สะท้อนความคิดเห็นชาวต่างชาติ และอัตลักษณ์เยาวราชจากมุมมองคนไทย ในปี 2566
"เยาวราชไม่ได้สูญเสียตัวตน... มันพัฒนาไม่ได้แล้ว ฟิกซ์อยู่แค่นี้ นี่เป็นเอกลักษณ์ของมัน ถ้าเปลี่ยนเอกลักษณ์ไป ก็ไม่ใช่เยาวราช"
'เยาวราช' หรือ 'ไชน่าทาวน์เมืองไทย' ถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ เป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต เมื่อปี พ.ศ. 2435 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) พระองค์ทรงสนับสนุนให้สร้างถนน เพื่อรองรับการค้าขายและความเจริญที่จะเกิดขึ้น โดยช่วงแรกใช้ชื่อว่า ‘ถนนยุพราช’ หลังจากนั้นทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า 'ถนนเยาวราช' ซึ่งใช้กันมาถึงปัจจุบัน
ถนนเยาวราชมีความยาวประมาณเพียง 1.5 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาสร้างนานเกือบ 8 ปี เนื่องจาก รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์มิให้ตัดถนนถูกที่ดินของชาวบ้าน ทำให้เส้นทางถนนคดเคี้ยวคล้ายมังกร จนได้รับสมญานามว่า 'ถนนมังกร' ส่วนหัวจะอยู่ที่ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา ส่วนท้องอยู่ที่บริเวณตลาดเก่าเยาวราช และสุดถนนไปบรรจบกับถนนจักรเพชรเป็นหางมังกร
...
ถนนเยาวราชมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด โดยระยะหลังมีความโดดเด่นในเรื่องสตรีทฟู้ดและร้านอาหารเลิศรส สามารถดึงดูดผู้คนจากทั่วโลก ให้มาเยือนได้อย่างไม่ขาดสาย ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ความโดดเด่นนี้ทำให้เยาวราชไม่เคยหลับใหล และมีความน่าสนใจอยู่เสมอ
แม้สถานที่นี้จะมีอายุมากกว่า 130 ปี แต่ในปี พ.ศ. 2566 ผู้คนจะคิดอย่างไรกับเยาวราช ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาไปพูดคุยและสอบถามความคิดเห็น ในยามราตรีที่เยาวราชครึกครื้น
เมื่อถึงเยาวราช ภาพที่เราเห็นตรงหน้า ทั้งผู้คนที่เดินผ่านไปมาและการจราจร ให้ความรู้สึกที่วุ่นวายและดูแออัด แต่ถึงอย่างนั้นเมื่อมีคนจะข้ามถนน ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและเทศกิจ คอยอำนวยความสะดวกในส่วนนี้ให้
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ คนกลุ่มแรกที่เราอยากถามความคิดเห็น
'Break' ชายชาวอิสราเอล เล่าให้เราฟังว่า เขามาเยาวราชเพราะเป็นสถานที่แนะนำจากเว็บไซต์ท่องเที่ยว "สิ่งที่เห็นจากในรูปและสิ่งที่คาดหวัง ไม่ได้ต่างกันมากเท่าไร มันโอเค แต่ว่าคนอาจจะเยอะไปหน่อย ผมไม่ค่อยชอบคนเยอะ" แต่สำหรับส่วนอื่นเขามองว่าทุกอย่างดีแล้ว ไม่ต้องมีอะไรปรับปรุง
เมื่อพูดคุยกับ Break เรียบร้อย เราจึงเดินมาพูดคุยกับ 'Caroline' นักท่องเที่ยวสาวชาวสเปน ที่มาเที่ยวเมืองไทยประมาณ 14 วัน แต่จะอยู่ที่กรุงเทพฯ 3 วัน เธอมาเยาวราชเพราะเห็นคำแนะนำจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวว่า ไชน่าทาวน์เมืองไทยเป็นสถานที่ที่ควรมาเยือน
"ฉันไม่รู้ว่าในรูปกับตอนนี้ต่างกันมากน้อยแค่ไหน เพราะฉันยังไม่เคยเห็นรูป ในเว็บไซต์มีเพียงคำแนะนำ ว่าถ้ามาเมืองไทยและกรุงเทพฯ ควรมาที่นี่ แต่ฉันรู้สึกแฮปปี้นะกับการมาที่นี่ เมื่อปีที่แล้วฉันเคยไปไชน่าทาวน์ที่นิวยอร์ก แต่เล็กกว่าที่ประเทศไทย"
เราจึงถามกลับว่า มีอะไรที่เยาวราชต้องปรับปรุงไหม "สำหรับฉันแล้วไม่มี อาหารรสชาติดี ทุกอย่างโอเคแล้ว"
ชาวต่างชาติโอเค แต่คนไทยมีเรื่องอยากให้ปรับปรุง
หลังจากได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เราได้เข้าไปสอบถามความคิดเห็นจาก 'คุณพิงค์' พนักงานบริษัทชาวไทย ที่เดินทางมาเที่ยวเยาวราชเป็นครั้งที่ 3 แต่การมาในครั้งนี้ให้ความรู้สึกที่ต่างไป
...
"ครั้งแรก กับครั้งที่สองมาดึกๆ คนก็เลยน้อย แต่ว่าครั้งนี้มาเร็ว รู้สึกว่าคนเยอะและครึกครื้น ความสะอาดถือว่าโอเคอยู่ ไม่ได้มีขยะเกลื่อนกลาด อาจมีสกปรกบ้างตามธรรมชาติของร้านสตรีทฟู้ด แต่ตอนมาครั้งแรก เป็นช่วงที่ร้านค้าเริ่มเก็บแล้ว ปริมาณขยะมันจะเยอะ มีบางที่ บางจุด ทิ้งขยะไว้เรี่ยราด ไม่ก็กองรวมกันไว้ คิดว่าถ้าช่วงดึกที่กลับไปแล้ว ก็อาจจะเป็นแบบนั้นอีก"
คุณพิงค์ได้แสดงความคิดเห็นในส่วนของร้านอาหารต่ออีกว่า "แล้วก็คิดว่าร้านอาหาร ราคาค่อนข้างสูงสำหรับคนไทย อยากให้มีการควบคุมราคา เรื่องความสะอาดไม่ได้แย่ แต่ถ้าสามารถทำให้สะอาดมากกว่านี้ได้ ก็จะดูน่ามองมากกว่านี้"
เรื่องขยะ ความสะอาด และร้านอาหาร หากแก้ไขได้ ก็จะทำให้ภาพลักษณ์ดีขึ้น แต่ยังมีอีกหนึ่งปัญหา ที่แม้คุณพิงค์ไม่ได้มีประสบการณ์ตรง แต่เคยเห็นเหตุการณ์ และรู้สึกว่าควรได้รับการแก้ไข
"การจราจรค่อนข้างติดขัด แล้วแท็กซี่กับตุ๊กตุ๊ก มีปัญหาเรื่องโก่งราคากับนักท่องเที่ยว บางทีก็ไม่รับคนไทย ถ้ามีการเข้ามาควบคุมตรงนี้ น่าจะทำให้เยาวราชน่าเที่ยวขึ้น เพราะเคยเห็นตอนนักท่องเที่ยวถามราคา แล้วเขาตกใจ มันอาจเป็นแค่เฉพาะที่ แต่พอเขามาเจอแบบนี้ ก็อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศและคนไทยดูแย่ ถ้ามีการเข้ามาแก้ไขตรงนี้ได้ก็จะดี"
...
ปรับปรุงแล้ว ปรับปรุงอยู่ ปรับปรุงต่อ
ปัญหาขยะและเรื่องความสะอาดที่คุณพิงค์ได้กล่าวถึง ทำให้เราเข้าไปพูดคุยกับ 'พนักงานเก็บขยะ' ว่า ตอนนี้มีการจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง และปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ได้รับการปรับปรุงแล้วหรือยัง
"ปรับปรุงขึ้นแล้ว ทำความสะอาด ล้างอัดฉีดทุกวันจันทร์ เช้ามาก็ล้างอัดฉีดท่อ หนูก็อาจจะมีบ้างตามท่อแต่ไม่ได้มีเยอะ"
แล้วเยาวราชมีการพัฒนาอะไรเพิ่มเติมจากเมื่อก่อนไหม เราถามกลับ
"เขาปรับปรุงเป็นสตรีทฟู้ดเมื่อประมาณปี 2559 แต่ก่อนไม่ได้เป็นพื้นที่ขายเยอะแบบนี้ ตอนนี้มีรั้วกั้นให้คนเดิน มีเทศกิจ มีตำรวจ ก็พัฒนาให้ดูดีขึ้น สมัยก่อนไม่ได้สะอาดเท่านี้ แต่เขามาจัดระเบียบใหม่เลยดูดี ร้านขึ้นไปข้างบน แต่บางทีมีล้ำมาบ้าง พอเทศกิจมาเขาก็เก็บหลบ (หัวเราะ) ถ้าทำเลยที่มาแล้วเขาเห็นก็ต้องปรับ"
ฟังจากคำบอกเล่าของพนักงานเก็บขยะ แล้วมองดูร้านค้าบริเวณรอบๆ เราก็เห็นว่าการจัดระเบียบค่อนข้างชัดเจน แต่อาจจะมีร้านชื่อดังบางร้าน มีผู้ซื้อมายืนรอคิวกันแน่นขนัด จนทำให้กีดขวางทางเดินบริเวณนั้น
...
พนักงานเล่าต่อว่า การทำงานก็จะมีเวลาและหน้าที่ แต่พอตกเย็นก็จะมาช่วยงานตรงถนนเยาวราช ถ้าวันไหนมีนโยบายใหม่ก็ไปเข้าประชุมกันด้วย
"ถ้าเราเข้าบ่ายก็อยู่ถึง สองทุ่ม สามทุ่ม ประมาณนั้น พวกนี้เป็นการร่วมมือกันของ กทม. กับตำรวจ ตอนนี้ก็มีการพยายามปรับปรุงกันอยู่เรื่อยๆ ถ้ามีนโยบายมาใหม่เราก็เข้าประชุม ถ้าไม่มีก็มาลงพื้นที่ เราจะมีหน้าที่รับผิดชอบ พื้นที่ใครพื้นที่มัน ป้ายรถเมล์คนละป้าย ถ้าทำตรงที่รับผิดชอบเสร็จ ตอนเย็นก็มาช่วยตรงนี้ต่อ เพราะเรายังไม่ได้เลิกงาน มาดูถังขยะ มาช่วยกันเก็บขยะ"
เราถามมีส่วนไหนอยากพัฒนาเพิ่มไหม ก็ได้คำตอบว่า "แล้วแต่หัวหน้านั่นแหละ ว่าจะจัดการอย่างไร เราไม่มีอะไรที่อยากจัดแจง เรามีหน้าที่มารับผิดชอบ"
หลังจากได้ยืนพูดคุยอยู่บนถนนเยาวราช ที่เนืองแน่นไปด้วยผู้คน เราได้ลองเดินเข้าไปตามซอยต่างๆ แม้ว่าซอยจะติดกับถนนเยาวราชที่ดูวุ่นวาย แต่ข้างในกลับสงบเหมือนไม่ใช่ที่เดียวกัน
เยาวราชไม่ได้สูญเสียตัวตนไป แต่กลับมีอะไรเข้ามาเพิ่มเติม
เราเดินไปเจอกับตึกหนึ่งคูหา ห้องด้านล่างเต็มไปด้วยพระเครื่องและวัตถุมงคล มีชายวัยชรา 3 คน กำลังสนทนากัน เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณลุงท่านหนึ่ง ที่เกิดและเติบโตที่เยาวราช เราสอบถามว่า เยาวราชในความทรงจำตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน
"เยอะอะ คนรุ่นเก่าก็ตายจะหมดแล้ว มีแต่รุ่นใหม่ๆ ทั้งนั้น รุ่นหลังไม่เหมือนรุ่นเก่า อาหารไม่อร่อยเหมือนเมื่อก่อน ร้านเดิมในพื้นที่เหลือไม่ถึง 10 เจ้า ตอนนี้มีแต่รุ่นใหม่มาทำ รสชาติมันก็กลายพันธุ์หมดแล้ว รสชาติเก่าคนรุ่นใหม่กินไม่ได้ ไม่ชอบแน่นอน อย่างมากกินครั้งเดียว วันหลังก็ไม่กินอีก อาหารจีนแท้จะรสจืด อย่างร้านนี้ก็เก่าแก่ (ชี้ไปที่ร้านอาจิว) ร้านยืนยงนี่ก็เก่า ขายก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลา"
ความวุ่นวายของเยาวราชมีให้เห็นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เพียงแค่รูปแบบ และผู้คนนั้นเปลี่ยนไป
"ตอนนี้วุ่นวายกับพวกทัวร์ คนพื้นที่เขาไม่ค่อยมาเดิน เมื่อก่อนมีทั้งวันทั้งคืน ตีสาม ตีสี่ คนออกจากไนต์คลับก็มากินมาเดิน แต่ก่อนกรุงเทพฯ มันไม่มีอะไร ก็มีที่เยาวราช เมื่อก่อนคนพื้นที่พลุกพล่าน เคยดูในหนังฮ่องกงไหม ที่คนเดินกันเยอะๆ นั่นแหละคืออดีตของเยาวราช แต่ส่วนมากตอนนี้คนรุ่นนั้นตายกันหมดแล้ว เดี๋ยวนี้คนพื้นที่ไม่เดิน อยู่แต่ในซอกในซอย"
แม้จะมีความเปลี่ยนแปลง แต่คุณลุงก็มองว่า เยาวราชไม่ได้สูญเสียตัวตนไป แต่กลับมีอะไรเข้ามาเพิ่มเติมมากกว่า
"ไม่เสียตัวตนหรอก มันมีแต่เพิ่ม ของกินมันเยอะกว่าเดิม 4 ถึง 5 เท่า ทุกอย่างเพิ่มตามเวลา ไม่ต้องไปลดอะไรมัน ถ้าลดกว่านี้ก็เสียของ เสียเอกลักษณ์เลย"
แต่ถึงอย่างนั้น คุณลุงมองว่าเยาวราชไม่สามารถพัฒนาอะไรได้อีก ทุกอย่างตอนนี้ที่เกิดขึ้นกลายเป็นเอกลักษณ์ไปแล้ว "มันพัฒนาไม่ได้แล้ว มันฟิกซ์อยู่แค่นี้ มันก็ต้องอย่างนี้ มันเป็นเอกลักษณ์ของมัน จะทำอะไรให้ทันสมัยกว่านี้ มันก็ไม่น่าเดินแล้ว ถ้าเปลี่ยนเอกลักษณ์ไป มันก็ไม่ใช่เยาวราช"
แล้วคุณคิดอย่างไรกับเยาวราช มีส่วนไหนไหมที่ควรแก้ไขและพัฒนา?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :