“นายชวน หลีกภัย” วิเคราะห์ผลงานพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้ง 2566 หลังเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์พรรคก้าวไกล อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ผลงานพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ผ่านการสนทนา กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ 

ผลการเลือกตั้ง 2566 : 

“ก็ต้องยอมรับว่ากระแสพรรคก้าวไกลมาแรงจริงๆ และคนส่วนหนึ่งก็พอใจที่จะเลือกเขา อันนี้ก็ต้องยอมรับ แต่ว่าอย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นก็ทำให้แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยมันก็หายไปเหมือนกัน ซึ่งประเด็นนี้ผมก็คิดว่าทางพรรคเพื่อไทยก็คงแปลกใจอยู่เหมือนกัน เพราะในตอนแรกๆ หากเราดูจากโพลต่างๆ ก่อนเลือกตั้งนี่ ก็เชื่อกันว่าพรรคเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์ในระดับ 200-300 กว่าๆ คะแนนเสียง ซึ่งคนเขาก็เชื่อมั่นกันอย่างนั้น แต่นั่นแหละคะแนนอาจจะเป็นฐานเดียวกันก็ได้ ก็เลยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไป 

ส่วนกลุ่มที่เคยร่วมรัฐบาล สังเกตไหมว่าพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับจ้องที่จะมาจับปลาในบ่อเพื่อน จนกระทั่งทำให้ภายในพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีบ่นๆ อยู่เหมือนกันว่า เหตุใดจึงไม่พยายามไปสู้ในสนามเลือกตั้งภาคอื่นๆ ประเด็นนี้ผมก็ว่าแปลก เพราะท่านก็วนเวียนอยู่แถวๆ นี้ เช่น ที่จังหวัดสงขลา หรือนครศรีธรรมราช ไปๆ มาๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แทนที่จะไปรณรงค์หาเสียงสู้กันในภาคอื่นๆ เพราะตัวเลข ส.ส.ที่ได้ มันก็ได้เท่าเดิม

“ชวน” วิเคราะห์ความพ่ายแพ้ ปชป. บนความเปลี่ยนแปลงในภาคใต้

...

แต่ก็ต้องยอมรับว่าคะแนนเสียงที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับมาเที่ยวนี้ ค่อนข้างต่ำกว่าที่มีการทำโพลมาก่อนหน้านี้อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะในส่วนของบัญชีรายชื่อที่โพลออกมาพรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้สัก 5 คน ผมก็เลยรับอาสาว่าจะไปขอคะแนนจากทั่วประเทศมาให้ เพราะแม้ว่าในส่วนของ ส.ส.เขต ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน เราคงจะไม่ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดในส่วนของบัญชีรายชื่อการแข่งขันก็อาจจะไม่เข้มข้นมากเท่าใดนัก 

แต่พอเอาเข้าจริงๆ ไปหาเสียงได้สักประมาณ 50 จังหวัด ทางท่านบัญญัติ บรรทัดฐาน และท่านหัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ก็เรียกให้ผมกลับมาหาเสียงภาคใต้ เพราะมันเกิดสถานการณ์การแข่งขันที่ดุเดือดเข้มข้นมากๆ ช่วงนั้นก็เลยต้องกลับมารณรงค์เรื่องศักดิ์ศรีชาวตรัง ใครอย่ามุ่งหวังซื้อด้วยเงินตราแบบในอดีตกันแบบเข้มข้นอีกครั้ง แต่สุดท้ายก็ต้านทานไม่ไหว เพราะการแข่งขันมันดุเดือดเข้มข้นเหลือเกิน” 

ผลงานพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง 2566 : 

“ผมคิดว่า...มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่พรรคคาดหวัง ทั้งที่ความจริงโพลมันก็บอกมาตลอดว่า...ความนิยมของพรรคไม่เหมือนเดิม และในส่วนของท่านหัวหน้าจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์เองก็ไม่ได้รับการยอมรับในระดับที่สูงเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่หากมองกันอย่างตรงไปตรงมา ผมคิดว่า...ในบรรดาหัวหน้าพรรคการเมืองในเวลานี้ คนที่มีศักยภาพสูงที่สุดคนหนึ่งก็คือ คุณจุรินทร์ แต่มันก็เป็นเรื่องแปลกที่ว่า...ความนิยมไม่ค่อยโดดเด่น ซึ่งนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับ มันก็เลยมีส่วนที่ทำให้ประชาชนที่ไม่รู้จักคุณจุรินทร์ดีพอ เกิดความลังเลใจ 

และอีกประเด็นหนึ่งที่ผมสังเกตได้คือ...กระแสในลักษณะไม่เลือกเราเขามาแน่ ยังคงมีอยู่ จึงเป็นผลให้คนส่วนหนึ่งตัดสินใจเทคะแนนให้กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เหมือนคราวการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 อยู่ 

นอกจากนี้ความเข้าใจของชาวบ้านในเรื่องบัตรสองใบนั้นมีปัญหาค่อนข้างมาก เพราะผมเห็นด้วยตัวเองอยู่ตลอด โดยเฉพาะเมื่อลงพื้นที่หาเสียงในภาคต่างๆ ชาวบ้านมักจะถามกันอยู่เสมอว่า เบอร์ 26 ของพรรคประชาธิปัตย์มันคืออะไร ซึ่งประเด็นนี้เป็นปัญหาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งควรไปทำความเข้าใจกับประชาชนให้มากกว่าขึ้นกว่านี้ 

ส่วนคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่คราวนี้พรรคประชาธิปัตย์หายไปค่อนข้างมานัก ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าเป็นเพราะมีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคถูกดึงตัวออกไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อคนเหล่านั้นหายไปคะแนนที่ควรจะได้มันก็เลยถูกดึงออกไปด้วย” 

“ชวน” วิเคราะห์ความพ่ายแพ้ ปชป. บนความเปลี่ยนแปลงในภาคใต้

ภาคใต้ ฐานที่มั่นสำคัญ ถึงจุดเปลี่ยนแปลง : 

“ก็ต้องยอมรับว่าย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะความเปลี่ยนแปลงถือเป็นเรื่องธรรมดา มันมาแน่นเอาในสมัยที่ผมเป็นหัวหน้าพรรค ที่มักจะกวาด ส.ส.ภาคใต้ได้เกือบทั้งหมด สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ส.ส.คนใดที่ยังเป็นหลักอยู่ได้ คนคนนั้นก็ยังคงอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ส.ส.รุ่นเก่าที่หายไป หรือคนเก่งๆ อย่างเช่น คุณชินวรณ์ บุณยเกียรติ ซึ่งผมก็แปลกใจอยู่เหมือนกัน แสดงว่ากระแสอะไรต่างๆ มันมาแรงจริงๆ 

...

อย่างไรก็ตาม ก็คิดว่า...สถานการณ์นี้จะเป็นช่วงเหตุการณ์หนึ่งที่พรรคและผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์คงได้ทบทวนว่า ควรจะปรับตัวอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร แต่อย่างไรก็ตามพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังคงจะเป็นพรรคหลักอยู่ต่อไป และต้องยึดหลักของพรรคเอาไว้ให้เหนียวแน่น เพราะผมว่าความมั่นคงในระยะยาวมันอยู่ที่เรื่องของความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสำคัญ” 

สนามเลือกตั้งกรุงเทพฯ ที่ยังกอบกู้ไม่ได้ : 

“ผมก็เคยพูดไว้ว่า...หากครั้งนี้ในกรุงเทพฯ ได้มาสัก 1 คน ก็ต้องถือว่าได้ 100% (หัวเราะ) เพราะเที่ยวที่แล้วไม่ได้เลยสักคน แต่เที่ยวนี้ก็ไม่ได้น้อยกว่าเดิมนะ (หัวเราะ) ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าผิดคาดอยู่เหมือนกัน เพราะตอนแรกในพรรคประชาธิปัตย์ก็หวังกันเอาไว้ว่าในกรุงเทพฯ น่าจะได้มาสัก 2-3 คน แต่สุดท้ายก็ไม่ได้แม้แต่คนเดียวเหมือนเดิม (หัวเราะ)”  

พรรคประชาธิปัตย์ กับ การจัดขบวนทัพครั้งใหม่ : 

“สำหรับประเด็นนี้คงต้องไปถามบรรดากรรมการบริหารพรรค เพราะผมเป็นเพียงสมาชิกคนหนึ่งของพรรคเท่านั้น อย่างไรก็ดีในส่วนของ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ท่านก็ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไปแล้ว” 

พรรคประชาธิปัตย์ กับ โอกาสในการร่วมจัดตั้งรัฐบาล : 

“ผมเป็นคนหนึ่งที่พูดมาก่อนหน้าการเลือกตั้งแล้วว่า การจัดตั้งรัฐบาลเที่ยวนี้น่าจะไม่มีอะไรที่ยุ่งยากเลย เพราะผลจากโพลมันชัดเจนแล้วว่า จะมีพรรคแค่ 2 พรรคที่รวมกัน แล้วก็จะได้เสียงข้างมากชัดเจนเลย และคงมีบางพรรค ที่พูดง่ายๆว่า...ร่วมกับใครก็ได้ ซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดเจนอยู่แล้วในเวลานี้” นายชวน หลีกภัย ปิดท้ายการวิเคราะห์ กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์. 

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ