นับตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 29 คน ในจำนวนนี้เป็นทหารมากถึง 13 คน และด้วยเหตุการณ์ทางการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากตำแหน่ง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องมีบุคคลเข้ามาทำหน้าที่รักษาการแทน เริ่มจากสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในคณะปฏิวัติภายใต้การนำของ พล.อ.สุนทร คงสมพงศ์ และต่อมามีการตั้งพรรคสามัคคีธรรม ได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ พล.อ.สุจินดา ได้เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุให้เกิดเหตุการณ์นองเลือด “พฤษภาทมิฬ” จน พล.อ.สุจินดา ต้องลาออกหลังทำหน้าที่ได้เพียงเดือนเศษ และแต่งตั้ง มีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี
ในปี 2549 ถือเป็นจุดเปลี่ยนการเมืองไทย ภายหลังบ้านเมืองเต็มไปด้วยความขัดแย้งต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 มีกลุ่มม็อบออกมาต่อต้านการบริหารของรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มม็อบสนับสนุนรัฐบาลจากพรรคไทยรักไทย แม้จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ก็ถูกพรรคฝ่ายค้าน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง 27 ก.พ. 2549 ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และรณรงค์ให้ผู้ใช้สิทธิ์กาในช่องโหวตโน จากความอึมครึมที่เกิดขึ้นได้นำไปสู่การรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ยึดอำนาจจากรัฐบาล และต่อมาคืนอำนาจให้ประชาชน มีการจัดเลือกตั้งในวันที่ 23 ธ.ค. 2550
...
ผลการเลือกตั้งในครั้งนั้นพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคของกลุ่มนักการเมืองเคยสังกัดพรรคไทยรักไทย ย้ายเข้ามาสังกัดหลังถูกยุบพรรค ได้รับเลือกมากที่สุด 233 ที่นั่ง ทำให้สมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชาชน เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2551 จนเมื่อวันที่ 9 ก.ย. ปีเดียวกัน ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากรับจ้างเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวออกทีวี เป็นเหตุให้ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
จากนั้นพรรคพลังประชาชนได้ตั้ง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค และนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาตั้งแต่ 18 ก.ย. 2551 แต่สุดท้ายไม่รอด พรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรคในคดีทุจริตเลือกตั้ง ส่งผลให้กรรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ทำให้สมชาย ต้องพ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2551 และ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. 2554 พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง กวาดที่นั่ง ส.ส.ในสภา 265 คน ทำให้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ในวัยเพียง 44 ปี จนเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ หลังมีการยุบสภา จากกรณีแต่งตั้งโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลให้ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้นำคณะทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทย กลายเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 กระทั่งปัจจุบันมีข้อถกเถียงในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะต้องไม่เกิน 8 ปี เป็นที่มาในการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดลงของตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณา ได้มีมติ 5 ต่อ 4 สั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. 2565 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้ โดยระหว่างนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 จะทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา.