ในห้วงเวลาที่ "โควิด-19" (COVID-19) กำลังคุกคามชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุด หลายประเทศสับสนอลหม่าน จนลืมนึกไปว่า การมาถึงของ "หุ่นยนต์" ในบทบาทของ "แรงงาน" กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
การเข้ามาของ "หุ่นยนต์" จะทำให้ "ดีขึ้น" หรือ "แย่ลง"
เชื่อว่า...นี่คงเป็นคำถามที่อยู่ในใจของหลายๆ คน และก็คงสร้างความกังวลไม่น้อย ซึ่งอยากจะบอกไว้ก่อนว่า "แรงงาน" ในที่นี้ หมายรวมถึงทุกๆ คนที่กำลังทำงานอยู่ในเวลานี้ และอีกหลายๆ คนที่กำลังจะก้าวโลกการทำงานในอนาคต
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า "วิกฤติโควิด-19" เป็นตัวเร่งที่ทำให้เราเห็นภาพการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับ "แรงงานมนุษย์" และ "แรงงานหุ่นยนต์" เร็วขึ้น
ย้อนไปปี 2562 ไทยมีการจ้างงานทั้งหมดกว่า 37.6 ล้านราย แต่ปีนี้กลับมีเพียง 27 ล้านรายเท่านั้น และที่น่ากังวลมากๆ คือ มีการคาดการณ์ว่า แรงงานไทยกว่า 6.6-7.5 ล้านราย สุ่มเสี่ยงที่จะถูก "ดิสรัปชัน" และอาจนำไปสู่ "ภาวะตกงาน" โดยสมบูรณ์
นับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2562 ถึงไตรมาส 1 ปี 2563 พบตัวเลขการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 34,000 ราย การจ้างงานลดลง 59,000 ราย และยังพบว่า ตัวเลขแรงงานนอกตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นเป็น 92,000 ราย โดยอัตราการมีงานทำลดลงจาก 66.1% เป็น 66% นั่นหมายความว่า อัตราการว่างงานเพิ่มมากขึ้น
...
และในบรรดาแรงงานที่มีงานทำอยู่ในเวลานี้ ก็พบว่า ชั่วโมงการทำงานถูกบีบลดลงเกือบ 6% ซึ่งตัวเลขนี้บอกได้ว่า เราสูญเสียแรงงานเต็มเวลาไปกว่า 2.2 ล้านราย และคาดการณ์ว่า ในอนาคตจะสูญเสียการทำงานเต็มเวลาถึง 4 ล้านราย
ถึงแม้ว่า การปรับลดชั่วโมงการทำงานจะช่วยลดต้นทุนในการจ้างงานให้แก่นายจ้างได้ แต่นั่นย่อมไม่เป็นผลดีในอนาคตอย่างแน่นอนสำหรับ "ลูกจ้าง" ที่เมื่อชั่วโมงการทำงานลดลง รายได้ก็ลดลงตามไปด้วย โดยองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ประมาณการว่า แรงงานยากจนในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นจาก 4.7% ไปเป็นอย่างน้อย 11% ของการจ้างงานทั้งหมดในปีนี้
แต่ในบรรดาตัวเลขที่น่าท้อใจนั้น...ก็ยังมีตัวเลขที่น่ายินดีอยู่บ้าง
คือ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของเดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นเป็น 68.3% เทียบกับเดือนกรกฎาคม 68.1% ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 68.8% (เคยสูงที่สุด 73.1% เมื่อ ม.ค. 56 และต่ำที่สุด 66.1% เมื่อ ต.ค. 62) และอัตราการว่างงานของเดือนสิงหาคม ลดลงอยู่ที่ 1.9% ส่วนรายได้ต่อเดือนยังคงอยู่ที่ 14,356 บาท (ณ มิ.ย. 63)
เหล่านี้คือ ภาพรวมสถานการณ์ "แรงงานไทย" ที่เกิดขึ้นในปีนี้
แต่ความน่ากังวลของ "แรงงานไทย" ไม่ได้มีเพียงแค่การแข่งขันกันเองเท่านั้น ยังมี "แรงงานข้ามชาติ" และ "แรงงานหุ่นยนต์" ที่รอเข้ามาเสียบและแทนที่เราตลอดเวลาอยู่อีก
กว่า 2 ทศวรรษที่ผ่านมา พูดได้ว่า ไทยเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ "แรงงานข้ามชาติ" ที่ ณ เดือนธันวาคม 2562 มีแรงงานข้ามชาติลงทะเบียนมากถึง 2.8 ล้านราย ซึ่งจากการศึกษาของ ILO และองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เมื่อปี 2553 พบว่า แรงงานข้ามชาติมีบทบาทในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทย 4.3-6.6% ทีเดียว และจากสัดส่วนการจ้างงานปี 2560 ก็เห็นได้ว่า แรงงานข้ามชาติ เหล่านี้เข้ายึดครองกลุ่มงานทักษะต่ำ ทั้งประมง, เกษตรกรรม, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรมการผลิต, ทำงานรับใช้ในบ้าน และการบริการอื่นๆ ถึง 4.7% ของการจ้างงานทั้งหมด
พอมองเห็นอนาคตแล้วหรือยัง?
เมื่อ "กลุ่มคนงานทักษะต่ำ" ถูก "แรงงานข้ามชาติ" ยึดครอง แล้ว "แรงงานหุ่นยนต์" อยู่ในกลุ่มงานประเภทไหน?
ก่อนหน้านี้ มีการบอกไว้ว่า "หุ่นยนต์" จะเข้ามาช่วยเราทำงาน ขอย้ำ! เข้ามาช่วยเราทำงาน แต่ในภาพความเป็นจริงที่หลายๆ คนคงเห็นกันบ้างแล้ว คือ "หุ่นยนต์" ทำงานแทนเรา
...
ว่ากันว่า... นี่เป็น "ยุคแห่งการตกงานครั้งใหญ่"
นิตยสาร Mother Jones ของสหรัฐอเมริกา ได้อธิบายให้เห็นภาพผ่านข้อความสั้นๆ ตอนหนึ่งว่า "เครื่องจักรอัจฉริยะอาจไม่ได้ฆ่าเราทั้งหมด -- แต่มันจะเข้ามาแย่งงานของเราอย่างแน่นอน ...เร็วกว่าที่คุณคิด"
"การปฏิวัติอุตสาหกรรม" มีทั้งหมด 3 ครั้ง คือ ช่วงปี 2303, ช่วงปี 2433 และช่วงปี 2513 ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้แสดงให้เห็นภาพของ "นวัตกรรมทางเทคโนโลยี" ที่เข้ามาคุกคามโลกได้
ไล่เรียงตั้งแต่... การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ใช้เครื่องจักรไอน้ำและกระบวนการผลิตด้วยเครื่องจักรในหลายๆ โรงงาน, การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ใช้พลังงานไฟฟ้า, น้ำมัน และเครื่องจักรประกอบชิ้นส่วนในโรงงานในการได้มาซึ่งผลผลิตอุตสาหกรรม และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ใช้เทคโนโลยีข้อมูลและอิเล็กทรอนิกส์ในการผลิตแบบอัตโนมัติ
สำหรับครั้งนี้... คงไม่ถึงขั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยตามจริงแล้ว ผลกระทบ "ตลาดแรงงาน" มีมาก่อนหน้านี้ จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญที่ยิ่งใหญ่ ในสิ่งที่เรียกว่า "ปัญญาประดิษฐ์" (Artificial Intelligence) หรือ "เอไอ" (AI), วิทยาการหุ่นยนต์ (Robotics) และอื่นๆ
และนั่นก่อให้เกิดความหวาดกลัวลึกๆ ในจิตใจ
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในอดีต... กับเหตุการณ์บล็อกเส้นทางถนนจากปารีส-เม็กซิโกซิตี้-โบโกตาของ "คนขับแท็กซี่" ที่คัดค้านการเข้ามาของเทคโนโลยี Ride-Sharing การให้บริการแบ่งปันยานพาหนะหรือการเดินทาง เช่น อูเบอร์ (Uber) เหตุจากพวกเขาทั้งหมดล้วนกลัวตกงาน และถูกแปะป้ายว่าเป็น "การว่างงานเนื่องจากเทคโนโลยี"
...
ก่อนหน้านั้น เทคโนโลยีมีความสามารถเพิ่มมากขึ้น ทั้งในส่วนของแรงงานประจำวันและการประมวลผลทางความคิด แต่ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ "เครื่องจักร" และ "หุ่นยนต์" สามารถปฏิบัติหน้าที่บางอย่างที่ไม่ใช่งานประจำวันได้แล้ว แถมยังเป็น "กองหนุน" สำหรับ "แรงงานมนุษย์" ได้อีกด้วย ทั้งการประยุกต์ใช้ตรรกศาสตร์และข้อมูลการจัดการเรียงสินค้าและบริการให้ครอบคลุมกว่าเดิม ส่วนในอนาคต อุตสาหกรรมการผลิตและระบบขนส่ง รวมถึงการทำบัญชีและการทำคำชี้ขาดของศาล ก็อาจถูกทำให้เป็นระบบอัตโนมัติ
แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่า "เครื่องจักร" หรือ "หุ่นยนต์" จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ทั้งหมด
ความท้าทายของ "แรงงาน" ในศตวรรษที่ 21
หนึ่งในรายงานของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey &Company เห็นได้ว่า ประเภทงานที่ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คาดเดาได้ เช่น ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด, โรงงานประกอบชิ้นส่วน และประมวลผลข้อมูลพื้นฐาน มีโอกาสสูงมากที่จะถูกปรับให้เป็นระบบอัตโนมัติด้วยการใช้ "หุ่นยนต์" และ "ซอฟต์แวร์"
...
นับจากนี้ เราจะได้เห็น "เครื่องจักร" "หุ่นยนต์" และ "ระบบอัจฉริยะ" เพิ่มมากขึ้น ทั้งในสำนักงาน, โรงงาน และบ้าน ในปริมาณที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ส่วนประเภทงานที่ทำงานในสภาพแวดล้อมที่มีความยุ่งเหยิง หรือคาดเดายาก เช่น การศึกษาและการดูแลสุขภาพ หรือประเภทงานที่เกี่ยวพันกับการสื่อสารระหว่างบุคคลและการประยุกต์ใช้ทักษะความรู้เชิงลึก ยังคงมีโอกาสน้อยที่จะถูกแทนที่ในเวลานี้
แล้วเราจะเป็นผู้รอดจากการถูกเทคโนโลยีคุกคามได้อย่างไร?
ก็คงต้องตอบคำถามตัวเองว่า เรามีอะไรที่เก่งเป็นพิเศษ? และข้อได้เปรียบของเราคืออะไร?
"ไม่ใช่แรงงานปกติแล้ว แต่เป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและวิทยาการหุ่นยนต์ ถามว่า ไทยมีแรงงานทางวิทยาการหุ่นยนต์อยู่กี่คนในปัจจุบัน?"
คำถามจาก "ทนง พิทยะ" อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ยังคลุกคลีอยู่ในภาคอุตสาหกรรมไทย พร้อมอธิบายให้ได้ฟังว่า การจะได้มาซึ่ง "วิศวกรทางวิทยาการหุ่นยนต์" สัก 200 คน ก็ต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาสอน แต่การสอนเฉพาะด้านก็ต้องสอดรับกับบริษัทหรืออุตสาหกรรมที่จะดำเนินการในประเทศไทย และนอกจากจะรองรับอุตสาหกรรมภายในประเทศแล้ว บริษัทชั้นนำต่างประเทศที่สนใจจะมาลงทุนก็อาจจะตอบรับมาทันที เพราะเรามีแรงงานที่มีศักยภาพพร้อม
"เราต้องเอาผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมา ร่วมกับมหาวิทยาลัย เปิดแผนก Robotic Engineering แล้วก็ต้องชัดเจนว่า วิถีที่จะพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นแบบไหน เพราะต่อไปวิทยาการหุ่นยนต์ต้องใช้ในโรงงานรถยนต์ ใช้ในโรงงานทุกอย่างอยู่แล้ว ต่อไปนี้...เราต้องเรียนรู้อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่ ดิจิทัลสมัยใหม่ นี่คือ สิ่งที่แรงงานต้องการการศึกษาเพื่อเป็นดิจิทัลเทคโนโลยี"
อีกมุมหนึ่งจาก "สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์" นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ยอมรับว่า AI เป็นนวัตกรรมที่ไม่ใช่ของง่าย จะต้องมีการเรียนรู้ ต้องคิด ทุกวันนี้การสอนของเราเป็นแบบจำ เพราะฉะนั้น กรณีนี้จะเห็นได้ชัดว่า นี่คือ สิ่งที่เราขาดหายไป คนๆ หนึ่งจะต้องเก่งคำนวณ เก่งวิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษดี ที่สำคัญ จับประเด็นต้องเก่ง
"โลกของเทคโนโลยีวันนี้จะทำให้เกิดการใช้เทเลคอม ซึ่งกระทบการค้าปลีก ร้านอาหาร กระทบการแข่งขัน และควรเรียนรู้ ไม่เพียงแต่เรียนรู้เทคโนโลยี แต่ต้องเรียนรู้บล็อกเชน เรียนรู้ Augment Reality (AR) เรียนรู้ควอนตัมคอมพิวเตอร์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ระบบการศึกษาบ้านเรายังไม่ได้ไปถึงตรงนั้น ต้องปรับเพื่อให้เราแข่งชนะเขา"
ที่ว่ามานี้ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและจะดำเนินต่อไป... ในอนาคต หากเราปรับตัวได้ทันและเพิ่มทักษะความรู้ใหม่ๆ "เครื่องจักรและหุ่นยนต์" ก็จะกลายเป็นเพื่อนร่วมงานของเรา ไม่ใช่มาแทนที่อย่างที่เราหวาดกลัว
@@@@@@@@@
ร่วมติดตามงานเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18:30-21:00 น.
ผ่าน Live ทุกช่องทางของไทยรัฐ ได้แก่
Facebook: Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
Facebook: ThairathTV
YouTube: Thairath
ติดตามรายละเอียดได้ที่
https://www.thairath.co.th/news/business/1970951