บำบัดความใคร่ มลายความทุกข์ ส่งมอบความสุขภายใต้ร่างกายของ "เธอ" และ "เขา" กามกิจเสร็จสิ้น จ่ายเงินครบจบแยกย้าย กลายเป็นคนไม่รู้จักกัน เมื่อ "ร่างกาย" เป็น "สินค้า" โปรโมชั่นต้องมี การตลาดต้องมา แต่เหนือสิ่งอื่นใด "หัวใจ" ของพวกเขา และเธอจะเป็นอย่างไร จะมีใครเล่าช่วยรับฟัง บรรเทาปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการซื้อขาย....
นางสาวกนกวรรณ ด้วงเขียว นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ หรือ แอดมินแฟนเพจเฟซบุ๊ก นักสังคมสงเคราะห์เล่าเรื่อง เปิดเผยกับ "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" ว่า จุดเริ่มต้นที่ทำให้นักสังคมสงเคราะห์พบกับพวกเขา หรือ คนขายบริการทางเพศ หลักๆ มาจาก ปัญหาเรื่องการเงินเป็นหลัก และทำให้เราเห็นปัญหาเบื้องต้นของพวกเขา หรือที่เราเรียกว่า ปัญหาเหนือผิวน้ำ
ขณะเดียวกัน เราก็จะทำการสังเกตต่อว่า พวกเขามีปัญหาอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะเขามาปรึกษาเรื่องปัญหาทางการเงิน ปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาล และนี่คือสิ่งแรกที่ทำให้เราในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ได้เจอกับคนขายบริการทางเพศ
จากนั้นก็ตามมาด้วย เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล พอเขาเข้ามาที่โรงพยาบาลแล้ว อาจจะมาด้วยสิทธิการรักษาผิดขั้นตอน คือ อาจจะไม่มีสิทธิบัตรทอง ไม่มีบัตรประกันสังคม เมื่อเข้ามารับการรักษาเขาก็ต้องจ่ายเงินเอง และหากต้องรักษาต่อเนื่องยาวนาน ก็ยิ่งทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น นี่ปัญหาที่ 2 ที่ทำให้เราเจอพวกเขามากขึ้น
ส่วนใหญ่พวกเขาจะมารับการรักษาด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส วัณโรค และเอชไอวี (HIV) จริงๆ เคสที่เราเจอส่วนใหญ่จะเป็น คนไร้บ้าน (Homeless) ค่อนข้างมาก โดยในส่วนนี้ก็พบว่า พวกเขาก็มีการขายบริการทางเพศเหมือนกัน แต่เพียงไม่ได้แสดงตัวตั้งแต่แรกว่าเป็น "คนขายบริการทางเพศ" (Sex worker) จนเรามาสัมภาษณ์ประวัติทีหลัง
...
อย่างไรก็ตาม เราจะรู้ว่ากลุ่ม Sex worker ไม่ค่อยได้เข้าระบบสาธารณสุขเท่าที่ควร และกลุ่มที่เข้ามาหานักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่จะเป็นคนไร้บ้าน แต่ก็จะหาเงินด้วยวิธีการคนขายบริการทางเพศ โดยคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาพบเรา มี 2 ประเภท คือ เดินเข้ามารับการรักษาเอง และอีกประเภท คือ อาการหนักมากแล้ว เจ้าหน้าที่อาสานำมาส่งโรงพยาบาล
ยกตัวอย่างเช่น เคยมีเด็กนั่งดริ๊งก์เข้ามาคุยกับนักสังคมสงเคราะห์ เขาก็ไม่ได้บอกว่า เขาขายบริการทางเพศไหม และในมุมของเราเอง การพบเจอกัน 1-2 ครั้ง ตามมารยาทแล้วเราก็จะไม่เจาะลึกว่า นอกเหนือจากการเป็นเด็กนั่งดริ๊งก์นี่ขายบริการทางเพศด้วยไหมจนกว่าความสัมพันธ์ของเขา และเราดีขึ้น เกิดการไว้ใจกัน ก็มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน จนนำไปสู่การช่วยเหลือเขาในเบื้องต้น
ปูมหลังก่อนเข้าสู่วงจร "คาวโลกีย์"
นางสาวกนกวรรณ กล่าวอีกว่า ที่เราเห็นบ่อยๆ หลายๆ เคสที่มาพาเราก็จะเป็นแบบนี้ จะพบว่าปัญหาสภาวะทางครอบครัว และสภาวะทางสังคมเป็นแรงจูงใจสำคัญ ในการตัดสินใจให้ขายบริการทางเพศ
จากข้อมูลที่เรามีอยู่จะพบว่า พวกเขาเหล่านั้นจะมาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น พ่อแม่แยกทางกัน หรือ เป็นเด็กกำพร้า อยู่ในสถานสงเคราะห์ เมื่ออายุ 18 ปี ต้องเดินออกจากสถานสงเคราะห์บางรายรู้สึกเคว้งคว้าง ไม่รู้จะทำอะไร มีคนมาติดต่อทาบทาม ล่อลวงให้มาทำอาชีพนี้ก็พร้อมเข้ามสู่วงจรการค้ามนุษย์
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บสถิติและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการขายบริการทางเพศ เราสามารถแบ่ง Sex worker ได้ออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ดังนี้
1. กลุ่มคนที่เต็มใจขายบริการทางเพศ
พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้มีปัญหาอะไรใดๆ แต่ยินดีที่จะทำอาชีพนี้ เขายินดีที่จะใช้ร่างกายเป็นสินค้า สิทธิในร่างกายของฉัน และฉันเลือกที่จะทำอะไรกับร่างกายของฉัน โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้ในเรื่องการป้องกันโรคติดต่อต่างๆ
2. กลุ่มคนที่ถูกล่อลวงไปอยู่ในวงจรการค้ามนุษย์
กลุ่มนี้น่าห่วงมากที่สุด เพราะมีตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน ซึ่งพวกเขาอาจจะมีเอเย่นต์เข้ามาดูแล และอาจจะเข้าไปไม่ถึงสาธารณสุขเลย อาจจะไม่ไดรับการดูแลเรื่องสุขภาพ พวกเขาเหมือนคนชายขอบ
3. กลุ่มคนที่ถูกสภาวะแวดล้อมบีบคั้นให้ต้องเลือกทางเดินนี้
จากการเก็บข้อมูล พบว่า พวกเขามักมีปัญหาเรื่องการเงิน ไม่ได้รับการศึกษาตามที่รัฐบาลกำหนด หรือเรียนแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนมีปัจจัยเร้าอื่นๆ เช่น เกิดมาในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ก็เลือกการขายบริการทางเพศเป็นทางออก คำหนึ่งที่เราได้ยินบ่อยๆ คือ วิธีนี้มันหาเงินง่าย
สุดท้ายแล้วถ้าเลือกทางนี้แล้วมันดี ก็คงเลือกทางเดินนี้ต่อไปจนกว่าจะเจอจุดเปลี่ยนในชีวิต เช่น การตั้งครรภ์ หรือ มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ขายบริการทางเพศก็เสี่ยงซึมเศร้า?
จากข้อมูล และงานวิจัยต่างๆ เราก็ยังไม่เจอแบบชัดๆ ว่า กลุ่มคนขายบริการทางเพศจะเป็น กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าอาชีพอื่นหรือไม่ แต่ถ้าค้นดูจะพบว่า งานวิจัยของโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่มักจะระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ คือ วิธีการบำบัดความเครียด
ถ้าถามว่า กลุ่มคนเหล่านี้มีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าไหม ตรงนี้เราก็ไม่สามารถอธิบายได้ เพราะตามหลักการแพทย์ ทุกคน ทุกอาชีพ มีสิทธิ์เป็นโรคซึมเศร้าได้ทั้งนั้น แต่ถ้าเราย้อนกลับมาดูที่ปัญหาแรกเริ่มการเข้าสู่วงจรการขายบริการ
เราจะพบว่า พวกเขามีปัญหาเป็นต้นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อความเครียดบวกกับปัญหาที่พบเจอพวกเขาก็อาจมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งถ้าเขาไม่ได้เลือกอาชีพนี้ เขาก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าก็ได้เหมือนกัน
นางสาวกนกวรรณ กล่าวว่า ในแง่มุมของนักสงคมสงเคราะห์ การป่วยทางกายน่ากังวลมากที่สุด เรากังวลว่าเขาจะไม่สามารถึงสาธารณะสุขขั้นพื้นฐานแบบที่เขาควรจะได้รับ ส่วนอาการทางใจ เราจะให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ 2 ผู้ที่ถูกล่อลวงไปอยู่ในวงจรการค้ามนุษย์ และกลุ่มที่ 3 ผู้ที่ถูกสภาวะแวดล้อมบีบคั้นให้ต้องเลือกทางเดินนี้
"โดยเฉพาะคนที่ถูกล่อลวงมาขายบริการทางเพศ เรากังวลใจมากที่สุด เพราะเขาถูกบีบบังคับ และถูกกดดันให้ต้องรับแขกจากเอเย่นต์ หรือ แม่เล้า เช่น วันนี้ต้องรับแขกให้ได้วันละ 10 ราย โดนกักขัง โดนทำร้ายร่างกาย กดดันทางร่างกาย และจิตใจ เหล่านี้เป็นปัจจัยเร้าทำให้เขาป่วยทางใจ"
พาพวกเขาเข้าระบบทำให้ถูกกฎหมาย
นางสาวกนกวรรณ กล่าวว่า หากมองว่า ร่างกายเป็นสินค้า และทุกคนมีสิทธิในร่างกาย อาชีพขายบริการทางเพศควรถูกกฎหมายได้แล้ว ซึ่งถ้าถูกกฎหมาย และขึ้นทะเบียน กลุ่มนี้จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ที่สำคัญจะช่วยลดปัญหากระบวนการค้ามนุษย์
ทั้งนี้ๆ หลายประเทศมีโมเดลดังกล่าวแล้ว มีการจ่ายภาษี มีการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข มีการตรวจร่างกายประจำปี ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีการขึ้นทะเบียนกับสาธารณสุขเหมือนกัน เช่น ตรวจเลือด ตรวจซิฟิลิส โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดูแลอยู่ ที่สำคัญก็ทำงานในเชิงลุก เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
"ถ้าทุกอย่างถูกกฎหมาย ทุกอย่างจะถูกควบคุมกำกับดูแลโดยรัฐ อัตราการค้ามนุษย์ โรคติดต่อต่างๆ ก็จะถูกควบคุมไปโดยปริยาย ความเครียด แรงกดดัน โรคทางใจ ก็น่าจะลดลงด้วย "
นอกจากนี้ เราอาจจะต้องทำงานในเชิงรุก เข้าถึงพื้นที่ใกล้เป้าหมายให้มากที่สุด เรามั่นใจว่าพวกเขายังเป็นกลุ่มคนนอกระบบ ยากต่อการเข้ามารักษาโรคทั้งกาย และใจ ที่สำคัญพวกเขาเหล่านี้อาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของการตรวจเลือด ตรวจร่างกาย
อย่างไรก็ตาม มีบางเคสที่เราพบ คือ เขาติดโรคจากเพศสัมพันธ์ แต่ก็ยังคงขายบริการทางเพศอยู่ และเลือกที่จะไม่ป้องกัน โดยอ้างเหตุผลว่า "โกรธ และเคียดแค้น ในเมื่อฉันติดแล้ว พวกคุณก็ควรติดบ้าง"
ส่งใจช้ำๆ ของเธอมา..ฉันจะรักษาเอง
นางสาวกนกวรรณ บอกอีกว่า การให้ปรึกษาในฐานะนักสังคมสงเคราะห์ เวลาเราเจอเคส เราจะเคารพการตัดสินใจ และสิ่งที่เขาทำ เราไม่เคยโน้มนาวให้เขาเลิกเป็น หรือให้เลิกในสิ่งที่เขาทำ แต่ทุกครั้งที่เราคุยกัน เราจะถามเขาเสมอว่า "วันนี้เป็นอย่างไร และโอเคไหมกับสิ่งที่ทำอยู่"
จากนั้น เราก็จะคุยกัน เป็นการให้คำปรึกษาในแต่ละแง่มุม แลกเปลี่ยนทัศนคติกัน โดยหน้าที่ของเราจะไม่ได้ไปบอกว่า เลิกทำเถอะ อันนี้ดีไม่ดี หน้าที่ของนักสังคมฯ คือ คอยเฝ้าระวัง คอยบอกเขาว่า ตอนนี้เขาอยู่ตรงไหน เดินถึงตรงไหนแล้ว สะท้อนสิ่งที่เขาพูดให้เขาคิด คล้ายกระจกสะท้อน แต่หากประเมินแล้วว่า เขายังสับสนในทางเลือก เราก็จะเป็นเหมือนแผนที่ ให้เขาลองประเมินว่าจะเลือกแบบไหน
โดยสิ่งที่เราทำคือ ประเมินหาจุดแข็งของเขา ให้เขาสะท้อนให้เราฟัง ชวนคุย ชวนคิด ให้เห็นแนวทางอื่นๆ ที่เขาสามารถเลือกเดินได้ แต่ท้ายที่สุด ถ้าเขาเลือกทางเดินไหน จะกลับไปสู่เส้นทางเก่าๆ เราก็จะไม่มีการต่อว่า เพราะเราเคารพในการตัดสินใจของเขา แต่สิ่งหนึ่งที่เราคาดหวัง คือ เมื่อเขามาหาเราแล้ว เขาน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในอะไรบางอย่างบ้าง....
อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "ขายตัว แต่ไม่ขายใจ"
- ชีวิตยิ่งกว่านิยาย มุมมืด “ชายขายกาม” ทำมากกว่ามี Sex แฉกลมิจฉาชีพคราบลูกค้า
- เปิดม่าน คาวโลกีย์ เมื่อร่างกาย คือ สินค้า ใครเล่าจะบำบัด หัวใจ โสเภณี
- ‘เร่งรับแขกจ่ายค่าเช่าห้อง’ ชะตากรรมเศร้าๆ สาวขายบริการที่อัมสเตอร์ดัม
- ช่องโหว่กฎหมาย "อาบอบนวด" อนาคตล่มสลายหรือไม่มีวันตาย "ชูวิทย์" ฟันธง
- หญิงขายบริการ ถูกตราหน้าโสเภณี โดนละเมิดกดขี่ซ้ำๆ ทำไมไม่เลิกทำอาชีพ
- เปิดราคา "พลีกายแลกเงิน" ขายตัวถูกเหลือเชื่อ แพงมหาศาล ใครเป๋าตุง