ถือเป็นอุปสรรคใหญ่และครั้งสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับปมปัญหาการนั่งตำแหน่ง นายกฯ ยาวนาน 8 ปี ซึ่งอาจจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ที่ระบุว่า

“นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ระบุไว้เช่นนั้น แต่จะตีความและเริ่มนับว่า “ลุงตู่” เริ่มดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่เมื่อไหร่ เรื่องนี้นักกฎหมายจึงมีการถกเถียงกัน

และเพื่อทำความเข้าใจในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า...

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องการ “ประนีประนอม” เพราะเป็นเรื่อง “ถูกผิด” ตามกฎหมาย ฉะนั้น จึงต้องวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมาย ถ้ามีการ “ประนีประนอม” ในจุดที่ “ผิดกฎหมาย” จะถือเป็นเรื่องที่ใช้ไม่ได้ โดยเฉพาะการยืดเกินไปกว่าที่กฎหมายบังคับ ยิ่งเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะประเทศชาติ รวมไปถึงระบบราชการจะเสียหาย ฉะนั้น ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย”

...

ความถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นอยู่กับอะไร นายจรัญ อธิบายช้าๆ ชัดๆ ว่า มันขึ้นอยู่กับมุมมองของฝ่ายใด โดยแบ่งออกเป็น 3 แนวทางดังนี้

ครบ 8 ปี 23 สิงหาคม 2565 : มุมมองฝ่ายค้าน เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่มานานแล้ว อาจจะมอง 8 ปี จะนับตั้งแต่กฎหมายบัญญัติเด็ดขาดตั้งแต่วันแรก ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครั้งแรก วันที่ 24 ส.ค. 2557 และจะครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565

“หากในมุมนี้เป็นมุมที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องทะเลาะกัน แต่...กฎหมายไม่ได้เขียนชัดเจนขนาดนั้น เพราะคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ก็วิเคราะห์กฎหมายแล้ว ว่าจะอ่านแต่ข้อกฎหมาย มาตรา 158 วรรค 4 โดดๆ ไม่ได้ ต้องอ่านทุกมาตรา วรรค 1-4”

ครบ 8 ปี 8 มิถุนายน 2570 : ฝ่ายข้างมาก ได้ตีความหมายว่า การเป็น “นายกรัฐมนตรี” ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีได้รับความเห็นชอบจาก “รัฐสภา” ไม่ใช่ “สภานิติบัญญัติ” และต้องเป็นนายกฯ ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อพรรค จะไปเอาคนนอกมาก็ไม่ได้ ก็จะไม่ได้เข้าข้อยกเว้น ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายข้างมาก จึงเห็นว่า ต้องนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรดเกล้าฯ ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2562 และจะครบ 8 ปี ในวันที่ 8 มิ.ย. 2570

“รออีกไม่นานหรอก อีก 5 ปีเท่านั้น” นายจรัญ กล่าวติดตลกพลางหัวเราะ

นายจรัญ กล่าวต่อว่า ถ้าความเห็นนี้ถูกต้อง ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ประเด็นคือ ความเห็นนี้มีผู้ไม่เห็นด้วยอย่างมาก และยังมีความเห็นที่ 3 อยู่ตรงกลาง

ครบ 8 ปี 5 เมษายน 2568 : การบังคับใช้กฎหมาย จำเป็นต้องบังคับใช้ไปข้างหน้า มิใช่บังคับใช้ย้อนหลัง ต้องเขียนให้ชัดใน “บทเฉพาะกาล” ฉะนั้น เมื่อดูอย่างนี้ก็ดูไปแล้ว ตรงตามความเห็นตามฝ่ายข้างมาก (อีกข้อ)

ใน “บทเฉพาะกาล” มีมาตรา 264 วรรค 1 บัญญัติชัดเจนว่า “ให้ ครม. รวมถึง นายกรัฐมนตรี ซึ่งดำรงอยู่ในตำแหน่งก่อนใช้บังคับรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญนี้ด้วย ตั้งแต่วันที่ รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ"

หมายความว่า ครม. ชุดก่อน ไม่ใช่ รัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะถ้าใช่คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เพราะถ้าใช่ ก็ไม่จำเป็นต้องเขียนบทเฉพาะกาล มาตรา 264

คำถามต่อมา คือ “เมื่อไหร่” ที่ “ลุงตู่” เป็นนายกฯ ตามแนวทางนี้ นายจรัญ กล่าวว่า คำตอบของคำถามนี้ คือ วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 60 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เม.ย. 60 เป็นต้นไป จะครบ 8 ปี ในวันที่ 5 เม.ย. 2568 นี่...คือความเห็นที่ 3

“หากความเห็นที่ 3 ถูกต้องแท้จริง ก็ไร้ปัญหา ก็ไม่จำเป็นต้องศาลรัฐธรรมนูญ ตีความ แต่เพราะกฎหมายมันไม่ชัด และเป็นประเด็นที่คนไทยเห็นขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งถือเป็นความเห็นที่มีความเชื่อมโยงสำคัญกับการเมือง หากเป็นความเห็นทางกฎหมายธรรมดา ก็จะเป็นเรื่องไม่ตื่นเต้น”

...

นายจรัญกล่าวต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้น กับประเด็นนายกฯ 8 ปี มันหมายถึง ผล “แพ้” และ “ชนะ” ทางการเมืองด้วย จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ และยอมกันไม่ได้ เมื่อ...ยอมกันไม่ได้ จึงต้องหาจุดที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่ยุติของทุกฝ่าย จุดนั้นก็คือวิธีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นหน่วยงานกลาง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นที่สิ้นสุดมีผลผูกพันกับทุกฝ่าย เมื่อวินิจฉัยแล้ว ประเทศชาติจะได้เดินหน้าไปทำงานที่สำคัญกว่าปัญหาด้านกฎหมายเล็กๆ

ส่วนการต่อสู้ทางการเมือง ก็ควรใช้กระบวนการทางการเมือง อย่าได้ทำให้ลุกลามจากปัญหาข้อกฎหมาย กลายเป็นความขัดแย้งของประชาชนที่ต่างกลุ่ม ต่างฝ่าย ต่างพรรคพวก กันอีกระลอกหนึ่ง ส่วนหนึ่ง เพราะประเทศเราก็บอบช้ำกันมากแล้ว ทั้งปัญหาโควิด หรือ ปัญหาสงครามที่เกิดขึ้นยูเครน ไม่ควรนำปัญหาใหม่มาซ้ำเติมกันอีก

ส่วนประเด็นเรื่องการยื่นให้นายกรัฐมนตรี ยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ในช่วงรอคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ให้มุมมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจก็ต่อเมื่อมีคนมายื่นคำร้องหลักไว้ก่อน แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้อำนาจตรงนี้จำเป็นต้อง “ใช้อำนาจด้วยความระมัดระวัง” ต้องใคร่ครวญผลได้เสียที่จะกระทบกับประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม

...

ถ้าไม่ใช่เรื่องจำเป็นจริงๆ หรือเรื่องคอขาดบาดตาย จะไม่มีประเทศไหน ให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติการ หรือปล่อยคาแบบนั้น ถ้าอยู่แบบทำอะไรไม่ได้ แล้วประเทศชาติจะเดินต่ออย่างไร หากมีปัญหาและความจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างอย่างรีบด่วน จะทำอย่างไร

“ในความเห็นผมขอให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ แต่การใช้ดุลยพินิจของศาล จะใช้ไปตามอำเภอใจ ไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่มีเหตุผลที่หนักแน่น ไม่ได้เด็ดขาด ส่วนจะมีเหตุผลให้ศาลใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่ ส่วนตัวยังไม่เห็นข้อมูล ที่สามารถออกความเห็น ส่วนตัวเชื่อมั่นในศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะสามารถวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้อง ตามที่มันควรจะเป็น”

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

กราฟิก : sathit chuephanngam 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ 

...