งวดเข้ามาทุกขณะ สำหรับ ศึกเลือกตั้งพ่อเมืองกรุง หรือ เลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้ และช่วงนี้ ผู้สมัครก็เดินหน้าหาเสียงอย่างเข้มข้น ใครมีนโยบายดี ทีเด็ดอะไร ก็ต่างปล่อยหมัดออกมา

สำหรับหนึ่งในนโยบาย ที่ใช้หาเสียงเลือกตั้ง คือ การชูเรื่อง “เมืองสีเขียว” และ “กำจัดขยะมูลฝอย” และ หากย้อนดูสถิติ 5 ปีหลัง จะพบว่า สถิติการเก็บขยะในกรุงเทพฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการลดลงดังกล่าวมีนัยสำคัญจากอะไร และ ปัญหาขยะติดเชื้อ ที่มีเพิ่มขึ้น จากปัญหาโควิดอีก จะมีแนวทางอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ที่ดูแลงานด้านนี้โดยตรง

ภาพรวมขยะลด เหตุไร้นักท่องเที่ยว “ขยะพิษ” จากโควิด กทม. เอาอยู่ ห่วง ตจว.

นายวิรัตน์ อธิบายสาเหตุ ที่ขยะใน กรุงเทพฯ ลดลงอย่างต่อเนื่องเพราะ "เราปิดประเทศ" ไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา ถึงแม้ที่ผ่านมา จะมีการสั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน แต่ก็มีข้อจำกัดในหลายเรื่อง ดังนั้น เมื่อรวม "ขยะติดเชื้อ" หรือไม่ว่าขยะชนิดไหน ทุกอย่างมัน "ลดลง" โดยปี 62 เฉลี่ยวันละ 10,564 ตัน ปี 63 เฉลี่ยวันละ 9,519 ตัน ซึ่งสาเหตุหลักเพราะนักท่องเที่ยวหายไปเป็นล้านๆ คน โดยปีที่เป็นปกติ มีนักท่องเที่ยวมาไทยกว่า 20 ล้านคน

...

"แต่พอเราเริ่มเปิดประเทศ การท่องเที่ยวเข้าสู่ภาวะปกติ เชื่อว่าปริมาณขยะจะเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา นอกจากไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว คนต่างจังหวัดก็เข้ากรุงเทพฯ น้อยลงด้วย โดยเฉพาะช่วงที่มีการแบ่งพื้นที่เป็นสีต่างๆ ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นสีแดง คนกลัวโควิด ก็ไม่กล้าเข้ามา ด้วยปัจจัยต่างๆ ทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างเห็นได้ชัด"

ส่วนปัญหาขยะติดเชื้อ จากข้อมูลตัวเลข ของ กรมอนามัย พบว่า ปี 2561 ส่งกำจัด 26,307.67 ตัน คัดแยกยืนยัน 8,869.93 ตัน (70%), ปี 2562 ส่ง 31,383.15 ตัน คัดแยกยืนยัน 19,159.92 ตัน (63%) ปี 2563 ส่ง 34,679.23 ตัน คัดแยกยืนยัน 19,896.46 ตัน (55%) ปี 2564 ส่ง 56,644 ตัน คัดแยกยืนยัน 18,404.11 ตัน (16%) ปี 2565 (สถิติ 6 เดือน ตุลาคม-มีนาคม) ส่ง 18,209.01 ตัน คัดแยกยืนยัน 6,157.34 ตัน (34%)

ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงขยะติดเชื้อ ในส่วน กทม. มากที่สุด 100 กว่าตัน แต่ปัจจุบัน อยู่ราว ประมาณวันละ 70 ตัน ซึ่งตอนพีกที่มีขยะติดเชื้อจำนวนมาก เป็นช่วงที่เราเจอโควิดหนักๆ จำเป็นต้องมีการตั้งโรงพยาบาลสนาม อีกอย่างคือ กรมอนามัย ไม่ได้ตีเป็นขยะติดเชื้อทั้งหมด เพราะเขามีการคัดแยก เช่น หน้ากากอนามัย ATK (เฉพาะตัวที่ใช้ แยกกล่องออก) ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน ที่ขยะติดเชื้อมีมาก เพราะไม่มีการคัดแยก ซึ่งการคัดแยกก็มีขั้นตอนการฆ่าเชื้อโรคด้วย เพื่อกำจัดให้ถูกวิธี ขณะที่ "ขยะติดเชื้อ" ของ กทม. จะใช้วิธีการเผา ซึ่งโรงเผา จะมี 2 แบบ คือ 700 องศาเซลเซียส กับ 1,000 องศาเซลเซียส โดยการเผาโดยไม่ให้มีพิษ ซึ่งทาง กทม. มีเตาเผาที่หนองแขม ซึ่งเป็นประเภท 1,000 องศาฯ แบบเผาหมดไปเลย

"ของทางกรุงเทพฯ เราใช้วิธีการนี้ แต่บางที่ เช่น ในต่างจังหวัด เขาไม่มีที่เผา บ้างก็เอาไปฝังกลบ ซึ่งไม่ถูก หรือ บางที่ก็เลือกใช้ "เตาเผาศพ" แทน เพราะขยะล้น และมันเป็นเหตุการณ์พิเศษ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างน้อยการเผา ก็ดีกว่าการฝังกลบ ซึ่งการฝังกลบก็พอทำได้ แต่ต้องผ่านการฆ่าเชื้อเสียก่อน ซึ่งวิธีนี้ก็ต้องพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่"

สารพัดปัญหาที่ถูกหมักหมม แก้ยาก ขาดงบ หย่อนวินัย “แยกขยะ”

ทีมข่าวฯ ถาม ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อมว่า ปัจจุบัน กทม. ยังประสบปัญหาอะไรเกี่ยวกับการจัดการขยะ นายวิรัตน์ ได้ตอบโดยแบ่งออกเป็นประเด็นใหญ่ๆ ไว้ 2 เรื่อง

1. ปัญหาการไม่คัดแยกขยะ ทำให้ต้องเสียงบจำนวนมากในการกำจัด

การเก็บและการกำจัด ใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ โดยสิ่งสำคัญคือ "ขยะ" จำนวนกว่า 50% ไม่สมควรถูกกำจัด โดยเฉพาะขยะอินทรีย์ ที่เป็นจำพวกเศษอาหาร เราสามารถนำขยะส่วนนี้มาทำปุ๋ยได้ ถ้าประชาชนมีการแยกขยะ สมมติว่ามีขยะวันละ 10,000 ตัน ก็จะเหลือขยะเพียง 5,000 ตัน การกำจัดขยะก็ใช้งบประมาณน้อยลง

นายวิรัตน์ เผยว่า ที่ผ่านมา ทาง กทม. มีแนวคิด ออกกฎหมายในการคัดแยกขยะ ซึ่งในต่างประเทศ มีกฎหมายบังคับให้แยกขยะ หากไม่ทำ เขาจะมีมาตรการลงโทษ เช่น ไม่เก็บขยะให้ ซึ่งในบางประเทศ เขามีมาตรการลงโทษทั้งหมด เช่น ไม่เก็บขยะให้หมู่บ้านนี้ เพราะมีลูกบ้านไม่ยอมจ่ายค่าเก็บขยะ แต่สำหรับประเทศไทย จะไปทำแบบนั้นไม่ได้

มีหลายคนพูดว่า "โอ๊ย...จะแยกขยะทำไม แยกไป กทม. ก็เอาไปรวมอยู่ดี!?"

เรื่องนี้ไม่จริงนะครับ พนักงานเก็บขยะของ กทม. เขาก็แยกขยะ เพราะนี่คือรายได้ทางหนึ่ง เมื่อไปถึงหัวกอง ก็จะมีประชาชนบางส่วนมาคัดขยะก็มาคัดเลือกเก็บไปขายอีก

...

ชงแนวคิดออกกฎหมายบังคับ ลงโทษ แบ่งประเภทรถขยะ

ที่ผ่านมา ทาง กทม. มีแนวคิด ออกกฎหมายบังคับให้มีการ “คัดแยกขยะ” เหมือนในต่างประเทศ โดยจะบังคับให้ภาคเอกชน ต้องทำตาม หากไม่ทำก็จะมีกฎหมายลงโทษ หรือ ไม่เก็บขยะให้ ในขณะที่ภาคประชาชน หากมีการคัดแยกขยะ ก็อาจจะเสนอไม่เก็บคำทำเนียมขยะ 20 บาท/เดือน (เคยมีแนวคิดขี้นเป็นเดือนละ 80 บาท แต่พักเบรกเนื่องจากประชาชนกำลังทนทุกข์กับโควิด มีปัญหาค่าใช้จ่าย ในขณะที่เก็บจัดเก็บขยะ ก็มีการเสนอแบ่งประเภทสีรถขยะ ตามประเภทที่จะเก็บ และจะมาตามวันเวลาที่กำหนด

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา เรารณรงค์ในการคัดแยกขยะมานาน เพราะอะไรถึงทำไม่สำเร็จ นายวิรัตน์ อธิบายว่า ส่วนตัวมองว่ามันก็ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน หลายๆ บ้านก็เลือกที่จะแยกขยะมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราไปดูงานที่ญี่ปุ่น ผมถามคนญี่ปุ่นว่า ญี่ปุ่นทำยังไงให้คนมีวินัยขนาดนี้่ เขาตอบว่า...

มันต้องมีองค์ประกอบรวมกัน 3 ประการ คือ
1. การปลูกฝังวินัยตั้งแต่เด็ก
2. ต้องมีการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกอยู่เสมอ
3. ตัวกฎหมายต้องเข้มแข็ง ชัดเจน

“ทั้ง 3 อย่างต้องควบคู่ไป ถามว่าหากไม่มีกฎหมาย...ก็ไม่รู้ว่าความดี ความมีวินัยของคนในชาติเขาจะเปลี่ยนไปหรือไม่..?"

2. การขาดแคลนบุคลากรในการเก็บขยะ

นายวิรัตน์ เผยว่า ที่ผ่านมา เราพยายามรับสมัครพนักงานเก็บขยะ แต่เวลานี้ แทบไม่มีใครมาสมัคร เดี๋ยวนี้งานบางงานคนไทยไม่ทำ

“ปีหน้าอยากให้มีงบประมาณเพิ่มเติมในการจ้างเอกชนมาช่วยเก็บขยะ ที่ผ่านมา เรายังมีกฎหมายที่ควบคุม 40% ในการจัดจ้างบุคลากรหน่วยงานภาครัฐ จึงอยากให้มีการปรับเปลี่ยน ในการจ้าง Outsource แทน ซึ่งจะช่วยประหยัดในส่วนของสวัสดิการที่ภาครัฐต้องดูแลด้วย”

...

"ตอนนี้คนไม่พออยู่แล้ว คนเก่าคนแก่ ที่เริ่มเก็บขยะ ไม่ไหว เราก็หมุนเวียนให้เขาไปทำงานด้านอื่น เช่น งานสำนักงาน หรือ กวาดถนนแทน เพราะเขายกขยะหนักๆ ไม่ไหว ส่วนใครที่เกษียณไป ก็ไม่ได้จ้างเพิ่ม หรือ สวนสาธารณะบางส่วน ก็ต้องจ้างเอกชนมาช่วยดูแล ถ้ามีอะไรเปิดช่อง"

สิ่งที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ต้องจัดการ กับปัญหา “ขยะ”

ทีมข่าวฯ ถามทิ้งท้ายว่า อยากให้ผู้ว่าฯ คนใหม่ จัดการเรื่องไหนเร่งด่วน ผอ.สำนักสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วไม่รู้ว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ จะผลักดันโครงการอะไร ก็คงแล้วแต่นโยบายแต่ละคน แต่ในฐานะคนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะ ก็อยากให้มีการออกกฎหมายการคัดแยกขยะ ซึ่งก็คงต้องรอสภา กทม. ชุดใหม่ อย่างไรก็ตาม ในอดีต เคยมีแนวคิดแบบประเทศไต้หวัน ด้วยการใช้ถุงขยะที่ภาครัฐเป็นคนขายให้ในราคาถูก โดยมีการแบ่งประเภทตามสีถุง

"ผมมองว่า ในอนาคต หากภาครัฐเข้ามาช่วย จ้างผลิต และขายราคาไม่แพงมาก แบบไม่เอากำไรมาก ส่วนนี้จะช่วยเหลือได้มาก นอกจากจะช่วยให้คนมีวินัยในการคัดแยกขยะแล้ว ยังเป็นรายได้ของรัฐทางหนึ่ง แล้วนำมาใช้ในการกำจัดขยะ แต่สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ ต้องมีความชัดเจน คือ "ถุงขยะ" คือ "ถุงขยะ" จะเอาไปใส่อย่างอื่นไม่ได้ โดยสีถุงก็แบ่งตามประเภทขยะไปเลย คือ

1.ขยะทั่วไป
2.ขยะรีไซเคิล
3.ขยะเปียก เช่น เศษอาหาร ใบไม้ ใช้ทำปุ๋ย ย่อยสลายได้
4.ขยะอันตราย

สำหรับสิ่งที่จะฝากไปถึง ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ คือ อยากให้ศึกษางานของ กทม. ก่อน และถ้าคิดว่ามีไอเดียที่จะเสริมเติมช่วยได้ หรือถ้าเห็นอะไรไม่ถูกต้อง หรือไม่เพียงพอ หรือ ไม่ควรมี ก็ควรปรับ เช่น การปรับในส่วนองค์กรบางส่วน เพื่อให้ทันสมัยขึ้น หรือ ถ้าเห็นส่วนไหนมันเทอะทะ ก็อยากให้มันคล่องตัวขึ้น แก้ปัญหา บริการประชาชนได้รวดเร็ว...

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ