ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ลงพื้นที่ตรวจ 'กรงลิงลพบุรี' ชี้ 'แนวตะเข็บ-ด้านในกรง' 2 จุดสำคัญยังไม่ได้มาตรฐาน ด้าน อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เผย MOU แก้ปัญหาลงนาม 7 กุมภาพันธ์นี้!

ปัญหา 'ลิงลพบุรี' เป็นเรื่องที่เรียกได้ว่า 'คาราคาซัง' มายาวนาน สร้างความเบื่อหน่ายกับประชาชนในพื้นที่ สภาพบ้านเมืองทรุดโทรมจนหลายคนตั้งคำถามว่า "หรือลพบุรีจะกลายเป็นเมืองร้าง?" ซึ่งเรื่องหลักที่ผู้ให้สัมภาษณ์ เห็นตรงกันว่าเป็นสิ่งที่ทำให้ยังแก้ปัญหาลิงไม่ได้ นั่นก็คือ MOU

...

แต่หลังจาก ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่ และพยายามติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง จนสกู๊ปซีรีส์นี้เข้าสู่ตัวที่ 8 แล้ว ล่าสุด! เหมือนกับว่าชาวลพบุรี 'อาจจะ' ได้รับข่าวดีเร็วๆ นี้ เพราะ 'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้กล่าวกับทีมข่าวฯ หลังจากที่เราต่อสายตรงเพื่อสอบถามข้อมูลและความคืบหน้าว่า 

"ตอนนี้ MOU เรื่องลิงลพบุรีมีความคืบหน้าไปมากแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมลงนามกันวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้"

สำหรับเนื้อหา MOU เป็นผลจากการประชุมร่วมกัน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2566 ณ ห้องประชุมทานตะวัน ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดลพบุรี โดยมีแนวทางปฏิบัติทั้งหมด 3 ประเด็น

ทีมข่าวฯ จึงสอบถามต่อว่า ในส่วนเรื่อง นิคมลิงข้างโรงพักท่าหิน ต.โพธิ์เก้าต้น อ.เมืองลพบุรี จ.ลพบุรี ที่อธิบดีฯ เคยบอกกับเราว่าจะลงพื้นที่ไปตรวจมาตรฐาน มีความคืบหน้าอย่างไรบ้างแล้ว?

"ตอนนี้ได้มอบหมายให้ ผอ.เผด็จ ลายทอง เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่ง ผอ. ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้วครับ" นายอรรถพลตอบ

'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
'นายอรรถพล เจริญชันษา' อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

...

2 จุดหลัก ทำกรงลิงลพบุรียังไม่ได้มาตรฐาน  : 

เมื่อได้ยินเช่นนั้น ทีมข่าวฯ ไม่รอช้าต่อสายตรงหา 'นายเผด็จ ลายทอง' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อสอบถามว่า กรงลิงลพบุรียังไม่ได้มาตรฐานในเรื่องใดบ้าง?

นายเผด็จ กล่าวว่า หลังจากการตรวจสอบ พบว่า มี 2 จุดหลักๆ ได้แก่ ด้านในกรงลิง และแนวตะเข็บรั้ว 

'จุดแรก' เป็นพื้นที่ด้านในกรง ต้องปรับให้มีสภาพที่เหมาะกับการแสดงพฤติกรรมของลิง เช่น มีต้นไม้ มีเชือกโหน มีระบบน้ำ ให้ล้อไปสภาพธรรมชาติ และต้องมั่นใจได้ว่าหากลิงไปอยู่แล้ว จะได้รับสวัสดิภาพที่ดี

'จุดที่สอง' แนวตะเข็บรั้ว เนื่องจากกรงลิงนี้ ยังไม่มีการเดินแนวตะเข็บของรั้วตาข่ายที่ติดกับตัวเหล็ก ทำให้ความแข็งแรงไม่พอ ซึ่งหากไม่ปรับปรุงในส่วนนี้ แล้วถ้านำลิงไปขังไว้ เชื่อได้เลยว่าลิงจะใช้เวลาไม่นาน ขย่มพังกรงออกมาได้ เมื่อลิงออกมาได้ ก็จะสร้างความเดือดร้อนให้กับคนแถวนั้นอีก

'นายเผด็จ ลายทอง'  ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
'นายเผด็จ ลายทอง' ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

...

ด้านบนกรงต้องขึงรั้วไฟฟ้าป้องกันลิง : 

นอกจากจะต้องมีตะเข็บที่แข็งแรงแล้ว อีกสิ่งที่ ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า บอกว่าจำเป็นต้องมี เพราะจะช่วยเสริมการป้องกันลิงหลุดให้ดียิ่งขึ้น นั่นก็คือ 'รั้วไฟฟ้า'

"ตอนนี้ด้านบนของบางกรง เขายังไม่ได้ขึงรั้วไฟฟ้ากั้นไว้ เพราะอาจจะคิดว่า 'ลิง' ขึ้นไปไม่ได้ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น 'ต้องติดตั้ง' และทำให้มิดชิด ซึ่งระบบของรั้วไฟฟ้าก็ต้องมีการเดินให้ได้มาตรฐาน ให้มีแนวการสร้างแนวการเรียนรู้ของลิงให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นจะเอาลิงไม่อยู่แน่นอน"

หากใช้กรงไฟฟ้าจะไม่เป็นการทรมานลิงหรือ?

"โอ้… ไม่เลยครับ" นายเผด็จ ตอบรับคำถามทันที

"เพราะไฟฟ้านั้นเป็นไฟกระแสตรงไม่ใช่ไฟกระแสสลับ ที่โดนแล้วจะต้องตาย มันเป็นแค่ลักษณะของรั้วไฟฟ้า ที่เราต้องทำขึ้นมาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของลิง โดยเฉพาะ 'จ่าฝูง' ซึ่งเป็นตัวที่ดื้อมาก ถ้าเขาโดนไฟฟ้าสะกิด เขาจะได้รู้สึกว่าไม่ควรที่จะปีนขึ้นไปอีก ทำให้พวกลิงได้เรียนรู้ว่า จะอยู่ได้แค่ตรงไหนบ้าง เราจะไม่ทำร้ายลิงแน่นอน"

ที่มา : เผด็จ ลายทอง
ที่มา : เผด็จ ลายทอง

...

จำนวนลิงที่จะเข้าไปอยู่ในกรง ขึ้นอยู่กับจำนวนฝูง : 

ทีมข่าวฯ สอบถามว่า สามารถประเมินเบื้องต้นได้หรือไม่ว่า หากปรับปรุงเรียบร้อย จะสามารถนำลิงเข้ากรงได้ประมาณกี่ตัว?

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวว่า เมื่อดำเนินการเสร็จ แล้วจะจับลิงมาใส่กรง ต้องดูต่อไปว่าลิงที่จะจับเข้ามาอยู่เป็นฝูงเดียวกันหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นคนละฝูง ก็อาจจะใส่กรงได้ไม่เยอะเท่าไร เนื่องจากต้องมีพื้นที่ให้เขาได้หนีกันเองด้วย

"เรื่องนี้มีรายละเอียดที่ยิบย่อยมาก ลิงเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนคน มีความรัก โลภ โกรธ หลง เหมือนกันหมด ดังนั้นเวลาจะดำเนินการเรื่องไหน เราจึงต้องคิดให้รอบคอบและให้ความสำคัญ ไม่ใช่ว่าเอาเข้าไปทั้งหมด ยัดให้เต็มที่ แล้วปล่อยไว้จะยังไงก็แล้วแต่ ซึ่งเราทำแบบนั้นไม่ได้"

ที่มา : เผด็จ ลายทอง
ที่มา : เผด็จ ลายทอง

เทศบาลเมืองลพบุรี รับช่วงต่อของบปรับปรุงกรงลิง :  

นายเผด็จ ลายทอง ให้ข้อมูลว่า เมื่อตรวจสอบสภาพกรงเรียบร้อย ได้ยื่นเรื่องที่ต้องแก้ไขส่งต่อให้กับเทศบาลเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้จัดการต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้ว

"เหมือนว่าตอนนี้เทศบาลฯ ก็มีแบบที่จะใช้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้วด้วย แต่รอ MOU อยู่ หากลงนามกันแล้ว ทางเทศบาลฯ ก็จะนำส่วนนี้ไปยื่นเรื่องของบประมาณต่อไป ซึ่งจะต้องใช้งบปรับปรุงเท่าไร ก็อยู่ที่เทศบาลฯ จะร้องขอ เพราะเขาเป็นคนออกแบบ ผมก็ไม่สามารถระบุยอดได้ แต่เบื้องต้นเราจะมีการแนะนำวัสดุที่เหมาะสมกับการใช้งานให้ทางเทศบาลฯ อยู่แล้ว"

แต่ค่าใช้จ่ายและการพูดคุยคงไม่จบลงเพียงเท่านั้น เนื่องจาก ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ระบุว่า หากสถานที่เรียบร้อยแล้ว ต้องมีการพูดคุยสร้างความเข้าใจให้ชัดเจนถึงเรื่องต่างๆ เช่น การดูแล ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งต้องคิดให้ครบทุกด้าน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทศบาลฯ จะเป็นผู้รับชอบต่อจากนี้ แต่ก็ยังจะมีทีมงานเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ เข้าไปคอยดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดอยู่เสมอ เพราะทุกฝ่ายต้องดำเนินงานไปด้วยกัน ผมว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน 

ประชาชนในพื้นที่กรงลิงรู้สึกวิตกกังวล : 

จากคำถามที่ประชาชนเคยสงสัยว่า ครั้งแรกเริ่มสร้างกรงลิง โดย อบจ. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ (ในขณะนั้น) ได้พูดคุยหรือปรึกษากับกรมอุทยานฯ หรือไม่?

คำถามนี้ทีมข่าวฯ เคยถาม อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ไปครั้งหนึ่งแล้ว สกู๊ป 'ลิงลพบุรี' ยกเลิกคุ้มครองไม่ใช่ทางออก MOU พร้อม...แต่ยังไม่ได้เซ็น ครั้งนั้นได้คำตอบว่า "อันนี้ไม่ทราบเลย ช่วงนั้นยังไม่ได้มารับตำแหน่ง อันนี้ผมก็ไม่แน่ใจ ต้องลองไปดูว่าเรื่องราวเป็นยังไง เข้าใจว่ากรงที่มีอยู่เดิม ไม่สามารถที่จะเอาลิงไปปล่อยให้เขาอยู่ได้ทำนองนั้น ผมก็ยังไม่ได้เข้าไปดูเหมือนกัน”

อย่างไรก็ตาม ผอ.เผด็จ บอกว่า "ชาวบ้านแถวนั้นเขารู้สึกกังวลกันนะ เพราะบริเวณนั้นยังไม่เคยถูกลิงรุกราน ดังนั้งจึงต้องทำกรงให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขา เพราะสมมติว่าถ้าลิงหลุด มีความเป็นไปได้และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ ที่มันอาจจะสร้างอาณานิคมใหม่ตรงนั้น จนสร้างปัญหาเพิ่มอีก"

ผอ.สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กล่าวส่งท้ายว่า เรื่องนี้ต้องดูกันต่อไปครับ มนุษย์ชอบประเมินสมรรถนะของสัตว์ต่ำ เพราะมนุษย์อาจจะคิดว่าบางอย่างตัวเองทำไม่ได้ แต่อย่าลืมว่ามีหลายอย่างที่สัตว์ทำได้ ดังนั้น จึงต้องปรับและเรียนรู้กันไป

ภาพ : วัชรชัย คล้ายพงษ์ #ThairathPhoto


อ่านสกู๊ปลิงลพบุรี :