ไทยรัฐดีเบตครั้งสุดท้าย ผู้สมัคร 5 พรรคการเมือง ฝากถึง กกต. ไม่อยากให้ผิดพลาดเหมือนเลือกตั้งล่วงหน้า ขอทุกคนช่วยจับตานับคะแนน พร้อมฝากถึง ส.ว. เลือกนายกฯ ของพรรคที่ได้เสียงข้างมากจากประชาชน

วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ไทยรัฐดีเบต เลือกตั้ง 66 เริ่มใหม่ไทยแลนด์กับไทยรัฐ โค้งสุดท้ายบนเวทีดีเบตไทยรัฐครั้งสุดท้าย ประชันนโยบายกับตัวแทน 5 พรรคการเมือง ในศึกชิงดำ ส.ส. กทม. กรุงเทพฯ เมืองสวรรค์? ดำเนินรายการโดย ภาคภูมิ พันธุ์สถิตย์ และ อรชพร ชลาดล ส่วนผู้เข้าร่วมดีเบตประกอบด้วย

นายเขตรัฐ เหล่าธรรมทัศน์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 4 พรรครวมไทยสร้างชาติ
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 8 พรรคประชาธิปัตย์ 
นายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 14 พรรคไทยสร้างไทย
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 16 พรรคเพื่อไทย
นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตเลือกตั้งที่ 27 พรรคก้าวไกล

ในช่วงท้ายมี 3 ประเด็นหลักๆ ให้ 5 ผู้สมัคร ส.ส.กทม. จากทั้ง 5 พรรคการเมือง ได้แสดงวิสัยทัศน์ ดังนี้

...

แก้ปัญหาอะไรเป็นอันดับแรกในเขตพื้นที่ตัวเอง

นายเขตรัตน์ กล่าวว่า ตนเองเป็นผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตคลองเตย-เขตวัฒนา สิ่งแรกที่จะทำให้ประชาชนคือ คืนรอยยิ้มกลับมา ตอนนี้กำลังอยู่ในความขัดแย้งที่สูงมาก เพราะมีชุดความคิดบางอย่างที่ถูกฝังเข้าไป แม้แต่การลงพื้นที่ก็พบว่ามีความแตกแยกในครอบครัว จริงที่เป็นความสวยงามของประชาธิปไตย การคืนรอยยิ้มนี้มีนโยบายรองรับไว้แล้วและพร้อมจะทำต่อ และบอกทุกครั้งกับทุกบ้านที่ไปหาเสียงว่า จะไม่สัญญาในเรื่องที่สัญญาไม่ได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด เพื่อนำนโยบายมาทำให้ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

นายตรีรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางกะปิ-เขตวังทองหลาง ยอมรับว่ารอบที่แล้วสอบตก โดยอ้างว่าเจอบัตรเขย่ง ตนเองมองเห็นบางกะปิเป็นเมืองแห่งโอกาส มีรถไฟฟ้าสายสีส้มกับสายสีเหลือง มีท่าเรือคลองแสนแสบ จึงมีนโยบายที่อยากเชื่อมต่อขนส่งทั้งหมด ทำสกายวอล์กเริ่มจากนิด้ายาวถึงตะวันนา เพราะเขตบางกะปิมีประชากรแฝงมากที่สุดใน กทม. จะยกระดับเป็นหัวเมืองของกรุงเทพฯ ตะวันออก ยกระดับเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เอาเม็ดเงินลงมาสู่พื้นที่ นโยบายของตนคือ 2 ปีซ่อม 2 ปีสร้าง ซึ่ง 2 ปีแรกจะซ่อมโครงสร้างพื้นฐาน ทางเท้า ไฟฟ้าส่องสว่าง น้ำต้องไม่ท่วม อีก 2 ปีสร้างรถไฟฟ้า เปิดสกายวอล์ก มีสวนสาธารณะ ทำให้บางกะปิเหมือนกับย่านที่เจริญแล้วใน กทม.

นายจิรายุ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตคลองสามวา ระบุว่า เขตคลองสามวา เป็นเขตที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 1 ของ กทม. คือเกือบ 2.5 แสนคน โดยอันดับแรกที่จะแก้คือปัญหาจราจร ถ้าพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต้องทำโครงข่ายเชื่อมร่วมกัน เช่น สะพานข้ามแยก ต่อมาคือนำที่รกร้างว่างเปล่ามาทำจุดจอดรถสำคัญ มีรถขนคนต่อ ให้ประชาชนมีชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น

นายแทนคุณ ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตลาดพร้าว-เขตบึงกุ่ม จะทำนโยบาย 3 สูง คือ 1. รายได้สูง คือ ส่งเสริมให้มีธนาคารชุมชน/ธนาคารหมู่บ้าน เพื่อที่จะสามารถนำไปรีไฟแนนซ์ หรือกู้เพื่อผ่อนปรนดอกเบี้ยต่ำ ใช้ต่อยอดธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SME กองทุนต่างๆ 2. ปลอดภัยสูง จะติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม ดูแลเรื่องน้ำท่วม เพิ่มจุดจอดแล้วจร ลดความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ใช้เทคโนโลยี Ai ดูแลการทำผิดกฎจราจร และอาจมีโซเชียลเครดิตในอนาคต และ 3. คุณภาพชีวิตสูง พรรคประชาธิปัตย์ในความสำคัญกับการศึกษาที่สุด คือจะมีนโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรีในสาขาที่ตลาดต้องการ

นายณัฐชา ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขตบางบอน (เฉพาะแขวงบางบอนใต้และแขวงคลองบางบอน)-เขตบางขุนเทียน (เฉพาะแขวงแสมดำ) สิ่งที่อยากทำคือเรื่องค่าครองชีพ รัฐบาลก้าวไกลจะเพิ่มเงินในกระเป๋า ลดการล้วงเงินออกจากกระเป๋า โดยจะทำอย่างเร่งด่วน เพราะเห็นความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งนโยบายนี้อยู่ใน 100 วันแรกทำได้ทันที

อยากบอกอะไรคนที่ยังลังเล

เริ่มจาก นายตรีรัตน์ ระบุว่า ไทยสร้างไทย ไม่มีนอมินี เจ้าของพรรคคือประชาชนมั่นใจว่าคะแนนไม่ตกน้ำแน่นอน ได้คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ น.ต.ศิธา ทิวารี เข้าสภาฯ ให้ผู้แทนดีๆ ทำงานเป็นเข้ามาดูแลประชาชน

ต่อด้วย นายจิรายุ บอกว่า ประเทศไทยต้องทำใหม่ทุกอย่าง เพราะแย่มา 8 ปี ถ้าเลือกพรรคเพื่อไทย เมื่อเศรษฐกิจดีทั้งหมดจะกลับมาที่ กทม. ด้วย การทำงานของสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ต้องทำงานคู่ขนานกัน และการขายน้ำกระท่อม-กัญชาอย่างเสรีไม่ควรมี

นายเขตรัตน์ กล่าวเป็นคนถัดมาว่า เราทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ และจะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นี่คือหัวใจของพรรครวมไทยสร้างชาติ การลงพื้นที่ของผู้สมัครทุกคนนำปัญหาเข้ามาสะท้อนสู่พรรค นโยบายจะตอบโจทย์ ตรงจุด ตรงเป้าหมาย ไม่มีกลุ่มทุนมาหนุนอยุ่ข้างหลัง เราเป็นพรรคการเมืองหรือสถาบันทางการเมืองที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เงินมาจากค่าสมาชิก 3-4 หมื่นคน รวมถึงเงินบริจาคในหลักการที่ถูกต้องของพรรคการเมืองที่พึงมี และด้วยความศรัทธาจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำให้มีคนมาร่วมกับพรรค ขอให้มั่นใจว่า ลุงตู่ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ และทำดีขึ้นอีก

ขณะที่ นายแทนคุณ กล่าวถึงประชาชนว่า เศษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญที่สุด ที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์นำเงินเข้าประเทศปีละประมาณ 10 ล้านล้านบาท มีการประกันรายได้ให้กับพืชเกษตรที่เป็นหัวใจหลักของระบบเศรษฐกิจการเกษตร และจะขยับไปดูรัฐสวัสดิการเพิ่มขึ้นและครบวงจรมากขึ้น และยังมีการดูแลเรื่องการค้าระหว่างประเทศภายใต้การนำของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นายณัฐชา กล่าวยืนยันว่า ก้าวไกลทำงานตรงไปตรงมา แก้ไขปัญหาตรงจุดในต้นตอที่สั่งสมมานาน รวมถึงประกาศความพร้อมที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หรือเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พร้อมทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม ประชาธิปไตยเต็มใบ ก้าวไกลเท่านั้น


ฝากอะไรถึง กกต. หรือ ส.ว.

นายตรีรัตน์ ขอเลือกฝากถึง ส.ว. ว่า “ส.ว. 250 คน แม้ว่าจะมาจากการเลือกตั้งของ คสช. มาจากการเลือกตั้งอย่างไม่ชอบธรรม แต่ขอฝาก ส.ว.ทุกคนว่าไม่เป็นไร รอบนี้ประชาชนกำลังจับตามองอยู่ การเลือกตั้งครั้งนี้ฝาก ส.ว.ทุกคนฟังเสียงประชาชน หากท่านอยากอยู่ต่ออย่างงดงาม ไม่มีใครมาล่าแม่มด โปรดฟังเสียงประชาชน เสียงของประชาธิปไตย วันนี้เสียงประชาชนใหญ่ที่สุด และในวันที่เลือกตั้งนายกรัฐมนตรี โปรดเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคข้างมากที่ประชาชนเลือกมา”

นายเขตรัตน์ ฝากถึง กกต. ว่า “เราเน้นทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ ไม่เน้นโจมตีใคร นี่คือส่งที่ผมต้องการรณรงค์มาตลอด ฝากถึง กกต. ว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม อยากให้มีการรณรงค์สร้างความเข้าใจให้มากขึ้นเกี่ยวกับกติกาการเลือกตั้ง รวมถึงบัตรสีม่วง กับสีเขียว ต่างกันอย่างไร ในแต่ละจังหวัดอยากให้ทุกท่านช่วยกันจับตาดูความโปร่งใส่ที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะจะเป็นจุดที่สำคัญมาก ที่จะคลี่ปมข้อครหาที่เกิดขึ้นได้”

นายแทนคุณ ฝากถึงทั้ง กกต. และ ส.ว. รวมถึงทุกคนว่า “หัวใจสำคัญคือการทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด ประชาชนทุกคนจับตาอยู่ พวกเราเข้ามาด้วยความรักบ้านเมืองคนละมุมมอง แต่ก็เคารพเสียงของประชาชน ท่านทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด เรื่องนโยบายปัจจุบันมีกฎหมายที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการไปหลอกลวงจูงใจพี่น้องประชาชนให้สับสนไขว้เขวของทุกพรรคอันนี้เป็นข้อดี 2. เรื่องตัวบุคคล การจ่าย การยิงกระสุนต่างๆ มีจริงๆ อย่างที่หลายคนพูด ผมอยากให้ท่านติดตามตรวจสอบใกล้ชิดในทุกพื้นที่ และเร่งปฏิบัติให้เร็วที่สุด อย่าปล่อยปละละเลย บ้านเมืองจะได้เดินต่อไปได้”

นายณัฐชา ฝากถึง กกต. ว่า “นี่คือโอกาสสุดท้ายของท่านที่จะพิสูจน์ว่าการทำงานของท่านนั้นมีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนจริงๆ และทำงานคุ้มค่าภาษีของประชาชน วันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันพิสูจน์การทำงานของท่านในการเลือกตั้ง เพราะ กกต. ตั้งมาเพื่อเป็นกรรมการการเลือกตั้ง 4 ปีมีการเลือกตั้งครั้งนึง นี่ขนาดมีการเลือกตั้งให้ท่านทดลองก่อน ในวันที่ 7 พฤษภาคม มีเสียงข้อครหาขนาดนี้ วันที่ 14 คือโอกาสสุดท้ายที่จะพิสูจน์กับประชาชน แล้วเมื่อเสียงสนับสนุนของประชาชนประกาศออกมาเด่นชัดว่าพรรคไหนได้เสียงสนับสนุนเป็นอันดับ 1 เสียง ส.ว. ก็ไม่มีความหมายอีกต่อไป ลืมเสียง ส.ว.ที่ใกล้หมดอายุไปได้เลย กกต. มีโอกาสดิ้นตายรอบสุดท้าย และเนื่องจากการทำงานของ กกต. เป็นแบบนี้ จึงชวนประชาชนเลือกตั้งเสร็จแล้วอย่าเพิ่งไปไหน ขอให้ช่วยกันนับคะแนนต่อ เป็นตากล้องในการถ่ายกระบวนการต่างๆ ปกป้องคะแนนเสียงของท่าน ทำงานควบคู่ไปกับ กกต.”


สุดท้าย นายจิรายุ ฝากถึง ส.ว. ว่า “90 ปีมานี้ เรามี ส.ว.ที่เป็นคนที่มีเกียรติอย่างยิ่ง เราไม่เคยเรียกว่าสูงวัย เราเรียกว่าสมาชิกวุฒิสภาผู้ทรงเกียรติ ไม่เคยมีอากัปกิริยาเหมือนเมื่อปี 62 เกิดขึ้นเลย อยากนำเรียนผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็น ส.ว. ว่า อย่าให้ลูกหลานตราหน้าท่านว่าเป็น ส.ว. แล้วไม่อยากจะบอกใคร เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งคราวนี้ 14 พฤษภาคมไป ผมอยากให้ ส.ว. ประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนเลยว่า หัวใจและวิญญาณประชาธิปไตยได้เข้าร่างกลับมาอยู่ที่ท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถ้าท่านจะโหวตสวนเหมือนเมื่อปี 62 ชีวิตและอนาคต นามสกุลและครอบครัวของท่านมันจะติดตัวไปในเชิงลบ แม้ท่านจะมาจากการแต่งตั้งรากมาจาก คสช. มาจากรัฐธรรมนูญที่ท่านพยายามบอกว่ามีการลงประชามติ ขอให้ ส.ว. ได้มีสปิริตกลับคืนมาในระบอบประชาธิปไตย”.