กกต. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง กลายเป็นชื่อที่ติดแฮชแท็กสูงสุดในทวิตเตอร์วันนี้ แล้วหน้าที่ของ กกต. คืออะไร มีอำนาจอย่างไรกับการจัดการเลือกตั้ง
สำหรับวันเลือกตั้งล่วงหน้าวันนี้ ที่ กกต. ดำเนินการผิดพลาดหลายอย่างจนเป็นกระแสดราม่าในโซเชียลจนเกิดแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม สูงสุดเป็นอันดับ 1 ในเทรนด์ทวิตเตอร์ ตามด้วย #กกตต้องติดคุก และทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้ร่วมกันลงชื่อถอดถอน กกต. จากการเลือกตั้ง ใน Change.org ซึ่งตอนนี้มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 1 ล้านราย และต้องการรายชื่อเพิ่มอีก 1,500,000 คน เพื่อให้แคมเปญนี้บรรลุเป้าหมาย
กกต. มีหน้าที่อย่างไรในการเลือกตั้ง
กกต. มีชื่อเต็มว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นสำนักงานเลขานุการ
...
กกต. มีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญทั้งหมด 16 ข้อ ดังนี้
- ควบคุมดูแลและดำเนินการจัด หรือจัดให้มีการเลือกตั้งและการออกเสียงประชามติ ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม
- ออกระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนดทั้งหลายอันจำเป็นแก่การปฏิบัติงาน ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- มีคำสั่งให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ปฏิบัติการทั้งหลายอันจำเป็นในการเลือกตั้ง
- ดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองตามกฎหมาย
- ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งที่ใช้วิธีการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจัดให้มีบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
- สืบสวนหรือไต่สวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
- สั่งระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกการเลือกตั้ง การเลือก การออกเสียงประชามติ และสั่งให้มีการเลือกตั้ง เลือก ออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยเลือกตั้งเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง
- เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและดำเนินคดีอาญากับผู้สมัคร หัวคะแนน และผู้เกี่ยวข้อง (ให้ใบเหลือง หรือ ใบแดง) สั่งระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครไว้เป็นการชั่วคราว เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้นั้นกระทำหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต หรือทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
- การดำเนินคดีในศาลเกี่ยวกับความผิดการเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง
- ประกาศผลการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติ
- มีอำนาจแจ้งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินการสอบสวนและให้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล ไม่ว่าในเรื่องทางแพ่ง หรืออาญา หรือทางปกครอง แก่ผู้กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตลอดจนให้ชดใช้ค่าเสียหาย ในการเลือกตั้งใหม่แก่ผู้ถูกใบแดง และผู้ที่เกี่ยวข้อง
- ส่งเสริม สนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐ สถาบันการศึกษาและองค์กรเอกชนในการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน หรือให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการเลือกตั้ง และความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ
- การรับรองและการแต่งตั้งผู้แทนองค์กรเอกชนเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการเลือกตั้ง
- ดำเนินการหรือประสานงานกับหน่วยราชการ ส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือสนับสนุนองค์การเอกชน ในการให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตย ระบุว่าหน้าที่ของ กกต. คือการให้การศึกษาแก่ประชาชนเรื่องการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
- จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีและข้อสังเกตเสนอต่อรัฐสภา
- ดำเนินการเรื่องอื่นๆ ตามที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนด
หากกล่าวโดยสรุปหน้าที่ของ กกต. มีอำนาจหน้าที่หลักอยู่ 3 ประการคือ
- จัดการเลือกตั้ง คือการควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ
- สืบสวน ไต่สวน และวินิจฉัย คือ การสืบสวนหรือไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาด สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ นับคะแนนใหม่ รวมทั้งการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัครและสมาชิกสภา ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
- ออกกฎระเบียบ คือ การออกกฎระเบียบ คำสั่ง ข้อกำหนดที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงาน
กกต. ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 25 ปีก่อน มีคำขวัญประจำองค์กรว่า “สุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม” มีการผลัดเปลี่ยนวาระคณะกรรมการการเลือกตั้งทุก 5-8 ปี โดยคณะกรรมการชุดปัจจุบันเป็นชุดที่ 5 ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2561
ภาพ: ธนัท ชยพัทธฤทธี
ข้อมูลอ้างอิง: คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)