“เรือรบ” ซึ่งนอกจากจะถูกออกแบบให้สามารถปฏิบัติการในท้องทะเลที่มีสภาพอากาศแปรปรวนตลอดเวลาได้อย่างมีเต็มศักยภาพแล้ว มันยังอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีการเดินเรืออันสมัย เพื่อให้สามารถเดินเรือในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ถึง 3 ใน 4 ของโลก ได้อย่างปลอดภัยด้วย
หากแต่ในความเป็นจริง จากประวัติศาสตร์การเดินเรือที่ผ่านมา มีหลายต่อหลายครั้ง ที่ “เรือรบอันน่าเกรงขามและทันสมัย” เหล่านี้ ต้องประสบกับหายนะที่คาดไม่ถึง และนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป คือ เหตุการณ์อุบัติเหตุการชนกันของเรือรบ 8 เหตุการณ์ ที่ถูกรวบรวมเอาไว้โดย New York Times
3 มิถุนายน 1969 :
เวลา 03.00 น. เรือบรรทุกเครื่องบิน HMAS Melbourne ของราชนาวีออสเตรเลีย ชน เรือพิฆาต Frank E. Evans ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะทำการซ้อมรบร่วมกันในทะเลจีนใต้ เป็นเหตุให้มีทหารบนเรือพิฆาต Frank E. Evans เสียชีวิตถึง 73 นาย
...
โดยอุบัติเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่เรือพิฆาต Frank E. Evans กำลังพยายามแล่นเรือไปประจำตำแหน่งป้องกันทางด้านหน้าเรือบรรทุกเครื่องบิน HMAS Melbourne แต่เกิดความผิดพลาดจนกระทั่งทำให้เรือทั้งสองลำชนกันอย่างรุนแรง จนกระทั่ง เรือพิฆาต Frank E. Evans ขาดออกเป็นสองท่อน โดยส่วนหน้าเรือจมลงไปในน้ำอย่างรวดเร็ว และเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ส่วนทางด้านท้ายเรือขึ้นมาเกยทางกราบเรือด้านขวาของเรือบรรทุกเครื่องบิน HMAS Melbourne ทำให้สามารถกู้ภัยและช่วยเหลือกำลังพลที่อยู่ในส่วนนี้ออกมาจากเรือได้จำนวนมาก
ด้าน เรือบรรทุกเครื่องบิน HMAS Melbourne ได้รับความเสียหายอย่างหนักที่บริเวณส่วนหน้าของเรือ และต้องแล่นเรือไปทำการซ่อมแซมที่ฐานทัพในประเทศสิงคโปร์
9 เม.ย. 1981 :
เรือดำน้ำ USS George Washington ซึ่งเป็นเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์สำหรับการปฏิบัติการทางยุทธศาสตร์ลำแรกของกองทัพเรือสหรัฐฯ ชนเรือบรรทุกสินค้า Nissho Maru นอกจากฝั่งเมืองซาเซโบะ (Sasebo) ประเทศญี่ปุ่น เป็นเหตุให้มีลูกเรือบนเรือบรรทุกสินค้า เสียชีวิต 2 ศพ
โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ เรือดำน้ำ USS George Washington อยู่ที่ความลึกระดับกล้องเพอริสสโคป (Periscope) โดยหลังเกิดการชน เรือดำน้ำของกองทัพสหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นจากผิวน้ำเพื่อทำการกู้ภัยทันที แต่เนื่องจากเกิดหมอกลงจัด จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเรืออีกลำซึ่งกำลังแล่นเข้าท่าเรือ คือ เรือ Nissho Maru
ทั้งๆ ที่ความจริงคือ เรือลำดังกล่าวได้จมลงหลังเกิดการชนภายในเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น เป็นเหตุให้ลูกเรือที่รอดชีวิตซึ่งลอยคออยู่ในทะเล ต้องใช้เวลารอคอยในอีกอีกหลายชั่วโมงต่อมากว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเรือของกองกำลังป้องกันตัวเองของญี่ปุ่น
21 มี.ค. 1984 :
เวลา 22.07 น. เกิดเหตุ เรือดำน้ำจู่โจมพลังงานนิวเคลียร์ K-134 ของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต ชนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Kitty Hawk ขณะแล่นเรือเพื่อเตรียมเข้าร่วมการซ้อมรบกับกองทัพเรือเกาหลีใต้ ในทะเลญี่ปุ่น อย่างไรก็ดีไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บ รวมถึง ไม่พบการรั่วไหลของกัมมันตรังสีแต่อย่างใด
...
โดยรายงานของกองทัพเรือสหรัฐฯ อ้างว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่ เรือดำน้ำ K-134 พยายามลอยลำขึ้นสู่ผิวน้ำใกล้กับ เรือบรรทุกเครื่องบิน USS Kitty Hawk มากเกินไป และก่อนหน้านั้นยังมีการเดินเรือที่ส่อเจตนาว่าต้องการทดสอบระบบต่อต้านเรือดำน้ำของกองทัพสหรัฐฯ ด้วย
12 ก.พ. 1988 :
เรือลาดตระเวน USS Yorktown ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ชน เรือฟริเกต Bezzavetny ของกองทัพเรือสหภาพโซเวียต บริเวณ ทะเลดำ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
โดยสาเหตุของการชนในครั้งนี้ เกิดจากเรือลาดตระเวน USS Yorktown พยายามแล่นเรือเข้าไปยังทะเลดำ ซึ่งเป็นน่านน้ำในความดูแลของกองทัพสหภาพโซเวียตในยุคสงครามเย็นจึงทำให้ เรือ Bezzavetny พยายามเข้าไปขัดขวาง จนกระทั่งทำให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น อย่างไรก็ดี การชนกันในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เรือของทั้งสองฝ่ายได้รับความเสียหายรุนแรงแต่อย่างใด
9 ก.พ. 2001 :
เรือดำน้ำจู่โจม USS Greeneville พุ่งชนใต้ท้อง เรือนำเที่ยว Ehime Maru ขณะกำลังพุ่งขึ้นเหนือผิวน้ำ บริเวณนอกชายฝั่งฮาวาย เป็นเหตุให้มีพลเรือนเสียชีวิตรวม 9 ศพ ในจำนวนนี้เป็นเด็กนักเรียนมัธยมปลายชาวญี่ปุ่นถึง 4 ศพ
...
นี่คือเหตุการณ์ที่เศร้าสะเทือนใจ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นตกต่ำลงมากที่สุด โดยเรือดำน้ำซึ่งขณะนั้นมีรายงานว่า มีแขกระดับ VIP อยู่บนเรือได้พยายามแสดงศักยภาพของเรือด้วยการโชว์การพุ่งตัวขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความรวดเร็ว นั้น ได้พุ่งเข้าใส่เรือ Ehime Maru ที่ลอยลำอยู่อย่างรุนแรง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นรวมถึง 9 ศพ โดยเป็นนักเรียนมัธยมปลาย 4 ศพ ครูชาวญี่ปุ่น 2 ศพ และลูกเรืออีก 3 ศพ จากจำนวนทั้งหมด 35 คน
หากแต่สิ่งที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นโกรธแค้นมากที่สุด คือ การที่มีรายงานว่า เรือดำน้ำ USS Greeneville ไม่ได้เข้าให้การช่วยเหลือผู้รอดชีวิตทันทีหลังจากเกิดเหตุ อีกทั้งนายทหารที่ทำหน้าผู้บังคับการเรือดำน้ำลำดังกล่าว ยังไม่ยินยอมที่จะกล่าวขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทันทีด้วย แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น ชาวญี่ปุ่นยังรู้สึกว่า กระบวนการไต่สวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ยังมีแนวโน้มออกไปในทางที่จะพยายามหาทางปกป้องนายทหารคนดังกล่าวด้วย
...
และเมื่อต้องเผชิญหน้ากับแรงกดดันจากชาวญี่ปุ่น กองทัพเรือสหรัฐฯ จึงประกาศชดใช้ค่าเสียหายให้กับเหยื่อและครอบครัวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และ อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ยังต้องออกแถลงการณ์ขอโทษสำหรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ด้วย
20 มี.ค. 2009 :
เรือดำน้ำจู่โจมพลังงานนิวเคลียร์ USS Hartford ชน เรืออู่ยกพลขึ้นบก USS New Orleans ขณะอยู่ที่ความลึกระดับกล้องเพอริสสโคป (Periscope) ที่ช่องแคบฮอร์มุซ เป็นเหตุเรือดำน้ำ USS Hartford ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และ ลูกเรือได้รับบาดเจ็บ 15 นาย
19 ส.ค. 2016 :
เรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์ USS Louisiana ชน เรือสนับสนุน Eagleview ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะกำลังปฏิบัติการร่วมกันในช่องแคบฮวน เดอ ฟูกา นอกชายฝั่งวอชิงตัน เรือทั้งสองลำได้รับความเสียหาย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
17 มิ.ย. 2017 :
เวลาประมาณ 01.30 น. เรือพิฆาต Fitzgerald ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเรือรบที่มีความล้ำสมัยมากที่สุดของกองทัพเรือสหรัฐฯในเวลานั้น ได้เกิดชนเข้ากับ เรือบรรทุกสินค้า ACX Crystal สัญชาติฟิลิปปินส์ ที่บริเวณห่างจากชายฝั่งทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองท่าโยโกสุกะ ประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นเหตุให้มีทหารเรือสหรัฐฯ เสียชีวิตถึง 7 นาย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
กราฟิก Anon Chantanant
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง