เสียงดังกระหึ่ม ในโลกโซเชียลฯและสังคมแทบจะทันทีโดยไม่ต้องนัดหมาย ภายหลังเกิดเหตุกราดยิงกลางห้างสรรพสินค้าดัง "พารากอน" ที่น่าตกใจคือ ผู้ก่อเหตุอายุเป็นเด็กชาย เพียง 14 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย ทำประชาชนที่กำลังเดินซื้อของกันภายในห้างดัง ต้องหนีตายกันจ้าละหวั่น
แต่ในที่สุด ตำรวจสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้ ใช้เวลาไม่นานนัก ซึ่งนอกจากอยากทราบแรงจูงใจในการก่อเหตุของคนร้ายแล้ว แทบจะทุกคนก็แทบพูดเป็นเสียงเดียวกัน หลังทราบว่า ผู้ก่อเหตุอุกอาจขนาดนี้ ตามกฎหมายเด็กและเยาวชน สุดท้ายไม่ต้องรับโทษ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันขนานใหญ่ มีกระแส สนับสนุนให้แก้กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก เยาวชน อย่างเต็มที่
...
วันนี้ (4ต.ค.2566) เจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้ง 5 ข้อหา ในความผิดฐาน "ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่า, มีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พกพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และยิงปืนในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต"
ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ระบุ เด็กที่อายุ 14 ปี แต่ยังไม่ถึง 17 ปี กระทำผิดให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบสมควรลงโทษหรือไม่ หลังเกิดเหตุสลด เด็กนักเรียนก่อเหตุกราดยิงในพารากอน มีผู้เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 5 ราย พบผู้ก่อเหตุอายุเกิน 14 มาแล้ว 2 อาทิตย์
โดยหลังได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในห้างพารากอน ทำให้ลูกค้า ผู้มาใช้บริการต่างพากันหนีเอาตัวรอดอย่างชุลมุน ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมผู้ก่อเหตุได้ พบเป็นเพียงเด็กชายวัย 14 ปี ถือปืนกล็อกขนาด 9 มม. ในคลิปคือยอมวางอาวุธให้ควบคุมตัว หลังก่อเหตุ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
ทั้งนี้หาก ตรวจสอบกฎหมายการกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน พบว่า มี 4 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน ได้แก่ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก, ประมวลกฎหมายอาญา, และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ชัดๆ กฎหมายกำหนด "ไม่ต้องรับโทษ" แต่ ให้อำนาจศาล
โดยประมวลกฎหมายอาญา ความรับผิดในทางอาญา มาตราที่ 73-74 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับผิดของเด็กและเยาวชนมากที่สุด
ซึ่งมาตรา 73 ระบุว่า เด็กอายุยังไม่เกินเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
มาตรา 74 เด็กอายุกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่เกินสิบสี่ปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควรจะเรียกบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
(2) ถ้าศาลเห็น ว่า บิดามารดาหรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดามารดาหรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งพันบาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นถ้าเด็กนั้นอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และศาลเห็นว่าไม่สมควรจะเรียกบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาวางข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ศาลจะเรียกตัวบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาสอบถามว่า จะยอมรับข้อกำหนดทำนองที่บัญญัติไว้สำหรับบิดามารดาหรือผู้ปกครองดังกล่าวมาข้างต้นหรือไม่ก็ได้ ถ้าบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ยอมรับข้อกำหนดเช่นว่านั้น ก็ให้ศาลมีคำสั่งมอบตัวเด็กให้แก่บุคคลผู้นั้นไปโดยวางข้อกำหนดดังกล่าว
(3) ในกรณีที่ศาลมอบตัวเด็กให้แก่บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ตาม (2) ศาลจะ กำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติเด็กนั้นเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 56 ด้วยก็ได้ ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ศาลแต่งตั้งพนักงานคุมประพฤติหรือพนักงานอื่นใดเพื่อคุมประพฤติเด็กนั้น
(4) ถ้าเด็กนั้นไม่มีบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือมี แต่ศาลเห็นว่าไม่สามารถดูแลเด็กนั้นได้ หรือถ้าเด็กอาศัยอยู่กับบุคคลอื่นนอกจากบิดามารดาหรือผู้ปกครอง และบุคคลนั้นไม่ยอมรับข้อกำหนดดังกล่าวใน (2) ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้อยู่กับบุคคลหรือองค์การที่ศาลเห็นสมควรเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอนตามระยะเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้ ในเมื่อบุคคลหรือองค์การนั้นยินยอมในกรณีเช่นว่านี้ ให้บุคคลหรือองค์การนั้นมีอำนาจเช่นผู้ปกครองเฉพาะ เพื่อดูแลอบรมและสั่งสอน รวมตลอดถึงการกำหนดที่อยู่และการจัดให้เด็กมีงานทำตามสมควร หรือ
(5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่อย่าให้เกินกว่าที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี
คำสั่งของศาลดังกล่าวใน (2) (3) (4) และ (5) นั้น ถ้าในขณะใดภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนดไว้ ความปรากฏแก่ศาลโดยศาลรู้เอง หรือตามคำเสนอของผู้มีส่วนได้เสีย พนักงานอัยการ หรือบุคคลหรือองค์การที่ศาลมอบตัวเด็กเพื่อดูแล อบรมและสั่งสอน หรือเจ้าพนักงานว่า พฤติการณ์เกี่ยวกับคำสั่งนั้นได้เปลี่ยนแปลงไป ก็ให้ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งนั้น หรือมีคำสั่งใหม่ตามอำนาจในมาตรานี้
มาตรา 75 ผู้ใดอายุกว่าสิบสี่ปี แต่ยังไม่เกินสิบเจ็ดปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ให้ศาลพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบและสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้นั้น ในอันที่จะควรวินิจฉัยว่าสมควรพิพากษาลงโทษผู้นั้นหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าไม่สมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้จัดการตามมาตรา 74 หรือถ้าศาลเห็นว่าสมควรพิพากษาลงโทษ ก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง
มาตรา 76 ผู้ใดอายุกว่าสิบเจ็ดปี แต่ยังไม่เกินยี่สิบปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้
มาตรา 77 ในกรณีที่ศาลวางข้อกำหนดให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตามความในมาตรา 74 (2) ถ้าเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้นภายในเวลาในข้อกำหนด ศาลมีอำนาจบังคับบิดา-มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ ให้ชำระเงินไม่เกินจำนวนในข้อกำหนดนั้น ภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควร ถ้าบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ไม่ชำระเงิน ศาลจะสั่งให้ยึดทรัพย์สินของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ เพื่อใช้เงินที่จะต้องชำระก็ได้ ในกรณีที่ศาลได้บังคับให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่ชำระเงินตามข้อกำหนดแล้วนั้น ถ้าศาลมิได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขคำสั่งที่ได้วางข้อกำหนดนั้นเป็นอย่างอื่นตามความในมาตรา 74 วรรคท้าย ก็ให้ข้อกำหนดนั้นคงใช้บังคับได้ต่อไปจนสิ้นเวลาที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนั้น
มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
มาตรา 79 ในคดีที่มีโทษปรับสถานเดียว ถ้าผู้ที่ต้องหาว่ากระทำความผิด นำค่าปรับในอัตราอย่างสูงสำหรับความผิดนั้นมาชำระก่อนที่ศาลเริ่มต้นสืบพยาน ให้คดีนั้นเป็นอันระงับไป
คราวนี้ก็ต้องว่ากันไป สังคมส่วนใหญ่จะมีความคิดเห็นเป็นอย่างไร ระหว่าง "ยังคงกฎหมายเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนไว้" กับ "แก้ไขปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามกระแสเรียกร้อง"
งานนี้คงต้องยกหน้าที่ให้ผู้เกี่ยวข้อง และสังคม เป็นผู้ตัดสินใจ แต่ไม่ว่าจะจบอย่างไร แน่นอนว่า เป้าหมายสุดท้ายคือจะต้องไม่ให้เหตุกราดยิงลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นได้อีก
ผู้เขียน:เดชจิวยี่
กราฟิก:Anon Chantanant