"กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ" อดีตรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เผยมุมมองเกี่ยวกับการแก้จน รัฐบาลต้องกล้าทำในสิ่งที่ควรจะต้องทำ คนรวยต้องเสียภาษีมากขึ้น ชี้ "ชิมช้อปใช้" ผลลัพธ์วัดได้ไม่ยาก...

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล รวมถึงการ “แก้จน” พร้อมเปรียบเทียบ “ประชานิยม กับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” ว่า มีเส้นแบ่งตรงที่ ประชานิยม คือสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่วน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการเพิ่มกำลังซื้อให้กับชาวบ้าน พูดง่ายๆ คือ “การคืนเงินภาษีให้ชาวบ้าน” เพราะชาวบ้านเสียเงินภาษีมาตลอดชีวิต แล้วช่วงหนึ่งรัฐบาลก็คืนเงินภาษีให้ชาวบ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งบางประเทศจะไม่คืนเงิน แต่ใช้เป็นการลดภาษีเงินได้ แต่ของไทยใช้วิธีคืนเงิน

...

“ในสมัยที่ผมทำ คืนเงิน 2,000 บาท ประมาณ 10 ล้านกว่าคน ไม่ถือเป็นประชานิยม เพราะทำหนเดียว คือทำเพื่อคืนเงินภาษี หรือ Tax Rebate บางคนเรียกว่า Helicopter Money คือเอาคืนเงินไปเพื่อใช้จ่าย พอใช้จ่ายก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ในลักษณะที่เรียกว่าได้เป็นเงินภาษีกลับคืนมาอีกในรูปของแวต (VAT) เราจ่ายไป 2,000 บาท แต่เศรษฐกิจหมุนทำให้ได้เงินภาษีคืนมา ตอนนั้น คุณกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ใช้เงินไป 20,000-30,000 ล้านบาท แต่ได้กลับมาตั้ง 200,000 ล้าน”

แต่ทั้งนี้ นายกอร์ปศักดิ์ บอกด้วยว่า การใช้มาตรการดังกล่าวจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ระยะสั้น หรือประมาณ 3-4 เดือน ซึ่งสาเหตุที่ต้องทำในขณะนั้นเพราะกำลังประสบวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพ เราทำเสร็จก็มีมาตรการอื่นเข้าไปช่วยเพื่อรองรับ เป็นมาตรการระยะสั้น แต่ไม่ได้สั้นถึงขนาด Helicopter Money เพราะ 3-4 เดือนก็หมดฤทธิ์ แต่ก่อนจะหมดฤทธิ์เรามีทุน 100,000 ล้านบาท เข้าเป็นเสริมเป็นเรื่องของโครงการประกันรายได้ให้กับเกษตรกร 3 ประเภท ประมาณ 4 ล้านครัวเรือน 60,000 ล้านบาท

หากจะเปรียบเทียบกับรัฐบาลปัจจุบันซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็จริง แต่เพราะทำมาหลายครั้งแล้ว ส่วนตัวนายกอร์ปศักดิ์จึงมองว่าเป็นประชานิยมเพราะทำออกมาบ่อย มันผิดหลักที่ว่า อยู่ดีๆ เราเอาเงินไปแจกตลอดเวลา ถ้าหากต้องการให้ประชาชนเลิกจน ก็ต้องกล้าทำสิ่งที่ควรจะต้องทำ คือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นการยกระดับให้มีรายได้สูงขึ้นโดยมีกฎหมายรองรับ อีกทั้งที่เคยบอกว่าจะขึ้นค่าแรงเป็น 425 บาท แต่กลับไม่ทำเพราะกลัวนายทุนว่าเอา เป็นเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างนายทุนกับผู้ใช้แรงงาน ถ้าให้น้อยนายทุนก็ได้เงินเยอะ ให้มากนายทุนก็ได้เงินน้อยลง โดยอ้างว่าเจ๊งไม่มีเงินจ้าง จึงทำให้ค่าแรงขั้นต่ำก็ต่ำอยู่จริงๆ ตลอดเวลา ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้จึงแก้ไม่ได้เสียที

ส่วนกรณีที่นายทุนต้องย้ายฐานการผลิตเพราะค่าแรงคนไทยสูง นายกอร์ปศักดิ์ มองว่า เศรษฐกิจบ้านเราไม่ควรพึ่งรายได้ขั้นต่ำ หมายความว่าถ้าเราบอกเศรษฐกิจเราดีเพราะค่าแรงถูก อันนี้แย่มาก ค่าแรงของเราต้องแพงคนของเราถึงจะอยู่ได้ดี เราต้องข้ามจุดนี้ไปให้ได้ ถ้าคิดว่าเราจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ก็ต้องมีมาตรการช่วยเถ้าแก่เบื้องต้นก่อน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะไปฟาดหัวเขามันก็ไม่ถูก ต้องมีมาตรการเสริมให้เกิดความสมดุล

สำหรับโครงการชิมช้อปใช้ ผลลัพธ์วัดได้ไม่ยาก ต้องดูรายได้จากภาษีว่าได้กลับคืนมาหรือไม่ เพราะหากกระตุ้นได้ผลจริง เงินภาษีที่เก็บได้ต้องมากขึ้น เมื่อภาษีมากขึ้นเราก็กู้น้อยลง แต่ 5 ปีที่ผ่านมามีการกู้ตลอดเวลา ถ้ากู้น้อยลงก็หมายความว่าประสบผลสำเร็จเพราะรายได้มากขึ้นไม่ต้องกู้อีกแล้ว และมีตัวเลขออกมาชัดเจน ยกตัวอย่าง หากในปี 2563 ปรากฏว่าไม่ต้องกู้แล้วก็ดีใจแทน แสดงว่าได้ผล แต่ถ้าปีหน้ากู้มากกว่าเดิมก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร และมาตรการนี้จะไม่ช่วยให้หลุดพ้นจากระดับความยากจน

“ประชาชนเขาเก่งกว่ารัฐบาล ผมไม่ค่อยเชื่อว่าประชาชนไม่เก่ง เพราะถ้าไม่เก่งป่านนี้ประเทศเจ๊งไปแล้ว เพราะไม่เห็นเก่งสักรัฐบาลหนึ่ง มีแต่ใช้เงินอย่างเดียว ผมว่าประชาชนเนี่ยเก่ง เพียงแต่ว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับประชาชนทุกภาคส่วน หมายความว่าทำไมไม่เก็บภาษีคนรวย โอเคไม่เก็บภาษีคนจนได้ แต่ก็ต้องเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้น เขาเป็นคนที่ใช้ทรัพยากรของชาติมากกว่าคนอื่นถูกไหม อย่างโรงไฟฟ้าก็ใช้แก๊ส ใช้ถ่านหิน แล้วก็ทำความเสียหาย ประชาชนที่อยู่ใกล้ๆ ก็ล้มป่วย ต้องเอาเงินภาษีของรัฐเพราะเจ้าของโรงงานไม่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้”

นายกอร์ปศักดิ์ ได้กล่าวต่อไปอีกว่า ในเมื่อคนรวยใช้ทรัพยากรของประเทศมาก และเอาสารพัดมลภาวะทิ้งไว้กับชาวบ้าน ก็ต้องเสียภาษีให้มากขึ้น รัฐจะได้นำเงินส่วนนั้นมาดูแลสุขภาพชาวบ้านให้ดี พร้อมทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ปีนี้ที่ดูเหมือนกู้น้อยเพราะเอกสารงบประมาณยังไม่ออกมา แต่คิดว่าประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท ที่กู้น้อยก็ไม่ใช่ว่าเก่ง แต่เพราะเวลาเหลือนิดเดียว จัดงบประมาณช้า กว่าจะได้ใช้หายไป 1 ไตรมาส.

อ่านเพิ่มเติม รายงานพิเศษ "จนเงิน ไม่จนใจ อะไรคือทางแก้"

   • นิยามความจนในสังคมไทย ทำไมรวยกระจุก จนกระจาย ยากเกินจะเยียวยา
   • มองทัศนะ “มูฮัมหมัด ยูนุส” เจ้าของโนเบล ทำอย่างไรจึงแก้ปัญหาความจนได้?
   • ยินดีต้อนรับสู่กับดักวงจร "หนี้" ออมน้อย รูดปรื๊ด จ่ายขั้นต่ำ ผ่อนน้านนาน
   • จิตวิทยาล่อเหยื่อ ติดหนี้เกือบล้าน ทวงโหด รอดตาย หายจน เพราะ "พระ"
   • ส่องโปรไฟล์ 14.5 ล้านคน รอรัฐเร่งช่วยแก้จน
   • จังหวัดยากจนที่สุด "แม่ฮ่องสอน" ที่มีความสุขอันดับ 1 ของประเทศ