คุณสมบัติ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560 คือสิ่งที่ประชาชนหลายคนอยากรู้ว่าต้องมีอะไรบ้าง ลักษณะต้องห้าม หรือข้อห้ามแบบไหนที่เป็น ส.ว. ไม่ได้
ส.ว. หรือ สมาชิกวุฒิรัฐสภา กลายเป็นตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นประเด็นร้อนแรงในเวลานี้ที่ประชาชนให้ความสนใจสืบเนื่องจากการที่ ส.ว. มีสิทธิ์โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งจากประชาชนมากเป็นอันดับ 1 หรือไม่ พร้อมกับตั้งคำถามว่า คุณสมบัติ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องมีอะไรบ้าง
คุณสมบัติ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560
- มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- มีอายุไม่ต่ํากว่าสี่สิบปีในวันสมัครรับเลือก
- มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทํางานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่าสิบปี หรือเป็นผู้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
- เกิด มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ทํางาน หรือมีความเกี่ยวพันกับพื้นที่ที่สมัครตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ลักษณะต้องห้ามของ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560
1. เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 98 ในข้อต่อไปนี้
- (1) ติดยาเสพติดให้โทษ
- (2) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ
- (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 ในข้อ (1) เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช (2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ หรือ (4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- (7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
- (8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
- (9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
- (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน
- (11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง
- (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
- (16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
- (17) อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ
- (18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม
...
2. เป็นข้าราชการ
3. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
4. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง
5. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
6. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรีเว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
7. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัครรับเลือก
9. เป็นบุพการีคู่สมรส หรือบุตรของผู้ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาในคราวเดียวกัน หรือผู้ดํารงตําแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือในองค์กรอิสระ
10. เคยดํารงตําแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ส.ว. รัฐธรรมนูญ 2560 มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในบทเฉพาะกาล มาตรา 269 มีกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ซึ่งเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 โดยวาระของ ส.ว.ชุดปัจจุบันจะหมดลงในเดือนพฤษภาคม 2567 เท่ากับว่าเหลืออายุการทำงานเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง : รัฐสภาไทย, องค์ความรู้กฎหมายและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง