เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าพารากอน มีชาวต่างชาติเสียชีวิต 2 ราย กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก เมื่อผู้ก่อเหตุเป็นเด็กอายุ 14 มุมนักท่องเที่ยวต่างชาติบางรายมองว่ามีการระงับเหตุล่าช้า สำหรับคนไทยที่เคยรับราชการตำรวจในสหรัฐอเมริกา กว่า 28 ปี มองการระงับเหตุต้องมีชุดเคลื่อนที่เร็ว กระจายอยู่ตามโรงพัก ส่วนการลงโทษเยาวชนก่อเหตุร้ายแรง ศาลสามารถสั่งให้ลงโทษเท่าผู้ใหญ่ได้
เหตุสลดกราดยิงในพารากอน เป็นบทเรียน ที่คนไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีการเตรียมความพร้อม โดย สุวิทย์ ยงหวาน อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา กว่า 28 ปี เล่าถึงการระงับเหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกา ว่า สิ่งสำคัญในการระงับเหตุกราดยิง ต้องมีการฝึกตำรวจในพื้นที่ร่วมกัน และในการเข้าเวรแต่ละวัน ต้องแบ่งตำรวจที่เข้าการฝึกแล้ว 3-4 นาย ทั้งกะเช้า กลางวัน เย็น
ตำรวจที่ผ่านการฝึกแล้ว ต้องทำหน้าที่เป็นสายตรวจ เมื่อมีเหตุกราดยิงต้องมารวมตัวกันในที่เกิดเหตุภายใน 5-10 นาที ในรถสายตรวจต้องมีอาวุธในการระงับเหตุ รวมถึงเครื่องมือปฐมพยาบาล พร้อมเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วตลอด 24 ชั่วโมง
...
“เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในห้างสรรพสินค้าอเมริกา ไม่สามารถพกอาวุธได้ ดังนั้นตำรวจหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เมื่อเกิดเหตุจะรู้ตัวเองทันทีว่าต้องไปยังที่เกิดเหตุเร็วที่สุด เมื่อทุกคนมาเจอกันที่เกิดเหตุ จะตั้งทีมแบ่งงานกันทำ หลังจากหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้ามาในที่เกิดเหตุแล้ว ถ้าคนร้ายมีอาวุธหนัก จะเรียกหน่วยสนับสนุนคล้ายหน่วยอรินทราช เข้ามาสมทบ”
ตำรวจอเมริกา มีกฎว่าถ้าเข้าถึงที่เกิดเหตุช้ากว่า 10 นาที ถือว่าเป็นการทำงานล่าช้า บางหน่วยต้องเข้าถึงพื้นที่เกิดเหตุใน 3 นาที สิ่งนี้หัวหน้างานมีการวางแผนกระจายกำลังพลที่ดี รู้ว่าลูกน้องแต่ละคนมีทักษะด้านไหน ต้องเข้าในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุร้าย
จากการที่ติดตามเหตุกราดยิงที่พารากอน ด้วยการจราจรค่อนข้างติด ถ้าตำรวจไทยมีการวางแผนว่า เข้าถึงพื้นที่ภายใน 15 นาที ถือว่าพอได้
กรณีที่ผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน การเข้าไประงับเหตุของตำรวจในอเมริกา ต้องใส่กุญแจมือ เพราะไม่รู้ว่าคนร้ายจะขัดขืนหรือในตัวมีอาวุธอื่นที่พร้อมทำร้ายเจ้าหน้าที่หรือไม่ ดังนั้นการใส่กุญแจมือถือเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพื่อปกป้องชีวิตเจ้าหน้าที่และประชาชนคนอื่น
“ในอเมริกา เมื่อจับคนร้ายที่เป็นเยาวชนได้ ต้องถามชื่อ เบอร์โทรศัพท์ของพ่อแม่ เพียงเท่านั้น ไม่สามารถซักถามคนร้ายได้ แต่ต้องแจ้งพ่อแม่ให้มาที่เกิดเหตุทันที แล้วถึงจะซักรายละเอียดเพิ่มเติมร่วมกับนักจิตวิทยา”
เยาวชนก่อเหตุมีสิทธิรับโทษเท่าผู้ใหญ่
สุวิทย์ ยงหวาน อดีตตำรวจรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา กว่า 28 ปี เล่าถึงการรับโทษกรณีผู้ก่อเหตุกราดยิงเป็นเยาวชนว่า ในอเมริกาไม่มีการยกเว้นโทษ แม้เป็นเยาวชนต้องได้รับโทษคุมขังในสถานพินิจ หรือในรายที่ทำผิดร้ายแรง แม้อายุเพิ่ง 14 ปี ไม่ถึง 18 ปี ตามที่กำหนด ศาลอาจพิจารณาลงโทษเท่ากับผู้ใหญ่ หากการกระทำผิดนั้นร้ายแรง
...
“กรณีกราดยิง เจ้าหน้าที่ต้องคุมตัวทันที และเรียกพ่อแม่มารับทราบข้อหา เพราะเป็นเหตุที่รุนแรง ไม่ควรปล่อยเด็กให้กลับมาอยู่กับครอบครัวในเวลาที่รวดเร็ว เนื่องจากเราไม่รู้ว่าเด็กจะกลับมาก่อเหตุอีกเมื่อไร ต้องเข้าไปอยู่ในคุกเด็กก่อน เพราะในอเมริกา เด็กอายุ 14-15 ปี ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจค่อนข้างมาก เพราะมีความคิดว่า เป็นเด็กแล้วไม่ได้รับโทษ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องควบคุม เพื่อไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำ หรือเลียนแบบ”
อีกประเด็นที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมได้คือ อเมริกา มีตำรวจประจำโรงเรียนประมาณ 1 นาย โดยตำรวจรู้ว่าเด็กคนไหนเป็นหัวโจก มีพฤติกรรมอย่างไร และมีการถ่ายรูปประจำรุ่นไว้ เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วไปก่อเหตุ ตำรวจที่อยู่ในโรงเรียนจะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุด เพราะรู้ว่าเด็กเติบโตมาอย่างไร มีจุดอ่อนตรงไหน สิ่งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถระงับเหตุได้ตรงจุดมากขึ้น.