ที่ผ่านมา ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้เจาะนโยบายด้านพลังงาน ในแต่ละพรรคไปแล้ว เทียบ 7 พรรค กับ นโยบายลดค่าไฟ ทำได้ หรือ ขายฝัน? วันนี้มาถึงอีก 1 ไฮไลต์นโยบายหาเสียงของเหล่าพรรคการเมือง ที่เสนอตัวมา “รับใช้” ประชาชน กับนโยบายดูแลผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพคนชรา เรามาดูว่า “พรรคไหน” เสนอนโยบายแบบจุกๆ กันบ้าง ซึ่งแน่นอน ข้อมูลดังกล่าว ท่านผู้อ่านต้องคิด วิเคราะห์ ความน่าจะเป็นด้วยว่า จะทำได้อย่างที่พูดกันไว้หรือไม่

เพื่อไทย : โครงการ 30 บาทอัปเกรด

เวลานี้พรรคเพื่อไทย เริ่มปล่อยนโยบายผู้สูงอายุมาบ้างแล้ว เดิมที ได้ “ยกระดับ” โครงการ “30 บาทรักษาทุกโรค” เน้นดูแลประชาชนทุกวัย ตั้งแต่เด็กจนถึงคนชรา รักษาคลินิกใกล้บ้าน ไม่ต้องรอคิวรักษานาน ด้วยการรักษาออนไลน์ นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีสถานชีวาภิบาล เพื่อรองรับปัญหาผู้ป่วยติดเตียง ร่วมมือทั้งภาครัฐ และเอกชน สนับสนุนงบประมาณโดย สปสช. และกรุงเทพฯ จะต้องมีโรงพยาบาลประจำเขตครบทั้ง 50 เขต

...

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ระบุว่า พรรคจะยกระดับศักยภาพของโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ด้วยระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ครอบคลุมทุกวงจร ทุกความต้องการในประเทศ สร้างวันนี้ให้พี่น้องคนไทยยั่งยืน แข็งแรง และก้าวต่อไปให้เท่าทันโลก

พลังประชารัฐ : เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000-5,000 บาท/เดือน

พรรคพลังประชารัฐ ชูโครงการต่างๆ โดยห้อยท้ายว่า “ประชารัฐ” และ “เบี้ยผู้สูงอายุ” ก็เป็นหนึ่งในนโยบายสวัสดิการประชารัฐ โดยเสนอแนวทางการเพิ่มเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุแบบขั้นบันได

ตั้งแต่อายุ 60 ปี เพิ่มเป็น จำนวน 3,000 บาทต่อเดือน อายุ 70 ปี ขึ้นไปเพิ่มเป็น จำนวน 4,000 บาทต่อเดือน และอายุ 80 ปี ขึ้นไปเพิ่มเป็น จำนวน 5,000 บาท ต่อเดือน ซึ่งพรรคใช้แคมเปญ “เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ 3 4 5 และ 6 7 8”

ภูมิใจไทย : กองทุนประกันชีวิต กู้ได้ 20,000 บาท ตายได้ 100,000

พรรคสีน้ำเงิน ภูมิใจไทย แหวกแนวนโยบายคนชรา ด้วยการเป็นสมาชิกกองทุนประกันชีวิต และมีกรมธรรม์ประกันชีวิตทันที ไม่ต้องสมัคร และไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต โดยกองทุนประกันชีวิต 60 ปีขึ้นไป มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อคือ

1. ในวันที่อยู่ ผู้สูงวัย ไม่เป็นภาระของลูกหลาน มีสิทธิกู้เงินดูแลตัวเอง และประกอบอาชีพ หาเลี้ยงตัวเองได้ ในวงเงิน 20,000 บาท โดยไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน แต่จะใช้กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่รัฐบาล จัดทำให้ ค้ำประกันตัวเอง

2. ในวันที่จากไป ผู้สูงวัย ไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ทุกคนจะมีมรดกให้ลูกหลาน ทายาท และครอบครัว รายละ 100,000 บาท

ก้าวไกล : เงินบำนาญทั่วหน้า 3,000 บาท ภายในปี 2570

พรรคก้าวไกล ชูเรื่อง เบี้ยบำนาญทั่วหน้า (เบี้ยคนชรา) เป็นตัวเลข 3,000 บาท มาจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขที่มากกว่าเส้นความยากจน โดยค่าเฉลี่ย ทั้งประเทศอยู่ที่ 2,763 บาท ก็คือ 3,000 บาท ต่อเดือน

ส่วนจะใช้เงินเท่าไร เงินมาจากไหน ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล อธิบายว่า จะต้องใช้เงินเพิ่ม จาก 9 หมื่นล้าน เพิ่มอีก 4.2 แสนล้าน รวมกว่า 5 แสนล้าน

...

แหล่งรายได้ มาจาก 3 ส่วน

1. ปรับปรุงงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ

2. ปรับลดงบประมาณโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น งบสัมมนา, จัดซื้อจัดจ้างไม่สมเหตุสมผล (1 แสนล้าน), ลดขนาดกองทัพ ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ลดสัดส่วนนายพล (3.5 หมื่นล้าน) และธุรกิจกองทัพอื่นๆ (ดึงกลับมาหารายได้ 1.5 หมื่นล้าน) ลดงบกลาง อีก 3% (3 หมื่นล้าน)

3. เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี เช่น ธุรกิจ ทรัพย์สิน หุ้น ค่าเช่า คาดได้ว่า ได้เงินภาษีเพิ่ม 5% (1 แสนล้าน), เก็บภาษีใหม่ๆ เช่น เงินปันผลจากรัฐวิสาหกิจ มีความแตกต่างกัน หากมีการตั้งเป้า ปันผลคืนรัฐ 50% (ได้เพิ่ม 1.3 หมื่นล้าน), เก็บภาษีที่ดินรายแปลง พบว่ามีการหลบเลี่ยง ก็จะมีการแก้ไขกฎกระทรวง รวมถึงเก็บที่ดินแบบรวมแปลงในอัตราก้าวหน้า

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ระบุว่า เบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท คงไม่สามารถทำได้ทันที เพราะต้องขอเวลาในการจัดระบบ ปรับลดงบประมาณ และอื่นๆ โดยจะขอเวลา 4 ปี หรือภายในปี 2570

ประชาธิปัตย์ : ต่อยอดเบี้ยคนชรา ชมรมผู้สูงอายุ รับ 30,000 บาท 

มาถึงพรรคสีฟ้า ประชาธิปัตย์ ชูนโยบาย “ชมรมผู้สูงอายุ รับ 30,000 บาท ทุกหมู่บ้าน ทุกชุมชน” เป็นมาตรการเพื่อรองรับการก้าวไปสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” โดยเป็นการมุ่ง “ต่อยอด” สวัสดิการเดิมของผู้สูงอายุที่ได้รับในรูปแบบ “เบี้ยรายเดือน” ให้ขยายครอบคลุมมิติอื่นๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างรอบด้าน ที่สําคัญ 3 ประการ ได้แก่

...

(1) การพัฒนาอาชีพเสริมหลังวัยเกษียณ
(2) การส่งเสริมสุขภาพอนามัย
(3) การส่งเสริมกิจกรรมยามว่าง หรือสันทนาการต่างๆ

ทั้งนี้ ในทั่วประเทศ มีชมรมผู้สูงอายุ เกือบ 3 หมื่นแห่ง การให้เงินอุดหนุน 30,000 บาท ทุกหมู่บ้านชุมชน จะจ่ายตามวัตถุประสงค์และแนวทางการพัฒนาของสมาชิกในชมรมเป็นสำคัญ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงนโยบายดังกล่าวว่า พรรค ปชป.มีนโยบายชัดเจนที่สนับสนุนผู้สูงอายุ เพราะประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว มีผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถึง 20% ของคนไทยทั้งประเทศ คิดเป็นประมาณ 13 ล้านคน และภายในปี 2580 จำนวนผู้สูงอายุจะพุ่งไปถึง 30% เรามีนโยบายรองรับผู้สูงวัยของพรรค เป็นเรื่องที่ทันต่อเหตุการณ์

ชาติพัฒนากล้า : สูงวัยไฟแรง งานใหม่ 5 แสนตำแหน่ง

สำหรับ ชาติพัฒนากล้า กับนโยบายผู้สูงอายุ เชื่อว่าก็มีการทำ “อินไซต์” มาอย่างหนักไม่แพ้พรรคอื่น โดยเฉพาะการนำเสนอ นโยบาย “สูงวัยไฟแรง” งานใหม่ 500,000 ตำแหน่ง โดยมีรายละเอียด คือ

...

1. ตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่งเพื่อผู้สูงอายุ ส่งเสริมการทำงานที่ผู้สูงอายุทำได้ และทำได้ดี ผู้สูงอายุจำนวนมาก ที่แม้จะเกษียณมาจากหน้าที่การงานเดิมที่มีความรับผิดชอบสูง ก็สามารถที่จะเริ่มต้นการทำงานในตำแหน่งงานอื่นได้เช่นกัน พรรคชาติพัฒนากล้า จะสนับสนุนเงินเดือนเดือนละ 5,000 บาทสำหรับหน่วยงานที่จ้างผู้สูงอายุเข้าทำงาน โดยคาดว่าจะสามารถสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง 

2. สำหรับผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการทำงานแล้ว แต่อยากใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ปกติ โดยไม่มีความเสี่ยง พรรคชาติพัฒนากล้าสนับสนุนให้เกิด Urban Design for all ปรับเส้นทางเดินทางเพื่อผู้สูงอายุ โดยกำหนดให้เป็นวาระเร่งด่วน ให้พื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเดินทางของผู้สูงอายุ

3. จัดตั้ง ศูนย์ผู้สูงอายุประจำตำบล ให้ครบทุกตำบล เพื่อเป็นแหล่งทำกิจกรรม ดูแลสุขภาพ และเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆ ในชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีช่วงชีวิตที่มีความสุขยาวนานที่สุด

ข้อมูลที่พรรคชาติพัฒนากล้าเก็บมาประกอบ คือ ประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุจำนวน 12.5 ล้านคน คิดเป็น 18.8% ของประชากร ผู้สูงอายุแม้อายุเกิน 60 ปี แต่ยังทำงานอยู่ราว 34.5%

ไทยสร้างไทย : บำนาญประชาชน 3,000 บาท ขอเวลา 6 เดือน 

สำหรับพรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หรือไทยสร้างไทย ชูนโยบายผู้สูงอายุ “บำนาญประชาชน” 3,000 บาท/เดือน หลักประกันรายได้ผู้สูงอายุวัยเกษียณ

โดยมีรายละเอียดนโยบาย 4 ด้านประกอบด้วย

• สูงวัยมีรายได้เพียงพอต่อการยังชีพเดือนละ 3,000 วันละ 100 บาท พออยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี
• ลดภาระลูกหลานในการดูแลผู้สูงอายุ  ทำให้คนหนุ่มสาวตั้งตัวได้เร็วขึ้น
• ผู้รับบำนาญ 3,000 บาท ต้องเข้าโปรแกรมสร้างเสริมสุขภาพที่ศูนย์สร้างสุขภาพใกล้บ้าน เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีกลับมาทำงานได้ พร้อมให้ความรู้ Re-skill, Up-skill ให้ผู้สูงอายุใช้ในการดูแลสุขภาพตัวเอง และใช้ในการทำมาหากิน
• เงินบำนาญประชาชน จำนวน 300,000 กว่าล้านบาท/ต่อปี จะเป็นการเพิ่มกำลังซื้อโดยตรงให้ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ จึงสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง และสร้างเศรษฐกิจทั้งประเทศให้รุ่งเรืองอย่างยั่งยืนได้

คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวในช่วงหาเสียงว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะทำให้เงินดังกล่าวถึงมือประชาชนภายใน 6 เดือน พร้อมอธิบายที่มาของเงินว่า แต่ละปีจะใช้เงินประมาณ 3 แสนล้าน โดย 1 แสนล้านแรก มาจากเงินกองทุนที่มีและจ่ายอยู่ในปัจจุบัน อีก 5-6 หมื่นล้าน มาจากภาษีบาป และอีกแสนกว่าล้าน จะมาจากการ “ปฏิวัติ” ระบบการใช้งบประมาณ

คุณหญิงสุดารัตน์ ยกตัวอย่างว่า งบประมาณปัจจุบัน 3 ล้านล้าน โดย 2 ล้านล้าน หมดไปกับงบประจำ ส่วนอีก 1 ล้านล้าน หมดไปกับการใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ทำให้ใช้งบประมาณไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เช่น ซื้ออาวุธ สร้างตึก งบประมาณดูงาน แค่ตัดงบดังกล่าว 10% ก็จะมีเงิน 3 แสนล้าน

ชาติไทยพัฒนา : เบี้ยผู้สูงอายุ เดือนละ 3,000 บาท ผลักดันเบี้ยคนพิการให้ได้ด้วย

สำหรับพรรคชาติไทยพัฒนา ของหัวหน้า “วราวุธ ศิลปอาชา” ได้ชูเรื่องการสร้างงาน สร้างรายได้ แก่ผู้สูงอายุ และจะให้เบี้ยผู้สูงอายุ และผู้พิการเดือนละ 3,000 บาท

โดยมีรายละเอียดระบุในนโยบายว่า จะส่งเสริมการจ้างงานในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การดูแลสิ่งแวดล้อม ศูนย์รับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ งานประชาสัมพันธ์ชุมชน และหน่วยงานราชการ ฯลฯ โดยจ้างงานผู้สูงอายุ พิการ และว่างงาน เพื่อเป็นรายได้เสริม สร้างกิจกรรมทางสังคม และสร้างความผูกพันในชุมชน ผลักดันเบี้ยคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น..

รวมไทยสร้างชาติ : สวัสดิการพลัส เบี้ยคนชรา เดือนละ 1,000 บาท ยกเลิกแบบขั้นบันได 

สำหรับ นโยบายเกี่ยวกับ ผู้สูงอายุ ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายใต้ร่มเงาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกฯ นั้น ได้ชูประเด็น “สวัสดิการพลัส” เริ่มจากกลุ่มที่มีรายได้น้อย นอกจากนี้ จะปรับเบี้ยสูงอายุที่เคยเป็นแบบขั้นบันได ให้เท่ากันทุกช่วงวัย เดือนละ 1,000 บาท สร้างศูนย์สันทนาการ และลดภาษีให้กับผู้ประกอบการที่จ้างผู้สูงวัยทำงาน

สำหรับข้อมูลทั้งหมดนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้รวบรวมจากข่าว เว็บไซต์ของพรรค ในวันที่ 20 เม.ย. 66 ซึ่งบางพรรคได้แจกแจงที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ บางพรรคออกเป็นนโยบาย แต่ก็ยังไม่ได้ให้รายละเอียด

อย่างไรก็ดี ข้อมูลดังกล่าวนี้ ถือเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเท่านั้น ท่านจะชื่นชอบพรรคไหน เชียร์ใครเป็นนายกฯ ก็อย่าลืมหันมาดูนโยบายที่นักการเมือง และว่าที่ ส.ส. หรือรัฐมนตรีในอนาคต ว่านโยบายที่ใช้หาเสียงนั้นมีโอกาสจะทำจริง ได้หรือไม่...!?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านบทความที่น่าสนใจ