ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร กับเป้าหมายล่าสุดบนเส้นทางการเมืองในวันนี้ คือ การทุ่มเวลาอย่างเต็มที่ในการร่วมวางแผนด้านเศรษฐกิจ และการต่างประเทศให้กับพรรคเพื่อไทย พรรคการเมืองที่เขาเลือกร่วมทำงานมานาน และตลอดไป
เป็นเสียงยืนยันจาก ดร.ปานปรีย์ ที่บอกกับทีมข่าวไทยรัฐในวันที่เพิ่งกลับจากงานร่วมเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขตพรรคเพื่อไทย 400 คน เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2566 ว่าไม่เคยคิดเปลี่ยน หรือย้ายพรรค ซึ่งเป็นความตั้งใจนับตั้งแต่พรรคชาติพัฒนารวมกับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2548 ก่อนที่จะถูกยุบในปี 2550 จนมีการตั้งพรรคเพื่อไทย และดร.ปานปรีย์ รับตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยในเวลานั้น เพราะเส้นทางเด่นชัดจากประสบการณ์วางแผนด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการค้าระหว่างประเทศ
...
หากย้อนไปดูประวัติการทำงาน ดร.ปานปรีย์ ซึ่งเคยทำงานในยุคสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน ทั้งในฐานะข้าราชการ ตั้งแต่ช่วงของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จนมาถึงการเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในยุค พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และเป็นผู้แทนการค้าไทยในปี 2548 ช่วงปลายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
จึงไม่แปลกใจ ที่เขามีบทบาทสำคัญในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด จนเมื่อเสียงปี่กลองการเลือกตั้ง 2566 เริ่มดังระรัว การกลับมาในเส้นทางการเมือง ที่ความจริงเขาไม่ได้หายไปไหน ในครั้งนี้ดร.ปานปรีย์ ในวัย 66 ปี จึงมีบทบาทเป็นหนึ่งในทีมคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ที่ปัจจุบันมี อิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวคนเล็กของ ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย
ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ต้องเผชิญกับสิ่งที่ไม่แน่นอน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ จนกระทบกับปากท้อง และเศรษฐกิจไทย ดร.ปานปรีย์ มองว่า ประเทศไทยต้องเร่งแก้ไข และสร้างสิ่งใหม่มากมาย โดยเฉพาะในมุมที่ควรไปต่อนับจากนี้ ที่เป็นภาพใหญ่ คือ เรื่องการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ และที่ต้องให้ความสำคัญ คือ แก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน เพราะคนมีหนี้สินสูงมากตอนนี้
มุมต่อมาที่ต้องเร่งแก้ปัญหา คือ ต้องสร้างรายได้ เพราะคนมีรายได้น้อย และลำบากเดือดร้อนมาก นำมาสู่นโยบายขึ้นค่าแรงเป็น 600 บาท ที่โยงใยไปถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน รายได้อยู่ที่ด้านบน คนรวยกันหมด เพราะนโยบายที่ผ่านมาส่งเสริมคนในสังคมด้านบน ส่วนข้างล่างแห้งกันหมด เปรียบเหมือนรดน้ำต้นไม้จากด้านบน โดยหวังว่าน้ำจะไหลจากบนลงล่าง แต่ไม่เป็นเช่นนั้น น้ำยังค้างอยู่ด้านบนมากกว่า
“ที่ผ่านมา คือ เอาน้ำรดข้างบนแล้ว จะเกิดเงินจากบนลงล่าง ข้างบนกำไรส่งผลมาข้างล่าง แต่จริงๆ ไม่ใช่ เพราะเงินยังอยู่ข้างบน ไม่ได้ลงมาข้างล่าง”
นั่นคือสภาพที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น ซึ่ง ดร.ปานปรีย์ มองว่า นอกเหนือจากต้องจัดลำดับความสำคัญเศรษฐกิจคือ สร้างการความเติบโต แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และแกัปัญหาสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมให้ได้ ในส่วนการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยนั้น ก็สำคัญ
รัฐบาลต่อไปต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ ต้องทำความเข้าใจในมุมเศรษฐกิจ การค้าระหว่างประเทศ และมุมความมั่นคงให้ชาวโลกเห็นว่าประเทศไทย น่าลงทุน น่าอยู่ น่ามาเที่ยว ซึ่งเรื่องน่ามาเที่ยวนั้นมีแล้ว คนมาเที่ยวอยู่แล้ว แต่ที่เราต้องทำคือ รักษาสภาพแวดล้อมให้น่าท่องเที่ยว
...
ส่วนเรื่องการต่างประเทศ ในอดีตหลายคนมองว่า เป็นเรื่องไกลตัว แต่ ดร.ปานปรีย์ ย้ำว่า “ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องไกลตัวแล้ว เพราะโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีพัฒนา การสื่อสารถึงกันหมด ซึ่งในพรรคเพื่อไทย ผมก็ไปช่วยในมุมของการต่างประเทศว่า ควรจะวางตัวอย่างไร เราถึงเวลาต้องเคลื่อนไหว เร็ว และต้วมเตี้ยมไม่ได้ ต้องออกไปขอความร่วมมือจากประเทศทั่วโลก ที่ไม่ใช่มหาอำนาจอย่างเดียว”
นี่คือความเห็นส่วนหนึ่งของ ดร.ปานปรีย์ ที่ได้ร่วมวางแผน วางนโยบายเศรษฐกิจ รวมถึงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้กับพรรคเพื่อไทย ที่ประกาศอย่างมั่นใจว่า จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ คะแนนท่วมท้นเพียงพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งหากเป็นจริง เส้นทางของดร.ปานปรีย์ จึงน่าจับตามองว่า บทบาทที่เขาจะได้รับนับจากนี้ในอนาคตคืออะไร