ผ่านมาแล้วเกือบ 4 วัน สำหรับอุบัติเหตุ เรือหลวงสุโขทัยล่มกลางทะเลอ่าวไทย ห่างฝั่ง 19 ไมล์ทะเล อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ กำลังพล 105 นาย ถูกนำขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย 76 นาย เสียชีวิต 6 ศพ ยังเหลือต้องค้นหาและยังไม่ทราบชะตากรรมอีก 23 นาย (ณ เวลา 17.00 น. 22 ธ.ค.65) 

นาทีนี้ คงต้องลุ้น “ปาฏิหาริย์” ให้มีผู้รอดชีวิต ถึงแม้จะลอยคอกลางทะเลมาเกือบ 90 ชั่วโมง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ อดีตครูฝึกหน่วยซีล หรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือคนหนึ่ง ให้ความเห็นว่า ถึงเวลานี้ โอกาสรอดของผู้สูญหายนั้น ยากขึ้นทุกขณะ การจะรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความอึดแต่ละบุคคล และมีความสามารถการ buoyancy (ลอยตัว) ไม่เท่ากัน คนทั่วไปไม่มีความรู้เรื่อง “ชูชีพ” ใส่ชุดชูชีพแล้วหัวทิ่มก็มี เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ต้องอาศัยความเร็วและทันเวลา

เมื่อก่อนเขาจะรับทหารเรือ เฉพาะคนในพื้นที่ทะเล แต่ปัจจุบันใครก็เป็นทหารเรือได้ คนเหนือ อีสาน ได้หมด ซึ่งบางคนอาจจะไม่คุ้นเคยกับทะเล อย่างไรก็ตาม แม้จะเก่งขนาดไหน แต่เมื่อต้องเจออุปสรรคใหญ่ คือ คลื่นลมในทะเล เท่าที่ฟังข่าว เวลานี้มีคลื่นสูง 3-4 เมตร

...

แต่ที่สำคัญเลยคือ “คลื่นลม” ในทะเล เท่าที่ฟังข่าว พบว่าสูงถึง 3-4 เมตร ก็ต้องยอมรับว่าต้องพึ่งปาฏิหาริย์

“นึกง่ายๆ ว่า แค่เราไปเล่นชายหาด เราเจอคลื่นซัดใส่หน้า ยังหายใจแทบไม่ทัน แต่นี่เจอคลื่น 3-4 เมตร สำหรับคนที่เป็นหน่วยซีล คือ ร่างกายแข็งแรงมาก่อน ก็ยังรับได้ยาก แต่กรณีที่เกิดขึ้น พวกเขาไม่ใช่หน่วยซีลด้วย...”

อดีตหน่วยซีลชั้นครู บอกว่า สิ่งสำคัญของเหตุการณ์นี้ คือ “การเตรียมตัว” เหตุภาวะฉุกเฉิน มีความจำเป็นต้องซักซ้อมกันบ่อยๆ เมื่อเกิดเหตุจะรู้ทันทีว่าใครควรทำอะไรที่ไหน ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือในเวลาแบบนั้นคือ “เสื้อชูชีพ” ที่จำเป็นต้องมีทุกคน

ยังไม่รวมแพชูชีพ ซึ่งหากแพชูชีพจมไปในทะเล โดนน้ำดูดลงไปลึกสัก 3 เมตร แพชูชีพ จะทำงานทันที (กรณีที่ดึงเองไม่ทัน) ซึ่งแพชูชีพนั้น จะมีเจ้าหน้าที่เรือรับผิดชอบอยู่ ซึ่งมันจะบ่งบอกความจุได้อยู่ ซึ่งปกติแล้ว แพมันจะจุได้ประมาณ 15 คน

จากประสบการณ์รับราชการมาจนเกษียณมาหลายสิบปี เชื่อว่าเหตุครั้งนี้เป็นเหตุใหญ่ที่สุด ภาคใต้เวลานี้ฝนตกทุกวัน การที่จะเอาเรือออกต้องมีการเตรียมความพร้อมเรื่องเซฟตี้ ทุกอย่าง

เหตุฉุกเฉิน...เราไม่รู้ว่าจะเกิดเมื่อไหร่ ฉะนั้น การเตรียมความพร้อมมีความสำคัญ เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินทุกคนต้องรู้ว่าควรอยู่ตรงไหน ทำอะไร จุดรวมพลอยู่ตรงไหน การใช้ชูชีพ ต้องมีความคุ้นเคย ต้องรู้สถานที่เก็บ สามารถหยิบคว้าได้ตลอด และต้อง “เคยชิน” กับมัน

นักมวยขึ้นชกบนเวทีไม่กี่ยก ถามว่าเขาซ้อมกี่ร้อยยก เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน การเผชิญเหตุฉุกเฉิน จำเป็นต้องมีการซักซ้อม เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เรือลำใหญ่สามารถไปได้ทั่วโลก อุปกรณ์ในเรือถือเป็นสิ่งสำคัญ...

ปกติแล้ว เรือรบ เขาจะจำกัดคนลงเรือ เพราะต้องอาศัยความคล่องตัว แล้วคนที่เหลือ ที่ไม่ใช่คนประจำเรือ จะรู้ตำแหน่งต่างๆ บนเรือหรือไม่...นี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ

เพราะชีวิตของทหาร การรบจำเป็นต้องมีอาวุธดีๆ ต้องบำรุงรักษา ให้ดี ต้องมีการซักซ้อมเผชิญเหตุฉุกเฉิน ฝรั่งมีคำพูดว่า “ป้องกัน...ดีกว่าการแก้ไข”

อย่างไรก็ตาม ในกติกาหลักสากล การเตรียมอุปกรณ์สำหรับกำลังพล ยกตัวอย่าง “แท่นขุดเจาะน้ำมัน” มีคนงานอยู่ 60 คน แต่เวลาทำงานจริงๆ จะมีอยู่ครึ่งทีม คือ 30 คน แต่ชูชีพ และอุปกรณ์ช่วยชีวิต ต้องมีเป็นของตัวเอง เรียกว่ามีหมายเลข และชื่อติด แทบจะนำมาหนุนเป็นหมอน เพราะเวลาเกิดอะไรขึ้นจะได้มีการเตรียมความพร้อม นอกจากนี้ ยังต้องเตรียมเผื่อให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมด้วย ฉะนั้น อุปกรณ์ช่วยชีวิต จะมีเพิ่มขึ้นจากที่เคยมีอีก 10-20%

...

หากเป็นเรือรบ เรือหลวง ก็จำเป็นต้องมีการตระเตรียมอุปกรณ์เหล่านี้ไว้เช่นเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นและเกิดขึ้นเมื่อไหร่...

การใช้ชูชีพ ต้องมีความคุ้นเคย ต้องรู้สถานที่เก็บ สามารถหยิบคว้าได้ตลอด และต้อง “เคยชิน” กับมัน ถามว่าคนที่มาบนเรือที่ไม่ใช่ลูกเรือ จะรู้ที่เก็บอุปกรณ์ช่วยเหลือเหล่านี้หรือไม่ และที่ผ่านมา มีการซักซ้อมเผชิญเหตุบ่อยขนาดไหน นัดรวมพลกันที่ไหน มีการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ บ่อยแค่ไหน ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตบนเรือ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านบทความที่น่าสนใจ

...