- เปิดเหตุผล เพราะอะไร "ม็อบราษฎร" กลับมาเคลื่อนไหว ช่วงใกล้มีการเลือกตั้ง
- ใหญ่ฟันธง! ยังไม่ได้ "ม็อบ" ขยับ อาจมีใคร หรือ พรรคการเมืองไหน อยู่เบื้องหลัง ไม่เหมือน "พรรคก้าวไกล" กับ "คณะก้าวหน้า ที่เดินหน้าสอดรับกัน
- ชี้ นายกฯ ครบ 8 ปี คือ "เชื้อไฟลูกใหญ่" เร่งปฏิกิริยาขัดแย้ง เพิ่ม 2 เท่า ส่วน 250 ส.ว. คือ "ระเบิดเวลาลูกใหญ่" ม็อบทำสำเร็จไหม ขึ้นอยู่ที่ปมนี้
ถนนการเมืองไทย ช่วงนี้ ร้อนแรง จนเป็นเหตุสังเกตได้ ทุกสายปฏิเสธไม่ได้ พุ่งเข้าสู่เป้าหมายขั้นสุดท้าย คือ เตรียมเข้าสู่โหมดเลือกตั้งใหญ่ เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ใกล้หมดวาระครบ 4 ปี เข้าไปทุกที
ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจคอการเมือง อย่างมากคือ ปม นายกฯ นั่งครบ 8 ปี และกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งวันนี้จะได้รู้ ใช้สูตรหาร 100 หรือ หาร 500 โดยสภา นัดประชุมร่วมสองสภา จับตาวันนี้สภาจะล่ม หรือไม่ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องสำคัญนี้ สุดท้ายคงจะต้องไปจบที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยเป็นแน่!
...
อีกเรื่อง เป็นที่สนใจของสังคมการเมืองจนเป็นที่สังเกตได้ คือ สัญญาณฟื้นคืนชีพ การจัดชุมนุมของ "กลุ่มม็อบราษฎร" ที่เพิ่งประกาศจัดการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต
ทั้งนี้ จุดที่น่าสนใจไม่ใช่การกลับมาจัดการชุมนุม แต่กลับเป็นเนื้อหาในการชุมนุมเสียมากกว่า ที่มีการใส่เนื้อหาปลุกระดมให้มวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สนับสนุนม็อบ ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึง โดยต้องการจะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่ข้อ เรียกร้องเดิมทั้ง 3 ข้อ คือ นายกฯ ลาออก-ร่างรธน.ฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบัน ซึ่งเป็นอุดมการณ์เดิมของม็อบราษฎร ตั้งแต่ปี 2563
คำถามที่สงสัย คือ "ม็อบราษฎร" นี้ จะชนะการเลือกตั้งได้อย่างไร ในเมื่อก็ไม่มีการประกาศให้เลือก หรือสนับสนุนพรรคการเมืองไหน หรือตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเอง แน่นอน การประกาศเช่นนี้ นั่นก็คือส่งสัญญาณ ให้มวลชนตัวเอง เลือกพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ ไปได้กับตัวเองเท่านั้น
เรื่องนี้ ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถามไปยัง ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ถึงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว
เหตุใด ช่วงนี้ขบวนการ "ม็อบ" ถึงกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง
ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตรงนี้ ผมคิดว่าก็เป็นเพราะว่า ช่วงนี้พรรคการเมืองทุกพรรคก็กำลังเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง แน่นอนที่สุดกระบวนการที่จะเข้าสู่การต่อสู้ของพรรคมันก็ต้องเข้มข้น และวันนี้ด้วยกติกาของ รธน.ปี 2560 ทำให้การต่อสู้ในกติกาไม่ใช่เรื่องง่าย มีด่านหลายด่านใน รธน.เช่น ระบบเลือกตั้ง วันนี้ยังไม่ลงตัวหาร 100 หาร 500 ไม่รู้ไปทิศทางไหน แม้แต่หลังการเลือกตั้ง ก็ยังมีกลไกควบคุม เช่น ส.ว. 250 อย่างมีอำนาจตามบทเฉพาะกาล ก็ต้องบอกว่า การขับเคลื่อนการเมืองในระบบปกติอย่างเดียว มันอาจจะไม่มีพลังพอ ในการที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ชี้ การเมืองปกติ ขับเคลื่อนได้จำกัด ต้องผุดกลยุทธ์ "การเมืองคู่ขนาน"
ดร.ยุทธพร กล่าวต่อว่า ฉะนั้นเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนการเมืองในภาวะการเมืองมีข้อกำจัดแบบนี้ ก็จะมีอีกกลไกหนึ่งที่พรรคการเมืองสามารถสร้างขึ้นมา ทำให้เกิดเรื่องของพลังหรือความเข้มแข็งของพรรคที่คู่ขนานกับขบวนการในการเลือกตั้ง ตรงนี้ก็บอกเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของพรรคการเมือง แต่ต้องระวังจะไปขัดกับกฎหมายพรรคการเมือง หรือกฎหมายเลือกตั้งได้เช่นเดียวกัน ก็เป็นกลยุทธ์ที่เขาต้องการใช้การเมืองคู่ขนานลักษณะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย
ชัดเจน "พรรคก้าวไกล" กับ "คณะก้าวหน้า" เดินเกมการเมืองสอดรับกัน
อีกประการหนึ่ง อย่างแกนนำพรรคก้าวไกล แกนนำพรรคหลายคน ถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ฉะนั้นการที่เคลื่อนไหวการเมืองในระบบ เป็นสิ่งเกิดขึ้นแทบไม่ได้ เช่น การไปช่วยหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัย ทำไมได้ เพราะหากทำ เดี๋ยวถูกยุบพรรคแน่นอน เพราะการมีความผิดของบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาเกี่ยวข้องกับการบริหารพรรค เพราะฉะนั้นเราจะเห็นการใช้การเมืองคู่ขนาน ของพรรคก้าวไกล หรือ ของคณะก้าวหน้า มาก่อนหน้านี้แล้ว ยิ่งตอนนี้ใกล้เลือกตั้งการขับเคลื่อนในลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ข้อจำกัดของพรรคตรงนี้ด้วยครับ
ยัง "ฟันธง" ไม่ได้ "ม็อบ" ออกมาเคลื่อนไหว มีพรรคการเมืองใดหนุนหลังหรือไม่?
"แต่คงไม่สามารถบอกได้หรอกว่า ใครอยู่เบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรเพราะไม่มีการเปิดเผย ที่ชัดเจน แต่ที่แน่ๆ พรรคก้าวไกลเขามีคณะก้าวหน้า ที่คู่ขนานการเมืองนอกสภาด้วย แต่ว่าในแง่ม็อบอื่นๆมันไม่สามารถไปพิสูจน์ว่า เขาให้การสนับสนุนหรือไม่ อย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่มีความเกี่ยวข้อง มันก็คงเป็นเพียง คณะก้าวหน้าเท่านั้น
การที่ม็อบราษฎร ออกมาสนับสนุนให้ไปเลือกตั้ง แต่ถ้าเขาไม่บอกว่า ให้ไปเลือกใคร พรรคไหน หรือไม่ เพราะถ้าเขาไม่บอก เราก็คงไประบุว่า เขาอยู่ภายใต้ใคร หรือพรรคไหน ฉะนั้นการที่เขาบอกให้ไปเลือกกลุ่มนี้ คือ กลุ่มไหน หรือท้ายสุดคณะราษฎร 2563 เขาจะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเลยไหม ซึ่งมันก็เป็นไปได้ ที่เขาจะพัฒนาไปสู่การเกิดพรรคการเมืองขึ้นมา เป็นไปได้ ว่าจะพัฒนาไปสู่การเกิดพรรคการเมืองของบรรดาพวกเคลื่อนไหวทางการเมือง ปี 2563-2564 ได้เช่นกัน" ดร.ยุทธพร กล่าว...
เดินเกมการเมือง กลับไปสู่ ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ช่วงนี้คิดว่า จะสำเร็จหรือไม่?
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า ตรงนี้มันเป็นอุดมการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มเขา ซึ่งเราเรียกว่าเป็น "ขบวนการโต้กลับ" หรือ "เคาน์เตอร์แอทแทค" เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในการเคลื่อนไหวทางการเมือง แน่นอนว่าจุดยืนขบวนการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้ เขาก็จะมีจุดยืนตรงข้ามกับอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อุดมการณ์มุมไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องปกตินะครับที่เขาผลักดันผมว่าไม่ได้ผิดแผกอะไร จะประกาศออกมายาวนานอยู่แล้ว ในการเคลื่อนไหวช่วงที่ผ่านมา เพราะมีการใช้กฎหมาย มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ การจับกุมซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวนี้ นิ่งไประยะหนึ่ง มันไม่ได้ใหม่ข้อเสนอต่างๆ เขาก็เคยพูดกันมาแล้ว
ยังบอกไม่ได้ "ม็อบ" หวังใช้การเลือกตั้ง มาเป็นประโยชน์ให้กับตัวเอง
ถามว่า มันเป็นประโยชน์หรือไม่ ผมว่ายังไม่ชัด ตราบใดที่เขายังไม่ได้ประกาศตัวเป็นพรรคการเมือง เราก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า จะใช้สถานการณ์การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นประโยชน์กับเขาหรือไม่ เพราะว่าการเลือกตั้งเป็นประโยชน์หรือไม่ คือ ต้องเกิดกับพรรคการเมือง แต่ ณ วันนี้ ต้องบอกว่า กลุ่มนี้เขาต้องการสร้างสิ่งที่เรียกว่าพลังประชาชนให้เป็นขบวนการโต้กลับฉะนั้น ขบวนการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่สำคัญ 2-3 อย่าง เช่น ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม พรรคการเมือง หรือการเลือกตั้งคือการแสดงออกของพรรคมหาชนอย่างหนึ่ง ฉะนั้นตรงนี้ คือ การที่เข้าสนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง เพื่อที่จะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่า คงไม่ใช่บอกว่า เขาจะได้ประโยชน์ เพราะถึงเลือกตั้งมา เขาก็ไม่ได้เข้าสู่อำนาจรัฐ หรือเป็นรัฐบาลนะครับ
ชี้ ม็อบ เคลื่อนไหว เพื่อสนองอุดมการณ์ของเขาเองมากกว่า คงไม่ใช่ไปหนุนพรรคการเมืองไหน
"วันนี้ สังคมเกิดการแบ่งขั้วการเมือง เป็น 2 ขั้วใหญ่ๆ คือ ขั้วอนุรักษนิยมกับเสรีนิยม ฉะนั้นขั้วอุดมการณ์เสรีนิยม หรือขั้วประชาธิปไตย ก็เป็นขั้วในการเรียกร้อง หรือสนับสนุนให้สอดรับกับความคิดของเขามากกว่า คงไม่ได้บอกว่า นี่คือการสนับสนุนของพรรคไหน หรือ เขาจะไปสนับสนุนพรรคไหน มันคงไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้น" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าว...
เพราะอะไร "ม็อบราษฎร" ถึงกลับมาเคลื่อนไหวการเมืองช่วงใกล้ เลือกตั้ง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า อารมณ์ผู้ชุมนุม ไม่ว่าเขาจะตั้งประเด็นอะไรมาก็แล้วแต่ ต้องยอมรับว่า มันมีความรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลเป็นหลักอยู่แล้ว คือ ไม่พอใจบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวท่านนายกฯ คนกลุ่มหนึ่งไม่ชอบอยู่แล้ว แล้ววิธีการหนึ่งที่กลุ่มคนไม่พอใจรัฐบาลใช้วิธีการหนึ่ง คือ เลือกกลุ่มที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล อันนี้เป็นหลักทั่วโลก ก็คือไปสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่ง คือไปเลือกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ฉะนั้นคำว่า "แลนด์สไลด์" แล้วตอนนี้ก็มีเรื่องหนึ่ง คือ นายกฯ ครบ 8 ปี ฉะนั้น คนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็จะเป็นความหวังว่า 23-24 ส.ค.นี้ มันจะเป็นวาระของรัฐบาล โดยเฉพาะหัวหน้ารัฐบาล จะต้องออกจากตำแหน่งแล้ว แต่เมื่อเขายังมีความหวังอยู่ เขาจะหวังถูก หวังผิดไม่รู้นะ
ปม นายกฯ ครบ 8 ปี คือ เชื้อไฟลูกใหญ่ เร่งปฏิกิริยาขัดแย้ง เพิ่มเป็น 2 เท่า
นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า แต่ระหว่างมีความหวังว่า ท่านนายกฯ ต้องหมดวาระนั้น ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นมา เมื่อมีอีกฝ่ายหนึ่ง ออกมาโต้ว่า ยังไม่ครบเวลา การชุมนุมในระยะหลังมันก็เพิ่มประเด็นหนักมากขึ้น คือ รัฐบาลต้องออก อย่าลืมนะครับว่า รัฐบาลชุดนี้เข้ายึดอำนาจเมื่อปี 57 ประเด็นหลัก คือ ยุติความขัดแย้ง แต่พออยู่ไปๆ กลายเป็นว่า ตัวรัฐบาลหรือ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเงื่อนไขความขัดแย้งเอง เพราะฉะนั้นคิดอย่างตรงไปตรงมาท่านนายกรัฐมนตรี ถึงเวลายุติความขัดแย้ง สลายตัวเอง แล้วให้เกิดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
อันนี้ต้องดู 8 ปีก่อน ถ้าครบแล้วก็จบ แต่บังเอิญก็มีคนพยายามเบี่ยงเบนว่า 8 ปี นี้ยังไม่ครบอีก ความขัดแย้งเลยเพิ่มเป็น 2 เท่า
ม็อบราษฎร ที่ออกมาเคลื่อนไหวในช่วงนี้ เห็นว่ามีใครหนุนหลัง?
"เราพูดโดยไม่ยอมรับความจริงก็ไม่ได้แล้วว่า มีพรรคการเมืองบางพรรคสนับสนุนแนวนี้ ปฏิเสธไม่ได้มันเป็นความจริงเลย ถ้าเป็นไฮโลเปิดถ้วยแทงแล้วละ มีพรรคการเมืองบางพรรค นักการเมืองและกลุ่มการเมือง สนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อดี บางข้อเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่มีแนวร่วม แล้วมันจะเกิดความขัดแย้งหนักขึ้นไปอีก" นายนิพิฏฐ์ กล่าว...
ชี้ชัด 250 ส.ว. คือ "ระเบิดเวลาลูกใหญ่" ม็อบจะทำสำเร็จไหม ขึ้นอยู่กับปมนี้?
"จะสำเร็จหรือไม่ ต้องดูที่ระเบิดเวลาตัวหนึ่ง คือ ส.ว. 250 คน ตัวนี้เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่มาก ที่จะเกิดขึ้นหลังเลือกตั้งอันนี้ใครก็เอาไม่อยู่ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้านี่ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกระบอบประชาธิปไตย คือ พรรคไหนได้เสียงข้างมาก หรือพรรคไหนรวบรวมเสียงได้เกิน 251 เสียง เมื่อไหร่ ส.ว.ต้องสนองตอบทันที จะใช้วิธีการเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว อันนี้เป็นหลักใครที่ปฏิเสธไม่ได้" รองหัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวทิ้งท้าย
ก็ไม่รู้ จะเป็นไปความคิดเห็น ของ "กูรู" ทั้ง 2 ท่านนี้มากน้อยแค่ไหน คนหนึ่งเป็นนักวิชาการ อีกคนก็นับว่า เป็นนักการเมืองที่คร่ำหวอด และมีประสบการณ์การเมือง มาอย่างยาวนาน
แน่นอนว่า อีกไม่นานเกินรอ ก็จะได้รู้!
ผู้เขียน: เดชจิวยี่
กราฟิก:Theerapong Chaiyatep