ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “โจทย์ใหญ่” สำหรับทุกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงในเร็วๆนี้ คือ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประชาชน แต่ละพรรคการเมืองมีแนวคิดสำหรับเรื่องนี้อย่างไร จุดใหญ่ใจความที่จะนำเสนอต่อประชาชนคืออะไร ในวันนี้ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์” ได้มีโอกาสสนทนากับ “นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ปัจจุบันได้เข้ามาร่วมงานเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจของ “พรรคพลังประชารัฐ” อย่างเป็นทางการ เพื่อพยายามค้นหา “คำตอบ” จากโจทย์สำคัญที่คนไทยทุกคนสนใจใคร่อยากรู้มากที่สุดในการเลือกตั้ง 2566

“นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ
“นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ

...

หน้าที่ในทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐ :

“ผมมีความชำนาญในเรื่องของเศรษฐกิจการเงิน การคลัง แล้วก็เศรษฐกิจในภาพรวม เพราะฉะนั้น ผมก็คงจะเสนอตัวกับพรรคเพื่อวางนโยบายเกี่ยวกับงานด้านนี้เป็นหลัก”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กับการเลือกตั้ง 2566 :

“โอว...ไม่ครับๆ (หัวเราะ) ผมไม่ลงทั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขต เพราะโดยนิสัยผมไม่ได้ชำนาญที่จะไปนั่งในสภา คือ ถ้าได้ทำงานก็ทำ ถ้าไม่ได้ทำงานผมก็คงจะไม่ไปเตร็ดเตร่อยู่แถวสภาแน่นอน (หัวเราะ)”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล กับ คำชักชวนจากลุงป้อม :

“มันเกิดจากการที่ก่อนหน้านี้ คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ชวนผมไปพูดคุยเรื่องแนวคิดเรื่องนโยบายพลังงาน กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งพอมีการนำเสนอ พล.อ.ประวิตร ท่านก็ชอบใจ ซึ่งตอนนั้นผมก็เน้นย้ำกับท่านไปว่านโยบายในลักษณะนี้แม้ประชาชนจะได้ประโยชน์ แต่ท่านคงจะเหนื่อยหน่อย เพราะท่านต้องไปรบกับภาคเอกชนให้ยอมถอยเพื่อคืนกำไรให้กับประชาชนบ้าง ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็ได้ตอบกลับมาว่า ไม่เป็นไร เพราะผมทำงานให้กับประชาชน ผมก็เลยศรัทธา และคิดว่าหากเป็นแบบนี้นโยบายที่คิดไว้คงสามารถนำไปใช้ได้จริง และพอท่านออกปากชวน ก็เลยตัดสินใจตรงนั้นเลย”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล VS พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา :

ไม่เกี่ยวกัน แบบนี้นะ...มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเขียนไว้ชื่อว่า Thailand Reset ตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งผมเสนอแนวคิดเศรษฐกิจไว้หลายข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในเวลานี้มันตรงกับแนวคิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อันนี้ก็ใช้ได้ข้อหนึ่งแล้วนะ ข้อต่อมาคือ การทำนโยบายให้เกิดประโยชน์กับประชาชน จำเป็นต้องมีความปรองดองสามัคคีภายในชาติเสียก่อน และต้องก้าวข้ามตัวบุคคล ก้าวพ้นสีเสื้อ ก้าวเพื่อประชาชน ซึ่งก็ตรงกับนโยบายของ พล.อ.ประวิตร ในเวลานี้ที่บอกว่า ต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง เข้าให้พอดีอีก”

คำมั่นสัญญาจากลุงป้อม หลังเลือกตั้ง 2566 :

“ไม่มีเลย ตอนนี้อยู่ในขั้นเพียงคิดอ่านนโยบายเพื่อให้เป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประชาชน ที่ไม่ใช่ลด แลก แจก แถม หรืออุ้มนายทุนอย่างเดียวแบบสุดกู่”

นโยบายเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐต้องยั่งยืน ไม่เน้นประชานิยม :

“โดยส่วนตัว ผมอยากนำเสนอกับทุกพรรคการเมืองในขณะนี้ว่า การหาเสียงและลักษณะของการบริหารประเทศ การบริหารเศรษฐกิจในกรณีที่ได้เป็นรัฐบาล มันอาจจะมีหลายเรื่องที่แตกต่างกันอยู่ ในเรื่องของการหาเสียงนั้น เอาล่ะมันก็อาจจะมีการคัดเลือกแนวคิด หรือการดำเนินการอะไรบางอย่างที่มีจุดขาย หรือแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ แต่พอถึงเวลามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล นโยบายต่างๆ ที่หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ ควรจะต้องมีการมานั่งชั่งน้ำหนักกันว่าสิ่งที่ได้คาดหวังเอาไว้สามารถทำได้จริงมากน้อยแค่ไหนและอย่างไร?

เพราะขณะนี้ดูเหมือนว่า...แนวนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะเน้นไปที่การแจกเงินโดยตรงให้กับประชาชน หรือไม่ก็แจกเงินโดยอ้อม เช่น การเอาไปอุดหนุนเป็นค่าใช้จ่ายในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งจุดนี้หากใช้เงินจากงบประมาณมันก็จะมีข้อจำกัด เพราะงบประมาณของประเทศก็มีอยู่อย่างจำกัดเช่นกัน ฉะนั้น การนำเสนอนโยบายต่างๆ พรรคการเมืองจึงควรคิดให้รอบคอบ ไม่ควรเน้นไปในแง่ที่ว่ากู้เงินมาแจก เพราะในเวลานี้งบประมาณประเทศขาดดุลทุกปี ฉะนั้น หากใครนำงบประมาณไปลดแลกแจกแถม มันก็เท่ากับว่าเราไปกู้เงินมาแจก ซึ่งไม่ต่างอะไรกับ...ครอบครัวไม่มีเงินแล้วไปรูดการ์ด ซึ่งแน่นอนว่ามันไปต่อได้อีกไม่นาน

...

ด้วยเหตุนี้พรรคการเมืองต่างๆ จึงควรมีการวางแผนและคิดให้รอบคอบในแง่ของความเป็นไปได้ ผมจึงอยากชักชวนให้ประชาชนมามองกันในแง่ที่ว่า พรรคไหนมีการวางนโยบายที่นำไปสู่ความยั่งยืนให้ได้มากขึ้นมากกว่ากัน”

พรรคพลังประชารัฐ กับ นโยบายเศรษฐกิจยั่งยืน :

“โจทย์ของความยั่งยืน คือ จะทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดโอกาสในการหารายได้ ด้วยเหตุนี้ในความเห็นส่วนตัวของผมจึงมีแนวคิดที่อยากนำเสนอกับพรรคพลังประชารัฐว่า ข้อแรกในเรื่องของพลังงาน จะทำอย่างไรให้มีการนำโซลาร์เซลล์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับทั้งคนในเมืองและคนที่อยู่ในชนบท รวมถึงต้องทำให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางด้วย

ยกตัวอย่างเช่น...แนวคิดแรก สำหรับคนในมืองหากใครผลิต Solar Rooftop ก็ให้เอาไฟฟ้าที่ผลิตได้ในตอนกลางวันมาหักลบกลบหน่วยกับปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ไปในตอนกลางคืนได้ทันที

แต่สำหรับคนที่อยู่ในชนบทจะใช้วิธีให้ หนึ่ง อบต. มีหนึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Farm) โดยให้ภาคเอกชนเข้ามาประมูลงาน และเมื่อลงทุนไปแล้วเกิดผลประโยชน์ ก็จัดแบ่งผลประโยชน์ให้กับภาคเอกชนในอัตราที่ไม่สูงมากจนเกินไปนัก เพื่อให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งไปตกอยู่กับทาง อบต. รวมถึงคนในชุมชนเองก็จะได้ประโยชน์จากการได้ใช้พลังงานในราคาถูกลง ขณะเดียวกันการดำเนินการในลักษณะนี้จะนำไปสู่การสร้างงานให้กับคนในชุมชนได้ต่อไปด้วย

...

สำหรับ แนวคิดที่สอง คือ เรื่องการลดการใช้รถยนต์พลังงานฟอสซิล (น้ำมัน) โดยล่าสุดทีมเศรษฐกิจของพลังประชารัฐมีแนวคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรจะมีการอุดหนุนเรื่องการดัดแปลงเครื่องยนต์น้ำมันไปเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหามลพิษในอากาศ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนในเรื่องการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต่อไปในอนาคต

โดยทั้งสองแนวคิดนี้จะเห็นได้ว่า ทีมเศรษฐกิจพรรคพลังประชารัฐกำลังมุ่งเน้นไปที่การค้นหานโยบายที่นอกจากจะลดรายจ่ายของรัฐบาลแล้ว ในขณะเดียวกันยังสามารถนำไปสู่การจ้างงานได้ด้วย หรือพูดง่ายๆให้เห็นภาพก็คือ ใช้เงินจากงบประมาณรัฐบาลให้น้อย แต่เน้นใช้เงินจากระบบการเงินให้มาก รวมถึงยังเน้นให้ประชาชนสามารถนำไปต่อยอดได้นั่นเอง

อย่างไรก็ดี การดำเนินการตามแนวคิดนี้จะต้องมีการบริหารจัดการสำหรับกลุ่มที่ได้ประโยชน์และกลุ่มที่เสียประโยชน์ให้สามารถยอมรับกันได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการดูแล อบต.ต่างๆ ให้มีความพร้อม และหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์เช่นในอดีตด้วย

เพราะแนวคิดหลักของผมคือการให้ประชาชนเป็นคนทั้งคิดริเริ่ม ลงมือทำ และดูแลกันเอง เพื่อช่วยกันให้ประเทศก้าวหน้าไม่ใช่มานั่งรอโอว (ลากเสียง) เมื่อไหร่จะมีรัฐบาลเก่ง หรือเมื่อไหร่จะมีนายกรัฐมนตรีคนเดียวแล้วเก่งไปหมด ผมว่าสู้ทำให้ประชาชนลุกขึ้นยืนด้วยลำแข้งและเก่งได้ด้วยตัวของเขาเองจะเป็นการดีกว่า เพราะหากเราลองไปดูประเทศมหาอำนาจต่างๆ จะพบว่าประชาชนในประเทศนั้นๆ มักจะมีความรู้ ความสามารถ การศึกษา และการปรับตัวให้สู้กับวิกฤติต่างๆ ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้มันเริ่มมาจากการคิดเองทำเองทั้งสิ้น”

...

ไม่เน้นประชานิยม = เสียเปรียบทางการเมือง :

“ต้องยอมรับว่าก็อาจจะเสียเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ แต่ส่วนตัวผมเห็นว่าหากพรรคพลังประชารัฐออกนโยบายแนวนี้ออกมา ประชาชนจะได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันผมยังเชื่ออีกว่าประชาชนส่วนหนึ่งก็อาจจะมีการนำแนวนโยบายรูปแบบนี้ไปชั่งน้ำหนักกับนโยบายของพรรคอื่นๆ เช่นกัน เพราะที่สุดแล้วประชาชนทุกคนจะเข้าใจได้เองว่าเงินที่ทุกพรรคนำมาแจกก็คือเงินที่มาจากกระเป๋าของประชาชนในอนาคตที่เอามาแจกกันในวันนี้ แล้วก็ไม่ใช่เงินของพวกเขาส่วนตัว มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่พรรคการเมืองไหนๆ ก็อยากจะแจก

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าประชาชนยุคนี้มีความเท่าทันนักการเมืองสูง ฉะนั้น เขาก็อาจจะเลือกพรรคที่ใช้เงินมาก แต่เป็นเงินจากระบบการเงิน หรือเป็นเงินจากธุรกิจ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐบาล เช่นที่พรรคพลังประชารัฐกำลังจะลงมือทำก็เป็นได้”

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล = ต่อต้านประชานิยม

“ไม่ใช่นะ..คือผมคิดแบบนี้..นโยบายประชานิยม ถ้าเป็นการแจกแบบกลุ่มที่สมเหตุสมผล เช่น แจกเงินให้กับกลุ่มคนพิการ หรือคนชรา แล้วแจกในจำนวนที่ไม่มากจนเกินไป ลักษณะแบบนี้ก็พอได้ เพราะยังสามารถบริหารจัดการไม่ให้หนี้บานปลายจนกระทั่งมากเกินกว่าที่จะสามารถบริหารจัดการได้”

ปัญหาเศรษฐกิจโลก VS รัฐบาลชุดใหม่ :

“สิ่งที่รัฐบาลชุดต่อไปจะต้องรับมือคือ ภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเห็นได้จากอาการของตลาดทุน ที่มีการแห่ถอนเงินออกจากธนาคารในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งเอาล่ะ...แม้ปัจจุบันดูเหมือนจะเบาลงแล้ว แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าน่าจะยังไม่จบง่ายๆ เพราะการดำเนินนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะขาดทุนสะสมซ่อนอยู่ในงบดุลของธนาคารต่างๆ ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปไม่น้อย และจนถึงตอนนี้เองก็ยังไม่ชัดเจนมากนักว่าธนาคารกลางแห่งชาติของแต่ละประเทศได้เข้าไปวางกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเอาไว้มากเพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งก็คงต้องมีการติดตามประเด็นในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

แต่สำหรับส่วนตัวผมคิดว่า...ค่อนข้างจะยากที่จะไม่เกิด Accident ขึ้น จากหนี้เสีย (NPL) ที่อาจจะมากเกินกว่าที่คาดไว้ เพราะสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ข้อแรกก่อนหน้านี้ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อยู่ที่ใกล้ๆ ศูนย์ แต่ปัจจุบันพุ่งขึ้นไปในระดับ 4-5% จนเป็นผลให้จำนวนรายจ่ายดอกเบี้ยต่อเดือนของครัวเรือนและของบริษัทที่มีหนี้อยู่มันพุ่งขึ้นไปตั้ง 4-5 เท่า แบบนี้มันย่อมทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้แน่นอน

ข้อที่สอง สงครามยูเครนที่นำไปสู่การที่ชาติตะวันตกประกาศแซงก์ชั่นพลังงานจากรัสเซีย ได้ทำให้ราคาพลังงานภาคครัวเรือนในยุโรปแพงขึ้นถึง 40% ต่อปีแล้ว จนเป็นผลให้กำลังการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือนลดต่ำลง ขณะเดียวกันภาคธุรกิจไม่ว่าเล็กหรือใหญ่เองก็ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ซึ่งจากปัจจัยดังที่กล่าวมานี้ย่อมหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่เกิด NPL มากขึ้นในระบบการเงินของทั้งสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพียงแต่ที่สำคัญคือ...ได้มีการกันทุนสำรองเอาไว้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งหากเป็นไปอย่างที่ผมคาดการณ์ไว้ คือ มีหนี้เสียมากเกินไป มันก็จะทำให้เกิดภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และจะค่อยๆ ลุกลามมายังประเทศไทย ฉะนั้นในแง่ของพรรคการเมืองที่มีการออกนโยบายต่างๆ มาหาเสียงกับประชาชนในช่วงนี้ หากไม่ได้มีการคำนึงถึงเรื่องนี้เอาไว้เลย ประเทศไทยก็คงอยู่ในภาวะอันตรายแน่นอน”

วิกฤติเศรษฐกิจโลกจะลุกลามมาถึงประเทศไทยเมื่อไหร่ :

“ผมเชื่อว่าน่าจะภายในปีนี้แน่นอน และภายในอีกหนึ่งถึงสองเดือนนี้เราก็น่าจะได้เห็นการแสดงอาการที่ชัดเจนมากขึ้นในตลาดทุนของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นทั้งตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร ที่อาจจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ หลังจากนั้นก็น่าจะมีการออกมาตรการอะไรต่างๆ ออกมาเพื่อพยายามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมคิดว่าคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้ง่ายดายนัก เพราะหากไปลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็จะแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ และพอแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อไม่ได้ มันก็จะเกิดความกระอักกระอ่วนกลืนไม่เข้าคายไม่ออกทางการคลัง หรือที่เรียกว่า ภาวะเขาควาย (Dilemma)

ฉะนั้นก็อย่างที่ผมพยายามเน้นย้ำ คือ หากพรรคการเมืองใดเน้นแต่เรื่องการใช้เงิน แต่ไม่มีวิธีการสร้างรายได้ให้กับชุมชนเหมือนเช่นที่พรรคพลังประชารัฐกำลังพยายามทำอยู่ ประเทศไทยก็คงจะลำบากแน่นอน เพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความสามารถในการแข่งขันของไทยก็จะลดลงด้วย”

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ VS ข้อจำกัดทางการเมือง :

“ผมคิดแบบนี้นะ ในแง่ของการบริหารเศรษฐกิจเพื่อจะเอาให้ประเทศอยู่รอด ผมว่าใครๆ ก็คงเห็นด้วย คงไม่มีการถกเถียงกัน ปัญหามันจะเกิดเมื่อเราออกมาตรการอะไรออกมาแล้วมีคนได้ประโยชน์คือประชาชนส่วนใหญ่ (ลากเสียง) แต่คนเสียประโยชน์ คือ นาย ก. นาย ข. หรือบริษัท X บริษัท Y ตรงนี้ก็อาจจะต้องมีการรำมวยกันหน่อย ต้องมีการถกเถียงกันหน่อย (หัวเราะ) แต่ว่าเราไม่ได้ออกนโยบายแบบสุดโต่ง ที่แบบไม่เอาภาคธุรกิจเลย เพราะประเทศมันจะอยู่ได้ก็ต้องมีภาคธุรกิจ แต่ภาคธุรกิจก็ต้องไม่เอาเปรียบประชาชนเช่นกัน ในเวลานี้ผมเชื่อว่าภาคธุรกิจต้องยอมถอยหลังเพื่อประชาชนบ้าง” นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ปิดท้ายการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง