คุยกับ “หยก-จุลเทพ” เจ้าของ คุณชายผักสลัด เริ่มปลูกผักตั้งแต่ ม.6 เพราะเรียนไม่เก่ง กับเส้นทางทำกินสายเกษตร ไม่ได้รัก แต่ต้องเก่ง และขอรวยกับอาชีพนี้....

เขาถือเป็นเยาวชนคนเก่งคนหนึ่ง ที่เป็นผู้มีชื่อเสียงในสายเกษตร สำหรับ น้องหยก หรือนาย จุลเทพ บุณยกรชนก เจ้าของแบรนด์ “คุณชายผักสลัด” ที่ปัจจุบันนี้ อายุ 25 ปีแล้ว แต่ชื่อเสียงของเขา เริ่มตั้งแต่วัย 18 ปี คือ ยังไม่จบ ม.6 เพราะปลูกผักสลัดขาย จนกลายเป็นร้านที่มีชื่อเสียง ใน จ.อ่างทอง ก่อนจะขยายกิจการมาทำธุรกิจ “วัสดุปลูก” 

มังกรหยก หรือ น้องหยก เล่าให้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังว่า ... 

เดิมทีทางครอบครัวก็เป็นเกษตรกร ส่วนตัวเราเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่เก่ง ส่วนหนึ่งเพราะไม่ตั้งใจเรียน แต่บางช่วงก็พยายามแล้ว แต่เนื้อหาวิชาเรียนมันไม่เข้าไปในหัวเลย สูตรคณิตศาสตร์ จำไม่ได้ หากมองย้อนกลับไปแล้ว ก็เหมือนเด็กทั่วไป ที่ยังไม่เห็นความสำคัญของการเรียน...

...

พอช่วง ม.6 เราก็รู้สึกว่าไปไม่ไหว หันมาดูพ่อแม่ ก็เห็นว่ายังมีอาชีพเกษตร ทำปุ๋ยอินทรีย์น้ำ และปลูกผักทั่วไป ภายในพื้นที่บ้านเล็กๆ ประมาณไม่ถึงไร่...

ครูเกษตรคนแรก คือ “พ่อ” 

หนุ่มหยก เล่าว่า ครูคนแรกที่สอนวิชาเกษตรเลยคือ “พ่อ” แปลงแรกที่ลองปลูก คือ 1.20 คูณ 5 เมตร โดย เริ่มที่ 3 แปลง 

ก่อนลงมือปลูก ก็คิดว่า “ผักอะไรนะ...จะสามารถเพิ่มมูลค่าได้มากที่สุด”

จึงตกผลึกออกมาเป็น “ผักสลัด” เพราะมีกลุ่มลูกค้าที่กิน และคิดว่าขายได้มูลค่า...

โดยสิ่งที่พ่อสอน และคิดขึ้นเองส่วนหนึ่ง คือ การปลูกพืช อย่าปล่อยให้ผักมันเหี่ยว สิ่งที่ทำ คือ เรารดน้ำตอนกลางวัน ซึ่งเวลานั้นก็ทำแบบบ้านๆ เดินรดน้ำ ใช้สายยางเดินฉีดด้วยตัวเอง เพราะยังไม่มีสปริงเกอร์ 

“พอผักไม่เหี่ยว มันจะเติบโตได้ดีกว่า ที่สำคัญ คือ รสชาติของผักนั้น จะอร่อยกว่า ไม่มีรสขมติด...” 

3 แปลงแรก ออกผล ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง จึงต้องเปลี่ยน! 

จุลเทพ บอกว่า เมื่อปลูกผักสลัด งอกเงยทั้ง 3 แปลง ก็เอาผักแพ็กใส่ถุง แล้วไปเดินขาย ตามสถานที่ที่มีคนเดินเยอะๆ

“สวัสดีครับ วันนี้ผมมีผักสลัดมาขาย  พี่สนใจไหมครับ ผมปลูกเองเลยนะครับ”  

หยกบอกว่า ตอนนั้น ที่ไปเดินขายแล้วรู้สึกอาย แต่ความลึกๆ ในใจ คืออยากมีเงิน รู้สึกหิวข้าวมากกว่าอาย 

“อายแต่ไม่อิ่ม...เราต้องทำต่อไป” 

ตอนนั้นขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ เพราะลูกค้าเขาก็มีสิทธิที่จะเลือก 

คุณชายผักสลัด เล่าต่อว่า เรายืนขายแบบนั้นสัก 1 เดือน จากนั้นก็รู้สึกว่าหากยังเดินขายต่อไป รายได้ ก็จะไม่แน่นอน ที่สำคัญคือ การเริ่มต้นจากศูนย์ ไม่มีเงินหมุนเวียนเลย มันอาจไปไม่รอด เพราะบางวันขายได้ บางวันขายไม่ได้ ของที่มีก็เน่าเสีย 

“กว่าเราจะปลูกผักได้ ใช้เวลานาน แต่ผักเน่าเสียภายในวันเดียว...” 

...

 ดังนั้น สิ่งที่คิดคือ ต้องการหารายได้ แบบได้ประจำ เพื่อไปหาต้นทุนที่แท้จริง เพราะแบบนี้ เราจึงต้องไปหาผู้ประกอบการที่ต้องการผักแบบประจำ นั่นก็คือ “ร้านอาหาร” ซึ่งเราก็เริ่มหาในพื้นที่อ่างทองก่อน 

“พี่ครับ ผมมีผักสลัดมาขายนะครับ ผมปลูกเองนะครับ” 

หยก ในช่วงวัย ม.6 เดินสายเข้าร้านอาหาร เพื่อเสนอขายผักสลัด โดยร้านแรกๆ เป็นร้านขายสเต๊ก เขาเห็นหน้าเรา เขาก็ไม่ค่อยเชื่อถือ เพราะเป็นเด็ก ดังนั้น จึงกลับมาคิดว่า ทำไมเขาถึงไม่เชื่อถือ...เขาอาจต้องการหลักฐานอะไรบางอย่าง ที่มั่นใจว่าผักมีคุณภาพ และสามารถได้ผักอย่างประจำสม่ำเสมอ ดังนั้น เราจึงนำแผนการปลูกไปนำเสนอด้วย เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจว่าเราจะมีผักส่งให้ 10-15 กก. ทุกสัปดาห์ พร้อมกับบอกกรรมวิธีในการปลูก 

“เมื่อเขาเห็นดังนั้น เขาก็เชื่อมั่นมากขึ้น และรับผักสลัดเราไปขาย ดังนั้น เราจึงได้เงินทุกสัปดาห์ เฉลี่ยเดือนหนึ่งเวลานั้นก็ได้เงิน 2,500 บาท” 

...

นายจุลเทพ บอกว่า เมื่อได้เงินก้อนแรกมา รู้สึกว่า เงินเท่านี้ยังไม่เพียงพอ วิธีการก็คือ การหาร้านอื่นๆ เพิ่มเติม เมื่อเสนอขายได้ 1 ร้าน ไปร้านอื่นเขาก็เริ่มสนใจ บวกกับรสชาติของผักไม่ขม ทำให้ร้านในอ่างทองเริ่มพูดกันต่อเป็นปากต่อปากและทำให้ทางร้านเริ่มที่เป็นรู้จัก จนทำให้ลูกค้าเข้าหา... จากที่เคยปลูก 10-15 กก. ก็ต้องเพิ่มปริมาณการปลูก เป็น 80-100 กก. 

วัสดุปลูก แนวธุรกิจที่เกิดจากผักสลัด 

น้องหยก บอกว่า หลังจากที่ขายผักสลัด ได้สักระยะ ก็เริ่มแนวคิดใหม่ กับการทำ “วัสดุปลูก” ส่งขาย โดย “วัสดุปลูก” คือ การขายชุดปลูกผักสำเร็จรูป ภายในจะเป็นอินทรียวัตถุที่เราผสมขึ้น สามารถนำมาปลูกผักอะไรก็ได้ โดยเราผสมขึ้นเองจากความรู้ที่สั่งสมมาจากการปลูกผักสลัด แต่สิ่งที่นำมาใช้นี้ คือ เรานำไปเพาะกล้า และใช้ปลูกอะไรก็ได้ 

“ตอนนี้ธุรกิจหลักผม คือ การมุ่งทำวัสดุปลูก เพราะความต้องการในส่วนนี้มีเยอะมาก เราทำในแบรนด์ของตัวเอง โดยสามารถทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในขณะที่ผักสลัด ก็ยังมีปลูกและมีขายอยู่บ้าง แต่จะไม่เยอะมาก เป็นการตอบสนองความต้องการของผมเอง” 

เมื่อถามว่า แบบนี้จะเรียกตัวเองว่าเป็น “เกษตรกร” ได้ไหม เมื่อธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง 

เกษตรกร รวยได้ไหม ...คำถามที่ต้องถามกับทุกคน น้องหยก ตอบอย่างหนักแน่นว่า “รวยได้” 

ใครอยากรวย เกษตรก็เป็นอีกทางหนึ่ง แต่การจะรวยได้ มันมีตัวแปรเยอะ แต่สำหรับผมนั้น สิ่งที่คิดคือ เราทำต้องอะไรก็ได้ ให้กำไรพอไปได้และลูกค้ามีความสุข 

“ช่วงที่เราไต่เต้าขึ้นมา เราพยายามทำวิธีการนี้ คือ ให้เราและลูกค้ามีความสุข ถามว่านี่คือสูตรสำเร็จหรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่นี่คือสิ่งที่เราทำมา เช่น เราอยากได้ราคาผักสลัด แบบในช่วงฤดูร้อน เพราะผักสลัดจะมีราคาแพง ส่วนฤดูหนาว ผักสลัดจะราคาถูก ดังนั้น ปัญหาตรงนี้ควรจะหมดไป หากเราเสนอราคากลาง ที่ยอมรับได้กันทั้ง 2 ฝ่าย เช่น หน้าร้อน 120 หน้าหนาว 80 ขอสัก 100 บาททั้งปีได้ไหม เป็นต้น...

...

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมาคุยเรื่องราคาได้ เบื้องต้น สินค้าคุณ ต้องมีคุณภาพที่ดีก่อน หลักการนี้ ถือว่าเป็นหลักการที่สามารถใช้กับทุกอย่าง ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไรก็ตาม “ของคุณภาพดี” ราคาจะตามมาทีหลัง... และที่สำคัญคือ คุณต้องรักษามาตรฐานให้ได้ 

“การที่คุณจะทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ หรือ รวยได้ เกิดจากการ “ลูกค้า” ของคุณกลับมา “ซื้อซ้ำ” นี่คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตโดยไม่ผ่านตำราสักเล่ม” 

วุฒิการศึกษายังอยู่ ม.6 กับโอกาสการเรียนในวันหน้า

ทีมข่าวฯ ถาม “หยก” ว่า มีโอกาสอยากกลับไปเรียนต่อหรือไม่ เพราะทุกวันนี้วุฒิการศึกษา ยังหยุดที่ ม.6 นายจุลเทพ บอกกับเราตรงๆ ว่า เคยมีอยู่ช่วงหนึ่งที่กลับไปเรียน แต่ก็ไม่ได้เรียนต่อ ตอนนี้ไม่มีเวลาว่างกลับไปเข้าห้องเรียน 

“ใบปริญญา ผมก็อยากได้ แต่ตอนนี้เราไม่มีเวลาไปนั่งเรียน” 

คำแนะนำกับการเริ่มต้น

นายจุลเทพ แนะนำถึงคนที่อาจจะเลือกเริ่มต้นใหม่ ในวิถีเกษตร ว่า “ชีวิตคนเรามี 2 อย่าง อย่างแรก คือ ทุกคนอยากจะทำสิ่งที่ตัวเองรัก แต่อย่างที่สองคือ เราต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่รัก แต่เราจำเป็นต้องประสบความสำเร็จกับมัน เพราะเงื่อนไขชีวิตเราอาจจะมีแค่นั้น

“ผมไม่ใช่คนที่รักงานเกษตร ไม่ได้อยากทำเกษตร และไม่สนใจเรื่องเกษตร แต่มันคือตัวเลือกเดียวที่ผมมีอยู่ ณ เวลานั้น เราไม่ได้คนเข้มแข็ง หรืออดทน แต่มันคือตัวเลือกเดียวที่เรามี ฉะนั้น เราต้องเก่งในด้านนี้ให้ได้ และประสบความสำเร็จให้ได้ รวยกับอาชีพนี้ให้ได้” นายจุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

อ่านบทความที่น่าสนใจ