ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.2566 ในมุมมองของนักการเมือง ประกอบด้วย ตัวบุคคล กระแส กระสุน (เงิน) และนโยบาย การผสมทั้ง 4 ส่วนนี้ให้ลงตัวจะนำไปสู่ชัยชนะการเลือกตั้ง

สำหรับนโยบายที่แข่งหาเสียงกันอยู่ทุกวันนี้ว่า พรรคใดจะเด็ดสะระตี่ โดนใจมากกว่า ประชาชนซึ่งมีอำนาจอยู่ในมือตอนนี้พึงต้องคิดด้วยว่านโยบายเหล่านั้นทำได้จริงหรือแค่โกยคะแนน และผลลัพธ์ที่ออกมาจะส่งผลดีหรือร้ายต่อประเทศ เป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้ถ้วนถี่ก่อนเข้าคูหากาเบอร์.

พรรคเพื่อไทย

เปรี้ยงปร้างตามสโลแกนของพรรคที่ว่า “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” เพราะทันทีที่ “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย เปิดนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทันที

นโยบายนี้ระบุว่าจะเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับคนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน 56 ล้านคน ใช้เงินร่วม 560,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของคนในท้องถิ่น โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน กำหนดพื้นที่ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้านเพื่อให้เงินกระจายไปทั่วประเทศ โดยเมื่อจัดตั้งรัฐบาลเสร็จจะเริ่มดำเนินการให้ทันภายในวันที่ 1 ม.ค.2567 กำหนดให้ใช้ภายใน 6 เดือน

...

มีคำถามเกิดขึ้นมากมายว่าจะไปเอาเงินมาจากไหน เท่าที่พรรคเพื่อไทยอธิบายมาจากการรีดไขมัน พ.ร.บ.งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567 จากโครงการที่ไม่จำเป็น 110,000 ล้านบาท มาจากภาษีที่เก็บได้เพิ่มขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ 270,000 ล้านบาท มาจากภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนิติบุคคลที่เก็บได้เพิ่มจากการทำโครงการนี้ 100,000 ล้านบาท และเกลี่ยจากงบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับคนที่เลือกมาใช้โครงการนี้แทน ส่วนร้านค้าที่รับเงินจะเบิกเป็นเงินสดได้ต้องเป็นร้านที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น สำหรับร้านรถเข็นไม่สามารถเบิกได้ต้องเอาเงินจากระบบนั้นไปใช้ซื้อสินค้าต่ออีกที

แต่ที่แน่ๆคือ การเริ่มต้นใช้วันที่ 1 ม.ค.2567 น่าจะเป็นไปได้ยากเพราะร่าง พ.ร.บ.งบ ประมาณรายจ่ายประจำ ปี 2567 ที่รัฐบาลปัจจุบันวางกรอบไว้รอเข้าสภาฯ หากไม่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล คาดว่าการเริ่มต้นใช้จะล่าช้าจากเดือน ต.ค.2566 ไปจนถึง ก.พ. 2567 ถ้ามีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลต้องรื้อกรอบกันใหม่หมดก็จะยิ่งล่าช้าออกไปอีก ซึ่งพรรคเพื่อไทยระบุว่าต้องใช้เวลาวางระบบกระเป๋าเงินดิจิทัล 5-6 เดือน ล่าสุด “เศรษฐา” พูดถึงกำหนดการใช้ไปเดือน มี.ค.2567

นโยบายที่น่าสนใจของพรรคเพื่อไทยคือ การมองหาลู่ทางสร้างรายได้เพิ่ม บนหลักการ “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” โดยจะทำให้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% ใช้แนวคิดรดน้ำที่ราก เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น นโยบายหารายได้ที่ทำได้เร่งรัด (Quick Win) คือ การขยายประตูรองรับรายได้จากการท่องเที่ยว วางเป้าในปี 2570 ต้องเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 3 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60 ล้านคน

มีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เงินเดือนคนจบปริญญาตรี 25,000 บาท ภายใน 4 ปี แต่ล่าสุด “แพทองธาร ชินวัตร” แคนดิเดต นายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ออกมาประกาศว่า จะให้ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทตั้งแต่ปีแรก

มีนโยบายด้านการบริหารจัดการหนี้ของประชาชน นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เขตธุรกิจใหม่ 4 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ศักยภาพ Soft Power เฟ้นหาครอบครัวละ 1 คน มาส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ เพื่อสร้างงานกว่า 20 ล้านตำแหน่ง สร้างรายได้เฉลี่ย 200,000 บาทต่อครัวเรือน และนโยบายการเกษตรแบบครบวงจร เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายในระยะเวลา 4 ปี พร้อมออกโฉนด 50 ล้านไร่.

พรรคก้าวไกล

“พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงเจตจำนงชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปประเทศ ฉะนั้นจะต้องยกเครื่องระบบราชการและยกเครื่องระบบงบประมาณครั้งใหญ่

ไม่สน ไม่แคร์ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่พรรคอื่นแข่งขันกันว่าจะให้ 700 บาท หรือ 1,000 บาท เพราะพรรคก้าวไกลมีนโยบาย “สวัสดิการก้าวหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย”

ตัวอย่าง เช่น ให้ของขวัญแรกเกิดถึง 6 ขวบ คนละ 3,000 บาท ให้เงินเลี้ยงดูเด็กเล็กคนละ 1,200 บาทต่อเดือน ให้แม่ลาคลอดได้ 6 เดือน การจัดทำประกันสังคมถ้วนหน้า เจ็บป่วยได้เงินชดเชย ได้ค่าเดินทางหาหมอ เด็กได้เรียนฟรี อาหารฟรี มีรถรับส่ง ค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นทุกปี เริ่มต้นวันละ 450 บาท โดยรัฐเข้าไปช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีใน 6 เดือนแรก เรียนเสริมทักษะฟรีไม่จำกัด

เงินผู้สูงวัยและผู้พิการเดือนละ 3,000 บาท สร้างระบบดูแลผู้ป่วยติดเตียง โครงการบ้านตั้งตัว โดยรัฐช่วยค่าเช่าบ้าน 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่มีรายได้ 15,000 บาท และต้องการซื้อบ้านในราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท รัฐจะช่วยผ่อนบ้านให้ 2,500 บาทต่อเดือน รวม 350,000 หลัง

ภายใต้นโยบายนี้ต้องใช้งบประมาณ 650,000 ล้านบาท ชี้แจงว่ามาจากการรีดไขมันจากงบประมาณรายจ่าย 100,000 ล้านบาท ลดขนาดกองทัพลง 30-40% และเรียกคืนธุรกิจกองทัพ 50,000 ล้านบาท ตัดงบกลางลง 30,000 ล้านบาท เงินปันผลรัฐวิสาหกิจ 30,000 ล้านบาท เก็บภาษีความมั่งคั่งกับคนที่มีทรัพย์สินเกิน 300 ล้านบาท จะมีรายได้ใหม่ 60,000 ล้านบาท เก็บภาษีที่ดินรายแปลงและรวมแปลง 150,000 ล้านบาท เก็บภาษีบุคคลทุนใหญ่ 92,000 ล้านบาท การปฏิรูปสิทธิประโยชน์บีโอไอ 8,000 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บภาษี 100,000 ล้านบาท และหวยบนดิน 50,000 ล้านบาท

สำหรับนโยบายเศรษฐกิจพรรคก้าวไกลชู “7 วาระเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ประกอบด้วย 1.เปลี่ยนจาก Made in Thailand เป็น Made with Thailand 2.เปิดโอกาส เปิดตลาด SME 3.ทลายทุนผูกขาด ลดค่าครองชีพ 4.Unlock เศรษฐกิจสร้างสรรค์ 5.แปลงข้อมูลเป็นขุมทรัพย์ 6.หยุดแช่แข็งชนบทไทย 7.ยกเครื่องภาครัฐ นำเศรษฐกิจไทยก้าวหน้า

ส่วนด้านการเกษตรมีการประกาศวาระหยุดแช่แข็งชนบทไทย ได้แก่ เปลี่ยนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิเป็นโฉนด สำหรับเกษตรกรที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 10 ล้านบาท รายละไม่เกิน 50 ไร่

การปลดล็อกหนี้สินมีให้ 3 ตัวเลือก ส่วนแรกเกษตรกรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป หากสามารถชำระหนี้ได้ครึ่งหนึ่งรัฐจะช่วยสมทบอีกครึ่ง หากไม่มีความสามารถชำระหนี้ รัฐก็จะยื่นทางเลือกที่สองให้ โดยการเช่าที่ดินเกษตรกรเพื่อปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่า อย่างน้อย 20 ปี ซึ่งเกษตรกรจะได้รับการปลดหนี้ตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้าร่วมโครงการ

ส่วนกรณีที่ไม่มีเงินและที่ดิน รัฐจะเข้าไปติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วยการแบ่งรายได้ โดยรัฐจัดเก็บรายได้ในค่าลงทุนในการติดตั้งและส่วนที่เหลือเจ้าของพื้นที่เอาไปชำระเงินต้น ตั้งเป้าภายใน 5 ปี จะสามารถชำระหนี้ได้หมด และรัฐจะฝากโซลาร์เซลล์ไว้ต่อ 5-10 ปี จะสามารถคืนทุนได้ ในปีแรกจะเริ่มต้นกับผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปก่อน.

พรรครวมไทยสร้างชาติ

ชูจุดขาย “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเข้ามาสานต่อนโยบายที่รัฐบาลปัจจุบันทำไว้แล้ว ภายใต้ มอตโต้ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ”

นโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรบ้าง มีรายละเอียดในการดำเนินการอย่างไร ยังไม่มีการเปิดออกมาอย่างเป็นทางการ เท่าที่เปิดออกมาบนเวทีปราศรัย “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่าสำคัญที่สุดคือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ต้องจัดการกับพวกชังชาติล้มสถาบัน

การมุ่งสร้างสังคมที่ดี พัฒนาคุณภาพชีวิตสุขภาพอนามัยของประชาชน

การสร้างโอกาสในการทำมาหากิน โดยแก้ปัญหากฎหมายที่เป็นอุปสรรคให้กับประชาชน และมุ่งปราบปรามยาเสพติด

หลายอย่างที่ “ลุงตู่” ทำแล้ว ทำอยู่ และทำต่อ อาทิ บัตรสวัสดิการ แห่งรัฐจะเพิ่มเป็น 1,000 บาท และสามารถนำไปเป็นหลักประกันในการกู้เงิน 10,000 บาท จากสถาบันการเงินของรัฐได้ด้วย แต่ยังไม่มีการแจกแจงว่าใน 1,000 บาทสามารถนำไปใช้อะไรได้บ้าง ซื้อสินค้าได้ทั้งหมดหรือรวมค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าด้วย

ส่วนเรื่องที่ทำกินของเกษตรกรจะมีการรวบรวมที่ดินต่างๆที่สามารถเอามาแบ่งจัดสรรให้กับประชาชนการพัฒนาเมืองในต่างจังหวัดให้เสมอภาคเท่าเทียมกัน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้ขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียง ระบุว่า มีนโยบายเศรษฐกิจหลัก คือ การหารายได้จากต่างประเทศให้ได้ 4 ล้านล้านบาท ภายในเวลา 2-3 ปี เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ได้แก่ การสร้างไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)

สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ การลงทุนในโครงสร้างดิจิทัล คือ ดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ เซอร์วิส มีแอมะซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) กูเกิล หัวเหว่ย ตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยแน่นอนแล้ว

การสร้างรายได้จากชาวต่างชาติที่มีศักยภาพมาพำนักระยะยาวในประเทศไทย จากการออกวีซ่าพำนักระยะยาว Long-Term Resident Visa (LTR) 10 ปี ที่รัฐบาลนี้เริ่มต้นทำไว้แล้ว มีเป้าหมาย 1 ล้านคน สำหรับประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษพร้อมกับเน้นว่า รัฐบาลชุดที่แล้วได้ลงมือสร้างจุดแข็งของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ทันสมัย การส่งเสริมพลังงานสะอาด และการประกาศเป้าหมายให้ไทยเป็นประเทศที่เป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2030

ขณะที่ “นพ.เหรียญทอง แน่นหนา” ประธานคณะกรรมการด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต พรรครวมไทยสร้างชาติ ระบุว่ามีนโยบายจะทำให้เกิดโครงการ “1 เขต 1 โรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม 1 ศูนย์ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ป่วยโรคร้ายแรงระยะสุดท้าย” เพื่อให้สังคมเข้มแข็งประชาชนมีส่วนร่วมภาครัฐให้การสนับสนุน แต่ยังต้องไปแก้กฎหมายให้ดำเนินการได้ก่อน

พรรคพลังประชารัฐ

“ลุงป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มาพร้อมกับวาทะ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ประกาศนโยบายเศรษฐกิจพลิกโฉมประเทศ 360 องศา ชูชุดมาตรการ “3 เร่งด่วน” แก้ปัญหาครบทุกมิติ และ “7 เร่งรัด” วางรากฐานเพื่อความยั่งยืน ตอบโจทย์แก้จน ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้ ให้คนไทยกินดีอยู่ดีทุกกลุ่มถ้วนหน้า

“3 เร่งด่วน” ได้แก่ เร่งแก้ไขปัญหาที่กำลังทำความยากลำบากให้ประชาชนในปัจจุบันให้ครบทุกมิติ เพื่อปลดล็อกให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง

เร่งด่วนแรกคือ การแก้หนี้ให้ประชาชนและผู้ประกอบการอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมทั้งเติมทุนใหม่ ส่งเสริมสร้างโอกาสหารายได้เพิ่ม ลดค่าครองชีพ โดยจัดตั้งกองทุนประชารัฐ 300,000 ล้านบาท ขับเคลื่อนมาตรการ โดยกำหนดให้ปัญหาหนี้สินของประชาชน เป็นวาระแห่งชาติ ปรับโครงสร้างหนี้แบบลูกหนี้จ่ายได้จริง จัดสินเชื่อพิเศษสำหรับคนตัวเล็ก วงเงิน 50,000 บาท ดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ผ่อน 7 ปี วันละ 24 บาท

จัดสรรทุนตั้งต้นให้เอสเอ็มอี และสตาร์ตอัพ สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท เพื่อพัฒนา สร้างเศรษฐกิจย่านใหม่ทั่วประเทศ โดยจัดงบประมาณสนับสนุนย่านละ 50 ล้านบาทให้เกิดทำเลค้าขายใหม่ๆ

สร้างกิจการขนาดเล็ก ด้วยพลังซอฟต์เพาเวอร์ ปั้นให้เกิด 1,000 ซุปเปอร์แฟรนไชส์ นำไปสู่ 100,000 แฟรนไชส์ สร้างรายได้กว่า 1 ล้านล้านบาท

นโยบายพลัง งานเพื่อลดค่าครองชีพ ได้แก่ ปรับลดน้ำมัน เบนซินลดลงลิตรละ 18.07 บาท น้ำมันดีเซลลดลงลิตรละ 6.37 บาท ก๊าซหุงต้มเหลือถังละ 250 บาท รวมถึงเปลี่ยนผู้ใช้ให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้า โดยรัฐหนุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประชาชนจ่ายค่าไฟ 0 บาท

เร่งด่วนสองคือ การดูแลคนไทยด้วยชุดสวัสดิการแห่งรัฐ ควบคู่การเสริมทักษะพัฒนาคนไทยให้ก้าวทันโลก โดยเติมเงินบัตรประชารัฐเป็น 700 บาท ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายในยุคปัจจุบัน พร้อมขยายขอบเขตการใช้บัตรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มากขึ้น เช่น จ่ายค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมความมั่นคงโดยให้สิทธิผู้ถือบัตรรับประกันชีวิตวงเงิน 200,000 บาท

ยกระดับการศึกษาให้เป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบสำหรับคนไทยทุกคน เรียนฟรีสูงสุดระดับปริญญาเอก พร้อมทั้งเน้นส่งเสริมการศึกษาสายอาชีวะด้วยมาตรการ “เรียนฟรีมีรายได้” จากการทำงานไปพร้อมกัน และสนับสนุนคนไทยพัฒนาทักษะเดิม เสริมทักษะใหม่ ผ่านเครือข่ายศูนย์ประชารัฐพัฒนาที่จะจัดตั้งทั่วประเทศ

เร่งด่วนสามคือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกกลุ่มวัย ภายใต้แนวคิดเกิดดี โตมั่นคง แก่ตัวลงสุขสบาย ประกอบด้วย เกิดดี ปั้นเด็กไทยให้มีคุณภาพตั้งแต่ตั้งครรภ์ในเดือนที่ 5 ถึง 9 เดือนละ 10,000 บาท และเดือนละ 3,000 บาท หลังคลอดถึง 6 ขวบ

โตมั่นคง คนไทยที่มีรายได้ไม่ถึง 500,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี พร้อมทั้งนำเงินต้นค่าผ่อนบ้านหลังแรก มาลดหย่อนภาษีได้ 200,000 บาท และ แก่ตัวลงสุขสบาย เพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 3,000-5,000 บาท พร้อมจัดหาอาชีพและงานที่เหมาะสมให้หลังเกษียณ.

พรรคชาติไทยพัฒนา

พรรคที่มีฐานเสียงใหญ่ใน จ.สุพรรณบุรี นำโดย “วราวุธ ศิลปอาชา” หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่มากับมอตโต้ “รับฟัง ทำจริง” เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทย เป็นพรรคที่เน้นนโยบายทางสังคม

มีการเปิด 10 นโยบาย “ว้าว ไทยแลนด์” โดยมี WOW มีตัวย่อมาจาก W:Wealth สร้างความมั่งคั่ง O:Opportunity สร้างโอกาส W:Welfare for All สร้างคุณภาพที่ชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน

ประกอบด้วย 1.ผลักดันรัฐธรรมนูญ ฉบับปรับปรุงแก้ไข โดยรับฟังเสียงจากประชาชนทุกภาคส่วน ตามแบบฉบับที่นายบรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 เคยทำไว้ ที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนให้การยอมรับมากที่สุด

2.ผลักดันการพัฒนาเกษตรกรสมัยใหม่ ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ที่เหมาะสมต่อฤดูกาล และสภาพภูมิประเทศ ส่งเสริมการทำเกษตรยั่งยืน เพื่อสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้กับบริษัทเอกชนและภาครัฐ ในการสร้างแต้มต่อคาร์บอนเครดิตให้กับประเทศไทย เพื่อป้องกันกำแพงภาษีด้านสิ่งแวดล้อมจากนานาชาติ

3.แจกพันธุ์ข้าวฟรีทั่วประเทศ 60 ล้านไร่ ผลักดันงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย ชั้นนำของประเทศ ในการหาพันธุ์ข้าวที่ดี เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศและความต้องการของตลาดแจกจ่ายให้เกษตรกร ปลูกข้าวและพืชเศรษฐกิจที่มีคุณภาพพร้อมสนับสนุนเงินทุนเพาะปลูกไร่ละ 1,000 บาท

4.ขยายเขตไฟฟ้าการเกษตรทั่วประเทศ ควบคุมราคาหน่วยละ 2 บาท เพื่อลดภาระรายจ่าย ลดต้นทุนให้เกษตรกร เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันและการส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า พลังงานธรรมชาติ

5.ผลักดันให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยมีน้ำสะอาดบริโภค ช่วยลดรายจ่ายประชาชนจากการซื้อน้ำดื่มบริโภค และจัดทำระบบบาดาลขนาดใหญ่ในแต่ละตำบล ส่งเสริมการทำการเกษตรน้ำน้อย

6.ให้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น มีงบลงทุนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท เพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง มุ่งเน้นระบบการกำจัดขยะ ระบบไฟฟ้าธรรมชาติและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างเมืองสีเขียวที่ยั่งยืน

7.เรียนในสิ่งที่ใช่ ใช้ในสิ่งที่เรียน ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนในทุกระดับ เพื่อให้เยาวชนทำงานเป็น มีรายได้ มีความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง ตามความต้องการของตลาดการจ้างงาน

8.สุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท เพื่อซื้อสินค้า และจัดตั้งระบบประกันพลัส สำหรับประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพพื้นฐาน (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ สามารถสมทบทุนส่วนตัว (รายเดือน) เพื่ออัปเกรดในการใช้สิทธิในโรงพยาบาลเอกชน

9.สร้างงาน สร้างรายได้ แก่ผู้สูงอายุ เบี้ยคนพิการ เดือนละ 3,000 บาท

10.พัฒนาระบบขนส่งมวลชนระหว่างเมืองใหญ่ทั่วประเทศให้มีความทันสมัย และสะดวกสบายยิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองหลักแต่ละภูมิภาคให้ทัดเทียมกันและราคาไม่แพง

นโยบายของพรรคชาติไทยพัฒนาเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีทำ สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความร่วมมือ สร้างโอกาส สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างรายได้เพิ่มให้ประชาชน “ไม่เน้น ลด แลก แจก แถม”.

ตัดสินใจให้ถ้วนถี่ก่อนเข้าคูหากาเบอร์

พรรคชาติพัฒนากล้า

“สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า และ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ระบุว่า เนื่องจากเป็นพรรคขนาดเล็กจึงเสนอตัวเป็น พรรค “นิช มาร์เก็ต” แก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะ พร้อมจัดกลุ่มนโยบายรวม 12 เรื่อง พร้อมจัดกลุ่มเฉดสีเศรษฐกิจแต่ละด้านตั้งเป้าสร้างงานเพิ่มเม็ดเงินใหม่ 5 ล้านล้านบาท

การจัดแบ่งเศรษฐกิจเป็นเฉดสีคือธุรกิจใดที่ยังไม่เป็นกอบเป็นกำ มาทำให้ชัดเจน เช่น เศรษฐกิจสีเหลือง ได้แก่ ซอฟต์ เพาเวอร์ เช่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ ต้องทำให้เป็นเศรษฐกิจที่ชัดเจน โดยจะต้องมีการตั้งกองทุนซอฟต์ เพาเวอร์ 10,000 ล้านบาท มาสนับสนุน

เศรษฐกิจสีเขียว คาร์บอน เครดิต อุตสาห กรรมรถยนต์ไฟฟ้า หยิบมาทำให้เป็นกิจจะลักษณะ เศรษฐกิจสีเทา เช่น ชีวิตกลางคืน แรง งานต่างด้าว หวย นำมาทำให้ถูกกฎหมาย หรือเศรษฐกิจสีขาว การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ท่องเที่ยวสายมู และเศรษฐกิจสีเงิน มีผู้สูงอายุ 12 ล้านคน เช่น หมู่บ้านผู้สูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพ การออกแบบอารยสถาปัตย์ ทั้งหมดนี้หากทำให้ชัดเจนจะสร้างรายได้จากการจ้างงาน 5 ล้านล้านบาท

ประเด็นเรื่องการยกเลิกแบล็กลิสต์ เครดิตบูโร พุ่งเป้าสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จำนวน 5 ล้านราย เพื่อให้มีโอกาสกลับมาสร้างเนื้อสร้างตัวกันใหม่และให้มีการปรับปรุงระบบเครดิตบูโร ในรูปแบบของการจัดให้มีเครดิต สกอริ่ง ที่รายงานด้านดีๆ เช่น จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟตรงเวลา ความสามารถผ่อนชำระ การมีเงินเดือนที่สูงกว่าค่าใช้จ่าย

การเพิ่มเงินในกระเป๋าให้ประชาชน 4 ล้านคน มีภาระภาษีน้อยที่สุด โดยคนเงินเดือน 40,000 บาท จะได้รับการลดหย่อนเพื่อไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พร้อมกับรื้อโครงสร้างพลังงาน เพื่อลดค่าใช้จ่ายของประชาชน จากน้ำมันแพง ก๊าซแพง ค่าไฟฟ้าแพง โดยการคิดสูตรค่าการกลั่นที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงที่เป็นธรรมกับผู้บริโภค แทนการไปอิงกับค่าการกลั่นของสิงคโปร์

พร้อมกับการลดปริมาณไฟฟ้าสำรองจากปัจจุบัน 40% ของกำลังการผลิต 53,000 เมกะวัตต์ ลงเหลือ 20% ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้จริง 33,000 เมกะวัตต์ เพื่อลดค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ลงที่ และให้มีการปรับไปใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์และพลังงานลมให้มากขึ้น และเร่งเดินหน้าเจรจากับกัมพูชาเพื่อขุดหาก๊าซธรรมชาติ ในโครงการร่วมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา

สำหรับภาคเกษตรจะเพิ่มรายได้โดยเอาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมมาใช้พร้อมกับมองนโยบายท่องเที่ยวที่จะเพิ่มจำนวนต่างชาติเที่ยวไทย 70-80 ล้านคน และให้อยู่นานขึ้นเป็น 12 วัน เพื่อสร้างรายได้ 5 ล้าน ล้านบาท

สุดท้ายคือนโยบายมอเตอร์เวย์ทั่วไทยทั่วทิศ 2,000 กิโลเมตร ไปเหนือ อีสาน ตะวันออก และลงใต้ ควบคู่กับถนน 4 เลน ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทั่วประเทศ.

พรรคประชาธิปัตย์

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงจุดยืนชัดเจนในเรื่องของยาเสพติด ประกาศยุทธศาสตร์ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ยาเสพติดต้องไม่มี กัญชาเสรีต้องยกเลิก” และยังคงยืนนโยบายการประกันรายได้จ่ายเงินส่วนต่างสินค้าเกษตร ข้าว มัน ยาง ปาล์ม และข้าวโพด

นโยบายที่เปิดมาใหม่คือ กระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ด้วยเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจเกิน 5% ประกอบด้วย ธนาคารหมู่บ้านและชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท รวมวงเงิน 180,000 ล้านบาท ปลดล็อกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ให้นำเงินไม่เกิน 30% ไปซื้อบ้านหรือลดหนี้ที่อยู่อาศัย รวม 100,000 ล้านบาท และปลดล็อกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในรูปแบบเดียวกัน 200,000 ล้านบาท โดยปัจจุบัน รวม 2 กองทุน จะมีวงเงินอยู่ประมาณ 2.6 ล้านล้านบาท และมีสมาชิกรวมกันประมาณ 4.2 ล้านคน จัดตั้งกองทุนเพิ่มทุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ตอัพ 300,000 ล้านบาท และนโยบายของพรรคอีก 13 เรื่อง รวมวงเงิน 220,000 ล้านบาท

มีเงื่อนไขสำคัญลดหนี้ครัวเรือน ไม่สร้างหนี้สาธารณะ โดยระบุว่า เงิน 1 ล้านล้านบาท มีเงิน 800,000 ล้านบาทรออยู่แล้วในระบบการเงิน การคลัง และอีก 200,000 ล้านบาท มาจากการปรับโครงสร้างระบบงบประมาณ

จากนั้นมีนโยบายปรับโครงสร้างระยะยาว และปลดล็อกข้อจำกัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการผลิตในด้านที่ดิน ได้แก่ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี ให้กรรมสิทธิ์ทำกินให้กับผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ ให้เงิน 3 ล้านบาทต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่สำหรับแต่ละกลุ่มแต่ละแปลง เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเพิ่มผลผลิต การลดต้นทุน การเสริมสร้างสภาพใหม่ให้กับภาคเกษตรของทั้งพืช ประมงและปศุสัตว์

ค่าตอบแทน อกม. (อาสาสมัครเกษตรประจำหมู่บ้าน) 1,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้ไปช่วยดูข้อมูลและประสานงานลึกลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ครัวเรือน ที่ทำการเกษตร

สำหรับกลุ่มประมง ปลดล็อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ IUU ด้านแรงงาน ให้ “เรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ” เพื่อให้เรียนจบแล้วมีงานทำ เป็นรูปแบบตลาดนำการผลิตทางการศึกษา

ส่วนด้านเทคโนโลยีมีนโยบาย “อินเตอร์เน็ตฟรี 1 ล้านจุด ทุกหมู่บ้าน ทุกห้องเรียน” ประกอบด้วย ชุมชนในเขตเมือง เขตเทศบาล เขตหน่วยการปกครองท้องถิ่น รวมพื้นที่ชุมชนของกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมดประมาณ 80,000 หมู่บ้าน/ชุมชน และจะมีอินเตอร์เน็ตฟรีรวมกันในหมู่บ้าน/ชุมชน ประมาณ 600,000 จุด สำหรับห้องเรียนทั่วประเทศมีประมาณ 350,000 ห้อง โดยจะจัดให้มีอินเตอร์เน็ตฟรีประมาณ 400,000 จุด

นโยบายกระจายรายได้ของพรรคประชาธิปัตย์ที่นอกเหนือจากประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิดแล้ว ยังมีการให้เงินชาวนา 30,000 บาทจากที่ดินไร่ละ 2,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ ประมงพื้นบ้าน กลุ่มละ 100,000 บาทต่อปี ด้านปศุสัตว์แจกฟรีนมโรงเรียน 365 วัน ชมรมผู้สูงอายุ 30,000 บาทต่อปี ปัจจุบันประเทศไทยมีชมรมผู้สูงอายุที่จดทะเบียนอยู่ประมาณ 30,000 ชมรม และตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียว.

พรรคภูมิใจไทย

“อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ชูสโลแกน “ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ”

น่าสังเกตที่นโยบายหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการนำเสนอเรื่อง “กัญชาเสรี” หลังจากการทำงานภายในรัฐบาลที่ผ่านมาได้ผลักดันกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดได้สำเร็จ เพื่อนำไปสู่การพัฒนากัญชาทางการแพทย์ แต่เจอเกมในสภาทำให้การผลักดันกฎหมายควบคุมการใช้กัญชาไม่ลุล่วง ตอนนี้ยังเป็นเรื่องค้างคาที่ต้องเข้ามาทำต่อ เพราะถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำให้เด็กเยาวชน คนทั่วไปเข้าถึงกัญชาในรูปแบบของยาเสพติดได้ง่ายขึ้น

สำหรับนโยบายที่ชูหาเสียงมาแต่เนิ่นๆของพรรคภูมิใจไทยรอบนี้คือ พักหนี้ 3 ปี หยุดต้น ปลอดดอกเบี้ย คนละไม่เกิน 1 ล้านบาท

คนที่ใช้สิทธิได้บ้าง เป็นหนี้ในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน สหกรณ์ กยศ. กองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิต ไฟแนนซ์ ลีซซิ่ง

พรรคภูมิใจไทยยืนยันทำได้จริง ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาลชื่อ พันธบัตร Thai Power หรือ พันธบัตรคนไทยรวมพลัง จำหน่ายให้กับประชาชนผู้มีเงินฝาก ดอกเบี้ย 2.5-3% แล้วนำเงินที่ได้จากการขายพันธบัตร มาแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน

สำหรับคนที่มีหนี้เกิน 1 ล้าน ให้ใช้สิทธิได้ 1 ล้าน บาทเท่านั้น ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท ต้องผ่อนชำระตามปกติ โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อแก้หนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันของประชาชน โดยจะเริ่มภายใน 3 เดือน หลังจากหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะนายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จสิ้น

หมายเหตุให้ทราบว่า ต้อง “อนุทิน” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นโยบายต่อมา “ชุมชนดี แหล่งท่องเที่ยวดีและผู้ประกอบการดี ด้วยกองทุนท่องเที่ยว” ตั้งเป้ารายได้ดี 4 ปี 6 ล้านล้านบาท เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวสู่ 80 ล้านคน เพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวสู่ 6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 สร้างงานดี 10 ล้านตำแหน่งเพิ่มอัตราการจ้างงาน สร้างแรงจูงใจพัฒนาศักยภาพแรงงาน

ตามมาด้วยนโยบาย “เกษตรร่ำรวย” Contract Farming รู้ราคาก่อนปลูก รับเงินก่อนขาย เสียหายมีประกัน โดยจะใช้กับพืช 4 ชนิด โดยกำหนดราคารับซื้อล่วงหน้า ได้แก่ ราคาข้าวขาว 12,000 บาทต่อตัน ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาทต่อตัน มันสำปะหลัง 4 บาทต่อ กก. ปาล์มทะลาย 5 บาทต่อ กก. น้ำยางสด 62 บาทต่อ กก. ยางแผ่น 65 บาทต่อ กก.

แถมท้ายด้านนโยบายสาธารณสุข เครื่องฉายรังสีฟรีทุกจังหวัดรักษามะเร็ง ศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ และนโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ฟรีหลังคาโซลาร์เซลล์ ลดค่าไฟฟ้าหลังคาเรือนละ 450 บาทต่อเดือน และส่งกระแสไฟฟ้าส่วนเกินขายให้แก่รัฐบาล และรับสิทธิ์ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ราคา 6,000 บาท ให้ผ่อนเดือนละ 100 บาท 60 งวด และสามารถใช้เครดิตพลังงานเติมกระแสไฟฟ้าได้ฟรี.

พรรคไทยสร้างไทย

“คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย มาพร้อมกับนโยบายปลดล็อกเศรษฐกิจด้วยนโยบาย 3 สร้าง ที่สอดคล้องกับชื่อพรรค ได้แก่ สร้างพลังคนตัวเล็ก สร้างรายได้ สร้างโอกาสและความสุข ควบคู่กับการลดรายจ่าย ตั้งเป้าหมายให้คนไทยหายจน หมดหนี้ มีรายได้ดีใน 3 ปี

การสร้างพลังคนตัวเล็ก เริ่มต้นด้วยออกกฎหมาย 1 ฉบับเพื่อการแขวนกฎหมาย 1,400 ฉบับ ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ต่อด้วยการปลดล็อกรัฐราชการ แขวนกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐรวมศูนย์ สร้างกฎหมายที่กระจายอำนาจ ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง ตลอดจนปลดล็อกคอร์รัปชัน โดยเดินหน้าปราบ ปราม และสร้างระบบรัฐบาลอิเล็ก ทรอนิกส์ ป้องกันการจ่ายใต้โต๊ะ

สำหรับการปลดล็อกเศรษฐกิจ มีนโยบายจัดตั้ง 3 กองทุนหลัก ได้แก่ กองทุนฟื้นฟูหนี้เสีย วงเงิน 10,000-20,000 ล้านบาท โดยนำเงินในกองทุนไปจ่ายดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้รหัส 21 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในฐานของเครดิตบูโรที่ค้างชำระหนี้เกิน 90 วัน จากวิกฤติโควิด-19 ประมาณ 3-4 ล้านคน พร้อมทั้งเจรจากับสถาบันการเงินเพื่อขอปรับลดหนี้ และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ในกลุ่มนี้ด้วย

กองทุน SMEs หรือกองทุนสร้างไทย วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่อง มีปัญหาหนี้สิน และใช้เติมทุนสร้างนวัตกรรมให้กับสตาร์ตอัพ

กองทุนเครดิตประชาชนทำหน้าที่ปล่อยกู้ฉุกเฉินรายละ 5,000-50,000 บาท ดอกเบี้ยต่ำที่ 1% ต่อเดือน ผ่อนจ่ายได้เป็นรายวัน เมื่อจ่ายครบ จ่ายตรง จะเพิ่มวงเงินในการกู้ให้เป็นทุนหมุนเวียนโดยไม่ต้องกู้เงินนอกระบบ

สำหรับการสร้างรายได้ มีทั้งจากฐานเดิมที่คนไทยถนัด การพัฒนาเกษตรแปรรูป จัดตลาดสินค้าเกษตรรายจังหวัด ปฏิรูปชลประทานทั้งระบบ ประกันราคาปุ๋ย สร้างไทยเป็นครัวโลก สร้างอาหารทางเลือกและอาหารแห่งอนาคต สร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงฐานข้อมูลการเกษตรเพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุนทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยี ด้านการท่องเที่ยวจะมีแพลตฟอร์มการจองที่พักราคาถูกโดยรัฐ ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ สนับสนุนท่องเที่ยวเมืองรอง สร้างแลนด์มาร์กการท่องเที่ยวทุกจังหวัด สนับสนุนโรงแรมขนาดเล็ก ทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับโลกในไทย 12 เดือน และทำเขตเศรษฐกิจพิเศษทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ส่วนการสร้างโอกาสและความสุข อาทิ ยกเว้นภาษีธุรกิจเอสเอ็มอี 3 ปี ยกเว้นภาษีผู้มีรายได้ต่ำกว่าปีละ 300,000 บาท เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีและลดเวลาเรียนลง 3 ปี เพื่อให้เยาวชนเข้าสู่ตลาดแรงงานได้รวดเร็วขึ้น ตั้งแต่อายุ 18 ปี บำนาญประชาชน 3,000 บาท โครงการ 30 บาทพลัส พบหมอออนไลน์ส่งยาที่บ้าน และนัดหมอผ่านแอปพลิเคชัน โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุ

ตบท้ายด้วยโครงการหวยบำเหน็จ ซื้อหวยเงินไม่หายได้ลุ้นรางวัล พร้อมกำหนดค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.50 บาทต่อหน่วย ให้กู้ติดตั้งโซลาร์ รูฟ ราคาถูก ขายไฟคืนได้.

ทีมเศรษฐกิจ