ปัญหา “ค่าไฟแพง” กำลังเป็นที่พูดถึงในวงกว้างทั้งประเทศ สาเหตุ เพราะอากาศในเวลานี้ “ร้อนจัด” จริงๆ ถึงแม้ “ร่าง” ไม่ออกไปปะทะแดด แต่ไอร้อนก็เร่งเร้าให้เราต้องหันไปหาที่พึ่งด้วยการ “เปิดแอร์” เพื่อปรับอุณหภูมิในห้องลง
แต่...การเปิดแอร์ในช่วงนี้ก็เรียกว่า แทบเอาไม่อยู่ เปิดเท่าไรก็ไม่หายร้อน ยิ่งห้องไหน บ้านใครมีแอร์ BTU ไม่สูง หรือไม่สอดคล้องกับขนาดห้อง นี่ยิ่งหนัก ค่าไฟยิ่งบาน เพราะจำเป็นต้องลดอุณหภูมิ เร่งพัดลมแอร์ บวกกับการคิดค่าไฟแบบก้าวหน้า ค่า FT ที่เพิ่มสูงขึ้น ก็แปลกที่ทุกคนจะเจอบิลค่าไฟแล้วก็ต้องร้อง
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีและอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นักวิชาการกูรูด้านพลังงาน เล็คเชอร์ถึงปัญหาค่าไฟแพงว่า ต้องยอมรับว่าค่าไฟแพงจริงๆ เพราะเทียบจากเดือนก่อนกับเดือนนี้ เรียกว่าสูงขึ้นมากจริงๆ
ต้นตอ “ค่าไฟแพง” จากความผิดพลาด และ คาดการณ์ผิด
...
สำหรับสาเหตุของค่าไฟแพง ศ.ดร.พรายพล ชี้ว่า มาจาก 2 ส่วนที่สำคัญ คือ
1.ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีราคาแพง โดยการผลิตไฟฟ้า 60% ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งในประเด็นนี้หลายคนก็สงสัยว่าในอ่าวไทย มีก๊าซธรรมชาติมากมาย ทำไมถึงแพง คำตอบของคำถามนี้ “อ่าวไทย” มีมากจริงๆ และใช้เป็นส่วนใหญ่ แต่...ราคามันก็สูงขึ้นจริงๆ และจากสูตรการคำนวณในการซื้อของโรงไฟฟ้านั้นมีการคำนวณจากค่าน้ำมันด้วย และค่าน้ำมันก็แพงขึ้นมาก โดยอ้างอิงจากตลาดโลก นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ราคาก๊าซธรรมชาติแพงขึ้น แต่ไม่มาก
ส่วนสำคัญที่แพงขึ้นมากที่เราซื้อมาจากต่างประเทศ คือ “ก๊าซธรรมชาติเหลว” หรือที่เรียกว่า LNG ก๊าซนี้แพงขึ้นมาก มาจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัสเซียเองก็ถูกคว่ำบาตร ทำให้ก๊าซดังกล่าวหายไป เราก็ต้องไปซื้อในตลาดโลก ซึ่งก็มีราคาแพง ตรงนี้เอง คือทำให้ “ต้นทุน” การผลิตไฟฟ้าแพงขึ้น
เชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ลิกไนต์ ราคาไม่สูงขึ้น ถ่านหิน นำเข้าราคาเพิ่มขึ้นบ้าง ผลิตจากพลังงานน้ำ เขื่อนในประเทศ หรือลาว ไม่ได้สูงขึ้น...
2.ค่าต้นทุนที่ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ประเด็นนี้มีการพูดถึงกันมาก โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพร้อมจ่าย หมายถึง มีความพร้อมในการจ่ายไฟ ขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งประเด็นนี้เป็น “ข้อตกลง” ตั้งแต่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่าง กฟผ. และโรงไฟฟ้าเอกชน ในลักษณะ Take or Pay หากเอกชนพร้อมผลิตและจ่ายไฟ แค่พร้อมอย่างเดียว การไฟฟ้าฯ ต้องจ่ายค่าโรงไฟฟ้าแล้ว นี่คือข้อตกลง หากเขาจ่ายไฟมาจริง ก็คิดอีกส่วนหนึ่ง
ส่วนแรกเรียกว่า Availability Payments หรือ AP (ค่าพร้อมจ่าย) อีกส่วนหนึ่งคือค่าผลิต ส่วนมากจะเป็นเชื้อเพลิง
ศ.ดร.พรายพล อธิบายว่า การผลิตไฟฟ้านั้นมีการลงทุนค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องทำแผนและการลงทุน แต่ปรากฏว่าเรากลับ “สำรองการผลิต” มากจนเกินไป เรียกว่าเกินไปเกือบ 50% เรียกว่าสูงมาก
“ตรงนี้เองมาจากการ “คาดการณ์ที่ผิดพลาด” คาดว่าเศรษฐกิจจะโต แต่เจอโควิดแล้วเศรษฐกิจไม่โต การใช้ไฟต่ำกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่การผลิตที่เราสัญญาไว้แล้ว เอกชนเขาก็ต้องทำ Take or Pay ต่อไป ผลปรากฏว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตที่เราต้องจ่าย เสียเงินไปกว่า 50% จาก “ค่าพร้อมจ่าย” เรื่องนี้...ฟังดูแปลกๆ แต่ก็เป็นสัญญาที่เราทำมาหลายปีแล้ว กลายเป็นภาระส่วนหนึ่งของค่าไฟ”
เมื่อถามตรงๆ ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้มาจากการทำสัญญาที่ผิดพลาดในอดีต หรือการบริหารจัดการที่ผิดพลาดในช่วงที่ผ่านมา ศ.ดร.พรายพล ตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า หากมาดูจริงๆ ก็จะพบว่าเป็นการผิดพลาดจากทั้ง 2 ส่วน คาดการณ์ผิดพลาด และไปทำสัญญามัดตัวเอง ซึ่งเราเข้าใจว่าวัตถุประสงค์ที่ทำก็เพื่อ “ความมั่นคง” จึงผูกมัดโรงไฟฟ้าเอกชนไว้ ไม่ว่าอย่างไรก็ต้องผลิตให้ จึงกลายเป็นว่า มัน “มั่นคงเกินไป” ค่าไฟมันก็เลยว่า “แพงเกินไป” กลายเป็นภาระให้กับผู้ใช้ไฟในวันนี้
...
“ที่ผ่านมาหลายปี ผมพยายามบอกตลอดว่า อย่าทำสัญญาแบบนี้ เพราะไฟฟ้ามันมีเหลือก่อนยุคโควิดด้วยซ้ำ พอเข้าสู่ยุคโควิด ไฟฟ้ามันก็ยิ่งเหลือเยอะ และความผิดพลาดอีกอันหนึ่ง คือ ช่วงที่มีโรงไฟฟ้าแล้ว เขาก็ไม่ได้เลื่อนการก่อสร้าง ปล่อยให้มีการสร้างเพิ่ม จึงกลายเป็น “ภาระ” ให้กับผู้ใช้ไฟ”
เมื่อถามว่า ไฟฟ้าที่เหลืออยู่ เราทำอะไรกับมันได้บ้าง กูรูด้านพลังงาน บอกว่า จะให้ขายในประเทศก็คงไม่ได้ จะขายให้ต่างประเทศ เวลานี้ก็ไม่มีใครเอา เพราะเพื่อนบ้านเราเขาก็ไม่ต้องการ ประเทศเพื่อนบ้านเขาไม่ใช้ไฟเท่าไร เช่น ลาว เขาก็มีมาก เขาเลยเอาไฟฟ้ามาขายเรา เมียนมา มาเลเซีย ความต้องการไม่มาก
สรุปว่า กลายเป็นโรงไฟฟ้าสำรอง และรอวันที่จะใช้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้
ชำแหละนโยบายหาเสียง กับการลดค่าไฟฟ้า ทำได้จริงแค่ไหน?
ทีมข่าวฯ ถาม ศ.ดร.พรายพล ว่า เวลานี้หลายพรรคการเมืองออกนโยบายลดค่าไฟด้วยวิธีต่างๆ มีประเด็นไหนบ้างที่ทำจริงได้ และไม่ได้ กูรูด้านพลังงาน กล่าวว่า การจะแก้ปัญหาไฟฟ้าให้สำเร็จแบบทันทีทันใดนั้นคงยาก เพราะค่าเชื้อเพลิงที่แพงขึ้น จะให้เขาลดราคาเขาก็คงไม่ขายเรา
การปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงที่ถูกและสะอาด : ก็ทำไม่ได้ทันที ต้องใช้เวลา
ค่า AP กับโรงไฟฟ้าสำรอง : ก็ต้องมีการเจรจากับเอกชน ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าจะยอมหรือไม่ ซึ่งเขาเองก็อาจจะไปกู้ธนาคารมาเช่นเดียวกัน ฉะนั้นหากทำได้ก็จะเป็นเรื่องดี
“สิ่งที่ผมเห็นและทำได้ก็มีเพียงเท่านั้น แต่หากจะทำให้เร็วขึ้นก็มีทางเดียว คือ การใช้เงินอุดหนุน ซึ่งเป็นเงินแสนล้าน ซึ่งที่ผ่านมา กฟผ. เองก็เป็นหนี้อยู่แสนล้านอยู่แล้ว ซึ่งรัฐบาลเองก็อนุญาตให้เป็นหนี้ได้ ซึ่งขนาดเขาเป็นหนี้แสนล้านแล้ว ค่าไฟยังขนาดนี้ แต่ถ้าอยากให้ถูกกว่านี้ก็ต้องลงเพิ่มอีกหลายแสนล้าน ถ้าอยากสร้างหนี้ให้ภาครัฐก็ทำได้ ราคาค่าไฟก็จะถูกลง”
...
ศ.ดร.พรายพล มองว่า สิ่งที่เป็นอยู่ คือ “หนี้สาธารณะ” สูงมากอยู่แล้ว ถ้าจะทำก็จะเป็นภาระและปัญหาในอนาคต ซึ่งหากไม่ใช่รุ่นเรา ก็รุ่นลูกหลานเราอาจต้องรับภาระไป
เมื่อถามว่า มีหลายพรรคการเมืองเสนอเรื่องการรื้อโครงสร้างปรับสมดุลราคาพลังงาน ศ.ดร.พรายพล ตอบว่า นี่คือ “เรื่องใหญ่” อีกเรื่อง ซึ่งความจริงมีการพูดเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ราคาน้ำมัน โครงสร้างการซื้อขายไฟฟ้า เพราะปัจจุบันเป็นระบบผูกขาด ผู้ซื้อรายเดียว คือ กฟผ. ก่อนจะขายต่อ กฟน. หรือ กฟภ.
แผนในอนาคตที่เป็นแนวทางคือ เปิดการแข่งขันมากขึ้น โดยสามารถแข่งกันผลิต และแข่งกันขายให้กันและกันได้ ข้อดี คือ มีโอกาสที่จะสร้างประสิทธิภาพ และลดต้นทุนลง ภาระต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น ส่วนข้อเสีย คือ ความเป็นห่วงเรื่องความมั่นคง หากปล่อยให้มีการซื้อขายกันอย่างเสรี ไม่มีการสำรองไฟอย่างเพียงพอ หรือไม่ได้มีการวางแผน หรือคนคอยดูแล ก็มีโอกาสที่จะเกิดไฟดับ ไฟตกได้
“เวลามีปัญหาเรื่องการขาดแคลน อาจจะไม่มีระบบมารองรับ เช่น ภาคใต้ไฟดับ ก็จะมีการส่งไฟจากภาคอื่นๆ มาช่วย ซึ่งหากปล่อยเสรี การทำโยกย้ายไฟมันก็ทำได้ยากขึ้น เพราะเวลาไฟดับมันรอไม่ได้ นี่คือสิ่งที่เป็นห่วง ซึ่งเรื่องนี้หากจะเสรีก็คงต้องไปศึกษาในระบบต่างประเทศที่เขามีการคิดและรองรับในเรื่องนี้”
การยกเลิกค่า FT เป็นไปได้หรือไม่ กูรูด้านพลังงาน ตอบอย่างชัดเจนว่า “ค่า FT ไม่ใช่ตัวปัญหา เป็นเพียงกลไกปรับค่าไฟให้สะท้อนถึงค่าเชื้อเพลิงที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา อาจจะมาจากค่าก๊าซ น้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งมองว่าเป็นสิ่ง “จำเป็น” หากเราไม่จ่ายตามราคาต้นทุน ผู้ผลิตเขาก็อยู่ไม่ได้
...
ทั้งนี้ค่า FT ไม่ได้ปรับขึ้นอย่างเดียว บางครั้งก็มีการปรับราคาลงมาในอดีต เมื่อค่าเชื้อเพลิงลดลง บางทีเป็นลบก็มี ค่าไฟก็ถูกลง ฉะนั้น จึงมองว่าค่า FT เป็นกลไกด้านราคาให้ผู้ผลิต ผู้ขาย มีความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน
บางพรรคชูเรื่องการลดราคาค่าไฟต่อหน่วย เช่น ในราคา 2.50-3.50 บาท ความเป็นจริงทำได้หรือไม่ ศ.ดร.พรายพล ตอบทันทีว่าเป็นไปได้ยาก...หากไม่ใช้เงินอุดหนุน ก็อย่างที่กล่าวข้างต้นว่าค่าเชื้อเพลิงจะลดได้อย่างไร แม้ช่วงนี้จะปรับลดลงมาบ้าง คำถามคือ คุณจะไปซื้อเชื้อเพลิงจากแหล่งไหนที่จะถูกกว่านี้”
“ก๊าซจากอ่าวไทยก็ถูกอยู่แล้ว และอาจจะลงไปกว่านี้ได้ แต่มันคงไม่ลงไปถึง 2.50 บาท ซึ่งค่าพร้อมจ่ายดังกล่าวถึงจะเป็นภาระจริง แต่ถ้ายกเลิกจริงก็คงไปไม่ถึง 2.50 บาท เพราะเวลานี้มันก็หน่วยละ 4 บาทกว่าแล้ว”
หากจะใช้พลังงานสะอาดช่วยได้ไหม กูรูด้านพลังงาน ย้ำว่า ช่วยได้ แต่ทำทันทีไม่ได้ การลงทุน การหาวัตถุดิบ จำเป็นต้องใช้เวลา อย่างน้อยก็เป็นปี ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากทำจริงๆ ก็มีโอกาสที่จะช่วยลดค่าไฟได้จริง
แปลว่า แนวทางอนาคตที่จะยั่งยืนจริงๆ ก็คือ การปรับเรื่องการใช้พลังงานสะอาดมาผลิตไฟฟ้า ศ.ดร.พรายพล ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งเรื่องนี้ความจริงมันอยู่ในแผนอยู่แล้ว ใช้เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วย เช่น พลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปลอดภัย จะทำให้ต้นทุนด้านราคาถูกลง
ทางเลือก “โซลาร์เซลล์” กับ ปัญหาด้านราคา ศ.ดร.พรายพล ชี้ว่าต้นทุนด้านนี้ยังมีราคาสูงอยู่ แต่ก็ถือว่ามีแนวโน้มลดลง แต่การใช้โซลาร์เซลล์ก็ผลิตไฟได้เฉพาะกลางวัน ซึ่งก็จำเป็นต้องพึ่งแบตเตอรี่ ซึ่งระยะหลังก็ราคาเริ่มลดลงบ้าง
“ความหวังคือ หากแบตเตอรี่ที่จะใช้กับพลังงานถูกลงได้ เราก็จะมีโอกาสได้โซลาร์เซลล์ รวมถึงพลังงานลมได้ด้วย”
ช่วงท้าย ศ.ดร.พรายพล สรุปว่า แนวทางการแก้ไขไฟฟ้าแพง เราในฐานะประชาชนต้องยอมรับว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้เร็ว สาเหตุราคาแพงไม่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะใครก็ตาม แต่ถ้าจะแก้ไขโดยไม่ใช้เงินอุดหนุนของภาครัฐ จำเป็นต้องใช้เวลาด้วยการใช้พลังงานสะอาด เพราะราคาถูกและยังมีความมั่นคง ส่วนความหวังการแข่งขันปรับโครงสร้างซื้อขายการผลิตจะช่วยได้อีกแรงหนึ่งด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านบทความที่น่าสนใจ