แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่ก่อหนี้และรัฐมีเงินจำนวนนี้อยู่แล้ว นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายพรรคประชาธิปัตย์...

"เท่าที่ผมประเมินไว้เบื้องต้น 3 ปีที่ผ่านมาปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 3 ล้านล้านบาท ด้วยเหตุนี้ นโยบาย 16 ข้อ ซึ่งประเมินวงเงินไว้ที่ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ภายในปีนี้ มีเงื่อนไขสำคัญ คือ จะไม่ก่อหนี้สาธารณะเพิ่ม และไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลมากเกินไป ส่วนหากถามว่าเงินที่จะนำมาใช้นี้ มาจากที่ไหน? ผมมีคำตอบสำหรับเรื่องนี้ครับ" นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายและผู้นำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ เกริ่นนำการสนทนากับ “ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์”

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายและผู้นำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์
นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ประธานนโยบายและผู้นำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์

...

3 นโยบายหลักจุดขายกระตุ้นเศรษฐกิจชาวฐานราก คนชั้นกลาง และผู้ประกอบการ :

“เริ่มต้นที่เฉพาะ 3 เรื่องแรกก่อน ซึ่งจะมีวงเงินรวมกันประมาณ 8 แสนล้านบาท โดยจะแบ่งเป็น 1. การช่วยเหลือผู้ประกอบการ ด้วยการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน sME วงเงิน 3 แสนล้านบาท ซึ่งจะนำมาจาก...เงินนอกงบประมาณที่ผมค้นพบ และสามารถนำมาใช้ในส่วนนี้ได้ เพียงแต่ตอนนี้ยังขออุบเอาไว้ก่อนว่าจะมาจากส่วนไหน (หัวเราะ)

กองทุนสนับสนุน SME วงเงิน 3 แสนล้านบาท ฟื้นฟูผู้ประกอบการ :

สำหรับการจัดตั้งกองทุนสนับสนุน SME ผ่านระบบธนาคาร วงเงินประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น จะใช้วิธีชักชวน SME เพิ่มทุนเป็นหุ้น และกองทุนนี้จะเข้าไปถือหุ้น โดยสัญญาว่าจะคืนให้เมื่อมีเงินมาซื้อคืนไป เนื่องจากปัจจุบันต้องยอมรับว่าหลังเกิดปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ SME ส่วนใหญ่ประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน จากการที่บรรดาธนาคารต่างๆ ไม่กล้าปล่อยเงินกู้เพราะกลัวความเสี่ยงเรื่องหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPL

“วิธีการนี้จะช่วยให้ธนาคารไม่ต้องพบกับปัญหา NPL เพราะหากเรายังปล่อยให้เป็นอยู่แบบนี้ 3 ปีที่ผ่านมา คือ เผาหลอกนะ แต่หลังจากนี้คือ เผาจริงแล้วนะ เพราะเงินออมที่มีอยู่มันหมดไปแล้ว เพราะขาดทุนกันมาหลายปี และต่อไปนี้จะต้องกัดฟันขายทิ้งจนโดนรายใหญ่เข้าฮุบกิจการกันแล้ว เพราะฉะนั้นจากนี้ไปมันจะลำบากกันมากขึ้น ฉะนั้นหากยิ่งไม่ทำอะไรแบงก์ก็จะยิ่งเจอ NPL มากขึ้น

อีกทั้งวิธีการนี้ ยังดีกว่าวิธีการพักการชำระหนี้ด้วย เพราะเมื่อมีการพักการชำระหนี้ สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือผู้ประกอบการนั้นๆ จะมีประวัติไม่ดีเนื่องจากเคยมีปัญหาเรื่องหนี้มาก่อน คำถามคือเจ้าหนี้ที่ไหนจะยินดีเอาเงินใหม่มาใส่เติมให้? แต่กลับกันหากใช้วิธีการนี้ผู้ประกอบการก็จะรอด เพราะมีเงินทุนก้อนใหม่เข้ามาใช้ในการทำธุรกิจและสามารถกู้เงินมาเสริม เพราะมีฐานทุนที่แข็งแรงได้ต่อไป โดยไม่เสียวินัยการเงินการคลังด้วย”

ปลดล็อก กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ปลดหนี้คนชั้นกลาง :

2. ช่วยเหลือคนชั้นกลาง จากการปลดล็อกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งตามกฎหมายในเวลานี้ ถูกล็อกให้ผู้บริหารกองทุนสามารถนำเงินกองทุน ซึ่งมีรวมกันไม่ต่ำกว่า 2.6 ล้านล้านบาท ไปลงทุนได้เฉพาะตลาดตราสารการเงินเท่านั้น ให้เปลี่ยนมาเป็นการเปิดให้สมาชิกซึ่งเป็นเจ้าของเงิน ที่ปัจจุบันมีรวมกันมากกว่า 4 ล้านคน โดยแบ่งเป็นข้าราชการประมาณ 1.2 ล้านคน และสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 3 ล้านคน สามารถนำเงินในกองทุน ไป ซื้อบ้าน ลดหนี้บ้าน ผ่อนบ้าน หรือ วางดาวน์บ้าน ในวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท หรือ 30% ของ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือ 30% ของ กบข. (วงเงินรวมประมาณ 3แสนล้านบาท) เพื่อช่วยลดภาระหนี้บ้านให้หมดไป ก็จะเป็นการช่วยลดหนี้ครัวเรือนในปัจจุบันของไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 90% ของ GDP แล้วในเวลานี้ โดยเฉพาะหนี้ข้าราชการครู และตำรวจที่สูงมาก

“วิธีการนี้เป็นเพียงการปลดล็อกและไม่ต้องใช้เงินกู้ แต่เป็นการนำเงินของเขาที่มีอยู่แล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะทุกวันนี้ กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เอาเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ ซึ่งผมท้าพนันได้เลย...ทุกคนที่ลงทุนทั้ง สมาชิก กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปีที่ผ่านมา ลองไปเปิดรายงานที่เขาแจ้ง ผมเชื่อว่าทุกคนจะโมโห เพราะเงินมันติดลบเพราะขาดทุน (หัวเราะ) และนี่คืออีกหนึ่งคำตอบขอบพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องการปลดหนี้ให้กับประชาชน โดยใช้เงินของเขาเองที่มีเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพราะต้องไม่ลืมว่า การนำเงินไปลงทุนในบ้านนั้น นอกจากจะเป็นการลงทุนที่สามารถสร้างมูลค่าในอนาคตสำหรับประชาชนแล้ว ยังเป็นผลดีในแง่การขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วย

...

สำหรับเรื่องนี้ มีอีกหนึ่งประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์และอยากจะนำเสนอ คือ การปลดล็อก กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้ จะมีความแตกต่างจากกรณีแนวคิดเรื่องการนำเงินจากกองทุนประกันสังคมออกมาแจกจ่ายให้กับประชาชนก่อนครบกำหนด เพราะข้อแรก เงินประกันสังคมไม่ใช่เงินของสมาชิกแต่เป็นเงินของทางราชการ ประกันสังคมทำหน้าที่เป็นเหมือนบริษัทประกันภัยหรือประกันชีวิตต่างๆ ซึ่งรับประกันว่าเมื่อคุณส่งเงินครบ 15 ปี คุณมีสิทธิที่จะได้เงินที่กำหนดล่วงหน้าไปใช้ เงินหรือทุนของบริษัทประกันภัยไม่ใช่เงินของสมาชิก เช่นเดียวกับประกันสังคม ฉะนั้นจู่ๆ จะไปประกาศว่าจะนำเงิน 30% ไปจ่ายคืนให้กับผู้ประกันตน จึงเป็นเรื่องที่ผิด เพราะประเด็นแรก ผู้ประกันตนเองไม่มีกรรมสิทธิ์ในวงเงินก้อนนี้ แต่จะมีสิทธิที่ผู้ประกันตนจะได้ก็ต่อเมื่อมีการจ่ายเงินสมทบครบ 15 ปี ถึงเวลาที่กำหนดประกันสังคมมี หรือไม่มีเงินก็ต้องจ่ายสมาชิก ซึ่งจะแตกต่างจากกรณี กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังจะเห็นได้จาก ทุกๆ 6 เดือน จะมีการส่งรายงานไปให้สมาชิกได้ทราบอยู่เสมอว่าปัจจุบันมีเงินอยู่ในกองทุนจำนวนเท่าไหร่แล้ว แต่สำหรับกรณี ประกันสังคมไม่มี...เพราะประกันสังคมเป็นการให้สิทธิ! (เน้นเสียง)

...

ฉะนั้นความพยายามที่จะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมไปแจกจ่ายก่อนครบกำหนด จึงถือเป็นเรื่องที่ผิด ซึ่ง ILO ก็ได้เคยมีหนังสือมาทักท้วงความคิดนี้ และต่อให้แก้กฎหมายก็ยังผิดต่อเจตนารมณ์ของกองทุนประกันสังคมอยู่ดี ฉะนั้น หากคิดจะทำจึงควรต้องมีการเปลี่ยนระบบเหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศเสียก่อน คือ เปลี่ยนจากระบบประกันสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เป็นแบบกรณีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เงินที่จ่ายเข้าไปเข้าไปจะอยู่ในบัญชีของเหล่าสมาชิกอย่างต่อเนื่องเสียก่อน จึงจะมีสิทธินำเงินออกมาใช้ก่อนกำหนดได้”

ธนาคารหมู่บ้าน อัดฉีดเม็ดเงินลงระดับฐานราก :

3. ช่วยเหลือคนฐานราก จาก ธนาคารหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท (ปัจจุบันในประเทศไทยมีหมู่บ้านอยู่ประมาณ 80,000 หมู่บ้าน) วงเงินเกือบ 2 แสนล้านบาท

ซึ่งแนวคิดของการตั้งก็เรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตที่เรามีการใส่เงินเข้าไป โมเดลแรกคือโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ.) ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นริเริ่มและลงมือทำมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชวน 1 และต่อเนื่องมาถึง รัฐบาลชวน 2 ซึ่งได้อัดฉีดเม็ดเงินลงไปในระบบมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท เมื่อเกือบ 20 ปีก่อน!

...

“แต่เป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจมากว่า เม็ดเงินมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทจากโครงการ กข.คจ. ซึ่งดำเนินการผ่านกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยที่ว่านี้ ทุกวันนี้ยังคงอยู่ (หัวเราะ) ซึ่งส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นการทำงานของระบบราชการที่ไม่อยากเสี่ยง มีเงินอยู่ก็จริงแต่ก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร NPL ก็น้อยมาก ทั้งๆ ที่ตามหลักการแล้ว 20 ปีผ่านไป มันก็น่าจะใช้หมดไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงอยู่ (หัวเราะ) จึงไม่เกิดผลในการช่วยเหลือประชาชน

อีกโมเดล คือ กองทุนหมู่บ้านซึ่งมีคำถามมาก ทุกวันนี้ยังไม่ตัวเลขเลยว่าที่ใส่เงินเข้าไปแล้วเป็นหนี้ดีหรือหนี้เสียรวมเท่าใด ดังนั้น เราจึงหาหนทางที่สามคือส่วนผสมระหว่างสองโหมดนี้ แล้วเราก็พบว่ามี พระราชบัญญัติสถาบันการเงินประชาชน ซึ่งรัฐบาล พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำไว้เมื่อปี 2562 โดยเป็นกฎหมายที่ยกระดับกองทุนที่ไม่เป็นทางการตามหมู่บ้านต่างๆ ให้กลายเป็นสถาบันการเงินชุมชน หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า ธนาคารหมู่บ้าน ซึ่งจะมีทั้งธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตร คอยช่วยกลั่นกรองและดูแลเรื่องระบบการตรวจสอบในฐานะเป็นพี่เลี้ยง แต่ผ่านไปหลายปีก็ไม่มีการขับเคลื่อน ตั้งกันปีละไม่กี่แห่ง ผ่านไป 4 ปีได้แค่สิบกว่าสถาบันเท่านั้น!

“เราจะให้ กรมพัฒนาชุมชน เข้าไปมีบทบาทในการทำหน้าที่ยกฐานะกองทุนทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ตามหมู่บ้านให้กลายเป็น ธนาคารหมู่บ้าน จากนั้นก็ใส่เงินลงไปยังหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท เป็นทุนให้ ผ่านกลไกของธนาคารเพื่อการเกษตรและธนาคารออมสิน ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่นับเป็นหนี้สาธารณะ เพราะตามกฎหมายวินัยการคลัง มาตรา 28 สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ เพราะทั้งธนาคารเพื่อการเกษตรและธนาคารออมสินปัจจุบันมีเงินเยอะ แต่ไม่กล้าใช้ เพราะกลัว NPL ฉะนั้นรัฐบาลจึงต้องลงเข้าไปช่วยเช่นในฐานะผู้ให้หลักประกัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธนาคารหมู่บ้านจะกลายเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการกู้เงินไปลงทุนเพื่อทำธุรกิจต่างๆ สำหรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากได้ต่อไป”

13 นโยบายวงเงิน 2.2 แสนล้านบาท สู่ภาคการเกษตรและสังคม:

สำหรับอีก 13 นโยบายที่เหลือ ซึ่งตลอด 4 ปีที่ทำมา พิสูจน์แล้วว่าได้ผลและจะทำต่อไป ยกตัวอย่างเช่น โครงการประกันรายได้ ข้าว ปาล์ม ยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง ซึ่งสามารถกระจายรายได้เข้าถึงประชาชนระดับฐานรากโดยเฉพาะเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี ซึ่งปัจจุบันนโยบายนี้ถือเป็น DNA เฉพาะตัวของพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายเรื่องที่ดินทำกิน โดยพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดินทำกิน ทั้งในส่วนที่เป็นของรัฐและไม่ใช่ของรัฐ รวมถึงที่ดินที่ยังรกร้างที่ยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิ ซึ่งทางพรรคมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าใน 4 ปีข้างหน้านี้จะมีออกโฉนดให้ได้อย่างน้อย 1 ล้านโฉนด เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่ดินทำกินและปรับปรุงเรื่องผลผลิตทางการเกษตรไปในตัว

ส่วนด้านนโยบายด้านสาธารณสุขนั้น ทางพรรคมีนโยบายสำคัญ คือ การใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวสามารถรักษาได้ทุกโรค รวมถึงการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุด้วย 

แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ที่ไม่ก่อหนี้สาธารณะ:

โดย 3 นโยบายหลักเมื่อรวมกันแล้วจะใช้วงเงินประมาณ 8 แสนล้านบาท ส่วนที่นโยบายย่อยๆ ที่เหลือ 13 โครงการ จะใช้วงเงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท รวมกันเป็น 1 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า 3 โครงการแรก 8 แสนล้านบาทนั้น อาจจะไม่ต้องหาเงินใหม่ เพราะเป็นเงินที่รัฐมีอยู่แล้ว หรือในความหมายก็คือ ไม่จำเป็นต้องไปกู้เงินเพื่อก่อให้เกิดหนี้สาธารณะเพิ่ม หรือไม่ใช้งบประมาณรายจ่าย ส่วนอีก 2.2 แสนล้านบาทที่เหลือนั้น แม้เป็นเงินที่ต้องมีการใช้งบประมาณ ก็อยู่ในวิสัยที่จะใช้วิธีลดรายจ่ายในส่วนอื่นๆ หรือเพิ่มรายได้ทดแทน เพราะที่ผ่านมามีการตั้งประมาณการรายได้ไว้ต่ำ

“ต้องไม่ลืมว่าปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ฐานรายได้ลดลง เพราะฉะนั้นปีล่าสุดที่กระทรวงการคลังเสนอตัวเลขรายได้ จึงอาจจะเป็นการทำตัวเลขที่ต่ำกว่าที่เกิดขึ้นจริง ดังจะเห็นได้จากในปี 2565 ที่ผ่านมา กลายเป็นว่ามีรายได้สูงกว่าที่ประมาณการเอาไว้ เพราะเดิมที่มีการประเมินตัวเลขเอาไว้ต่ำเกินไป”

เงินที่ไม่มีใครมองเห็น ต้นทางแพ็กเกจ 1 ล้านล้านบาท :

“เท่าที่ผมได้ไปดีเบตกับบรรดาทีมเศรษฐกิจของพรรคอื่นๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ยังไม่มีพรรคไหนเลยที่มีไอเดีย หรือพยายามนำเสนอนโยบายเศรษฐกิจมหภาค มีแต่พูดเรื่องเศรษฐกิจจุลภาคทั้งสิ้น ทั้งๆ ที่ประเทศไทยล้มลุกคลุกคลานมาแล้วหลายปี เศรษฐกิจโตเพียงแค่ 1-2% ประเทศไทยจึงต้องการกระตุ้นแนวใหม่อย่างที่ผมพยายามนำเสนอ ซึ่งอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีนี้ให้โตได้ถึง 5%

มันจึงทำให้ผมคิดว่าบางที...พรรคการเมืองต่างๆ อาจจะกลัวเรื่องการก่อหนี้สาธารณะ กลัวว่าจะถูกแย้งว่าคุณกำลังจะสร้างหนี้ใหม่ เพราะปัจจุบันหนี้ประเทศไทยก็สูงมากแล้ว แต่เขาอาจจะนึกไม่ถึงว่ามันยังมีเงินนอกงบประมาณเหล่านี้ซ่อนอยู่ และเราสามารถนำมาใช้ได้ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะเป็นเพราะยังไม่มีใครเข้าใจในระบบการคลังมากพอก็เป็นได้”

วิสัยทัศน์วิกฤติเศรษฐกิจโลกและสเปกผู้นำคนใหม่ของประเทศไทย :

“วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้การค้าขายยากลำบากขึ้น เพราะทั้งสหรัฐฯ และยุโรป ต่างพยายามแข่งกันออกกฎหมาย โดยมุ่งเป้าไปที่การปกป้องภาคธุรกิจของประเทศตัวเอง ฉะนั้นโอกาสที่จะได้จากการลงทุน หรือการค้าใหม่ๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้น ซ้ำร้ายไปกว่านั้น วิกฤติทางด้านการเงินในสหรัฐฯ และยุโรปเวลานี้ ยังทำให้การวางแผนการลงทุนและการปล่อยสินเชื่อต้องหยุดชะงักลงทั้งหมดด้วย เพราะคงไม่มีใครอยากเสี่ยงในเวลาแบบนี้ ฉะนั้น ประเทศไทยคงหวังเรื่องเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือภาคการส่งออกเช่นที่เคยเป็นมา...ได้ยากขึ้นแน่นอน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด รวมถึงธนาคารกลางในยุโรป กำลังอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า Dilemma เพราะมีปัญหาเงินเฟ้อซึ่งกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชนโดยตรง ในขณะที่กำลังเกิดวิกฤติสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการส่อถึงคุณภาพสินทรัพย์ในระบบที่กำลังแย่ลงเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เข้ามาแทรกซ้อนด้วย ซึ่งเรื่องแบบนี้จริงๆ ควรจะเกิดในรัสเซีย (หัวเราะ) เพราะถูกมาตรการคว่ำบาตรต่างๆ มากมาย

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่ เฟด ยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ล่าสุดอยู่ที่ 5% ภายในปีนี้ กลับทำให้ตลาดเกิดความผันผวน เพราะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่ยังคงสูงอยู่นั้น ตามหลักแล้ว ต้องยืนหยัดเรื่องนโยบายการเงินเพื่อมาสู้กับเงินเฟ้อให้ได้ เพราะดูอย่างเมื่อปี 1980 นั้น เคยมีการขึ้นดอกเบี้ยถึง 20% กว่าที่เงินเฟ้อจะอยู่ตัวได้มาแล้ว แต่คราวนี้ขึ้นไปถึงระดับแค่ 5% จะบอกว่าพอแล้วมันก็คงไม่ได้

สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น จริงๆ แล้วเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติไทยไม่ได้มีความหมายเท่าไหร่ เพราะเรื่องใหญ่ของแบงก์ชาติ หรือเศรษฐกิจไทย คือ เรื่องค่าเงินบาท ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ Sentiment ของตลาด เพราะเขาจะดูว่า เงินทุนสำรองของเรามีอยู่เท่าไร หากเรามีเยอะก็สบายใจ เขาก็จะไม่มาเก็งกำไร แต่เมื่อใดก็ตามที่เขาประเมินว่า เงินทุนสำรองของเราหร่อยหรอลง หรือเสียหายเพราะภาคการส่งออกไม่ได้ เวลานั้นก็อาจจะหวั่นๆ ค่าเงินบาทก็จะเริ่มแกว่ง และนี่คือจุดตายของประเทศไทย

ฉะนั้นประเด็นสำคัญที่ผมอยากชวนให้ประชาชนชาวไทยช่วยกันคิด คือ ต้องยอมรับว่าในเร็วๆ นี้ ปัญหาสถาบันการเงินล้มเป็นโดมิโน ซึ่งอาจรุนแรงในระดับเดียวกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 รวมถึงการแบ่งขั้วของสองมหาอำนาจ ระหว่าง ค่าย Dollar และ ค่าย Non-Dollar อาจนำไปสู้วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และมีความเสี่ยงที่อาจลุกลามมาถึงประเทศไทย

ด้วยเหตุนี้ คำถามของผม คือ ในยามหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ ประชาชนต้องการนายกรัฐมนตรีแบบไหน เราต้องการผู้นำที่รู้เรื่องเศรษฐกิจ โดยไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษามานั่งรายล้อมรอบตัว ต้องเป็นผู้นำที่ทั้งเด็ดเดี่ยวถึงลูกถึงคน และมีความรู้และประสบการณ์เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงเรื่องการบริหารงานภาครัฐด้วยใช่หรือไม่?

เพราะภาวะเศรษฐกิจในยุคหน้า...ผมคงบอกได้เพียงคำเดียวว่า มันไม่หมูอย่างที่คิด! และผมเองก็มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก”

นโยบายประชานิยม กับ การเลือกตั้ง 2566 :

“มันมีกฎเหล็กของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อยู่ ซึ่งอาจจะทำให้หลายๆ พรรคการเมืองต้องผงะ เพราะเมื่อมีการหาเสียงเกินจริง และไม่สามารถตอบคำถามจากทาง กกต. ก็อาจจะถูกลงโทษได้ ส่วนในแง่ของประชาชน มันมีผลสำรวจจากโพลหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีประชาชนมากถึง 37% ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมที่เน้นไปในเรื่องการแจกเงินอยู่เช่นกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความรอบคอบมากขึ้น”

การเมือง VS ทีมเศรษฐกิจ :

“ส่วนตัวผมเชื่อว่า นโยบายเศรษฐกิจที่เราออกแบบมาในครั้งนี้มันมีเรื่องที่ถึงใจและครอบคลุมประชาชนเกือบทุกกลุ่มโดยตรง ซึ่งผมมีความมั่นใจว่า ข้าราชการเมื่อเห็นนโยบายเรื่องการปลดล็อก กบข. เขาเข้าใจแต่เขาอาจจะไม่พูด ซึ่งไม่น่าจะต่างจากบรรดาพนักงานลูกจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือชาวนาที่ชื่นชอบโครงการประกันรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มีนโยบายแบบนี้เลย มีแต่นโยบายกว้างๆ สวยๆ แต่ครั้งนี้ที่เราออกแบบ เรามีความจงใจให้คนที่รับได้เห็น และผู้รับเหล่านี้น่าจะอยากได้ในสิ่งที่เราประกาศออกไป ซึ่งผมเชื่อว่าน่าจะมีผลแน่นอน เพราะมันตอบโจทย์ทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

และอะไรก็ตามที่พรรคประชาธิปัตย์ปักป้ายแล้วประกาศออกไป พรรคประชาธิปัตย์ต้องรับผิดชอบ และจะต้องนำไปปฏิบัติให้ได้ อย่างเรื่องนโยบายแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาทนี้ ผมมั่นใจว่าสามารถทำได้ เพราะมันมีเงินสำหรับไว้ทำอยู่แล้ว จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเพ้อฝันแต่อย่างใด เพียงแต่อาจจะเหนื่อยมากหน่อยในการประสานงานกับฝ่ายต่างๆ เท่านั้นเอง (หัวเราะ)” นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้นำทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปิดท้ายการสนทนากับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านเพิ่มเติม