ส.ว. หรือสมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจหน้าที่อย่างไรในการเลือกตั้ง และมีความสำคัญแค่ไหนกับการเมืองไทย

ส.ว. คืออะไร

ส.ว. ย่อมาจากสมาชิกวุฒิสภา เป็นตัวแทนของประชาชนเหมือนกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ยังมีข้อที่แตกต่างกัน เช่น จํานวน ที่มา การสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับก็ได้กําหนดจํานวนและที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้แตกต่างกัน เช่น

1. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 : ได้กําหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดจํานวน 200 คน

2. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 : ได้กําหนดให้วุฒิสภามีจํานวน 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด จังหวัดละหนึ่งคน และมาจากการสรรหาเท่ากับจํานวนรวมข้างต้นหักด้วยจํานวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง

3. รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 : ได้กําหนดให้จํานวนและที่มาของวุฒิสภาไว้สองช่วงเวลา คือ

  • ช่วงที่ 1 : ซึ่งเป็นไปตามบทเฉพาะกาลที่กําหนดให้มี ส.ว. จํานวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคําแนะนําโดยมาจากการเลือกของ กกต. (คณะกรรมการการเลือกตั้ง) จํานวน 50 คน และมาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ส.ว. จํานวน 194 คน รวมกับผู้ดํารงตําแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ
  • ช่วงที่ 2 : คือ เมื่อพ้นระยะเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งดังกล่าวแล้วให้ ส.ว. มีจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางานหรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชนซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้

...

ส.ว. มีหน้าที่อะไร

ส.ว. มีอำนาจหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี หรือเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาโดยไม่มีการลงมติ และมีหน้าที่อื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) ยังได้บัญญัติให้วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะอีกหลายประการ คือ การพิจารณาเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ คือ

  1. การสรรหาและการเลือกประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง
  2. ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา และการแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  3. การสรรหาและการเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
  4. เลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน ซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ เป็นกรรมการในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
  5. ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และผู้ทรงคุณวุฒิในการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นตุลาการในศาลปกครองสูงสุด จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทั้งหมดและให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งประธานศาลปกครองสูงสุด และเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง
  6. ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
  7. ถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ได้กำหนดอำนาจของเหล่า ส.ว. ให้ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเช่นเดิม แต่ก็ยังมีอำนาจอื่นที่สำคัญด้วย เช่น อำนาจให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ อำนาจตั้งกระทู้ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ฯลฯ

อำนาจบางประการของ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เป็นอำนาจใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นเป็นพิเศษ ถือเป็นมรดกที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางเส้นทางการรักษาอำนาจเอาไว้ เช่น อำนาจในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือการติดตามเร่งรัดแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เขียนโดย คสช. ฯลฯ

ขณะเดียวกัน เมื่อ ส.ว. ชุดแรกทั้ง 250 คน มาจากระบบการคัดเลือกของ คสช. ทั้งสิ้น จึงมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจของตัวเองเพื่อเป็นประโยชน์ตอบแทนกับกลุ่มคนที่เลือกพวกเขาเข้ามา ดังนั้นการจับตาดูการใช้อำนาจของคนทั้ง 250 คนนี้ จึงเป็นภารกิจสำคัญของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกัน

ข้อมูลอ้างอิง : รัฐสภาไทย, iLaw