป หากเราเลือกชิ้นเล็กไป อากาศจะน้อย จะทำให้จุรินทรีย์มันทำงานและเกิดความร้อน เช่น ขี้ไก่ ขี้วัว ถ้าทับถมกันมากเกินไป มันจะร้อน เพราะ “จุรินทรีย์” นั้น เวลาทำงานเขาต้องการอากาศด้วย หากไม่มีอากาศมันจะกลายเป็นความร้อน เมื่อความร้อนเจอรากพืช มันก็เรียบร้อย... หากแต่ไปเจอน้ำ ความร้อนเจอน้ำ เกิดความเป็นชื้น กลายเป็นเชื้อรา นี่คือหลักการธรรมชาติเบื้องต้น ไม่ใช่ว่าการไถเปิดหน้าดินแล้วมันจะได้ผลดีเสมอไป นี่แหละคือเหตุผลว่าทำไมการเป็นเกษตรกรแล้วเหนื่อย คือมันต้องทำงานทุกวัน...
“เราเองทำน้อย ในเนื้อที่ไม่ถึง 1 งาน มันเลยไม่หนักมาก รายได้จากการปลูกพืชของเราเดือนละหมื่นกว่าบาท ก็ถือว่าอยู่ได้ เพราะเราไม่ได้เสียเงินจากการใช้ชีวิตประจำวันเท่าไร ซึ่งการดูแลพืชสำหรับ 1 งานนั้น ใช้ 1 คน ถือว่าเพียงพอ”
...
หลักคิดและการบริหารจัดการ
ยอมรับว่าเป็นคนที่เริ่มต้นแบบไม่มีความรู้ ฉะนั้น เราเองไม่ได้วางแผนในการบริหารจัดการเท่าไร แรกเริ่มเดิมทีเลี้ยงไส้เดือนกว่า 200 กะละมัง ซึ่งการขาย ใช่ว่าจะขายดีมากมาย เราจึงปรับให้เหลือ 30 กะละมัง ซึ่งก็ถือว่าขายได้ โดยเฉพาะเวลาไปออกบูธ
“เด็กๆ จะชอบ เห็นแล้วอยากจะเลี้ยง เราจึงปรับแผนด้วยการขายชุดละ 300 บาท เหลือ 100 บาท เป็นชุดทดลองเลี้ยงไส้เดือนสำหรับเด็กๆ ก็ถือว่าขายดีระดับหนึ่ง กระทั่งเจอโควิดมันก็เริ่มเงียบ”
ความจริงเราไม่ได้อยากขายมูลไส้เดือน หรือชุดเลี้ยงไส้เดือน สิ่งที่เราตั้งใจ คือ ความพยายามในการนำดินไส้เดือนไปให้พืชของเราได้กิน เพื่อเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ในการทำผัก ในทุกลาเวนเดอร์ เราอยากได้แปลงผักสวยๆ ถ่ายรูปโชว์ ซึ่งมันก็ขายได้ โดยที่เราไม่ได้ยัดเยียดคนดู เวลาโพสต์เราจะไม่บอกว่าสวยแค่ไหน ผักดีเพียงไร เราให้เขาดูภาพและคิดและตัดสินด้วยตนเอง
จาก ฟาร์มผัก สู่ฟาร์มแพะ mini pygmy
คทาวุธ ยอมรับว่า ช่วงนี้กำลังผลักดันในเรื่องของ “แพะ” mini pygmy ซึ่งช่วงนี้ถือว่าคนกำลังนิยม เหมือนกับเลี้ยงแทนหมา แมว ได้เลย ส่วนฟาร์มผักของเราก็ยังทำให้สวยๆ ปลูกไว้กินเอง หรือเหลือก็ขายได้นิดหน่อย
“รายได้หลักเวลานี้มาจากแพะ โดยเราเริ่มต้นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว นำเข้ามา เราก็ไปซื้อต่อจากเขา คู่ละ 80,000-90,000 บาท ซึ่งการทำฟาร์มแพะ mini pygmy นั้น อายุราว 5-6 เดือน ก็สามารถตั้งท้องแล้ว และใช้เวลาอุ้มท้องอีก 5 เดือน ก็จะได้ลูก 1 ตัว ซึ่งท้องแรกๆ อาจจะให้ลูกแค่ 1 ตัว แต่หากท้องคอกที่ 2-3 ไปแล้วก็จะได้ลูกมากขึ้น ครั้งละ 2-3 ตัว ส่วนราคาขายในเวลานี้ ลูกแพะตัวละประมาณ 2 หมื่นขึ้น ในขณะที่การเลี้ยงก็ใช้ต้นทุนไม่สูง เพราะเขากินน้อย กินอาหารเม็ด หญ้า ใบไม้แห้ง โดยแพะ mini pygmy กินน้อยกว่าแพะ ทั่วไป 10 เท่า นิสัยของมัน คือ ถ้าเราเลี้ยงก็ปล่อยได้เลย และมันค่อนข้างติดกับคน เหมือนเราเป็นจ่าฝูง”
พี่แอบ เผยทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านมา เคยมีคนถามผมว่า “ความสุข” ในการทำเกษตรคืออะไร “สำหรับผมมันคือ ความเบิกบาน คือการอยู่อย่างไม่ทุกข์ ซึ่ง 2 สิ่งที่ทำให้ทุกข์ คือ ความหิว และป่วย อาการป่วยมาจากอาหารการกิน หากกินอาหารไม่มีประโยชน์ อาหารที่ไม่ได้มาจากอินทรีย์ ซึ่งถึงแม้จะเลี่ยงไม่ได้ทั้งหมด แต่เราเลือกได้ ผ่อนหนักเป็นเบาได้บ้าง ซึ่งถ้าเราทำได้ทุกอย่างมันก็จบ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ