ฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์ เริ่มต้นเพียงไม่นานก็เกิดขึ้นปรากฏการณ์ช็อกโลก จากการที่ทีมซาอุดีอาระเบีย สามารถพลิกล็อกเอาชนะทีมชาติตัวเต็งอย่างอาร์เจนตินา ซึ่งนำโดยลิโอเนล เมสซี ได้สำเร็จ ต่อเนื่องไปกับความพ่ายแพ้ของเยอรมนีที่มีต่อประเทศญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ในหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกเคยแสดงให้เห็นแล้วว่า การแพ้นัดแรกของฟุตบอลโลก ไม่ได้ส่งผลต่อผลลัพธ์ในบั้นปลาย เพราะทีมชาติสเปนในยุคของบิเซนเต เดล บอสเก ในปี 2010 ก็แพ้นัดแรก แต่ก็ยังทะลุป้ายเป็นแชมป์โลกสมัยแรกได้สำเร็จ

บิเซนเต เดล บอสเก ปลุกใจนักเตะกระทิงดุในเวลานั้นว่า ที่แพ้ก็เป็นแต่เพียงการแพ้นัดแรก ถ้าหากอีก 6 นัดที่เหลือสเปนชนะรวดหมดได้ แชมป์โลกก็เป็นของทีมชาติสเปน

ในส่วนการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ ถือว่ามีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสภาพภูมิอากาศ เวลาของการแข่งขันที่ล่วงมาแข่งในช่วงปลายปี เทคโนโลยี จนอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดได้เสมอ

เมื่อพูดถึง “เทคโนโลยี” ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับฟุตบอลโลก 2022 ในช่วงแรกเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า จะถูกหยิบนำมาใช้มากน้อยแค่ไหน แต่เพียงนัดแรกของเกมฟุตบอลโลก 2022 ระหว่างกาตาร์ เจ้าภาพ และเอกวาดอร์ ก็ได้มีการใช้งานเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ ทันที เพื่อตรวจสอบว่าในจังหวะสำคัญๆ ของแมตช์นั้นเกิดการล้ำหน้าหรือไม่

สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า (FIFA) เปิดเผยว่า เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ (Semi-automated offside technology) เป็นเทคโนโลยีที่มีการติดกล้องอยู่รอบสนามจำนวน 12 ตัว ตามด้วยกล้องสำหรับจับตำแหน่งข้อมูลของผู้เล่น 29 จุดในเวลา 50 ครั้งต่อวินาที โดยคำนวณจากตำแหน่งในสนามของผู้เล่น ทั้งแขนและขา เพื่อตรวจสอบการล้ำหน้า

...

เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ
เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ

เท่านั้นไม่พอ ในลูกฟุตบอลที่มีชื่อว่า “Al Rihla” ซึ่งเป็นภาษาอาหรับถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า “การเดินทาง” ได้ฝังเซนเซอร์วัดแรงเฉื่อยเอาไว้ด้วย สำหรับการวัดตำแหน่งของผู้เล่นและลูกฟุตบอลว่าล้ำหน้าหรือไม่

ในช่วงแรกยังไม่มีใครพูดถึงเซนเซอร์ที่อยู่ในลูกฟุตบอล Al Rihla มากนัก กระทั่งในเกมที่ทีมชาติโปรตุเกส เจอกับ ทีมชาติอุรุกวัย ได้เกิดจังหวะที่น่ากังขาในการทำประตูของคริสเตียโน โรนัลโดว่า เขาโหม่งบอลจากลูกเปิดของบรูโน แฟร์นันด์ส หรือไม่

Al Rihla
Al Rihla

ในจังหวะแรกฟีฟ่า มอบประตูนี้ให้กับโรนัลโด แต่ในอีก 5 นาทีต่อมาได้แก้ไขให้เป็นประตูของบรูโน แฟร์นันด์ส นั่นเป็นเพราะว่า เมื่อทำการตรวจสอบบริเวณเซนเซอร์ของลูกฟุตบอล Al Rihla เป็นที่ชัดเจนว่า ลูกฟุตบอลไม่ได้มีการสัมผัสกับศีรษะของโรนัลโดแต่อย่างใด นั่นจึงทำให้ โรนัลโดยังไม่ใช่นักเตะที่อายุมากที่สุดที่ทำประตูได้ติดต่อกันในฟุตบอลโลก

แถลงการณ์ของอาดิดาส ขยายความเพิ่มเติมว่า อาดิดาสใช้เทคโนโลยีที่มีชื่อว่า Connected Ball ซึ่งสามารถตรวจจับการสัมผัสลูกฟุตบอลได้ โดยลูกโหม่งของโรนัลโด ไม่มีแรงมากระทบกับลูกฟุตบอล (ไม่มีกราฟขึ้น)

ภาพจากทวิตเตอร์ SkyFootball
ภาพจากทวิตเตอร์ SkyFootball

วกกลับมาที่ เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ ในจังหวะที่มีการตรวจพบว่ามีโอกาสและมีความเป็นไปได้ที่นักฟุตบอลจะล้ำหน้า ผู้ตัดสินที่อยู่ในห้องวิดีโอจะได้รับการแจ้งเตือน แล้วเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบด้วยปัญญาประดิษฐ์ ก่อนส่งรายงานไปยังผู้ตัดสินที่อยู่ในสนาม เมื่อได้รับการยืนยันจากทุกฝ่าย การแสดงผลแอนิเมชัน 3 มิติ ก็จะปรากฏขึ้นในช่องทางการถ่ายทอดสด และแฟนบอลที่อยู่ในสนาม

...

ด้านการใช้เทคโนโลยีในวงการฟุตบอล เชื่อว่า คนที่ดูฟุตบอลลีกไม่ว่าจะเป็นพรีเมียร์ลีก, กัลโช เซเรีย อา, ลาลีกา, ลีกเอิง และบุนเดสลีกา ไม่ค่อยรู้สึกมีความสุขมากนัก เพราะทำให้เกมฟุตบอลที่ “ควรจะ” ไหลลื่น ต้องหยุดชะงักลงไป แต่อีกฝ่ายก็มองว่า ถ้าทำให้เกมฟุตบอลยุติธรรมขึ้นก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แม้จะมีบางครั้งที่มันทำให้รู้สึก “ค้าน” สายตายิ่งกว่าเดิมอีก

รายงานของเดอะ การ์เดียน เมื่อปี 2021 พบว่า มีเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ของแฟนบอลพรีเมียร์ลีกเท่านั้น ที่สนับสนุนการใช้ VAR แต่อีก 74 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมองว่าแล้วแต่โชคชะตาฟ้าลิขิต ซึ่งเอาเข้าจริง เมื่อทีมที่แฟนบอลคนนั้นเชียร์เสียผลประโยชน์ บ่อยครั้งพวกเขาก็มักไม่พอใจในผลการตัดสินอยู่ดี โดยเฉพาะหากเกมการแข่งขันนัดนั้นเป็นเกมที่มีความสำคัญมาก

ยกตัวอย่างเช่น ฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ในเกมที่ทีมชาติอังกฤษ พบกับ ทีมชาติเยอรมนี ซึ่งในจังหวะสำคัญที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของเกมก็มาจากลูกยิงที่ข้ามเส้นไปแล้วของแฟรงค์ แลมพาร์ด แต่ผู้ตัดสินในเกมนั้นมองว่า บอลยังไม่ข้ามเส้น ก่อนที่อังกฤษจะพบกับปลายทางของทัวร์นาเมนต์นั้นด้วยการตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย

ในทางกลับกันถ้าหากวันนั้นมีการใช้เทคโนโลยี แฟนบอลอังกฤษอาจมีความสุขกับผลการแข่งขันมากกว่านี้

นอกเหนือจากการใช้เทคโนโลยีล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ และลูกฟุตบอลอัจฉริยะแล้ว การแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ฟีฟ่าได้มีการใช้เรื่องของ “ตัวเลข” เข้ามาผสมผสานของศาสตร์กับฟุตบอลมากขึ้น

ตามปกติแล้ว โลกฟุตบอลสมัยใหม่ เริ่มมีการหันมาใช้ตัวเลขวิเคราะห์เชิงลึกมากขึ้น เพื่อนำมาวัดผล และใช้ในการวางแผนการเล่น โดยฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ เปิดโอกาสให้เข้าถึงข้อมูลที่แสดงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล ผ่านแอปพลิเคชันสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการวิ่งในสนาม, ฮีตแมป, ตัวเลขที่แสดงถึงการวิ่งเข้าเพรสซิงฝ่ายตรงข้ามในเวลาที่ไม่ได้ครองบอล เป็นต้น

...

ทั้งนี้ เทคโนโลยีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแฟนบอล (รวมถึงนักฟุตบอลด้วย) ประเทศกาตาร์ในฐานะเจ้าภาพได้ติดตั้งสิ่งที่เรียกว่า Advanced Stadium Cooling Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกระจายความเย็นขั้นสูง เพื่อให้อุณหภูมิในสนามลดต่ำลง

Advanced Stadium Cooling Tech
Advanced Stadium Cooling Tech

แต่การใช้เทคโนโลยี Cooling Tech ก็สร้างปัญหาไม่น้อยเหมือนกัน เพราะทั้งนักเตะและแฟนบอลต่างให้ความเห็นตรงกันว่า อากาศที่ถูกปล่อยออกมาหนาวเกินไป โดยเฉพาะในรายของแอนโทนี จากทีมชาติบราซิลรู้สึกว่า Cooling Tech ทำให้ตัวเขาและเพื่อนนักเตะบราซิลเกิดอาการเจ็บคอ บางครั้งก็มีอาการไอ เพียงแต่ว่า แอนโทนี ยืนยันว่าเขาพร้อมลงสนามเสมอ เพราะมีความสุขอย่างมากจากการได้ติดทีมชาติบราซิลชุดนี้

การติดตั้ง Advanced Stadium Cooling Tech มีทั้งสิ้นด้วยกัน 7 สนาม ยกเว้น Stadium 974 ซึ่งเป็นสนามที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล จึงไม่ต้องการความเย็นอะไรมากนัก

...

เมื่อพูดถึงสนาม Stadium 974 ก็มีความน่าสนใจอีกด้านหนึ่ง จากการที่ สนามแห่งนี้เป็นสนามที่ถอดประกอบได้ ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากตู้คอนเทนเนอร์ และโครงเหล็กแบบโมดูลาร์ ถือได้ว่าเป็นสนามที่ดึงดูดสายตาแฟนบอลได้เป็นอย่างดีจากความแปลก และใช้วัสดุในการสร้างน้อยกว่าสนามปกติทั่วไป อีกทั้ง Stadium 974 เป็นสนามกีฬาแบบถอดประกอบได้เต็มรูปแบบแห่งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกด้วย

Stadium 974
Stadium 974

สุดท้ายเป็นเรื่องของความปลอดภัยแบบองค์รวม ฮาหมัด อาเหม็ด อัล-โมฮันนาดี ผู้อำนวยการศูนย์ไอซีที เปิดเผยว่า ในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ครั้งนี้ ได้มีการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ จับตาดูผู้ชม เพื่อการป้องกันการก่อการร้าย และการรักษาความปลอดภัยให้กับแฟนบอลที่อาจเกิดขึ้นในการแข่งขันครั้งนี้ เช่น ปัญหาคอขวดเพื่อรับประกันแฟนบอลให้สามารถเข้าและออกจากสนามได้อย่างราบรื่น

พร้อมด้วยการใช้ Big Data เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล และทำนายรูปแบบของแฟนบอล เนื่องจากผู้จัดการแข่งขันทราบดีอยู่แล้วว่าในแต่ละเกมขายตั๋วได้เป็นจำนวนกี่ใบ จึงสามารถคาดการณ์ได้ตั้งแต่จำนวนผู้ชมที่จะเพิ่มขึ้น (หรือน้อยลง) เวลาที่มาถึงสนาม จุดปากทางเข้าสนาม หรือทุกการเคลื่อนไหวของผู้คนในทุกช่วงเวลา

ในส่วนของศูนย์ไอซีที ได้จัดตั้งอยู่ในพื้นที่แห่งหนึ่งของกรุงโดฮา พรั่งพร้อมด้วยช่างเทคนิคกว่า 100 คน ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง คอยตรวจสอบผ่านจากกล้องรักษาความปลอดภัยกว่า 22,000 ตัว ที่กระจายอยู่ทั่วสนามฟุตบอลทั้ง 8 สนาม มีการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าเพื่อเป็นหนึ่งในตัวช่วยในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทั้งในรูปแบบของไซเบอร์ และการก่อการร้าย

ผู้อำนวยการศูนย์ไอซีทีของฟุตบอลโลก 2022 บอกด้วยว่า ช่างเทคนิคบางคนเคยทำงานอยู่เบื้องหลังมาตั้งแต่การแข่งขันเอเชียนเกมส์ในปี 2006 ซึ่งกาตาร์เป็นเจ้าภาพ และถ้าหากกาตาร์มีโอกาสได้จัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาพวกเขาก็พร้อมเสมอ

แต่ด้วยปัญหาการยอมรับความแตกต่างของเพศสภาพ, วัฒนธรรม, ศาสนา รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่แน่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วจะทำให้กาตาร์พลาดโอกาสการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาในอนาคตหรือไม่