คุยกับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า หลังเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ที่เหนือความคาดหมายของทั้งพรรคเพื่อไทยและฝ่ายขั้วรัฐบาลเดิม ฉากทัศน์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลชุดต่อไปจะเป็นอย่างไร รับฟังผ่านการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
“ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ (ณ เวลา 23.05 น. วันที่ 14 พ.ค. 66) ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงรวมกันเกือบ 300 เสียง เบื้องต้นเท่ากับเป็นการปิดทางจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยไปโดยปริยายแล้ว ทำให้ ณ เวลานี้ เหลือฉากทัศน์สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลแบบไฮบริด เพียง 2 Scenario คือ 1. พรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล จับมือกันตั้งรัฐบาล ซึ่งหากเป็นแบบนี้ทุกอย่างก็จบแบบ Happy Ending ส่วนฉากทัศน์ที่ 2. คือ พรรคเพื่อไทย หันไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่เหลือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล หลังคุยกันไม่ลงตัวกับพรรคก้าวไกล”
ก้าวไกล กลายเป็น ฝ่ายค้าน :
“หากพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ในกรณีที่แม้พรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับ 1 ก็น่าจะไปจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ยากกว่า กรณีที่พรรคเพื่อไทยจะไปจับขั้วกับพรรคอื่นๆ นั่นเป็นเพราะพรรคก้าวไกลมีการตั้งเงื่อนไขที่ดึงดูดพรรคอื่นๆ ได้ยาก เพราะต้องไม่ลืมว่า แม้เพื่อไทยกับก้าวไกลจับมือกันอาจจะได้มากถึง 300 เสียง แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับคะแนน 375 เสียงในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีแข่งกับสมาชิกวุฒิสภาอยู่ดี ซึ่งหากเป็นแบบนั้นคำถามคือ พรรคก้าวไกลจะตั้งเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลกับพรรคอื่นๆอยู่หรือไม่?
...
แต่กลับกัน...หากพรรคเพื่อไทย เกิดพลิกกลับมาแซงในช่วงโค้งสุดท้ายได้สำเร็จ แบบนั้นเงื่อนไขความชอบธรรมในฐานะพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่งรวมถึงเงื่อนไขต่างๆ ที่พรรคก้าวไกลตั้งเอาไว้ก็จะหมดไปในทันที และน่าจะต้องไปเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวค่อนข้างแน่นอน”
นายกรัฐมนตรีพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ :
“แม้จะได้คะแนนเสียงรวมกันถึง 300 เสียง แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่า สมาชิกวุฒิสภาก็ยังจะกล้าโหวตสวนอยู่ดี (หัวเราะ) เพราะถามจริงๆ ใครจะไปตั้งความหวังกับ ส.ว. ชุดนี้ เพราะในเมื่อไม่ถึง 375 คะแนน มันก็ยังมีช่องว่างที่ว่า ขอดูก่อนว่าพวกคุณจะรวมกันได้จริงๆ หรือเปล่า? (หัวเราะ)
หรือหากเป็นอีกหนึ่งกรณี คือ เอาละรวมกันได้ 300 เสียง และพรรคก้าวไกลได้คะแนนเสียงมาเป็นลำดับหนึ่ง มีการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในรอบแรก สมาชิกวุฒิสภาไม่ยอมโหวตให้ล่ะ ในการโหวตรอบที่สอง จะยังเสนอชื่อคนเดิมอยู่หรือไม่ หรือว่าจะเสนอคนอื่น? ซึ่งเรื่องแบบนี้การเมืองไทยมันเกิดขึ้นได้ ทำให้ส่วนตัวคิดว่า ณ เวลานี้ โอกาสที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีในกรณีที่พรรคก้าวไกลได้คะแนนมาเป็นลำดับหนึ่งอยู่ที่ประมาณ 50%”
ภูมิใจไทย ตัวแปรการเมือง :
“ต้องไม่ลืมว่า สมการการเมือง ณ เวลานี้ พรรคภูมิใจไทยมีคะแนนเสียงมากถึงเกือบ 70 เสียง คำถามคือ หากพรรคภูมิใจไทยเกิดอยากไปร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย แต่บอกกับเพื่อไทยว่า ไม่เอาก้าวไกลได้ไหม? (หัวเราะ) หากเป็นแบบนี้ขึ้นมามันจะเกิดอะไรขึ้น?”
การเมืองเก่า VS การเมืองใหม่ :
“ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การเมืองยุคเก่า ต่อให้อยู่คนละฝ่ายคนละขั้วก็มันยังคงเป็นนักการเมืองยุคเดียวกัน และมีจริตที่ตรงกัน เพียงแค่มีพรรคหรือขั้วมาแบ่งกันไว้เท่านั้นเอง ซึ่งหากมันเกิดขึ้นมาจริงๆ การเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566 ก็จะเข้าสู่ยุค ฝ่ายการเมืองเก่า VS ฝ่ายการเมืองใหม่ ที่มีพรรคก้าวไกลเป็นตัวนำทันที”
สองลุง ตัวแปรการเมือง :
“ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ ส่วนตัวเชื่อว่า สองลุงต้องพยายามปลีกตัวออกไปอยู่เงียบๆ ก่อน เพื่อให้บรรดานักการเมืองเขาพูดคุยเพื่อหาสูตรผสมที่ลงตัวกันไปก่อน”
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน :
สำหรับฉากทัศน์ที่ 2. คือ พรรคเพื่อไทย หันไปจับขั้วกับพรรคการเมืองที่เหลือเพื่อจัดตั้งรัฐบาลนั้น หากเกิดขึ้นจริง ส่วนตัวเชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะชื่อเศรษฐา ทวีสิน เพราะเกมแบบนี้มันเป็นเกมให้ถูกด่า ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีทางที่จะให้คนอย่าง แพทองธาร ชินวัตร มาเปลืองเนื้อเปลืองตัวแน่นอน จากนั้นจึงค่อยหันไปใช้จุดแข็งเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจกลับมาเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มผู้สนับสนุนเดิม”
...
คนไกล กับการกลับบ้านเดือนกรกฎาคม :
“โอ้โห...ถ้าหากยอมพลีชีพถึงขนาดหักดิบพลิกไปจัดตั้งรัฐบาลกับขั้วตรงข้าม แบบนั้น...ได้กลับบ้านแน่นอนครับ เพราะถ้าหากไม่เอากลับบ้าน เลือกตั้งครั้งหน้าเกิดไปแพ้แลนด์สไลด์พรรคก้าวไกลขึ้นมา เมื่อไหร่จะได้กลับบ้านกันล่ะครับ (หัวเราะ)” ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ปิดท้ายการสนทนา กับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ