• นโยบายที่โดดเด่นของไทยคงหนีไม่พ้นการจ่ายเงิน 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระร่วม 15 ล้านคน แต่ขณะเดียวกัน นโยบายลดและเลื่อนภาษีกลับด้อยกว่าต่างประเทศ อีกทั้งรัฐยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในรูปแบบเงินให้เปล่า ซึ่งน่าเสียดาย เพราะอาจช่วยลดปัญหาคนว่างงานและการปิดตัวของกิจการ
• รัฐบาลกันวงเงินร่วม 400,000 ล้านบาท จากเงินที่กู้ยืมทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม แต่โครงการที่เสนอเข้ามาจากหน่วยงานต่างๆ กลับผสมปนเปจนเรียกได้ว่าไร้ยุทธศาสตร์
• การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและไม่มีใครคาดถึง ได้โค่นทำลายธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันกับความปกติใหม่ แต่ในขณะเดียวกัน บนซากปรักหักพังคือลานกว้างแห่งโอกาสให้ธุรกิจใหม่เติบโต รัฐจึงสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการโยกแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตต่ำเข้าฝึกอบรมเพื่อย้ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตสูงกว่า
เป็นเวลาร่วม 11 เดือน นับตั้งแต่การระบาดวันแรกของเชื่อโควิด-19 ที่ปัจจัยได้กระจายไปทั่วโลกและสร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่อาจกล่าวได้ว่ารุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันหลายประเทศยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ โดยต้องหวังน้ำบ่อหน้าคือ "วัคซีน" ที่อาจทำให้เศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาด แต่ในทางกลับกัน ความสำเร็จดังกล่าวกลับไม่สะท้อนในตัวเลขทางเศรษฐกิจ เหล่านักวิเคราะห์คาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีจีดีพีติดลบอยู่ในกรอบ 7 ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ สาเหตุเพราะประเทศไทยพึ่งพากำลังซื้อจากภายนอกประเทศอย่างมาก ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศปลายทางการส่งออกสินค้า จึงกลายเป็นปัญหาของธุรกิจภายในประเทศ เช่นเดียวกับภาคบริการที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปแบบ 100 เปอร์เซ็นต์
หากเราจัดประเภทโควิด-19 คือ สาธารณภัย แน่นอนว่าภาระในการแก้ไขปัญหาและกอบกู้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก็จะตกอยู่บนบ่าของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่งัด "บาซูกาการคลัง" อัดฉีดเงินก้อนใหญ่เข้าระบบ เพื่อหวังกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวในเร็ววัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ตกต่ำไปมากกว่าเดิม
ในบทความนี้ ชวนผู้อ่านร่วมกันสำรวจว่า ตลอด 11 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการใดไปแล้วบ้าง มีประเด็นไหนที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ แล้วเราจะเดินหน้าอย่างไรในอนาคต
มาตรการทางภาษีหลักๆ ที่ใช้กอบกู้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้นค่อนข้างคล้ายคลึงทั่วโลกคือการ "เลื่อน" และ "ลด"
สำหรับประเทศไทย ได้เลื่อนการชำระภาษีนิติบุคคลออกไปสามเดือนและหนึ่งเดือนสำหรับภาษีประเภทอื่นๆ ซึ่งนับว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก และแทบไม่ช่วยผู้ประกอบการเท่าที่ควร เพราะช่วงเวลาใหม่ที่กำหนดให้ชำระภาษีนั้น ยังอยู่ในห้วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งภาคเอกชนย่อมต้องการสงวนเงินสดไว้กับตัวเพื่อรักษาสภาพคล่อง หลังจากเจ็บหนัก จากการประกาศล็อกดาวน์ในช่วงเดือนเมษายน
ส่วนนโยบายลดภาษีของไทย ถือว่าแทบไม่ช่วยอะไร เพราะการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3 เปอร์เซ็นต์เป็น 1.5 เปอร์เซ็นต์ แทบไม่ได้มีสาระสำคัญ ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ในฐานะฟรีแลนซ์ที่ได้เงิน 10,000 บาท จากการเขียนบทความ ในภาวะปกติ เงินดังกล่าวจะถูกหักไว้ 300 บาท แต่ในภาวะวิกฤติใหญ่ สรรพากรใจดีให้หักแค่ 150 บาท ดังนั้น ผมจึงเหลือเงินในบัญชีเพิ่มอีก 150 บาท เพื่อนำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งคงจะไม่ช่วยเท่าไรนัก
หากหันไปมองมาตรการทางภาษีของเหล่าประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก จะเห็นว่าทิ้งห่างไทยไปแบบไม่เห็นฝุ่น เช่น ในประเทศเกาหลีใต้ ที่เลื่อนระยะเวลาชำระภาษีไป 9 เดือน ส่วนญี่ปุ่นเลื่อนให้ 12 เดือน หากรายได้ของธุรกิจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่นโยบายลดภาษีของต่างประเทศก็มีเนื้อมีหนัง เช่น จีน ที่ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 เปอร์เซ็นต์ และยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรม ที่ได้รับผลกระทบหนักอย่างการท่องเที่ยว เกาหลีใต้ ก็มีการลดภาษีให้ธุรกิจที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง ส่วน สิงคโปร์ ประกาศคืนภาษีบางส่วนให้ผู้ประกอบการ
หลายคนอาจสงสัยว่าถ้ารัฐบาลทั้งลดทั้งเลื่อนแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาบริหารประเทศ?
คำถามดังกล่าวสมเหตุสมผลในภาวการณ์ปกติ แต่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รัฐรู้อยู่แก่ใจว่า ต้องอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จะดีกว่าไหมถ้าจะปล่อยให้เงินเหล่านั้นอยู่ในมือภาคเอกชน และให้เอกชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรใช้เงินดังกล่าวอย่างไร แทนที่จะเก็บเข้ากระเป๋าคลังผ่านกลไกภาษี แล้วต้องมาปวดหัวออกแบบโครงการสารพัด เพื่ออัดเงินดังกล่าวกลับคืนไปสู่กระเป๋าสตางค์เดิมที่รัฐเป็นผู้ขอส่วนแบ่งมาในตอนต้น
ส่วนมาตรการอย่าง "ช้อปดีมีคืน" ซึ่งเปรียบเสมือนช็อปช่วยชาติเวอร์ชัน 2.0 ที่ปรับเงื่อนไขให้ง่ายขึ้น เป็นนโยบายที่ชวนให้ตั้งคำถามถึงประสิทธิผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นท่ามกลางสถานการณ์ "ไม่ปกติ" ที่แทบทุกคนต่างต้องรัดเข็มขัดตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เพราะกว่าส่วนลดภาษีจะกลับคืนเข้าบัญชี ก็ต้องรอฤดูกาลจ่ายภาษีบุคคลธรรมดาในปีหน้า ยังไม่นับว่าหลายคนเผชิญกับรายได้ที่ลดลงซึ่งส่งผลต่อแรงจูงใจในการเข้าร่วมจับจ่ายใช้สอยตามนโยบายดังกล่าว เพราะอัตราภาษีตามขั้นบันไดที่ลดลงนั่นเอง
มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ
นโยบาย "เรือธง" ของรัฐบาลไทยในการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวิกฤติโควิด-19 คือ การมอบเงินช่วยเหลือ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระร่วม 15 ล้านคน ถือเป็นห่วงชูชีพชั้นเลิศที่โยนมาช่วยประชาชนที่กำลังจะจมน้ำได้อย่างถูกจังหวะ ขณะที่แรงงานในระบบประกันสังคมต่างรู้สึกว่าตนถูกลอยแพจากรัฐ แม้กองทุนประกันสังคม จะมีนโยบายจ่ายเงินทดแทนกรณีที่ขาดรายได้ หรือปรับเงื่อนไขเงินชดเชยกรณีว่างงาน แต่ก็นับว่ายังไม่อาจเทียบเท่ากับการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบที่รัฐดูจะ "ใจป้ำ" กว่ามาก
ที่สำคัญ การช่วยเหลือดังกล่าวพุ่งเป้าไปที่ลูกจ้าง ขณะที่นายจ้างต้องกระเสือกกระสนเอาตัวรอดกันเอาเอง เจ้าของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบรุนแรงเผชิญทางเลือกสองทางคือ เข้าโครงการซอฟต์โลน ขอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อพยุงธุรกิจรอเวลาเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อไร หรือตัดสินใจเจ็บแล้วจบ เลิกกิจการเพื่อจำกัดความเสียหายแล้วค่อยเริ่มใหม่จากศูนย์ ดีกว่าแบกรับความเสี่ยงทางการเงินท่ามกลางความไม่แน่นอนสูงลิ่ว ที่หากตัดสินใจผิดพลาดอาจต้องเริ่มต้นแบบติดลบ นี่คือจุดบอดสำคัญของนโยบายกู้วิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ประเทศไทยซึ่งแตกต่างจากประเทศอย่างสิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย และญี่ปุ่น ที่ต่างพยายามอัดฉีดเงินเข้าสู่สถานประกอบการเพื่อรักษาระดับการจ้างงานเอาไว้ ส่วนฝั่งสหภาพยุโรปมีกลไกอัตโนมัติที่คล้ายคลึงกับนโยบาย Kurzabeit ของเยอรมัน ที่เปิดช่องให้บริษัทที่เผชิญความยุ่งยากทางการเงิน มาขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการจ่ายเงินเดือนพนักงานบางส่วน เพื่อไม่ให้เกิดการเลิกจ้างเมื่อบริษัทเผชิญกับความผันผวนระยะสั้น
ขณะที่สหรัฐอเมริกา อุ้มธุรกิจขนาดเล็กผ่านโครงการคุ้มครองเงินได้ (Paycheck Protection Program) โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการขอสินเชื่อมาจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค และดอกเบี้ย โดยหากผู้ประกอบการนำเงินไปใช้จ่ายตามเงื่อนไข รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายคืนสินเชื่อดังกล่าวให้กับธนาคาร
สาเหตุสำคัญที่หลายประเทศพยายามอุ้มธุรกิจขนาดเล็ก และผู้ประกอบการแบบไม่เสียดายงบประมาณ ก็เพราะธุรกิจเหล่านี้เป็นองคาพยพหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากฐาน ทั้งการจ้างงาน และการจับจ่ายใช้สอย หากธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่อยู่ไม่รอด ก็ย่อมฉุดพาเศรษฐกิจในภาพรวมเข้าสู่ขาลง อีกทั้งการฟื้นฟูยังล่าช้าและยากลำบาก เพราะกว่าธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้จะก่อตัวขึ้นมาใหม่ ย่อมต้องใช้เวลาทั้งการหาแหล่งทุน ตกแต่งร้าน จ้างพนักงาน ทางเลือกที่ดีกว่าของรัฐหากไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเจ็บหนักคือพยุงเอาไว้ให้รอดไปก่อน เมื่อวิกฤติช่วงที่เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไป ผู้ประกอบการก็พร้อมจะเดินหน้าแสวงหากำไรโดยไม่ต้องง้อรัฐบาล
นอกจากการมอบเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนให้กับผู้ประกอบอาชีพอิสระแล้ว รัฐบาลยังขยายขอบเขตนโยบายดังกล่าวให้ครอบคลุมเกษตรกรอีกหลายแสนราย ที่แม้โควิด-19 อาจไม่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการผลิตโดยตรง แต่เกษตรกรบางคนขาดรายได้ในช่วงเวลาที่มีการล็อกดาวน์
การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อโครงข่ายการขนส่งสินค้าเกษตรทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ นี่คือโจทย์สำคัญที่รัฐต้องเร่งคลี่คลายเนื่องจากสินค้าเกษตรสามารถเน่าเสียได้ง่าย สำหรับการขนส่งภายในประเทศ รัฐบาลก็ปลดล็อกโดยมีเงื่อนไขทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม เพิ่มความเข้มงวดด้านเอกสาร รวมถึงการวัดอุณหภูมิของพนักงานขับรถ ส่วนการขนส่งระหว่างประเทศโดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างจีน แม้จะขลุกขลักบ้างในช่วงแรก แต่ก็สามารถคลี่คลายได้เมื่อรัฐบาลได้เข้าไปเจรจา
กลุ่มเกษตรกรนับว่าเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างเปราะบางต่อการขาดกระแสเงินสด ซึ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้มีมาตรการขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย พร้อมทั้งปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกหนี้เดิม พร้อมทั้งปล่อยวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินให้กับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19
แม้ว่าในครึ่งปีแรก ภาคเกษตรไทยอาจดูไม่สดใสนัก เพราะเผชิญกับทั้งภัยแล้งและโควิด-19 อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์มองว่า ในครึ่งปีหลังภาคเกษตรอาจเป็นดาวเด่นที่ตัวเลขการส่งออกเติบโตขึ้น หากเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมาสวนทางกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่หดตัวลงอย่างรุนแรง จึงนับเป็นโอกาสของรัฐบาลที่จะช่วยหนุนเสริมภาคการเกษตรให้สามารถนำพาประเทศไทยพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อคราววิกฤติต้มยำกุ้ง
เมื่อรัฐบาลประกาศกันงบประมาณมูลค่าถึง 400,000 ล้านบาท จากเงินที่กู้ยืมทั้งหมด 1 ล้านล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งว่าจะได้เห็นการลงทุนเชิง "ยุทธศาสตร์" ที่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลต้องการเห็นหลังวิกฤติโควิด-19 จะเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไร
แต่หลังประกาศออกไป กลับพบว่า งบประมาณดังกล่าวดำเนินการโดยให้หน่วยงานราชการเสนอโครงการเพื่อนำมากลั่นกรองผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ ก่อนจะได้รับอนุมัติไปดำเนินงานจริงซึ่งเป็นลักษณะของการทำงานแบบล่างขึ้นบน โดยมีหน่วยงานราชการเสนอเข้ามาอย่างล้นหลามถึง 46,411 โครงการ รวมวงเงิน 1.44 ล้านล้านบาทซึ่งนับว่ามากกว่างบประมาณราว 3.5 เท่า
ที่น่ากุมขมับคือ ความอีเหละเขละขละของลักษณะโครงการ ซึ่งมีตั้งแต่การอบรมทำจุลินทรีย์ นิทรรศการผ้าไหมไทย ปลูกปะการังเทียม พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ สร้างถนน ปรับปรุงระบบประปา ติดตั้งไฟฟ้า ซ่อมแซมสะพาน ไปจนถึงสร้างห้องน้ำสาธารณะ ผลลัพธ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องเกินคาด เพราะโจทย์ที่รัฐบาลมอบให้หน่วยราชการตั้งแต่ต้นก็ขาดความชัดเจน ด้วยกรอบเวลาที่แสนสั้น โครงการที่เสนอมาส่วนใหญ่จึงไม่ต่างจากโครงการที่กำลังรองบประมาณปกติ ซึ่งแน่นอนว่าสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่นับว่าน่าเสียดายที่เราจะต้องละลายเงินกว่าสี่แสนล้านบาท แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ ที่จะมากำหนดอนาคตประเทศในระยะยาว
หากหันไปมองประเทศในภูมิภาคเอเชีย จะเห็นว่าหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ รวมถึงเวียดนาม ต่างมีงบประมาณส่วนหนึ่งที่จำเพาะเจาะจงว่าจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างการท่องเที่ยม โรงแรม และการขนส่ง ส่วนจีนจะเน้นที่อุตสาหกรรมรถยนต์โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ที่ทั้งลดภาษี แถมยังมีเงินอุดหนุนให้ซื้อรถยนต์อีกด้วย ประเทศกลุ่มนี้ยังมีจุดร่วมสำคัญคือการปันส่วนงบประมาณสำหรับพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล
ภูมิภาคที่โดดเด่นในด้านยุทธศาสตร์การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คือ สหภาพยุโรป ที่ถือโอกาสผลักดันสัญญาเขียวแห่งสภาพยุโรป (European Green Deal) ให้เดินหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเงินอุดหนุนเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสมาชิกที่ยังพึ่งพาถ่านหินสู่พลังงานที่สะอาดขึ้น การลงทุนในภาคเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงเงินลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเป้าหมายทั้งหมดคือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) โดยเร็วที่สุด
เส้นทางการฟื้นตัวหลังการระบาดของโควิด-19
นักวิเคราะห์สรุปฉากทัศน์ของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ หลังเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรง เช่น รูปตัว V ที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวสู่ภาวะปกติอย่างรวดเร็ว รูปตัว U ซึ่งเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่สุดท้ายก็เดินกลับเข้าสู่การเติบโตตามปกติได้ รูปตัว W ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วแต่กลับเจอการระบาดรอบสองจนหดตัวอีกครั้ง และรูปตัว L ที่เศรษฐกิจร่วงแล้วร่วงเลย ไม่มีโอกาสฟื้นกลับคืนสู่เส้นทางการเติบโตเดิมได้อีก
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ค่อนข้างแน่นอนแล้วไม่มีโอกาสที่ไทยจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเป็นรูปตัว V โดยฉากทัศน์ที่ดีที่สุดในตอนนี้คือการฟื้นตัวรูปตัว U ที่สุดท้าย เราจะสามารถฟื้นตัวกลับไปเติบโตบนเส้นทางเดิมก่อนการระบาดของโควิด-19 ได้ ขณะที่ต้องระมัดระวังการระบาดรอบสอง ที่อาจทำให้การฟื้นตัวหยุดชะงักจนกลายเป็นกราฟรูปตัว W พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ "ทุน" ทางเศรษฐกิจและสังคมที่สั่งสมมาถูกทำลายไปโดยไม่อาจฟื้นกลับคืน กลายเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ทำให้การฟื้นตัวเป็นรูปตัว L
เราคงไม่สามารถกลับไปแก้ไขมาตรการทางภาษี ชุบชีวิตธุรกิจที่ล้มหายตายจากไปเนื่องจากขาดสภาพคล่อง หรือหางานใหม่ให้เหล่าแรงงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก แต่รัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้กำหนดหน้าตาอนาคตเศรษฐกิจของประเทศว่าจะเป็นอย่างไร เรายังต้องการชูการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หารายได้หลักหรือไม่ หรือจะผันตัวเป็นฮับด้านโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลับไปเน้นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเป็นฐานผลิตของบริษัทยักษ์ใหญ่โดยหวังว่าจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อวันหนึ่งจะได้ผงาดบนเวทีโลกด้วยนวัตกรรมฝีมือคนไทย
การทำลายอย่างสร้างสรรค์ (Creative Destruction) คือหัวใจสำคัญของระบอบทุนนิยม การระบาดของโควิด-19 ได้โค่นทำลายธุรกิจดั้งเดิมที่ปรับตัวไม่ทันกับความปกติใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และไม่มีใครคาดถึง แต่ในขณะเดียวกัน บนซากปรักหักพัง คือ ลานกว้างแห่งโอกาสให้ธุรกิจใหม่เติบโต รัฐจึงสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสโดยการโยกแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตต่ำ เข้าฝึกอบรมเพื่อย้ายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตสูงกว่าบนความปกติใหม่
คนไทยมีศักยภาพ หากรัฐต้องการจะดึงศักยภาพเหล่านั้นมาใช้ได้อย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญคือ "ทิศทาง" ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยควรจะเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมใด เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในโลกหลังการระบาดของโควิด-19 ห้วงเวลานี้จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทุกคนต่างรอสัญญาณที่ชัดเจน และความเป็นผู้นำของรัฐบาลเพื่อให้ทุกฝ่ายเคลื่อนไปข้างหน้าโดยเห็นอนาคตของประเทศไทยเป็นภาพเดียวกัน
อ่านเพิ่มเติม
บทความโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
@@@@@@@@@
ร่วมติดตามงานเสวนาเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ในงาน "Sharing Our Common Future : ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน" ในวันพุธที่ 11 พฤศจิกายน 2563 เวลา 18:30-21:00 น.
ผ่าน Live ทุกช่องทางของไทยรัฐ ได้แก่
Facebook: Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
Facebook: ThairathTV
YouTube: Thairath
ติดตามรายละเอียดได้ที่
https://www.thairath.co.th/news/business/1970951