ชั่วโมงนี้คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีใครไม่รู้จัก ติ๊กต่อก (TikTok) แอปพลิเคชันเพื่อความบันเทิง ผลิตผลจากไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากประเทศจีน

แต่ถ้าไม่รู้จักติ๊กต่อก ก็ไม่เป็นไร อธิบายแบบรวบรัด ติ๊กต่อก คือ แพลตฟอร์มวิดีโอขนาดสั้น ผ่านการนำเสนออันชาญฉลาดด้วยอัลกอริทึมที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมา ซึ่งสามารถสำรวจตรวจสอบข้อมูลผู้ใช้งาน และการตอบสนองของแต่ละคลิป เพื่อนำเสนอวิดีโอที่น่าสนใจแก่ผู้ใช้งานรายบุคคล

แน่นอนว่าคอนเทนต์ประเภทวิดีโอขนาดสั้นอย่างที่ติ๊กต่อกนำเสนอจนทำให้คนทั้งโลกติดกันงอมแงม หาใช่สิ่งใหม่ หากแต่เป็นสิ่งที่เคยปรากฏมาก่อนบนโลกใบนี้ อย่างน้อยๆ ก็มีแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า ไวน์ (Vine) ของทวิตเตอร์ ซึ่งเปิดตัวในปี 2013 และปิดตัวลงในปี 2017 ในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

การทำงานของไวน์ อนุญาตให้บันทึกและอัปโหลดวิดีโอภายในกรอบระยะเวลาเพียง 6 วินาทีเท่านั้น และจะวนซ้ำคล้ายกับไฟล์จิ๊ฟ (GIF) โดยที่ข้อจำกัดเรื่อง 6 วินาที ก็ถือได้ว่าเป็นความท้าทาย ทำให้ครีเอเตอร์ต้องสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจดึงดูดผู้ชม

แม้ไวน์จะปิดตัวลงไปแล้ว แต่ช่วงเวลาหนึ่ง พวกเขาเคยมีผู้ใช้งานระดับหลัก 600 ล้านคนเลยทีเดียว

เวลาและความรุ่งโรจน์ของ TikTok

แม้จะไม่มีข้อมูลยืนยันที่แน่ชัด แต่เชื่อได้ว่า ติ๊กต่อก ได้ศึกษาข้อผิดพลาดในอดีตของไวน์มาบ้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการอนุญาตให้บันทึกวิดีโอที่มีความยาว 15 วินาที ซึ่งกลายเป็นวินาทีทองคำ เพราะตัวเลข 15 วินาที เป็นตัวเลขที่ไม่สั้น และไม่ยาวเกินไป เมื่อเทียบกับไวน์ที่มีความยาวเพียง 6 วินาทีเท่านั้น (ปัจจุบันความยาวของวิดีโอในติ๊กต่อกได้ถูกขยายได้นานสูงสุดเกือบ 10 นาที)

...

พร้อมกันนี้ ติ๊กต่อก ยังมีลูกเล่นจาก Musical.ly เข้ามาเติมความสมบูรณ์แบบของคลิปสั้นให้มีความตลกโปกฮา ลิปซิงก์เสียงได้ โดยเสียงหัวเราะเหล่านี้แหละเป็นสิ่งที่ “คนทั้งโลก” กำลังต้องการอย่างยิ่งยวดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ ปลดปล่อยจินตนาการ จนมีส่วนสำคัญทำให้ติ๊กต่อก สปริงบอร์ดโจนทะยานเข้ามานั่งเป็นหนึ่งในดวงใจของวัยรุ่น Gen MZ

เช่นเดียวกัน ติ๊กต่อก ยังมีฟิลเตอร์ เอฟเฟกต์ และของตกแต่งอีกมากมาย ซึ่งกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสกสรรปั้นแต่งวิดีโอในแบบที่ต้องการ

ด้วยการใช้งานที่ง่ายดายไม่สลับซับซ้อนของติ๊กต่อก จึงมีประโยชน์ทางตรงไม่ต้องอ้อมต่อครีเอเตอร์อย่างยิ่งในด้านการสร้างคอนเทนต์วิดีโอในปริมาณที่เยอะขึ้นได้ แต่ใช้เวลาเพียงน้อยนิด

นอกจากนี้ ติ๊กต่อก ยังมีโปรแกรมการสร้างรายได้ ส่งผลให้ครีเอเตอร์ที่อยู่ในวงจรของติ๊กต่อกมีรายได้ ซึ่งเป็นความแตกต่างเมื่อเทียบกับไวน์ เพราะขาดโปรแกรมการสร้างรายได้ สิ่งนี้กลายเป็นจุดเด่นของติ๊กต่อกที่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์แปรเปลี่ยนเป็นอาชีพใหม่บนโลกออนไลน์

ติ๊กต่อก มีโครงการสร้างรายได้ให้แก่ครีเอเตอร์
ติ๊กต่อก มีโครงการสร้างรายได้ให้แก่ครีเอเตอร์

ที่ขาดไม่ได้ก็คือ อัลกอริทึมของติ๊กต่อก ซึ่งได้รับการยกย่องว่าฉลาดเป็นกรด และมีส่วนสำคัญที่ช่วยกระจายคลิปสั้นที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ ส่งตรงถึงผู้ชม “คนคอเดียวกัน” แล้วก็วกกลับไปที่เรื่องของรายได้ เมื่อมีการเผยแพร่คลิปมากเท่าใด ครีเอเตอร์ยิ่งได้รับรายรับจากโปรแกรมการสร้างรายได้

สิ่งนี้จะช่วยให้ติ๊กต่อก ยั่งยืน และประกอบสร้างให้ผู้ใช้งานติ๊กต่อกทุกคน กลายเป็นทั้งครีเอเตอร์ และผู้ชมในเวลาเดียวกัน

TikTok สู่การเป็นขวัญใจ Gen MZ

จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของติ๊กต่อก ทำให้แอปจากประเทศจีนที่ว่านี้ กลายเป็นแอปที่เติบโตได้อย่างรวดเร็วที่สุดของปี 2020 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะกลายเป็นแอปที่มียอดผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 1 พันล้านคนต่อเดือนในที่สุด

ความน่าสนใจสำหรับติ๊กต่อกไม่ได้อยู่ที่การเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล หากแต่แอปพลิเคชันแห่งนี้ได้เป็นแอปที่สามารถดึงดูดคน Gen MZ ได้อย่างคาดไม่ถึง

Gen MZ ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย กลุ่มคนที่เติบโตมากับยุคของ Gen Millennials ที่มีอายุระหว่าง 25-39 ปี และกลุ่ม Gen Z ที่มีอายุระหว่าง 16-24 ปี ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะการจับจ่ายเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น และให้ตรงกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตสูงถึง 3 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จึงทำให้ Gen MZ กำลังจะกลายเป็นประชากรหลักของโลก

Gen M กลุ่มเป้าหมายของติ๊กต่อก
Gen M กลุ่มเป้าหมายของติ๊กต่อก

...

ควรต้องกล่าวด้วยว่า แอปพลิเคชันติ๊กต่อก ได้ถูกสร้างมาเพื่อคนวัย Gen MZ อย่างพอเหมาะพอเจาะเกินคาด จากการที่มีฟีเจอร์ “For You” ซึ่งเป็นหน้าฟีดที่แสดงผลตามการใช้งานของผู้ใช้แต่ละคน

ด้วยประสบการณ์ใช้งานที่เป็นเฉพาะบุคคลแบบนี้นี่แหละ มีส่วนทำให้ผู้ใช้ติ๊กต่อกรู้สึกดีต่อแพลตฟอร์มแห่งนี้ เพราะต้องไม่ลืมว่า เนื้อหาของติ๊กต่อกมีความหลากหลายตามแต่ผู้ใช้งานก็จริง แต่การที่โลกในยุคที่ต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด การได้เสพเนื้อหาที่มีความตลก สนุกสนาน และมีเสียงหัวเราะ ผ่านวิดีโอแต่ละคลิป แต่ละอันที่ไหลผ่านหน้าฟีดบนติ๊กต่อก สามารถทำให้คนทั้งโลกเกิดความรู้สึกได้ว่า เราน่าจะผ่านพ้นยุคสมัยของโรคระบาดลงได้ด้วยเสียงหัวเราะ

ประการต่อมา ติ๊กต่อก เป็นแพลตฟอร์มที่ถูกสร้างมาเพื่อวิดีโอโดยเฉพาะ (Video first) ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ “เติม” ฟีเจอร์วิดีโอขนาดสั้นเข้ามาในภายหลัง โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีชื่อว่าอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และยูทูบ

ด้วยความที่ ติ๊กต่อก จับใจจับตลาดวัยรุ่นได้ก่อนใครบนโลกใบนี้ และเป็น “ของแท้” ในตลาดคอนเทนต์ประเภทวิดีโอสั้น ติ๊กต่อกจึงเป็นแอปที่ไม่เหมือนใคร มีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ที่ชัดเจนกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ที่เดินตามรอยทีหลัง

พร้อมกันนี้ ติ๊กต่อก เป็นแพลตฟอร์มที่กว้างขวาง จากการที่ติ๊กต่อกให้บริการไปมากกว่า 155 ประเภททั่วโลก รองรับภาษาที่มีความแตกต่างกันทั่วโลกกว่าอีก 75 ภาษา นั่นหมายความว่า ผู้ใช้งานติ๊กต่อกที่อยู่ในประเทศไทย สามารถรับรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์จากคนทั้งโลก ทำให้ผู้ใช้งานได้เห็นโลกที่ลึกและกว้าง กว่าแพลตฟอร์มคู่แข่งจากการนำเสนอด้วยอัลกอริทึมของพวกเขาเอง

...

คนรุ่นใหม่ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม
คนรุ่นใหม่ความสำคัญกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

สิ่งนี้ได้ส่งเสริม และมอบพื้นที่ให้กับชาว TikTokers ได้เจอกับคนพวกเดียวกัน แม้ว่าจะมาจากต่างวัฒนธรรม ต่างเชื้อชาติ ต่างเพศ ต่างอัตลักษณ์ ซึ่งในมุมมองของคน Gen MZ ประเด็นเหล่านี้นับเป็นเรื่องสำคัญ เป็นค่านิยมจำเป็นของยุคนี้ ที่ต้องขับเคลื่อนให้เป็นวาระสำคัญของสังคม โดยเฉพาะโรคไร้พรมแดนที่มีโซเชียลมีเดียเป็นโซ่ข้อกลาง

ซอฟต์เพาเวอร์สัญชาติจีน

เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ ติ๊กต่อก ได้กลายเป็นเบอร์หนึ่งในโซเชียลมีเดีย แม้ในมุมมองของฝั่งติ๊กต่อกจะมองตรงกันข้าม โดยพวกเขาให้คำจำกัดความตัวเองให้เป็นแพลตฟอร์มด้านความบันเทิง มากกว่าที่จะเป็นโซเชียลมีเดีย

เมื่อเราดูจากการจัดอันดับแอปพลิเคชันยอดนิยม จากเว็บไซต์ Similarweb พบว่า ติ๊กต่อก เป็นแอปที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ แต่ติ๊กต่อกซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในประเทศจีน นั่นจึงทำให้ติ๊กต่อก ถูกจับตามองโดยเฉพาะผู้มีอำนาจ หรืออาจกล่าวได้ว่า ติ๊กต่อก เป็นสายล่อฟ้าสำหรับความขัดแย้งของมหาอำนาจอย่างจีน และสหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ผิดนัก โดยเฉพาะเมื่ออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยลงนาม “บังคับ” ให้ติ๊กต่อก ต้องถูกขายให้กับบริษัทในสหรัฐอเมริกา

...

บริษัทแรกๆ ที่ให้ความสนใจซื้อติ๊กต่อก ก็คือ ไมโครซอฟท์ นั่นเป็นเพราะว่า ไมโครซอฟท์ ไม่มีบริการโซเชียลมีเดียสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอยู่ในมือ จึงทำให้พวกเขาดิ้นรนไม่น้อย เพื่อให้ได้มาซึ่งติ๊กต่อกในกำมือ

รัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์เวลานั้น มีความกังวลว่า ติ๊กต่อกอาจมีการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานในสหรัฐฯ นั่นจึงทำให้รัฐสภาของสหรัฐฯ ลงมติว่า อุปกรณ์ไร้สายใดๆ ก็ตามที่เป็นของรัฐบาลสหรัฐฯ ห้ามติดตั้งแอปพลิเคชันติ๊กต่อก เด็ดขาด

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลของประเทศอินเดีย ได้ดำเนินการคล้ายๆ กับรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากอินเดีย กำลังมีประเด็นข้อพิพาทกับรัฐบาลจีนในเรื่องพรมแดน ส่งผลให้เกิดการแบนติ๊กต่อก รวมถึงแอปเกมยอดนิยมที่เป็นผลิตผลของประเทศจีน

ก่อนที่การเปลี่ยนแปลงของฐานอำนาจในทำเนียบขาว เก้าอี้ประธานาธิบดีเปลี่ยนมือจากโดนัลด์ ทรัมป์ ไปเป็นโจ ไบเดน ติ๊กต่อกก็มิได้ถูกบังคับให้ขายกิจการ แต่เปลี่ยนไปใช้วิธีการจับตาดูแลอย่างใกล้ชิด โดยให้บริษัทออราเคิล พัฒนาระบบคลาวด์เพื่อดูแลข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มข้น ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Project Texas

ในยุคของโจ ไบเดน ทำเนียบขาวก็ยังไม่วางใจติ๊กต่อก
ในยุคของโจ ไบเดน ทำเนียบขาวก็ยังไม่วางใจติ๊กต่อก

ความนิยมของแอปพลิเคชันติ๊กต่อก ในดินแดนพญาอินทรี ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของอเมริกันชนเรียบร้อยแล้ว จนถึงตอนนี้ ติ๊กต่อก ไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันที่สำเร็จที่สุดของจีนเท่านั้น หากแต่เป็นการส่งออกทางวัฒนธรรมที่ประสบความสำเร็จที่สุดของจีน และยังเกาะกุมหัวใจวัยรุ่นอย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ดี ติ๊กต่อกนับได้ว่าประสบความสำเร็จในทุกมิติชนิดที่ไร้ข้อโต้แย้ง เพราะติ๊กต่อกเป็นแพลตฟอร์มกระแสหลักของคนทั้งโลก แบบเดียวกับที่สมาร์ทโฟนของคนครึ่งค่อนโลกต้องติดตั้งแอปพลิเคชันอินสตาแกรม เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ โดยที่คนใช้งานทั่วโลกอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ติ๊กต่อกเป็นแอปพลิเคชันจากบริษัทจีน

แต่เพราะจีนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจ และทางการทหารนี่แหละ จึงทำให้กลิ่นอายของความเป็นซอฟต์ เพาวเวอร์ ของติ๊กต่อกไม่ได้ถูกชูให้เห็นอย่างเด่นชัด ทั้งที่ติ๊กต่อกคือซอฟต์เพาวเวอร์แน่ๆ และอยู่ในระนาบเดียวกับ เค-ป๊อป (K-Pop) และซีรีส์ของเกาหลีใต้ที่ใครหลายคนติดงอมแงม รวมถึงอุตสาหกรรมเกม และมังงะ ของญี่ปุ่น

ท้ายที่สุดแล้ว ติ๊กต่อก ยังคงเป็นแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้าบนเส้นทางอันขรุขระ เพราะต้องไม่ลืมว่า ติ๊กต่อก คงต้องเผชิญหน้ากับการตรวจสอบอย่างเคร่งครัดของหน่วยงานกำกับดูแลของทั้งสหรัฐฯ และจากทางการของพญามังกรบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งการต้องรับมือกับหน่วยงานกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็นด้านซ้ายจากโลกตะวันตก ด้านขวาจากโลกตะวันออก ทั้งหมดนี้ถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญของติ๊กต่อกที่จะต้องเผชิญต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้านี้

อ้างอิง: The Guardian, Washington Post