ประชานิยมไทย ความอ่อนล้าทางด้านการคลัง และข้อเสนอเพิ่มการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก “นายสมหมาย ภาษี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง...

"นโยบายประชานิยม" ที่หลากหลายพรรคการเมืองกำลังแข่งกันหาเสียงเพื่อเอาใจประชาชน ในมุมมองของอดีตขุนคลังอย่าง “นายสมหมาย ภาษี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน? และเพราะเหตุใดจึงมีข้อเสนอให้มีการเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเสถียรภาพทางการคลังของไทยในปัจจุบัน รับฟังทัศนะทั้งหมดนี้ผ่าน "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" ได้ในวันนี้...

“นายสมหมาย ภาษี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
“นายสมหมาย ภาษี” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

นโยบายประชานิยม กับ สมหมาย ภาษี :

...

“สิ่งที่ผมอยากจะชวนประชาชนช่วยกันคิด คือ ดูเหมือนทุกวันนี้พรรคการเมืองต่างๆ พูดกันแต่เรื่องการใช้เงิน แต่กลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงเรื่องการหาเงิน ไม่มีใครกล้าแตะเลย ทั้งๆ ที่แต่ละพรรคการเมืองก็มีทีมเศรษฐกิจที่ผมก็ว่า...หลายคนเขาก็เก่งนะครับ มันเลยทำให้ผมคิดว่า เขาก็อาจจะต้องพูดไปตามแนวทางของพรรค ซึ่งบางทีเขา (ทีมเศรษฐกิจ) ก็อาจจะมีอยู่ในใจก็ได้ เพียงแต่อาจจะไม่กล้าที่จะพูดออกไป” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มต้นการสนทนากับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์"

“สิ่งที่พรรคการเมืองทั้งหลายกำลังพยายามนำเสนอต่อประชาชนในเวลานี้ ในความเห็นส่วนตัว ผมรู้สึกว่า น่าผิดหวังมากๆ นั่นเป็นเพราะเหตุใด...บรรดาพรรคการเมืองต่างๆ จึงพยายามพูดแต่เรื่องประเด็นเล็กๆ จิ๊บจ๊อยๆ (นโยบายประชานิยม) เพื่อหวังเรียกคะแนนนิยมจากประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ทำให้ผมสะท้อนใจมากๆ ว่า แล้วแบบนี้ประเทศชาติจะได้อะไร?

เพราะในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า ประเด็นหลักที่พรรคการเมืองต่างๆ ควรนำเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาที่แท้จริงให้กับประเทศในเวลานี้ คือ เรื่องการขจัดการคอร์รัปชันให้น้อยลงไป การสร้างธรรมาภิบาลในภาครัฐให้ดีขึ้น การพัฒนาด้านการศึกษา และการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งกลับแทบไม่มีพรรคการเมืองใดพูดถึง หรือ หยิบยกขึ้นเป็นนโยบายหลักในการนำเสนอต่อประชาชนเลย ซึ่งพอเป็นแบบนี้ผมก็เลยมาคิดเอาเองว่า บางทีพรรคการเมืองต่างๆ อาจจะพยายามเอาใจประชาชนมากเกินงาม จนอาจละเลยภาพที่ใหญ่กว่าในเรื่องของการพัฒนาประเทศเพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่หลุดพ้นจากความยากจนก็เป็นได้ และหากการเมืองไทยยังเป็นแบบนี้ต่อไป ประเทศของเราก็คงก้าวไปข้างหน้าได้ยาก

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่ผมอยากเน้นย้ำให้ประชาชนตั้งคำถามกับพรรคการเมืองต่างๆ ในเวลานี้ คือ มีนโยบายที่จะเล่นกับการแก้ไขเรื่องการเพิ่มรายได้ให้กับประเทศในระยะยาว รวมถึง การกระชับรายจ่ายในโครงการการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐแล้วหรือยัง? โดยเฉพาะในประเด็นหลังนั้น เท่าที่ส่วนตัวได้รับฟังมา มีการรั่วไหลของเงินจำนวนมหาศาล เรื่องนี้ต่างหากที่พรรคการเมืองควรจะต้องใช้เป็นประเด็นหลักในการหาเสียงกับประชาชน

นโยบายประชานิยมไทย เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน :

“ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่านโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่น่าจะมีใครทำได้ตามที่พูด หรือ หากทำได้ ก็ทำได้แต่เรื่องจิ๊บจ๊อยที่ใช้เงินไม่มากนัก แต่กับเรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องใช้เงินมากๆ ผมคิดว่าไม่น่าจะมีใครสามารถทำได้ เพราะมันอาจจะไปติดในเรื่องของข้อกฎหมาย รวมถึง ภาคการคลังเองก็คงไม่ปล่อยให้ทำอะไรตามใจได้แบบนั้น เพราะมันมีส่วนยึดโยงกับเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศ (เน้นเสียง) เพราะไม่ต้องถึงขั้นจ่ายเพิ่มตามที่พรรคการเมืองต่างๆ หาเสียงเอาไว้หรอก เอาแค่ที่จ่ายเท่าเดิมในปัจจุบันนี้ มันก็ขัดสนในเรื่องรายจ่ายของรัฐอยู่แล้ว

เพราะปัจจุบัน เราก็สร้างหนี้สาธารณะถึง 70% ของ GDP แล้ว และจะให้เพิ่มเป็น 80% หรือ 90% หรืออย่างไร? ซึ่งเอาล่ะ เพิ่มได้นะ แต่ประเทศจะพัง (เน้นเสียง) ค่าเงินบาทจะหายไป และอะไรต่อมิอะไรมันจะกระทบตามกันไปหมด

...

นอกจากนี้ ประเด็นที่ผมอยากชวนให้ประชาชนช่วยกันคิดก็คือ นโยบายประชานิยมต่างๆ ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ทำเพราะนักการเมืองเกิดความเห็นอกเห็นใจประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นเพราะ...มันเป็นภาคบังคับที่จำเป็นจะต้องทำให้อยู่แล้ว โดยเฉพาะกับประชาชนฐานราก ผู้สูงอายุ หรือ คนพิการ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาก็มีการช่วยเหลือคนเหล่านี้น้อยมากๆ อยู่แล้ว อีกทั้งการช่วยเหลือที่ว่านี้ก็ยังตรงกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ในเรื่องการช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศด้วย

ซึ่งพอทำไปแบบนั้น...แล้วเกิดไปติดอกติดใจประชาชนขึ้นมา ก็เลยมีการนำมาใช้หาเสียงกัน
จนกระทั่งตอนนี้ ทำให้คนส่วนหนึ่งรู้สึกชาชินว่า หากจะไปเที่ยวที่ไหนสักที่ รัฐบาลต้องจ้างให้พวกเขาไป (หัวเราะ) ซึ่งตอนนี้มันดูเหมือนจะเป็นอย่างนั้นแล้ว (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง มันเป็นเพียงภาคบังคับ ไม่ใช่ว่าเพราะนักการเมืองรู้สึกเห็นอกเห็นใจประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งๆ ที่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และการยกระดับค่าครองชีพ รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนให้สูงขึ้น จุดนี้ต่างหากคือหัวใจสำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำ ซึ่งแน่นอนว่าการทำแบบนั้นได้ต้องใช้เงิน และเมื่อใช้เงินก็ต้องจัดเก็บภาษีเพิ่ม เมื่อได้ภาษีเพิ่มก็นำมาใช้จ่ายในเรื่องเหล่านี้ เงินมันก็จะหมุนเวียนไปอยู่แบบนั้น และนี่คือการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ฉะนั้นมันจะทำเพียงด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ มันต้องทำทั้งสองด้านจึงจะเกิดความสมดุล”

...

ช่องโหว่นโยบายประชานิยมแบบไทย :

"สำหรับประเด็นสำคัญที่อยากนำเสนอ คือ หากคิดจะทำเรื่องนโยบายประชานิยม สิ่งสำคัญที่ทุกพรรคการเมืองจะต้องตอบประชาชนให้ได้ คือ เมื่อมีการใช้เงินไปแล้ว จะหารายได้เพิ่มขึ้นได้อย่างไร เพราะปัจจุบันต้องไม่ลืมด้วยว่า การหารายได้ให้กับประเทศโดยเฉพาะการจัดเก็บภาษีแบบเดิมๆ ไม่สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประเทศได้มากขึ้นสักเท่าไหร่

หากคิดจะทำประชานิยมหรือรัฐสวัสดิการ มันต้องเพิ่มทั้งสองทาง คือ การใช้เงินและการหารายได้เพื่อให้เพียงพอต่อรายจ่าย ซึ่งประเทศไหนๆ เขาก็ทำกัน เช่น สิงคโปร์ หรือ ญี่ปุ่น ที่ค่อยๆ ขยับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่กับประเทศไทยทำไมเรื่องนี้กลับเงียบขรึมกันไปหมด ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องที่แปลกมากๆ

สำหรับนโยบายประชานิยมหรือรัฐสวัสดิการนั้น ในความเป็นจริงมีหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ที่เขาทำกันหนำซ้ำในบางประเทศยังให้มากกว่าที่พรรคการเมืองต่างๆ ของไทยกำลังพยายามหาเสียงกันอยู่ในเวลานี้เสียด้วย

หากแต่ที่แตกต่างจากประเทศไทยคือ ประเทศเหล่านั้นมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 15-20% ในขณะที่ประเทศไทยยังอยู่ที่ 7% อยู่เลย ก็ลองคิดดูว่าแหล่งรายได้ระหว่างของเขากับของเรามันแตกต่างกันแค่ไหน?

อย่างไรก็ดี นโยบายประชานิยมไม่ใช่สิ่งที่น่ากวาดกลัวหากแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการหารายได้และการปรับโครงสร้างของรายได้ภาครัฐ เพื่อสร้างระบบการคลังที่ดี รวมถึงสร้างความมั่นคงทางการคลังให้ต่างประเทศได้เห็น เพื่อสร้างโอกาสในการนำเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติให้หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ”

เศรษฐกิจไทยและข้อเสนอเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม :

“เศรษฐกิจไทยจริงๆ ผมว่าเรายังโชคดีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของเรายังแข็งแกร่ง อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยเองก็ยังมีความระมัดระวังเรื่องความเสี่ยงของสถาบันการเงินต่างๆ ได้ดี แต่ว่าพอไปดูทางด้านการคลัง ผมก็เห็นแต่จุดอ่อน (ลากเสียง) และยิ่งอ่อนล้าลงไปทุกที โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ไม่พอมากๆ (เน้นเสียง) หนำซ้ำรายจ่ายที่เป็นงบประมาณยังถูกเบียดบังจากปัญหาการคอร์รัปชันในทุกระดับที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เม็ดเงินจริงๆ ที่ลงถึงมือประชาชนจึงไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย จนทำให้ประเทศของเรา เรียกได้ว่า...เป็นประเทศเป็ดง่อยแล้วในเวลานี้ ซึ่งน่าเป็นห่วงมากๆ

...

และเอาล่ะ! หลังวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 อาจทำให้ ภาครัฐอาจสามารถจัดเก็บรายได้เข้าคลังได้มากขึ้นก็จริง แต่ทั้งหมดนั้นมันก็เป็นเพราะธุรกิจต่างๆ เริ่มโงหัวขึ้นได้ รายได้มันก็ต้องเพิ่มมากขึ้นจากช่วงโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากวิเคราะห์ให้ลึกลงไปจะพบว่า ช่องทางที่จะมีงบประมาณให้เพียงพอ...มันไม่มี (เน้นเสียง) หนำซ้ำช่องทางที่จะกู้เงินเพิ่ม มันก็ใกล้ที่จะเต็มเข้าไปทุกทีเสียด้วย

ฉะนั้นในความเห็นส่วนตัวผม จึงอยากเสนอให้เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะภาษีที่ทำง่ายที่สุดก็คือภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งหากเราค่อยๆ เพิ่มแบบค่อยเป็นค่อยไป จะช่วยเสริมสร้างสถานะทางการเงินและการคลังของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นได้

เพราะเอาล่ะ! ส่วนหนึ่งแม้ต้องยอมรับว่าอาจกระทบต่อประชาชนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะชาวฐานราก แต่สำหรับประเด็นนี้เราสามารถลดกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้พวกเขาได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดได้ เพราะประโยชน์ของประเด็นนี้ที่ประเทศของเราจะได้จริงๆ ก็คือ ต้องไม่ลืมว่า ประเทศไทย คือ ประเทศที่เติบโตได้ด้วยการท่องเที่ยว เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศจำนวนมากในแต่ละปี และนักท่องเที่ยวเหล่านี้...ก็คือผู้ที่จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับเราครบทุกบาททุกสตางค์! (เน้นเสียง)

เลือกตั้ง 66 กับความหวังเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว :

“ผมยังมองไม่เห็นทางเลย...เพราะเท่าที่ได้ยินได้ฟังมา นโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ส่วนใหญ่มันก็ดูเกลือกกลั้วเหมือนๆ กันไปหมด หนำซ้ำยังไม่มีการพูดเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องการคอร์รัปชันที่ฉุดให้ระบบธรรมาภิบาลของประเทศตกต่ำลงด้วย ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาหลักของประเทศไทยในเวลานี้เลย แล้วแบบนี้มันจะไปมีความหวังได้อย่างไร

และคำถามเดียวที่ผมอยากฝากถึงนักการเมืองทุกคนก็คือ พวกท่านเลิกทำแต่เพื่อพรรคพวกกันหน่อยได้ไหม แล้วหันมาทำเพื่อประเทศชาติเพื่อแผ่นดินเกิดกันบ้าง เพราะในเวลานี้คนอื่นเขาต่างเดินหน้าเร็วไปกันหมด ส่วนของเรานั้นเอาแต่ถอยหลัง ฉะนั้นช่วยหันมามองในจุดนี้กันหน่อยได้ไหม ขอร้องล่ะ! (หัวเราะ)” นายสมหมาย ภาษี ปิดท้ายการสนทนา กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน