ในช่วงโควิด-19 ระบาด ทุกอาชีพ ทุกชีวิต ต้องปรับตัวให้เข้าสู่ระบบ New Normal ยกตัวอย่าง อาชีพร้านอาหาร ก็ต้องปรับตัวจำยอม เข้าร่วมกับ แอปฯ ส่งอาหารชื่อดัง แม้จะต้องจำยอมหั่นรายได้เกือบ 30% ไปให้...

แต่ก็มีบางอาชีพ...ที่ยังไงๆ ก็ไม่เหมาะกับระบบออนไลน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ “โรงเรียนอนุบาล”

“เด็กเล็กๆ” มีสมาธิในการเรียนไม่ถึง 20 นาที

เรื่องนี้คือสิ่งที่ทุกคนรู้ และ หากเป็นครูอนุบาลก็ย่อมรู้ดี เช่นเดียวกัน

ครูไก่ หรือ ครูวิวรรณ สารกิจปรีชา ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ในฐานะนายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ได้เปิดโรงเรียนอนุบาลมาหลายสิบปีแล้ว และเข้าใจดีว่าเด็กมีสมาธิในการเรียนไม่มาก

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด เด็กๆ มาเรียนหนังสือไม่ได้ การเรียนออนไลน์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งครูไก่ก็รู้ดีว่าไม่เหมาะ “ดิฉันเห็นด้วย ว่ามันไม่เหมาะจริงๆ” ขนาดมาเรียนที่โรงเรียนเด็กยังมีสมาธิในการเรียนไม่มาก ฉะนั้น เวลาสอน ได้สักพักก็ต้องปล่อยให้ไปวิ่งเล่น แต่เมื่อต้องมาเรียนออนไลน์ การจะสอนให้ตรงกับวัตถุประสงค์ทำได้ยาก แต่...จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อสถานการณ์มันเป็นแบบนี้

นี่คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ในขณะที่ครูเองปรับตัว และทำงานหนักขึ้น

...

สิ่งที่ต้องทำ คือ ทำให้ดีที่สุด ด้วยการแบ่งกลุ่มการสอน เช่น มีนักเรียน 20 คนก็จะแบ่งกลุ่มเป็น 4-5 กลุ่ม แปลว่า ครูต้องสอนในบทเรียนแต่ละวัน 4-5 รอบ ส่วนการสอน จะสอนด้วยเวลาน้อยๆ ก่อน เช่น แรกๆ สอนแค่ 15 นาที ในระดับ อนุบาล 1 หากเป็น อนุบาล 2 หรือ 3 ก็อาจจะเพิ่มเป็น 25-30 นาที ต่อกลุ่ม ส่วนเวลาที่เหลือเด็กก็อาจจะไปเล่น ทำกิจกรรมที่บ้าน เป็นต้น

ความลำบากของโรงเรียนที่ส่งไปยังครู เวลานี้หลายๆ โรงเรียนกำลังประสบปัญหา โดยจากข้อมูล คณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระบุว่า โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ เก็บเงินค่าเทอมได้เพียง 20% เท่านั้น และอาจจะมีครูมากกว่า 4 พันคนตกงาน

นายกสมาคมอนุบาลศึกษาแห่งประเทศไทย ในฐานะ ผอ.โรงเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ ยอมรับว่า ตอนนี้ก็ต้องประคองโรงเรียนให้อยู่รอดให้ได้ การจะอยู่รอดได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับสายป่านของโรงเรียนแต่ละแห่ง

ซึ่งค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารจัดการโรงเรียน 70-80% คือ “เงินเดือนครู” ฉะนั้น หากผู้ปกครองไม่จ่ายเงินเข้ามา โรงเรียนก็ต้องรับภาระในการจ่ายเงินเดือนครูต่อไป ถึงแม้โรงเรียนบางแห่ง จะได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ แต่เวลาสอนเด็กๆ จริง เรามีบุคลากรมากกว่าที่บรรจุ มีทั้งครูผู้ช่วย ฝ่ายธุรการ ทุกคนต้องได้รับเงินเดือนเหมือนกัน นี่คือสิ่งที่โรงเรียนหลายๆ แห่งประสบอยู่

โรงเรียนเราไม่อยากทิ้งใครสักคน อยากจะจ้างทุกคนให้ครบ เพราะเมื่อถึงวันหนึ่ง (ไม่รู้เมื่อไหร่) เราสามารถเปิดเทอม เด็กนักเรียนมาเรียนได้ปกติ เราก็ต้องให้ครู และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานอย่างเต็มกำลัง แม่ครัว ต้องทำอาหารที่สดใหม่ ปราศจากเชื้อโรค แม่บ้านต้องเก็บกวาดเช็ดถู ครูผู้ช่วยต้องแบ่งกำลังดูแลเด็กๆ

“เราพยายามไม่ลดเงินเดือนใครสักคน หากจะลดเขาก็คงไม่ยอม เวลานี้ที่ทำได้ คือ การทำความเข้าใจผู้ปกครอง ด้วยการส่งจดหมายไปถึงพร้อมคำอธิบายต่างๆ ส่วนที่ตัดลดค่าเทอม และคำมั่นสัญญาในส่วนของอนาคต หากเปิดเทอมไม่ได้จะคืนเงินในส่วนไหนบ้าง”

จากจำนวนกว่า 4 พันคน ที่คาดว่าจะตกงาน นายอรรถพล ตรึกตรอง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ยังเผยด้วยว่า จากการเก็บข้อมูลของเรา พบว่า ครูโรงเรียนทุกระดับชั้น มีจำนวนมากถูก “ลดเงินเดือน” เนื่องจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ของโรงเรียนเอกชน

“บางคนถูกลดลงจนเหลือต่ำกว่า “ค่าแรงขั้นต่ำ” ไปมากแล้ว แต่ก็ต้องจำทน เพราะไม่มีทางเลือก และสุ่มเสี่ยงที่จะตกงาน” นายอรรถพล กล่าว

ขณะที่ครูไก่ ตอบในคำถามที่ว่าครูเดือดร้อนกันขนาดไหนเวลานี้... “เท่าที่ทราบ ก็มีครูอนุบาลเดือดร้อนเยอะมาก ทั้งในแง่ของการทำงาน คือ ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ เพราะไม่มีอุปกรณ์สำหรับใช้งาน หรืออาจจะต้องใช้เงินส่วนตัวในการซื้อมาใช้ ในขณะที่โรงเรียนก็สามารถช่วยเหลือได้ แต่ก็ไม่มาก นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา เช่น ค่าไวไฟ ค่าน้ำ ค่าไฟ ทุกอย่างคือต้นทุนที่เกิดขึ้น หากทำงานที่บ้าน

แต่...ถ้าไม่มีอุปกรณ์เพียงพอ ก็ต้องเดินทางมาโรงเรียน สิ่งที่ต้องแบกรับคือ “ความเสี่ยง” ที่จะติดเชื้อโควิด นอกจากนี้ ยังต้องเดินทางไปพบกับนักเรียนตามบ้านบ้าง ครูทุกคนทำงานหนักขึ้นหลายเท่าตัว นอกจากที่ต้องสอนซ้ำๆ หลายรอบต่อวัน แล้วเรายังต้องคิด วางแผนการเรียนการสอนให้เหมาะสมที่สุด

...

การสอนออนไลน์ของครูอนุบาลถือเป็นสิ่งใหม่ ฉะนั้น ก็จำเป็นต้องเทรนด์ครูให้มีความพร้อม ซึ่งโดยปกติ เวลาเรียนเด็กจะต้องรวมกลุ่มกันเล็กๆ เพื่อร่วมคิดร่วมทำงานด้วยกัน นี่คือโจทย์ ว่า จะสอนออนไลน์อย่างไรให้ได้ประสิทธิผลและเหมาะสมกับเด็ก ซึ่งสิ่งสำคัญในการสอนออนไลน์ ก็คือ พ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่ช่วยดูแลเด็ก ตรงนี้จะมีความสำคัญมาก

“เพราะเด็กจะเรียนดีหรือไม่ดี ก็ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองด้วย ถ้าอยู่บ้านเด็กได้เล่น ได้ผู้ปกครองสอน ก็จะช่วยได้เยอะ ฉะนั้น จึงขึ้นอยู่กับผู้ปกครองว่าจะมีเวลาให้เด็กแค่ไหน มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอย่างไร ซึ่งเราก็เชื่อว่าพัฒนาการของเด็กในแต่ละบ้านอาจจะไม่เท่ากัน และไม่จำเป็นต้องเรื่องเดียวกันด้วย เพราะเด็กมีความแตกต่างกัน ความชอบแตกต่างกัน การพัฒนาการแต่ละด้านจึงแตกต่างกัน”

สิ่งสำคัญของสถานการณ์เวลานี้คือ พ่อแม่ผู้ปกครอง ยอมรับการเรียนการสอนออนไลน์ ได้มากน้อยขนาดไหน ถ้ายอมรับได้ โรงเรียนอนุบาลก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้ายอมรับไม่ได้ โรงเรียนอนุบาลก็อาจจะอยู่ไม่ได้...ครูอนุบาลก็อยู่ไม่ได้เช่นเดียวกัน

...

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วย คือ การฝึกอาชีพ เพราะเชื่อว่าครูอนุบาลที่พ้นสภาพออกไป จะกลับมาเป็นครูนั้นคงยาก ฉะนั้น จึงต้องหาอาชีพอื่นรองรับ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน