คุยกับอดีตมนุษย์เงินเดือน บ.เครื่องดื่มชูกำลัง กลับบ้านเจอหนี้ 1 ล้าน ปลูกพืชผสมผสาน ใช้เวลา 4 ปี ปลดหนี้ กลายเป็นเกษตรกรตัวอย่าง จ.สุรินทร์
ปัจจุบันมีคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน อยู่ในมาตรา 33 อยู่ราว 11.8 ล้านคน (ข้อมูล: ประกันสังคม เดือนมกราคม 2567) ซึ่งแน่นอน ย่อมมีคนเข้าและคนออก ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากบางคนเลือกที่จะเป็น “นาย” ตัวเอง ด้วยการทำงานอิสระตามความถนัดของตนเอง แต่บางส่วนก็เลือกที่จะกลับบ้าน กลับถิ่นฐาน และหันมาทำเกษตร เนื่องจากยังมีที่ดินของตนเอง หรือได้มรดกจากปู่ย่าตายาย
สิ่งที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ อยากนำเสนอในวันนี้ คือ เรื่องราวของ “คุณอุ๊” หรือ วิชชุดา โชติช่วง สาววัย 40 ปี เจ้าของ “โชติช่วงฟาร์มสุรินทร์” อดีตพนักงานบริษัทยักษ์เครื่องดื่มชูกำลัง ที่ยอมทิ้งเงินเดือนหลายหมื่น กลับบ้าน (สามี) มาช่วยพ่อสามีปลดหนี้ 1 ล้านบาท ด้วยวิธีการดัดแปลงนาข้าว มาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งเธอทำได้อย่างไร เรามาฟังเคล็ดลับกัน
...
ทิ้งเงินเดือน 3 หมื่น กลับบ้านหวังทำเกษตร เจอหนี้ 1 ล้าน
วิชชุดา เล่าว่า เดิมทีได้ทำงานกับบริษัทเครื่องดื่มชูกำลังแห่งหนึ่ง เงินเดือนก็ราว 3 หมื่นกว่าบาท กระทั่งเข้าช่วงปี 2557 ได้ตั้งท้องลูกคนที่ 2 ประจวบกับทางบริษัทมีการย้ายเข้าไปตั้งในกลางเมือง ซึ่งทำให้การเดินทางยากลำบากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงตัดสินใจ “ลาออก” เพื่อไปอยู่ที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งถือเป็นบ้านพ่อสามี และเลี้ยงลูก ขณะที่ตัวเราเองนั้น พื้นเพอยู่ขอนแก่น
ตอนกลับมาใหม่ๆ ก็ไม่ได้ช่วยงานอะไรมาก เพราะพ่อแฟนเขาก็มีอาชีพทำนา เลี้ยงหมู ซึ่งก็ขายมีกำไรบ้าง บางทีป่วยเป็นโรคก็มีตายบ้าง ซึ่งสุดท้ายมันก็ขาดทุน...เราเองจึงเสนอว่าอยากจะปลูกผัก แต่... เนื่องจากว่าเวลานั้นมีโครงการ 1 ตำบล 1 SMEs เสนอเงินกู้ ซึ่งคุณพ่อ (สามี) จึงเสนอว่าจะกู้เงินเพื่อจะเลี้ยงวัว ด้วยเงิน 1 ล้านบาท
ตอนนั้นพ่อสามีลงทุนไปเยอะ ทำคอกใหญ่ ซื้อวัวสายพันธุ์ชาโรเลส์ มาเลี้ยง 40-50 ตัว ซึ่งตัวละ 40,000-50,000 บาท โดยในช่วงที่ทำ 2 ปีแรกนั้นดี คือซื้อมาขายไป กระทั่งปลายปี 2560 เริ่มที่จะลงทุนซื้อพ่อพันธุ์ในราคาแพงขึ้น โดยซื้อตัวละ 70,000 บาท พอเข้าปี 2561 ปรากฏว่าวัวมันป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า ราคาตกต่ำ วัวที่มีก็ต้องยอมขายแบบขาดทุน ขณะเดียวกัน ราคาข้าวเวลานั้นก็เป็นช่วงตกต่ำอีก ตรงนี้เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราต้องคิดทำอะไรสักอย่าง...
เริ่มต้นใหม่ กับพื้นที่ 8 ไร่ ขุดสระ 1 ไร่ 5 ไร่ปลูกพืช
วิชชุดา ยอมรับว่า เดิมเราก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเกษตรเลย แต่ก็อยากจะทำเกษตรแบบผสมผสาน ตามรอยในหลวง ร.9 ก็เลยเริ่มศึกษา และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชด้านนี้
“ตอนพ่อ (สามี) ทำนา เขาทำนับ 100 ไร่ รวมกับญาติพี่น้องหลายคน บางคนไปกรุงเทพฯ ทิ้งที่ดินไว้ พ่อก็ใช้ทำนา แต่พอช่วงหลัง ราคาข้าวไม่ดี เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ น้องชายพ่อกลับมาที่บ้าน จึงมีการแบ่งที่ดินให้ ดังนั้น เราจึงเสนอพ่อว่า อยากจะมาทำเกษตรผสมผสาน พ่อเองก็เห็นด้วย เพราะอยากทำมานานแล้ว แต่ทำไม่ได้ เนื่องจากทำคนเดียว แต่เมื่อมีเรามาช่วย ซึ่งเป็นลูกสะใภ้ จึงถือเป็นการเริ่มต้น ในที่ดินประมาณ 8 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนของสามี”
วิชชุดา เล่าว่า ช่วงที่เริ่มมีการเปลี่ยนนั้น ถือเป็นจังหวะที่ดี ที่ภาครัฐเริ่มมีการสนับสนุน ให้เปลี่ยนนาข้าวเป็นสวนผสม โดยจะมีเงินสนับสนุน ไร่ละ 5,000 บาท เราก็เลยขอเข้าร่วมโครงการนี้ในช่วงปี 2561
อุ๊ วิชชุดา บอกว่า สิ่งแรกที่ทำ คือ การขุดสระ จำนวน 1 ไร่ เราจะปลูกพืช เราต้องเตรียมน้ำไว้ก่อน นอกจากนี้ ก็ทำเป็นร่องสวน เพื่อให้น้ำไหลผ่าน จากนั้นก็จะเริ่มปลูกพืชในพื้นที่ 5 ไร่ โดยที่ตัวเองไม่มีความรู้พื้นฐานเกษตรเลย แต่ใช้วิธีการศึกษาเองจากยูทูบ แต่ก่อนจะลงมือทำจริงๆ เราก็ไปอบรมเรียนรู้
“เราอยากกินอะไร เราก็จะปลูกสิ่งนั้น ซึ่งไม่ได้คิดเรื่องการขาย เช่น มะพร้าว กล้วย มะละกอ ผัก พริก มะเขือ และพืชสวนครัว โดยเงินลงทุนก้อนแรก คือ การปรับสภาพที่ดิน ใช้เงินจากพ่อที่ขายข้าวได้ ประมาณ 40,000 กว่าบาท ซื้อปั๊มแบบจุ่มไดโว่ จากนั้นใช้ฉีดรดต้นไม้”
...
อุ๊ ยอมรับว่า แม้เธอจะด้อยความรู้ด้านการเกษตร แต่พอลงมือทำจริงๆ ก็นึกไปถึงการเกษตรของภาคกลาง เช่น เราเห็นคนปลูกมะพร้าว แถวสมุทรสาคร เขาทำร่องสวน ขุดคลอง ส่วนดินที่ขุดออกมาก็ถมขึ้น ทำเป็นที่ปลูกผัก
โดยในหลุมปลูกมะพร้าว เราจะปลูกต้นกล้วยไว้ด้วย จากนั้นก็เอาพวกผักสวนครัวมาปลูกใกล้ๆ พริก มะเขือ เพราะเวลารดน้ำจะได้รดทีเดียวไปเลย ซึ่งเรื่องนี้เราไปศึกษาจากทฤษฎี “หลุมพอเพียง”
เพียง 3-4 เดือนแรก เราก็เริ่มขายพริก มะเขือได้ ส่วนต้นมะพร้าว กล้วย ที่มันยังไม่โต เราก็ปล่อยมันไป กระทั่ง 6-7 เดือน ต้นกล้วย มะละกอ เริ่มโต มันก็เริ่มเห็นว่าเริ่มขายได้ พอชาวบ้านใกล้เคียงเริ่มเห็น เขาก็เข้ามาขอดูว่าเราทำยังไง เพราะแถวบ้านไม่มีใครทำแบบนี้เลย ไม่มีใครคิดจะขุดสระ แม้ว่าเราจะอยู่นอกเขตชลประทาน เพราะชาวบ้านเขากลัวเสียพื้นที่ ดังนั้น พื้นที่ที่เราอยู่ จึงดูแห้งแล้งมาก ยกเว้นสวนเราที่จะเขียวชอุ่ม
คนแห่ดูสวน จากปากต่อปาก กลายเป็นได้รางวัล ในปี 2563
คุณอุ๊ บอกว่า ตอนที่เราปลูก เราก็ไม่ได้หวังจะขายเท่าไร หวังปลูกไว้เพื่อกินเอง เป็นการลดรายจ่าย แต่พอได้ผลผลิตมากเข้า กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ตลาดถูกสั่งปิด คนในชุมชนจึงแห่มาซื้อของเราจนหมด จนไม่เพียงพอ...
...
ดังนั้น จาก 8 ไร่ ที่มีอยู่เดิม ก็เลยคิดจะขยายพื้นที่ออกไปอีก โดยเอาที่นาของพ่อมาใช้บางส่วน อีกส่วนที่เหลือก็ยังคงทำนาปกติ
ในปี 2563 เจ้าหน้าที่เกษตรมาเห็นสวนของเรา และบอกว่า “สวนสวยนะเนี่ย..น่าไปประกวด” ปรากฏว่าเมื่อเราไปประกวด ก็ได้รางวัลชนะเลิศเลย
วิชชุดา เผยว่า ปัจจุบันเรามีการขยายสวนไป 29 ไร่ วิธีการปลูกก็คล้ายๆ แบบเดิม โดยนอกจากผลไม้แล้ว ยังมีไม้ป่าชนิดต่างๆ โดยมีเกณฑ์ในใจว่าอยากได้พื้นที่เป็นธรรมชาติมากที่สุด โดยเราจะไม่ทำสิ่งก่อสร้างใดๆ แต่เราอาศัยพืชชนิดต่างๆ ที่เราปลูกไว้ให้เป็นร่มเงาแทน
โดยในปี 2564 มีโครงการ โคกหนองนาโมเดล เราจึงถือโอกาสขยายบ่อน้ำให้มีมากขึ้น ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ มีบ่อน้ำใหญ่ๆ 4-5 แห่ง มีคลองน้ำเล็กๆ อีกหลายคลอง ทำให้ดินของเรามีความชุ่มชื่น บวกกับเราปลูกพืชโดยไม่ใช้สารเคมี และผลผลิตที่ได้ของเรายังได้ตราออร์แกนิกไทยแลนด์ด้วย
เคล็ดลับ ปลดหนี้ 1 ล้าน ภายใน 4 ปี
อุ๊ วิชชุดา เผยว่า ของที่ขายได้ตลอดกาล คือ กล้วย และมะละกอฮอลแลนด์ โดยเฉพาะกล้วย ขายได้ทุกส่วน และบางส่วนก็เอามาทำอาหารสัตว์ได้ด้วย เพราะนอกจากพืชแล้ว เรายังเลี้ยงเป็ด ไก่ วัว หรือจะเอามาสับทำน้ำหมักก็ได้ ขณะที่มะละกอฮอลแลนด์ กลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน ในหมู่บ้าน เขาจะนิยมรับประทาน ซึ่งมะละกอฮอลแลนด์นั้นอาจปลูกยากนิดหนึ่ง เนื่องจากเขาไม่ชอบความแฉะ
...
“ด้วยที่มีรายได้เข้ามา เราไม่ค่อยมีรายจ่าย ทำให้ในช่วงเวลา 4 ปี เราสามารถช่วยกันปลดหนี้ 1 ล้านบาทจนหมด ซึ่งสิ่งสำคัญส่วนหนึ่ง คือ ทุกรายได้ รายจ่ายของเรา มีการจดไว้ในบัญชีครัวเรือนทั้งหมด เราสามารถปลดหนี้ ธ.ก.ส. ได้ ในปี 2565 กระทั่งญาติจะขายที่ดินให้เรา เราก็เลยไปกู้ ธ.ก.ส. มาใหม่ เป็นเงินอีก 6 แสน เวลานี้เหลือ 5 แสนกว่าบาทแล้ว”
คำแนะนำ วิธีการปลดหนี้
เจ้าของโชติช่วงฟาร์มสุรินทร์ ย้ำว่า การใช้หนี้นั้น เวลาจ่ายเราอย่าจ่ายแต่ดอก อย่างน้อยคุณต้องมีเงินเหลือจ่ายต้นบ้าง จะเท่าไรก็ได้ ขอให้ต้นมันลด เพราะหากต้นลด ดอกเบี้ยมันก็จะลดด้วย อย่างน้อยใน 1 ปี คุณต้องลดต้นให้ได้ 1 แสนบาท/ปี ซึ่งตอนนั้นที่เราปลดหนี้ 1 ล้าน เป็นช่วงที่เราขายมะละกอฮอลแลนด์ได้เยอะ มันช่วยให้เราจ่ายได้ปีละถึง 2.4 แสน (เฉพาะต้นไม่รวมดอก) ซึ่งบางปีก็จ่ายได้ 1.6-1.8 แสน
ในขณะที่รายได้ในแต่ละปีเวลานี้ เราก็มีเงินเหลือแสนกว่าบาท เมื่อเราหักลบกลบหนี้จากรายรับที่เข้ามา รายจ่ายที่ต้องจ่าย ซึ่งรายได้แต่ละปีจะมีความแตกต่างกันไป
ในช่วงท้าย คุณอุ๊ วิชชุดา แนะนำว่า หากครอบครัวไหนมีที่ดินอยู่แล้ว ถือว่าคุณโชคดีมากๆ ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นหนี้ โฉนดอยู่ใน ธ.ก.ส. ก็ตาม ใครปลูกพืชเชิงเดี่ยว ก็อยากจะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนมาทำแบบผสมผสาน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามรอยในหลวง ร.9 ได้ จะรู้ว่าทำได้จริง เป็นรากฐานชีวิตคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะมองข้ามมันไป เพราะเหนื่อย ลำบาก และไม่มีเครดิต แต่มันก็คือสิ่งสำคัญ เพราะชีวิตคนเรามันขึ้นอยู่กับอาหารการกิน เมื่อปลูกไปแล้ว อาจจะสร้างรายได้เพิ่มได้ด้วย อย่างน้อย 200-300 บาท แม้ไม่มีที่ดิน ก็สามารถปลูกพืชในกระถางได้
“การเริ่มต้น ไม่จำเป็นต้องลงทุนมาก เพียงแต่เราต้องใช้แรง และการบริหารจัดการที่ดี สิ่งสำคัญ อย่ารีบกู้เงิน หากเราเป็นหนี้อยู่ก็พยายามใช้ก้อนเก่าให้หมดก่อน โดยที่ผ่านมา ทาง ธ.ก.ส. ก็ให้เราไปแนะนำกับเกษตรกร ถึงเคล็ดลับการบริหารจัดการ ซึ่งถ้าใครมีปัญหา เขาก็แนะนำให้มาดูงานกับเรา และให้คำแนะนำในการจัดการใช้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทำบัญชีครัวเรือน คำนวณการใช้จ่าย ใช้หนี้เท่าไร เหลือใช้เท่าไร และควรหาวิธีลดต้นให้ได้”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ