• หลังการประกาศใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ได้เกิดข้อถกเถียงในประเด็นกัญชาเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 หรือไม่ ระหว่างพรรคภูมิใจไทย กับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. ในช่วงที่ผ่านมา

  • พรรคภูมิใจไทย ซึ่งขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีมาตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง และพยายามผลักดันทำให้กัญชาเป็นพืชที่ปลูกได้ในครัวเรือน มองว่า เมื่อกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ ไม่มีชื่อกัญชา ก็เท่ากับว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่ได้มองกัญชาเป็นยาเสพติด และไม่ควรมีผู้ถูกจับกุมอีกต่อไป

  • ฝั่งเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส.ในฐานะผู้ปฏิบัติยืนยันการปลูกกัญชาหรือครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำผิดกฎหมาย เพราะยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ตราบใดที่ยังไม่มีการปลดล็อกถอดกัญชา ออกจากบัญชียาเสพติด ยกเว้นมีการขออนุญาตในการรวมตัวของครัวเรือน อย่างน้อย 7 ครัวเรือนในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน สามารถปลูกกัญชาได้บ้านละ 6 ต้น

ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นกำลังจะคลี่คลาย ภายหลังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ในการถอดกัญชาและกัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 และล่าสุดคณะกรรมการควบคุมยาเสพติด ได้เห็นชอบ เตรียมเสนอบอร์ด ป.ป.ส.ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ หากให้ความเห็นชอบ จะเป็นอำนาจของ นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการลงนามประกาศใช้

...

ล่าสุด บอร์ด ป.ป.ส. ได้เห็นชอบแล้ว และจะมีผลในอีก 120 วัน หลังมีประกาศของกระทรวงสาธารณสุขในราชกิจจานุเบกษา และจะมีการออกข้อกำหนดควบคุม ในการนำมาใช้ทางการแพทย์ การศึกษาวิจัย อุตสาหกรรม และการใช้ทางสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ใช่นำไปใช้ทางที่ผิด โดยพรรคภูมิใจไทย ได้เสนอที่ประชุมสภาฯ ให้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ...

สารสกัดกัญชา ยังเป็นยาเสพติด ยกเว้นอนุญาตให้ปลูก

เพื่อให้ ”ชาวสายเขียว” คลายความกังวลใจ “นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล” รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุ ได้พิจารณาตามเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 จะไม่มีกัญชา อยู่ในยาเสพติดอีกต่อไป แต่สารสกัดทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุลแคนนาบิส (Cannabis) ยังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 รวมถึงพืชฝิ่น เห็ดขี้ควาย หรือพืชเห็ดขี้ควาย

ยกเว้นสารสกัดจากพืชกัญชาและกัญชง เฉพาะที่ได้รับอนุญาตปลูกในประเทศเท่านั้น มีปริมาณสาร THC ไม่เกิน 0.2% โดยน้ำหนัก และสารสกัดจากเมล็ดกัญชาและกัญชง จากการปลูกในประเทศ ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ

“หากกฎหมายไม่ระบุเป็นยาเสพติด การครอบครองหรือการค้า ก็ไม่มีโทษทางกฎหมาย และปลูกเสรีได้ ยกเว้นปลูกเพื่ออุตสาหกรรม ต้องขออนุญาต ส่วนการนำช่อและดอกกัญชามาใช้ หากยังไม่มีกฎหมายฉบับอื่นออกมาบังคับหรือควบคุม ก็ใช้ได้ตามภูมิปัญญา เพื่อดูแลสุขภาพ”

เหตุผลปลดล็อกกัญชา ออก ก.ม. ควบคุมเหมือนกระท่อม

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ กล่าวถึงการปลดล็อกกัญชา กัญชง ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ว่า เจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 ต้องการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษอยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องมีขั้นตอน ด้วยการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการระบุชื่อยาเสพติดให้โทษ และในฐานะเป็นนักวิชาการที่พิจารณาตามหลักวิชาการ ก็เห็นด้วยในแนวทางดังกล่าว

ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน
ดร.ภก.อนันต์ชัย อัศวเมฆิน

แต่จะต้องมีแนวทางการกำกับดูแลออกมา เช่นเดียวกับ พ.ร.บ.กระท่อม ด้วย 3 เหตุผล คือ 1.หลังจากการเปิดนโยบายกัญชาเสรีทางการแพทย์ ได้รับการตอบรับดี เพียงแต่ยังไม่รวมการปลูกเพื่อใช้รักษาตัวเองในครัวเรือน 2.พ.ร.บ.ควบคุมกัญชาเดิมไม่ได้ส่งเสริมให้ใช้เป็นพืชเศรษฐกิจ แต่เป็นกันป้องกันและปราบปราม ทำให้เข้าถึงได้ยากมาก แม้กระทั่งการแพทย์และเศรษฐกิจ และ 3.เกิดเป็นคำถามว่า เหตุใดจึงเราไม่ปลดล็อกออกมา แล้วให้มีการควบคุมบางสารที่ถูกกำหนดภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่เป็นยาเสพติด แต่เรายังมีมาตรการกฎหมายอื่นออกมาเพื่อเอื้อในการควบคุมใช้ในทางที่ผิด และการสนับสนุนการใช้ในทางที่ถูก

...

“ในส่วนการควบคุมการใช้กัญชา ด้วยการออก พ.ร.บ.ควบคุม เช่น ช่อดอก ซึ่งสามารถทำได้ตามประมวลยาเสพติดฯ ขณะที่ แนวทางในการปลูกจะต้องมีการกำกับดูแล เช่น การจดแจ้งการปลูก มรข้อมูลผู้ปลูก จำนวนต้นชัดเจน เพื่อให้มีการใช้กัญชาให้เกิดประโยชน์”

กัญชาช่วยให้สุขภาพดีขึ้น ใช้คู่กับยาแผนปัจจุบัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การใช้กัญชาสกัดแบบต่างๆ สามารถลดการใช้ยาแผนปัจจุบันมากเกินไป และช่วยคนไข้มีสุขภาพดีขึ้น หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ไม่ได้บอกว่ายาแพทย์แผนปัจจุบันไม่ดี แต่ต้องใช้กัญชาควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน ซึ่งพืชกัญชาที่เป็นยา ทั้งต้น ราก ใบ ดอก มีส่วนประกอบของสารต่างๆ ไม่เท่ากัน และเป็นที่มาของการใช้ในสัดส่วนต่างๆ กัน ตามตำราของแพทย์แผนไทย หรือที่จารึกไว้แต่โบราณกาล

ส่วนการใช้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สามารถใช้ได้ทุกอย่าง เป็นการออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานในการสร้างสารกัญชาในร่างกายอีกทอด โดยผ่านตัวรับหลากหลายที่อยู่ในมนุษย์ ซึ่งต่างกันในแต่ละคน แม้ว่าจะเป็นโรคเดียวกัน ตั้งแต่หัวจรดเท้าทุกเซลล์และทุกอวัยวะ และเลือกที่จะทำงานตามความเหมาะสม และสั่งงานให้มีการประสานกันของระบบต่างๆ

...

“การใช้ในคนป่วย ไม่ได้ยากเกินไปที่จะใช้ และประชาชนคนทั่วไป ก็มีการใช้มานานด้วยการปรับขนาดขึ้นลงของตนเอง และสามารถอธิบายได้ตามหลักการของการออกฤทธิ์กัญชาในสมัยใหม่ โดยที่คนป่วยเหล่านี้มักเป็นคนยากไร้ ยากจนที่สุดในประเทศ หรือที่เข้าไม่ถึงการรักษาหรูหรา หรือไม่สามารถเข้าไปรอรับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งแออัด หมอและพยาบาลหยิบมือไม่สามารถรับมือได้”

...

อีกทั้งโรคมีระดับความซับซ้อน เป็นที่มาที่คนยากไร้พบหนทางในการรักษาตนเอง ให้พ้นจากความทรมานจนกระทั่งหาย ซึ่งเห็นประจักษ์ชัดในคนป่วยต่างๆ ที่ถูกตราหน้าว่าใช้ของผิดกฎหมาย ใช้ยาเสพติด จนกระทั่งถูกจับ ปรับ ถูกเข้าคุก แม้ว่าเห็นอยู่ชัดเจนด้วยตาว่าเจ็บป่วย โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ก็ตาม และปลูกสิบต้นถูกกล่าวหาว่ามากเกิน โดยไม่เข้าใจว่า คนป่วยใช้ใบในการรักษาด้วย ไม่ใช่สกัดแต่น้ำมันจากดอก กระทั่งมีการอบส่วนต่างๆ หรือใช้ชงแบบน้ำชา ในการบรรเทาอาการปวด เครียด นอนไม่หลับ ในผู้สูงอายุ.

ผู้เขียน : ปูรณิมา