การปลูกกัญชาในครัวเรือนอีกหนึ่งสมุนไพรไทย จะทำได้อย่างเสรีหลังจากนี้หรือไม่? เมื่อมีการถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 เช่นเดียวกับกัญชง และต้องรอประกาศกระทรวงสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้ใน 120 วัน
เป็นความพยายามขับเคลื่อนกัญชาเสรี ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคภูมิใจไทย ได้เดินหน้าให้เกิดเป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่การประกาศใช้พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 เพื่อปลดล็อกกัญชาใช้ทางการแพทย์ และในปี 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ชุมชนสามารถปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ภายใต้เงื่อนไขต้องขออนุญาตจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน
แม้ปลดล็อกส่วนต่างๆ ของกัญชาออกจากยาเสพติด แต่ช่อดอก ใบติดช่อดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติด ทำให้ไม่เอื้อต่อการปลูกของแต่ละครัวเรือน และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพ นำไปสู่การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564
แต่การปลดล็อกกัญชา รวมถึงกัญชง ออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ต้องมีปริมาณสาร THC น้อยกว่า 0.2% โดยน้ำหนัก จะถือว่าไม่เป็นยาเสพติด และต้องมาจากการอนุญาตปลูกในประเทศเท่านั้น ทำให้กัญชาเสรีในไทย อาจไม่เสรีอย่างเต็มที่ ต้องมีข้อกำหนดในการกำกับดูแล โดยจะต้องมีพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ออกมารองรับ เพื่อป้องกันการตีความสับสนว่าด้วยการใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพเท่านั้น และไม่ให้เป็นโทษต่อร่างกาย
...
บรรดาสายเขียว รอคอยการปลดล็อกให้เสพเพื่อความบันเทิงและสันทนาการ อาจต้องผิดหวัง เพราะไม่ใช่เรื่องง่าย หากนำไปใช้ในทางเป็นโทษยังคงมีความผิด และแม้กัญชามีประโยชน์มากมาย แต่ก็มีโทษหากใช้เกินขนาด เหมือนดาบสองคมเช่นเดียวกับสมุนไพรไทย ซึ่งต้องมีสูตรในการปรุงให้มีสรรพคุณทางยาในการรักษาตามตำราโบราณ.