สจ๊วตหนุ่ม ยูทูบเบอร์ สายเกษตร สอนปลูกผัก-ผลไม้ กลางเมืองกรุง ใช้พื้นที่น้อย แนะเคล็ดไม่ลับสำหรับผู้ที่อยากเริ่มต้น
ชีวิตคนเรามีความสุขที่แตกต่างกัน บางคนชอบวิถีเมือง ได้อยู่ กิน เที่ยว เดินห้างก็มีความสุข
สำหรับบางคน ขอแค่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ ปลูกผัก ผลไม้ ไว้กินเอง มีเหลือได้แบ่งปันคนอื่น ก็มีความสุขเช่นกัน
คอลัมน์เกษตรฯ กับการขับเคลื่อนแรงบันดาลใจ ในวันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้คุยกับ ศักดิ์ หรือ ธรรมศักดิ์ กาญจนดุลย์ สจ๊วตหนุ่มวัย 39 อาชีพแต่งตัวหล่อ เท่ ให้การต้อนรับบนเครื่องบิน แต่อีกมุมหนึ่งเขาเลือกที่จะแบ่งปันความรู้ เป็นเกษตรกร ปลูกผัก และพืชต่างๆ ไว้มากมาย ทำคลิปลงยูทูบ เจ้าของช่อง “สวนผักพ่อครัว” ที่ปลูกผักอยู่กลางเมืองในซอยลาดพร้าว 87 มีผู้ติดตามใน Facebook 6.5 หมื่นคน และในยูทูบมีผู้ติดตามอยู่กว่า 1.3 แสนคน
ชอบปลูกผัก ได้เงินใช้ตั้งแต่เด็ก
คุณศักดิ์ เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำเกษตร ทำอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน พอเกิดปัญหาช่วงโควิด ก็เลยพอมีเวลา จึงเลือกที่จะกลับมาทำเกษตร สาเหตุเพราะเราเป็นคนที่ปลูกผักแบบนี้อยู่แล้วตั้งแต่เด็กๆ
...
“ตั้งแต่สมัย ป.5-6 เราเรียนการปลูกพืชที่โรงเรียนใน จ.นครศรีธรรมราช ครูก็สอนให้เราปลูกผักในแปลงผักและพืชของโรงเรียน ปรากฏว่าเราทำได้ดีกว่าคนอื่น คุณครูก็ชม เพื่อนๆ คนไหน ปลูกแล้วไม่รอด เราก็ไปช่วยก็สามารถปลูกพืชส่งครูได้” คุณศักดิ์ เล่าพลางอมยิ้ม
“เอาอย่างนี้สิ หากเธอปลูกที่บ้าน หากผักงอกงามแล้วเอามาขายครูสิ” คุณครูแนะนำ
“ได้ครับ...”
เรากลับไปปลูกที่บ้านจริงๆ เป็นกลุ่มผักสวนครัว พอปลูกได้ก็เอามาขายคุณครู ได้เงิน 20-40 บาท ซึ่งถือว่าเยอะมากๆ ในสมัยนั้น เพราะตอนนั้นเราได้เงินไปโรงเรียนแค่วันละ 5 บาท ....
คุณธรรมศักดิ์เล่าเรื่องราวสมัยเด็กๆ อย่างมีความสุข เป็นที่มาว่าทำไม ถึงปลูกผักสวนครัวไว้กินเองตลอด จนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย และทำงานในปัจจุบัน
กลับมาที่ปัจจุบัน พอเริ่มมีปัญหาช่วงโควิด ทำให้พอมีเวลาว่าง จึงใช้เนื้อที่บ้านของตัวเองแปลงเป็น “สวนผัก” เริ่มจากแปลงเล็กๆ ก่อน ด้วยที่มีความรู้จากการลงมือทำด้วยการปลูกพืช เราจึงถ่ายคลิปลงยูทูบ สอนการปลูกพืช ปลูกผักต่างๆ ด้วยการตั้งชื่อช่องว่า “สวนผักพ่อครัว”
สจ๊วตหนุ่ม เจ้าของสวนผักพ่อครัว เล่าที่มาของชื่อ “สวนผักพ่อครัว” ว่า สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้ เพราะเรารู้สึกว่าผักที่เราปลูก เหมือนผักอยู่หลังครัว อยากจะทำอาหารก็เดินไปนำผักหลังครัวมาทำ ไม่ต้องซื้อหา ได้ผักที่ปลอดสารพิษมารับประทานกัน
หลักการปลูกผัก ใช้หลักปฏิบัติก่อนทฤษฎี
สำหรับหลักการปลูกพืชผักสวนครัวของ “ธรรมศักดิ์” นั้น ยอมรับว่า ไม่ได้ยึดโยงหลักการ หรือทฤษฎีอะไรมากมาย แต่ใช้ความรู้ที่มาจากประสบการณ์จริงในการทำเกษตรมากกว่า
“การปลูกผักสำหรับผม ไม่มีวิธีไหนที่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกตัวอย่าง “มะเขือ” บางครั้งเราโยนเมล็ดลงไปในดิน ไม่นานมันก็เริ่มงอก โดยที่เราไม่ต้องบำรุงอะไรมาก ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่จะปลูกแบบนั้น ขอเพียงว่าไม่ใช้สารเคมี เราก็นำมารับประทานได้”
ส่วนพื้นที่ในการปลูกผักนั้นใช้พื้นที่น้อยมาก ครั้งแรกที่ปลูกจริงจัง คือ ปลูกเพียง 3 แปลง 1 คูณ 3 เมตร เท่านั้น และบางส่วนก็ไม่ได้ลงแปลง คือ การปลูกในกระถาง โดยปลูกแบบนี้หมุนเวียนกันไปก็รับประทานไม่ทันแล้ว... เช่น ผักสวนครัว : พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา มะกรูด มะนาว ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด ชะพลู แตงกว่า เคล
...
ผลไม้: มะขาม มะม่วง กล้วย ขนุน ฝรั่ง ชมพู่ เสาวรส แก้วมังกร แตงโม เป็นต้น
สำหรับใครที่อยากปลูกพืช ใช้เนื้อที่น้อย นายธรรมศักดิ์ แนะนำว่า หากบ้านคุณมีพื้นที่ไม่มาก และไม่มีน้ำ ก็สามารถปลูกผักได้ โดยเริ่มต้นจากการปลูกในกระถางก่อน เริ่มต้นซื้อดินสัก 5 กก. จากนั้นก็เริ่มปลูกพืชที่โตง่ายๆ เช่น พริก มะเขือก่อน โหระพา กะเพรา
สิ่งที่แนะนำคือ การเริ่มต้นอย่าปลูกอะไรที่ยากเกินไป เช่น ผักเคล เพราะหากเราเริ่มจากการปลูกสิ่งที่ยากก่อน เมื่อมันไม่ได้ผล เราจะรู้สึกท้อ แล้วมันไปต่อไม่ได้ แล้วสิ่งที่เราซื้อมา กระถาง ดิน วัสดุปลูก จะกลายเป็นขยะรกบ้าน
ออกแบบแปลงผักเนื้อที่น้อย “ดิน” สำคัญกว่า “น้ำ”
เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับมือใหม่ นายธรรมศักดิ์ เผยเคล็ดลับว่า สำหรับใครที่อยู่ในกรุงเทพฯ มีบ้านมีเนื้อที่ไม่มาก หรืออยู่ในคอนโดฯ ก็ตาม สิ่งสำคัญในการปลูกพืชสำหรับโซนเมือง คือ “ดิน” สำคัญกว่า “น้ำ” กลับกัน หากเป็นต่างจังหวัด ในพื้นที่ใหญ่ๆ น้ำจะสำคัญกว่าดิน
...
“ตอนที่เราทำช่องยูทูบ และมีการออกเดินสายไปพูดคุยกับเกษตรกรคนอื่นๆ ทำให้เราได้เห็น ได้ความรู้จากเกษตรกรด้วย นอกจากเราจะโปรโมตสวนให้กับเขา องค์ความรู้ที่ได้ คือ “การหมักดิน” เพราะการหมักดิน เท่ากับการเติมสารอาหารให้กับดิน ทำให้ผักที่เราปลูกงามกว่าเดิมได้”
ดิน ก็เหมือนมนุษย์ ที่ต้องการสารอาหารให้ครบ เหมือนกับคน ฉะนั้นหากเราปลูกไม้ทั่วไป เป็นกลุ่มไม้ยืนต้น เราอาจจะปลูกแบบไหนก็ได้ รอให้เติบโตตามธรรมชาติ แต่การปลูกพืชผัก เราต้องหาความเหมาะสมให้เขา เพื่อให้เขาเจริญเติบโต ด้วยการใส่ธาตุอาหารต่างๆ ลงไปในดิน เช่น เปลือกกล้วย มะละกอ เปลือกส้ม นำมาหมัก เพิ่มธาตุอาหารลงไป
รายได้งาม เฉพาะขายพืชผักก็อยู่ได้
เมื่อถามถึงรายได้ จากการปลูกพืช สจ๊วตหนุ่มยอมรับว่า มีจากหลายช่องทาง เช่น ทางช่องยูทูบ เพจเฟซบุ๊ก ส่วนจากผักและผลไม้ที่ปลูกนั้น เรียกว่าดีในระดับหนึ่ง หากเราเป็นพนักงาน เงินเดือน 15,000-20,000 บาท การปลูกพืชในที่น้อยแบบนี้ ก็ทำให้เราอยู่ได้ โดยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข นอกจากนี้ เรายังทำอุปกรณ์ปลูกขายด้วย ทีแรกที่เริ่มทำ เพราะเราอยากทำใช้เอง แต่ภายหลังมีคนสนใจ เราก็ทำขายด้วย เช่น ชั้นวางต้นไม้ อุปกรณ์สำหรับโรงเรือนก็มี
...
สิ่งที่ได้จากการปลูกพืชของเรา คือ เราได้อาหารที่ไม่มีสารเคมี นอกจากนี้ เมื่อเรานำไปขาย มันก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ด้วย
“การปลูกผักแล้วกินเอง มันรู้สึกว่ายังไม่มีความสุขเท่ากับการที่เราปลูกแล้วนำไปให้คนอื่น ความสุขของเรา คือ การได้เก็บผักที่เราปลูก ได้เห็นคนอื่น ดีใจที่ได้ผักจากเราไปรับประทาน การที่เราได้กินเอง บางครั้งก็รู้สึกเสียดาย เพราะเราเห็นมันตั้งแต่เมล็ด จนเริ่มงอก งดงาม แต่ถ้าเรากินมันเลย เราจึงรู้สึกเสียดาย แต่เมื่อเห็นคนที่รับผักเราไปแล้ว ดูสีหน้าเขามีความสุข เรายิ่งมีความสุข” สจ๊วตหนุ่มผู้รักการปลูกผัก กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ