เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง มีข้อมูลออกมาว่าเสื้อชูชีพบนเรือ ไม่เพียงพอกับกำลังพลที่มาเพิ่มเติมอีก 30 นาย และการแถลงของพล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ออกมาระบุการมีเสื้อชูชีพ ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะสามารถรอดชีวิต หรือได้รับการช่วยขึ้นมาบนเรือ และอย่ามองว่าคนไม่มีเสื้อชูชีพทั้ง 30 คน จะสูญเสียทั้งหมด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าจริงหรือ?

ก่อนหน้านั้น “สหภพ กรินสูงเนิน” หัวหน้าชุดปฏิบัติการทางน้ำ มูลนิธิพุทธธรรมการกุศล หน่วยกู้ภัย ฮุก 31 ได้กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็น ไทยรัฐออนไลน์” ว่า เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนให้คนทั่วไป ต้องใช้ความระมัดระวังระหว่างการลงเรือ และควรสวมเสื้อชูชีพทุกครั้ง เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา แต่ในกรณีเรือหลวงสุโขทัย เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน จากคลื่นลมที่แรง มีผลต่อการทรงตัวในน้ำ แม้มีการสวมใส่เสื้อชูชีพหรือห่วงยาง แต่ระหว่างเรือกำลังจะจมและมีสิ่งกีดขวาง มีส่วนทำให้ลูกเรือหนีออกมาจากเรือได้ยาก

เรือหลวงกระบุรี ร่วมค้นหากำลังพลผู้สูญหาย
เรือหลวงกระบุรี ร่วมค้นหากำลังพลผู้สูญหาย

...

เมื่อเรือจมลง ต้องพยายามลอยคอเกาะกลุ่มกัน เพื่อให้ผู้ช่วยเหลือสังเกตเห็นได้ง่าย ไม่ควรลอยคอกลางทะเลเพียงลำพัง ซึ่งการค้นหาผู้สูญหาย จะแบ่งพื้นที่ในการค้นหาบริเวณที่เรือจม และไล่ไปตามพื้นที่ต่างๆ โดยใช้เครื่องบินช่วยค้นหา รวมถึงดูทิศทางลมที่พัดพาผู้สูญหายไปตามกระแสน้ำ และวิธีเอาตัวรอดเมื่อลอยคออยู่ในทะเล ต้องพยุงตัวด้วยปอด ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ให้ปอดขยายพองลม เพื่อให้สามารถพยุงตัวอยู่กลางคลื่นที่รุนแรงได้ดีมากขึ้น และกางแขนอยู่ในท่าปลาดาว ทำให้พยุงตัวอยู่ในคลื่นแรงได้ประมาณ 1 ชั่วโมง และด้วยระยะเวลาของเรือที่จมมาหลายวัน คาดว่าผู้สูญหายน่าจะถูกคลื่นซัดไปไกลจากจุดเกิดเหตุ

“ไม่ควรออกแรงว่ายน้ำ เพราะยิ่งทำให้หมดแรง จนเหนื่อย หมดสติกลางทะเล และน้ำทะเลที่หนาวเย็นในเวลากลางคืน ถ้ายิ่งออกแรงว่ายจนเหนื่อยจะทำให้เกิดตะคริว จนทรงตัวลำบาก บางรายมีโอกาสจมน้ำทะเล เมื่อถูกคลื่นสูงมาปะทะได้ เพราะปกติการออกกำลังกายบนบก ร่างกายจะเผาผลาญออกมาเป็นเหงื่อ แต่อุณหภูมิของน้ำจะดูดเอาความร้อนจากร่างกายทำให้เกิดตะคริวได้ง่าย และที่ผ่านมาคนที่จมน้ำเสียชีวิตในลักษณะนี้หลายราย แม้จะสวมเสื้อชูชีพ ก็ตาม”.