หลังองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องเพื่อให้วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (2) และ มาตรา 158 (4) และมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีชั่วคราว เป็นผลให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี คำถามที่ตามมามากมายในเวลานี้ คือ รักษาการนายกรัฐมนตรี มีขอบข่ายอำนาจหรือเงื่อนเวลาในการปฏิบัติหน้าที่มากน้อยเพียงใด รวมถึง ความชัดเจนของฐานะนายกรัฐมนตรีหลังมีคำสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว “เรา” จึงอยากให้ทุกท่านได้มาร่วมทำความเข้าใจผ่านการเลกเชอร์ของ “นายจรัญ ภักดีธนากุล” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเหล่านั้นกันดู
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เจาะปริศนา นายกฯ 8 ปี กับ 3 แนวทางโดย “จรัญ ภักดีธนากุล”
“เรื่องนี้ ต้องมองใน 2 มุมมอง ทั้งในแง่หลักกฎหมายและหลักของการเมือง” อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มต้นการเลกเชอร์กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
หลักกฎหมาย :
สาเหตุที่ต้องให้มีผู้รักษาราชการแทนในเวลาหัวหน้ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ในทุกประเทศจะต้องมีไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจรัฐ เพราะมีความล่อแหลมต่ออันตรายของประเทศและประชาชน ดังนั้น ตามหลักกฎหมายคือ “ทำได้ทุกอย่างที่นายกรัฐมนตรีทำได้”
แต่ในการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจของใครก็ตาม “ต้องทำให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายและหลักนิติธรรม” ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 3 (2) ของ ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2550 และ 2560
อย่างไรก็ดีเมื่อจะปฏิบัติตามทั้ง 2 ข้อข้างต้นแล้ว ต้องดูวิเคราะห์ให้ “มีเหตุมีผลและมีความชอบธรรมได้สัดส่วนพอสมควรแก่กรณี อย่าบ้าอำนาจ หรือ อย่าหน่อมแน้ม” เพราะแม้แต่ตัวจริง (นายกรัฐมนตรี) ก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้ง 3 ระดับนี้ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมาติดตรงที่ “การใดควรไม่ควร”
ทำให้ในส่วนของการปฏิบัติในทางกฎหมายจึงมักมีคำแนะนำกันว่า “ผู้รักษาราชการแทน ต้องรู้ตัวนะว่า ไม่ใช่ตัวจริง เพราะฉะนั้นโดยมารยาทจะทำอะไรที่มันใหญ่เกินตัว เรื่องสำคัญใหญ่ๆ ต้องระมัดระวังใคร่ครวญให้ดีแล้วจึงทำ ก่อนทำโดยมารยาทควรปรึกษาหารือตัวจริงท่านก่อน” เช่นตัวจริงท่านอยู่ต่างประเทศ ผู้รักษาราชการแทนตัวรอง จะทำเรื่องใหญ่ ถูกต้องควรทำ แต่หากมันเรื่องใหญ่ โทรถามท่านหน่อยว่า เรื่องนี้สำคัญครับ ไม่ใช่ว่าไม่ตัดสินใจนะ ตัดสินใจว่าอยากจะทำอย่างนี้ มีข้อทักท้วงประการใดไหม? แต่ถึงแม้ตัวจริงจะทักท้วง ผู้รักษาราชการแทนต้องตัดสินใจสุดท้ายว่าจะทำหรือไม่ทำ จะนำความกราบบังคมทูลแต่งตั้งรัฐมนตรีเพิ่มไหม? จะปรับคณะรัฐมนตรีไหม? รวมไปจนกระทั่งถึงจะยุบสภาได้ด้วยหรือ? เพราะมันเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีตัวจริงหรือเปล่า ก็ใช่ไงมันเป็นอำนาจเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรี แต่นี่คือ กฎหมายถือว่า “เป็นผู้มาทำอำนาจหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี” หลักกฎหมายเป็นอย่างนี้
หลักการเมือง :
ในเชิงรัฐศาสตร์ นั้น โดยปกติมักไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดเจนเหมือนกับหลักกฎหมาย เพราะฉะนั้น “จึงมักใช้ความสมควรแก่กรณี” เพราะรัฐศาสตร์มักว่ากันไปตามหลักของสำนักคิด ซึ่งบางสำนักคิดหนึ่งอาจจะบอกว่า คุณมาชั่วคราวนะ คุณมารักษาราชการแทนนะ คุณทำได้แต่เรื่อง Routine เรื่องใหญ่ๆ ทำไม่ได้เป็นอำนาจเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรี หรือ บางสำนักคิดอาจจะบอกว่า เรื่องเล็กเรื่องใหญ่ทำได้ ยกเว้นเรื่องที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวง เช่น ยุบสภา ซึ่งจะมีผลกระทบกับหลายๆ ฝ่าย อีกทั้ง ยังต้องมีเหตุอันสมควร มีความชอบธรรมรองรับ ไม่ใช่ว่ามีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้ และนี่คือ หลักรัฐศาสตร์ ที่เป็นมาแบบนี้
“ทั้งตามหลักกฎหมาย และหลักการเมือง มันจะมีจุดสอดคล้องกันตรงที่ ถ้าเป็นเรื่องเล็กๆ สามารถทำได้เลย แต่ถ้าคุณจะทำเรื่องใหญ่ต้องจำเป็น ต้องถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายและสถานการณ์บ้านเมือง และต้องพอเหมาะพอควร และโดยมารยาทควรปรึกษาตัวจริงท่านก่อน เพราะตัวจริงท่านยังอยู่ ท่านไม่ได้ถูกถอดถอนไปแล้ว เพราะคนเราเมื่อร่วมทีมเดียวกัน แล้วหัวหน้าเราต้องหยุดพักชั่วคราวเนี่ย แล้วเราจะทำงานใหญ่มีอำนาจ มีหน้าที่ มีความจำเป็นพร้อม ถามท่านสักนิดนึงมันจะดีไหม เพราะว่าสมมุติหากท่านกลับมา มันก็ร่วมทีมกันต่อไปได้ ไม่ขัดแย้ง ไม่แตกแยก ประสิทธิภาพของการบริหารราชการแผ่นดินมันก็จะหนักแน่นได้เหมือนเดิม
...
แต่ถ้าหากสมมติว่าเป็นผม ที่ไม่สนใจเรื่องมารยาทแถมยังเลือกใช้เฉพาะหลักกฎหมายไปเพียงอย่างเดียวแข็งๆ ไม่ฟังใคร แล้วสมมุติว่า ท่านกลับมาล่ะ ท่านจะเอาผมไว้ไหม เห็นไหมเรื่องนี้มันไม่ใช่กฎหมายนะแต่มันเป็นวิถีชีวิตปกติของมนุษย์ทุกสังคมทุกวงการแม้แต่ในครอบครัว หรือ ภาคเอกชนก็เหมือนกัน ไม่ใช่หลักกฎหมาย ไม่ใช้หลักรัฐศาสตร์ แต่เป็นหลักมนุษยสัมพันธ์
แต่ถ้าหากถามความเห็นผม ผมไม่มีความสันทัด หรือจัดเจนในเรื่องหลักรัฐศาสตร์และการเมือง ผมก็ขอว่าไปตามหลักของกฎหมายอย่างเดียว”
แต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ตำรวจ ข้าราชการ :
“ถ้ารักษาการนายกรัฐมนตรีทำไม่ได้ แล้วเราก็ยังไม่รู้ชะตากรรมนายกรัฐมนตรี มันไม่เหมือนลาไปประชุม 3 วัน 7 วัน มันไม่เหมือนลาป่วยโควิด-19 ไปพัก 15 วันนี่ ถ้ารู้กำหนดแน่นอนมันก็รู้เลยเรื่องนี้รอได้ เรื่องนี้รอไม่ได้ แต่นี่มันไม่มีกำหนดแน่นอน ความจำเป็นเข้ามาจ่อ สิ้นปีระบบราชการมันต้องการ การสับเปลี่ยนโยกย้าย ระบบทั้งหมด งบประมาณ บุคลากร โอ้โห ไม่ใช่ทำง่ายๆ แล้วต้องทำให้สอดรับกันเพื่อให้งานมันออกมามีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นประเด็นนี้ง่ายมากเลย ไม่ว่าหลักรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ ต้องโยกย้ายสับเปลี่ยนข้าราชการตามฤดูกาลได้แน่นอน”
...
เงื่อนเวลาการปฏิบัติหน้าที่ รักษาการนายกรัฐมนตรี :
“ไม่มีเงื่อนเวลาครับ จนกว่านายกรัฐมนตรีจะกลับมาปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่มีกฎหมายบอกว่าได้แค่สามเดือนนะแล้วหากหลังจากนั้นจะต่อต้องขออนุญาตใคร ไม่มีครับ คือ รักษาการไปจนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีตัวจริง ยกเว้น สมมติเหตุการณ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง ณ วันใด ขณะที่ยังรักษาการอยู่ การรักษาการอาจจะต้องหยุดลง เพราะพอท่านถูกให้พ้นจากตำแหน่ง คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามนายกรัฐมนตรีไปด้วย แต่กฎหมายก็ให้ ทั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรอนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามารับไม้ต่อเพื่อไม่ให้ประเทศชาติเกิดสุญญากาศ เพราะฉะนั้นที่มีนักกฎหมายบางคนออกมาให้ความเห็นว่า หากนายกรัฐมนตรีไปแล้ว จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลักการสำคัญคือ ประเทศจะเป็นสุญญากาศไม่ได้ เพราะฉะนั้น นายกรัฐมนตรีต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่รักษาการต่อไป จนกว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่”
...
คำสั่งให้นายกรัฐมนตรียุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว :
“ยังคงถือว่านายกรัฐมนตรียังคงอยู่ในตำแหน่ง แม้จะมีคำสั่งจากศาลรัฐธรรมนูญให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว”
ระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง กรณี นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา ลาออก :
“รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้าย เขียนไว้ชัดเจนแล้วว่า สำหรับกรณีระยะเวลาในการทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีเพื่อรอรัฐบาลชุดใหม่ หลังการยุบสภา หรือ ลาออก ไม่นับรวมอยู่ในระยะเวลา 8 ปี ของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นฝ่ายที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก ผมไม่รู้ว่าเขาต้องการอะไร เพราะมันไม่ได้ประโยชน์อะไร” นายจรัญ ภักดีธนากุล กล่าวปิดท้ายการสนทนา
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก : Chonticha Pinijrob
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง