การเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พฤษภาคม กกต.ได้รับเสียงด่ามากมาย ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดพลาดจากเจ้าหน้าที่ ไม่มีใครรู้ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นความตั้งใจหรือไม่ ทั้งที่ได้มีการทักท้วง เจ้าหน้าที่ก็เฉย ทำให้มีการติดแฮชแท็กในโลกโซเชียล #กกต.ต้องติดคุก #กกต.มีไว้ทำไม จนขึ้นเทรนด์ฮิตทวิตเตอร์ และ เรียกร้องให้ 7 กกต.ที่แต่งตั้งในยุค คสช.แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก การจัดการเลือกตั้งที่ไม่ชอบมาพากล จนถึงวันนี้ผมยังไม่รู้ว่าเขตผมมีผู้สมัครกี่คนเป็นใคร แล้วผู้เฒ่าผู้แก่ต่างจังหวัดที่ขนกันไปเลือกตั้งล่วงหน้า จะรู้หรือว่าจะเลือกใคร การเลือกถูกคนหรือไม่ บางจังหวัดเห็นมีการถ่ายคลิปเขียนเบอร์ลงในมือผู้สูงอายุก่อนไปเลือกตั้งด้วย
อนาคต 7 กกต. ซึ่งจะครบเทอมปี 2567 คงจบไม่สวยแน่นอน ล่าสุดเที่ยงวันที่ 8 เว็บไซต์ Change.org ที่มีแคมเปญล่าชื่อ 1.5 ล้านชื่อถอดถอน 7 กกต. พุ่งขึ้นไปกว่า 1 ล้านชื่อแล้ว
ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2.35 ล้านคน กกต.ก็รู้จำนวนผู้เลือกตั้ง แต่กลับจัดหน่วยเลือกตั้งให้น้อย หลายหน่วยเลือกตั้งมีคนไปเลือกตั้งกันหลายหมื่นคน จนแออัดยัดเยียดต้องเข้าคิวยาว บางหน่วยประชาชนต้องเข้าคิวตากแดดร้อนเปรี้ยงเป็นชั่วโมง คุณยิ่งชีพ อัชณานนท์ ผู้จัดการ โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้สรุปปัญหาหลักที่พบในการเลือกตั้งล่วงหน้าครั้งนี้ไว้หลายประเด็น เช่น
1.ประชาชนลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเอาไว้แล้ว พอไปถึงหน่วยเลือกตั้งกลางกลับไม่มีชื่อของตน และ บางคนมีคนไปลงคะแนนเสียงในชื่อตนไปแล้ว (เข้าข่าย “ถูกสวมสิทธิเลือกตั้ง” หรือไม่)
2.เจ้าหน้าที่ติดใบประกาศผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ครบทุกคน ไม่ครบทุกพรรค โดยพบปัญหานี้ในสถานที่เลือกตั้งกลางหลายพื้นที่ เช่น เขตหนองแขม เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา
...
3.เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น การบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่รับมาลงเอกสาร (ส.ส.5/5) ต้องติดประกาศไว้ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งก่อนเปิดให้ลงคะแนนเสียง แต่บางหน่วยก็ไม่ติดประกาศ ทำให้ถูกทักท้วง บางหน่วยติดประกาศ แต่เขียนผิดช่อง เมื่อการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว ต้องบันทึกจำนวนบัตรเลือกตั้งที่เหลืออยู่ลงในเอกสาร ส.ส.5/7 แต่เจ้าหน้าที่บางหน่วยกลับปิดหีบเลือกตั้ง ปิดผนึก และลงชื่อกำกับเลย ซึ่งจริงๆแล้ว ต้องแยกบัตรเลือกตั้งให้ไปรษณีย์ก่อน
4.เจ้าหน้าที่กรอกรหัสหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งผิด โดย เขียนรหัสเขตเลือกตั้งผิด หรือ กรอกรหัสจังหวัดผิด หรือ ไม่ตรงกับภูมิลำเนาอันเป็นเขตเลือกตั้งจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น ผู้ใช้สิทธิอยู่เขตเลือกตั้งที่ 2 แต่เจ้าหน้าที่เขียนหน้าซองไปรษณีย์เป็นเขตเลือกตั้งที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะกระทบสิทธิผู้เลือกตั้งโดยตรง ที่น่าเสียใจคือ เมื่อผู้มีสิทธิทักท้วง กรรมการประจำหน่วยกลับยืนยันว่าทำถูกแล้ว จนกระทั่งตอนเย็น กกต. จึงออกมายอมรับว่าผิดจริง แต่บัตรเลือกตั้งทั้งหมดไปรษณีย์ส่งกระจายออกไปหมดแล้ว
บัตรเลือกตั้งเหล่านี้ เมื่อไปถึงเขตเลือกตั้งจริงของผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง จะถูกนับเป็นคะแนน แต่เป็นการนับคะแนนให้คนอื่น ไม่ใช่คนที่ผู้ใช้สิทธิเลือก เพราะ บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต เป็น “บัตรโหล” ไม่มีการระบุชื่อคน ชื่อพรรค มีแต่เบอร์อย่างเดียว สุดท้ายจะเป็น บัตรเขย่ง มีมากกว่าผู้มาใช้สิทธิ ในเขตผู้ใช้สิทธิ ก็จะมีบัตรหายไม่ครบ ปัญหาจะตามมาอีกเยอะ
ตอนนี้ ไอลอว์ กำลังเปิดรับสมัคร “อาสาสมัครจับตานับคะแนนทุกหน่วยเลือกตั้ง” เพื่อ จับตาการนับคะแนนของเจ้าหน้าที่ ใน วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จะมีการถ่ายวิดีโอแบบเรียลไทม์ส่งเข้าเว็บไซต์จับตาการนับคะแนน เพื่อป้องกันการโกงการนับคะแนน แทนที่ กกต. จะเป็นผู้จับการโกงคะแนน คนไทยกลับต้องช่วยกันจับตาไม่ให้เจ้าหน้าที่โกงคะแนนเสียเอง ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร.
“ลม เปลี่ยนทิศ”