คุณเคยประสบปัญหาเหล่านี้หรือไม่ "เดือนนี้จะกินอะไร จ่ายหนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิตไปหมดแล้ว" หรือเห็นข้อมูลเหล่านี้ในโลกออนไลน์ ช่วยด้วย ทำอย่างไรดีคะ เป็นหนี้บัตรเครดิต 9 ใบ วงเงินเต็มทุกใบแล้ว, ทำอย่างไรดีครับ ส่งค่างวดรถไม่ไหวแล้ว ปล่อยให้ไฟแนนซ์ยึดได้ไหม, จริงไหมที่เราจนเพราะหนี้, จริงเหรอคนไทยรวยกระจุก จนกระจาย
ในความเป็นจริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเหล่านี้มาจากอะไร "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" อาสาพาไปหาคำตอบโดย "ดร.สรา ชื่นโชคสันต์" ผู้ช่วยผู้อำนวยการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งคณะผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับ "หนี้ครัวเรือนในประเทศไทย" ได้อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า ถ้าถามว่า หนี้ครัวเรือน คืออะไร ถ้าให้พูดให้เข้าใจง่ายๆ
"หนี้" คือ อะไรก็ตามแต่ที่เราไปยืมเขามา แล้วเราต้องจ่ายคือเขา เช่น กู้เงินจากธนาคาร A และต้องจ่ายเงินต้นคืนธนาคาร A แต่จะมีเรื่องของดอกเบี้ย หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องคืนธนาคาร A
...
จากฐานข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (National Credit Bureau) เราจะพบว่า ยอดคงค้างหนี้เฉลี่ยต่อผู้กู้รายบุคคล อยู่ที่ 552,499 บาท ณ สิ้นปี 2561
"ครัวเรือน" คือ ครอบครัว หรือสมาชิกในครอบครัว โดยจะมีการรวมหนี้ของสมาชิกครอบครัวว่ามีเท่าไร เช่น คุณพ่อมี 2 แสน คุณแม่มี 3 แสน ก็จะเอายอดหนี้แบบนี้มารวมกันเป็นต้น
จากฐานข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ จากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ซึ่งได้ทำการสำรวจครัวเรือนไทยทั่วประเทศประมาณ 40,000–50,000 ครัวเรือนต่อปี พบว่า ยอดคงค้างหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจะอยู่ที่ 352,646 บาท ในปี 2560
ผ่าทฤษฎีคนมีหนี้
หากดูทฤษฎีแล้ว คนที่มีหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนวัยเพิ่งทำงาน ฐานรายได้ต่ำ หนี้ก็ยังไม่สูงขึ้น แต่แนวโน้มคนพวกนี้จะมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่ยอๆ เมื่ออายุเพิ่มขึ้น สอดรับกับรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นหนี้ก็จะเริ่มน้อยลง แต่ของเมืองไทยยังพบว่า มีครัวเรือนผู้สูงอายุบางกลุ่มยังมีหนี้สูงอยู่ ยกตัวอย่างเช่น เกษตรกร ถ้าตัดที่อายุ 60 ปี จะเห็นเลยว่ายังมีหนี้อยู่ และการศึกษาก็เข้าใจได้ว่าบางรายก็อาจจะตายไปกับหนี้
สำรวจตัวเอง คุณตึง หรือหย่อน
ดร.สรา บอกว่า คิดแบบง่ายๆ การเป็นหนี้ ไม่ได้แตกต่างอะไรกับการเดินทางสายกลางของศาสนาพุทธเลย บางครั้งหย่อนไปไม่ดี ตึงไปก็ไม่ดี ในที่นี้หมายความว่า หากเรามีหนี้ในระบบเศรษฐกิจน้อย ก็จะมีแรงขับเคลื่อนน้อย เงินลงทุน หรือเอามาใช้จ่ายน้อย เพราะทุกคนออมเงิน ทำให้ไม่มีการลงทุน จับจ่ายใช้สอยก็จะทำให้เศรษฐกิจไม่เดิน อันนี้เรียกว่าหย่อนก่อนไป
แต่ถ้าหากตึงเกินไป หรือมีหนี้มากเกินไป เหล่านี้ก็จะสร้างปัญหาในอนาคตได้ เพราะเราไปดึงเงินในอนาคตมาใช้ และเราต้องจ่ายคืนเขาพร้อมดอกเบี้ย พอเป็นแบบนี้ก็มันอาจจะเกิดอาการจ่ายไม่ไหว หรือผ่อนไม่ไหว ทำให้มีการผิดนัดชำระหนี้ หรือเบี้ยวหนี้ กันมากขึ้น
ที่สำคัญอย่าลืมว่า หากเราผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา นั่นก็หมายความว่า เงินที่เขาให้เรายืมก็หายไป เขาก็ขัดสนได้ ซึ่งทุกอย่างมันก็จะเป็นลูกโซ่กระทบกันไปหมด
สรุปง่ายๆ ถ้าคิดเป็นหนี้ แต่ไม่มีปัญหาเรื่องการชำระหนี้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต แบบนี้มีหนี้ได้ไม่ต้องกังวล แต่หากตึงเกินไปแบบในปัจจุบันที่เราเห็นๆ กันหลายครัวเรือน หรือหลายคน ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน แล้วยังมีหนี้สูงอีก จ่ายขั้นต่ำ แถมต้องผ่อนนานๆ นั่นหมายความว่าคุณกำลังเข้าสู่กับดักวงจร "หนี้" อย่างเป็นทางการ
ทำไมคนไทยจึงเป็นหนี้เยอะขึ้น
1. ออมเงินน้อยเกินไป เงินสะสมก็ต้องน้อยตาม พอเงินออมมีน้อยมาก ถ้าเราจะซื้อบ้าน หรือรถ เราก็ต้องกู้เงินเต็มจำนวน หรือเกือบเต็มจำนวน จากที่จะกู้แค่ 70-80% ก็กลายเป็นต้องกู้ 100% เต็ม เพราะหนี้สูงผ่อนต่อเดือนก็ต้องตามเงินต้นที่สูง ก็ต้องเลือกให้ผ่อนนานขึ้น เป็นต้นตอว่า ออมน้อย เงินออมสะสมไม่มี ก็ต้องกู้เต็ม ทำให้เงินที่มีอยู่น้อยลง ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะผ่อนนานขึ้นเพื่อให้มีเงินเหลือ
ถ้าถามว่า พวกเราเงินเดือนน้อยจริงหรือ ก็ต้องถามกลับว่า ถ้าเราเป็นลูกจ้าง ส่วนใหญ่จะมีแต่เงินเดือนเท่าเดิม หรือเพิ่มมากขึ้น หากย้อนไปดูข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า รายได้ส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกปีตามการเติบโตของเศรษฐกิจ ยกเว้นครัวเรือนเกษตร ที่รายได้แปรผกผันตามราคาสินค้าเกษตร ที่เราเห็นอัตราการออมลดลง เพราะการใช้จ่ายมากขึ้น และถ้าจะบอกว่ามาจากเงินเฟ้อหรือไม่ เอาตรงๆ ก็คงไม่ใช่อีก เพราะเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงที่ผ่านมาไม่ได้พุ่งสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ
2. ปิดโอกาสการขอสินเชื่อในอนาคต หรือการปิดโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ถ้าเกิดว่าเราอยากจะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่าง แต่ถ้าเรามีเงินออม และอยากจะกู้เงินจากธนาคารมาลงทุน ธนาคารก็เช็กรายละเอียดต่างๆ เช่น รายรับ รายจ่าย มีเงินออมไหม ซึ่งถ้าเรามีเงินออม ธนาคารจะรู้ว่า เรามีวินัยทางการเงิน ในลักษณะแบบนี้มีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารก็จะปล่อยกู้ได้สัก 70-80%
3. ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น จากข้อมูลที่พบ ถ้านับเรื่องการกระจายได้จะพบว่า ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ หรือ Gini Index ของไทยเราดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายภาครัฐ เช่น บัตรคนจน เบี้ยผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขามีรายได้มากขึ้น แต่ทำไมเรายังรู้สึกว่ายังมี รวยกระจุก จนกระจาย
ในประเด็นนี้ต้องอธิบายว่า เขารวยกระจุก เพราะสินทรัพย์ที่เขาสะสมมา และมาจากการออมเงิน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ครอบครัว A และครอบครัว B มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน A มีวินัยออมเงินเดือนละ 5,000 บาท ขณะที่ B ใช้เงินแบบเดือนชนเดือน และออมเดือนละ 1,000 บาท
ผ่านไป 2 ปี ครอบครัว A มีเงินออมเป็นเงินก้อนประมาณ 120,000 บาท ในขณะที่ครอบครัว B มีเงินออม 24,000 บาท ซึ่งถ้าครอบครัว B อยากทำธุรกิจ เพิ่มฐานะ เราจะเห็นว่าเป็นไปได้น้อยมากที่แบงก์จะปล่อยกู้
"จะเห็นได้ว่าเงินเริ่มต้นเท่ากัน การกระจายรายได้ก็ดีขึ้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงินของบุคคล และครอบครัวนั้นๆ ที่แตกต่างกัน จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างกันมาขึ้น ครอบครัวที่มีการวางแผนที่ดีก็เริ่มต่อยอดเงินออมด้วยการลงทุน มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น เหมือนคำกล่าวที่ว่า จงอดเปรี้ยวไว้กินหวาน"
สรุป 3 บรรทัดจบ
- ถ้าออมน้อย หนี้สูง หนี้นาน นำไปสู่หายนะ
- ถ้าออมน้อย ลดโอกาสการสร้างฐานะ ปิดโอกาสการขอสินเชื่อในอนาคต
- ถ้าออมน้อย ทำให้เราเป็นคนจน จริงๆ ในเรื่องของสินทรัพย์
การจ่ายขั้นต่ำ คือ ก้าวแรกของการติดกับดักหนี้
ในประเด็นนี้ ดร.สรา อธิบายว่า ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ แบงก์ชาติสาขาภาคได้ลงพื้นที่เก็บสำรวจในประเด็นต่างๆ ก็พบว่า สถาบันการเงินหลายแห่งมีโปรโมชั่นเชิญชวนให้ก่อหนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งเราพอสรุปปัจจัยได้ดังนี้
- ปัจจัยที่เอื้อ ที่ทำให้เราใช้จ่าย หลักๆ เลยคือ การเข้ามาของเทคโนโลยี ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การจับจ่ายเปลี่ยนไป ความคล่องตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช็อปปิ้งออนไลน์ หรือ โซเชียลมีเดียที่ถือเป็นสิ่งเร้าให้เราใช้จ่ายมากขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว
- ปัจจัยของผู้ให้กู้ การแข่งขันการปล่อยสินเชื่อ ที่มีการแข่งขันในตลาดค่อนข้างสูง เช่น ดาวน์ 0% โปรโมชั่น ลดแลกแจกแถม หรือรวมไปถึงแผนการท่องเที่ยว ผ่อน 0% แคชแบ็กต่างๆ เป็นต้น
- ปัจจัยจากนโยบายภาครัฐ เช่น มาตรการต่างๆ ที่กระตุ้นการจับจ่าย ซึ่งอย่างหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ นโยบายการเงิน ที่ยังคงดอกเบี้ยต่ำก็มีส่วน เพราะไม่จูงใจให้เราออม
หากให้ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นโยบายรถคันแรก ที่กระตุ้นให้ซื้อรถ ในแง่ของนักวิจัยเราก็เข้าใจว่า รัฐบาลอยากกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ควรจะกลับไปที่เดิม คือ ตึงไปก็ไม่ดี หย่อนไปก็ไม่ดี การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ามีคนผ่อนไม่ไหวอันนี้ก็จะส่งผลกระทบทันที
แต่ส่วนใหญ่นโยบายต่างๆ มีขึ้นเพื่อให้คนที่มีศักยภาพออกมาใช้จ่าย เช่น คนที่อยากซื้อรถอยู่แล้ว ผมนะมีเงินออมนะ มีวินัยทางการเงิน แต่พอมีโปรโมชั่นแบบนี้ มีนโยบายแบบนี้ ก็กระตุ้นให้เราตัดสินใจซื้อรถได้เร็วขึ้น ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับ การตัดสินใจของตัวเรา
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ชี้ให้เห็นว่า มีคนใช้บัตรเครดิตเต็มวงเงินมากขึ้น จ่ายหนี้ขั้นต่ำมากขึ้น ก็สะท้อนให้เห็นว่า คนออมเงินน้อยลง และลดลง เวลาเราเผลอตัวรูดบัตร หรือช็อปปิ้งออนไลน์ เราไม่รู้ว่ายอดเราใช้ไปเท่าไร ณ สิ้นงวดมา ก็จ่ายไม่ไหว ก็ต้องประคองด้วย การจ่ายขั้นต่ำ
ทั้งนี้ เราไม่รู้เลยว่า การจ่ายขั้นต่ำ คือก้าวแรกของการติดกับดักหนี้ เพราะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในประเด็นนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการลดดอกเบี้ยบัตรจาก 20% เป็น 18% แต่ก็ยังสูงอยู่ เพราะถ้าลดต่ำมากๆ จะกระทบกับความคุ้มค่าของผู้ปล่อยกู้ เหตุนี้ก็จะเกิดผลกระทบทำให้เกิดการเข้าถึงสินเชื่อยากอีก เรื่องนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี
แบงก์ชาติทำอะไรได้บ้าง
ดร.สรา กล่าวว่า ในเรื่องของปัจจัยเอื้อนั้น เราคงห้ามไม่ได้ โดยเฉพาะโฆษณาอันชาญฉลาดในโลกออนไลน์ แต่ที่เราทำได้ คือ การกำกับดูแลผู้ให้กู้ได้ ล่าสุด เราออกมาตรการการให้สินเชื่อด้วยความรับผิดชอบ (Responsible Lending)
โดยส่วนใหญ่เวลาแบงก์ปล่อย จะเน้นแต่ทำกำไร เช่น สินเชื่อรถยนต์ดาวน์ 10% หรือมีคนค้ำประกัน แบงก์ก็จะปล่อยเลย แต่แบงก์ไม่ได้เช็กภาระหนี้เดิมๆ ว่าผู้มาขอกู้จะจ่ายไหวไหม พอปล่อยไป หากวันไหนผ่อนไม่หมด ผ่อนไม่ไหว แบงก์ก็ยึดหลักประกันได้ คนที่แย่ คือ คนเป็นหนี้ เผลอๆ ขายหลักประกันแล้วมีส่วนต่าง พวกเขาก็ต้องมาชำระหนี้อีก
"เราอยากให้แบงก์เป็นคู่หูตรวจสุขภาพผู้กู้ คุณจ่ายไหวไหม แพ็กเกจไหนดีสำหรับคุณ คือ จะต้องปล่อยสินเชื่ื่อแบบมีความรับผิดชอบ แบงก์ชาติพยายามทำนิยามที่เรียกว่า ภาระหนี้สิน หรือ DSR (Debt Service Ratio) คือ ภาระหนี้ต่อเดือนหารด้วยรายได้ต่อเดือน แต่ละแบงก์มีนิยามไม่เหมือนกัน"
ทั้งนี้ เราต้องการให้นิยามเหมือนกัน ตรงกัน และรายงานข้อมูลนั้นกับเราก่อน ภาระหนี้ต่อเดือนหารด้วยรายได้ต่อเดือน ปัจจุบันเป็นอย่าง เราอยากมีข้อมูลจริงๆ ถ้าจำเป็นก็จะออกมาตรการอะไรบางอย่างเข้ามาดูแลหนี้ในครัวเรือน
นอกจากนี้ เรายังออกมาตรการควบคุมสินเชื่อบ้าน (LTV) สำหรับคนที่กู้หลายสัญญา เพื่อป้องกันการเก็งกำไร โดยหากใครจะทำสัญญาที่สอง คือ ต้องมีเงินดาวน์ 10-30% ก่อนจะยื่นกู้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องหนี้เสียในอนาคตด้วยส่วนหนึ่ง
ขณะเดียวกันในปี 60 แบงก์ชาติก็ออกมาตรการมาดูแลพวกบัตรเครดิต จำกัดวงเงิน ให้ความรู้ทางการเงิน คนจบใหม่ๆ การบริหารเงินสำคัญมาก ถ้าออมน้อยหนทางการเงินจะเป็นหนังคนละม้วน ถ้าครัวเรือนมีสติ เราจะไม่ต้องไปคุมเรี่องปัจจัยเอื้อเลย เพราะเขาจะเห็นประโยชน์จากการลดแลกแจกแถม
คลินิกแก้หนี้
ดร.สรา กล่าวอีกว่า โครงการคลินิกแก้หนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่แบงก์ชาติทำ เราช่วยเจรจากับหลายๆ เจ้าหนี้หลายแห่ง สำหรับคนที่ผิดชำระหนี้ หลายๆ เจ้า เราก็จัดโปรแกรมจัดโครงสร้างหนี้ เพื่อให้สามารถคืนหนี้ได้คลินิกแก้หนี้ ประสิทธิผลยังไม่เยอะมากนัก เพราะเหมาะสำหรับคนที่ผิดนัดชำระหนี้แล้ว แต่ยังมีคนที่ยังปริ่มๆ พอจ่ายได้ มารับคำปรึกษา มาสมัครอยู่บ้าง ซึ่งผู้ที่สกรีนข้อมูลก็มองว่า พวกปริ่มๆ ยังเป็นหนี้ดีอยู่ ยังไม่เป็นหนี้เสีย
ในประเด็นนี้เรากำลังคุยกันอยู่เหมือนกันว่า จะมีเครื่องมืออะไรที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ได้บ้าง หลายๆ คนที่ติดกับดับตรงนี้เมื่อรู้ว่าจ่ายไม่ไหว เขาก็จะเสียใจรู้แบบนี้น่าระมัดระวังการใช้จ่าย สำคัญมากที่ต้องคอยสร้างความตระหนักรู้ แก้ก่อนดีที่สุด คลินิกแก้หนี้ รายที่สำเร็จ เพราะเขาปรับพฤติกรรมได้
ครัวเรือนไทยขัดสนจริงหรือไม่ถึงเป็นหนี้ รายรับไม่พอรายจ่าย จริงหรือ?
ตอนนี้เราก็มีการทำวิจัยต่อในประเด็นที่ว่า "ครัวเรือนไทยขัดสนจริงหรือไม่ถึงเป็นหนี้ รายรับไม่พอรายจ่ายเป็นจริงหรือไม่" ซึ่งถ้าเราเอารายรับลบด้วยรายจ่ายจำเป็นที่มาจากปัจจัย 4 บวกค่าเล่าเรียน และค่าเดินทาง เราจะพบว่ามีแค่ 10% ที่ขัดสน เพราะรายรับไม่พอรายจ่ายจำเป็น
ทั้งนี้ 10% อาจจะเป็นตัวเลขนี้อาจจะสูงเกินไปด้วยซ้ำ เพราะเราแยกไม่ได้ว่า ค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ว่า มันจำเป็นจริงๆ หรือไม่ เช่น ค่าอาหาร หรือค่าเสื้อผ้า เราแยกไม่ได้ว่ากินหรู ซื้อแบรนด์เนมหรือเปล่า นอกจากนี้ข้อมูลก็โชว์ว่า รายรับที่ไม่พอรายจ่ายมาจากค่าใช้จ่ายที่ไม่เป็น เช่น หวย เหล้า บุหรี่ การท่องเที่ยว ค่าเอนเตอร์เทนต่างๆ ซึ่งถ้าเอามารวมๆ กันจะพบว่าจาก 10% ก็จะเพิ่มเป็น 30% แต่ตัวที่ทำให้เขาแย่จริงๆ มาจาก ภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือน ก็ทำให้ตัวเลข 30% กระโดดเป็น 60% เลยทีเดียว
หนี้นอกระบบกำลังหายไป
ดร.สรา กล่าวอีกว่า ตอนนี้คนไทยมีหนี้ในระบบมากกว่าหนี้นอกระบบ เพราะในระบบเป็นหนี้มูลค่าสูง เช่น หนี้บ้าน หนี้รถ หนี้บัตรเครดิต แต่หนี้นอกระบบเป็นหนี้ส่วนบุคคลที่เทียบกับหนี้บ้าน รถ ที่มูลค่าเป็นหลักล้านไม่ได้
แต่ข้อมูลที่เราพบว่าจะเห็นว่าคนที่เป็นหนี้นอกระบบมีสัดส่วนลดลง ที่สำคัญหากไปตามต่างจังหวัด เราจะเห็นพวกธุรกิจเช่าซื้อ (Leasing) บริษัทที่ให้บริการทางการเงินแต่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) หรือ Local NoN bank ที่เป็นแบบท้องถิ่นผุดเป็นดอกเห็ด ซึ่งเขาก็ทำการตลาดเจาะระดับฐานรากให้เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น
เทคนิคก่อนรูดปรื๊ด
เทคนิคก่อนรูดปรื๊ด สไตล์ ดร.สรา ก่อนหน้านี้เราอาจจะเคยได้ยินมาว่า เราต้องจดรายรับรายจ่ายนะ ส่วนตัวผมเองนะ ผมไม่ได้จดเลยเพราะขี้เกียจ แม้จะมีแอปพลิเคชันก็ยังไม่อยากจด บางทีมันยิบย่อยเล็กๆ น้อยๆ ผมเชื่อว่า 100% ทำได้แค่ 5%
เมื่อเราทำไม่ได้จะทำอย่างไร อันหนึ่งที่ทำกันได้ เดี๋ยวนี้แอปพลิเคชันของแบงก์ต่างๆ จะมีการผูกบัตรเครดิต หรือบริษัทบัตรเครดิตจะมีแอปพลิเคชันให้เราดูทุกการใช้จ่าย ยอดหนี้จะแสดงในแอปพลิเคชัน เช่น แบงก์นี้เรามีเงินออมเท่าไร บัตรเครดิตใบนี้มีหนี้เท่าไร
"ทุกครั้งก่อนจะรูด คลิกซื้อ กดไปดูก่อนว่าหนี้ตอนนี้มีเท่าไร เพื่อเป็นการตัดสินใจว่าเราจ่ายไหวไหม สิ้นเดือนนี้ไหวไหม เพื่อเตือนสติเรา จุดเริ่มต้นมาจากการใช้จ่าย เชิงจิตวิทยาเลย ถ้าเราอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คือ เราต้องแยกให้ออกก่อนว่า สิ่งที่ได้อยากได้มาจากอารมณ์ หรือความจำเป็น ต้องมีสติ".
อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "จนเงิน ไม่จนใจ อะไรคือทางแก้"
• นิยามความจนในสังคมไทย ทำไมรวยกระจุก จนกระจาย ยากเกินจะเยียวยา
• มุมมองแก้จน “กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ“ รัฐบาลต้องกล้าในสิ่งที่ควรทำ
• มองทัศนะ “มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของโนเบล ทำอย่างไรจึงแก้ปัญหาความจนได้?
• จิตวิทยาล่อเหยื่อ ติดหนี้เกือบล้าน ทวงโหด รอดตาย หายจน เพราะ "พระ"
• ส่องโปรไฟล์ 14.5 ล้านคน รอรัฐเร่งช่วยแก้จน
• จังหวัดยากจนที่สุด "แม่ฮ่องสอน" ที่มีความสุขอันดับ 1 ของประเทศ