เมื่อพ.ร.ก.ยุบสภาเผยแพร่ ออกมา ในวันนี้ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป "ไฮไลต์" เปิดรับสมัคร ส.ส.อาจเป็น 3-7 เม.ย.-เลือกตั้ง 14 พ.ค. รอ กกต.ที่ต้องจัดการเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45-60 วัน เคาะ พรุ่งนี้
วันที่ 20 มี.ค. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผล วันนี้ 20 มี.ค. 2566
ทั้งนี้ ตามกฎหมาย ไทม์ไลน์เลือกตั้ง 2566 เมื่อมีราชกิจจานุเบกษา ลงพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ลงมา
จากนี้ ภายใน 5 วัน นับจากยุบสภาฯ( 20 มี.ค.2566) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะเข้ามามีบทบาทหลักในการเลือกตั้ง จะนัดประชุมหารือ ออกประกาศวันเลือกตั้ง ส.ส. และวันเปิดรับสมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ รวมทั้งยื่นบัญชีแคนดิเดตนายกฯ
ตอนนี้ คาด วันเปิดรับสมัคร ส.ส. อาจจะเป็นวันที่ 3-7 เม.ย. 2566
และวันเลือกตั้งทั่วไป อาจจะเป็น วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 ลต.ล่วงหน้าก่อน 1 สัปดาห์ อาจจะเป็น 7 พ.ค. 2566
กรณียุบสภาฯ ตามกฎหมาย กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายในกรอบเวลา 45-60 วัน
ส่วนคณะรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย แต่คณะรัฐมนตรีชุดเดิมนี้ ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี คณะรัฐมนตรีชุดใหม่
เมื่อมีการ ยุบสภาฯ หรือ สภาฯ อยู่ครบวาระ นั่นจะส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องพ้นจากตำแหน่งทันที เนื่องจากเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาฯ อยู่ครบวาระ สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องสิ้นสุดลง และต้องพ้นจากตำแหน่งทันที จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้
แต่กรณีของ คณะรัฐมนตรี แม้จะต้องพ้นจากตำแหน่งจากเหตุยุบสภาฯ หรือสภาฯ อยู่ครบวาระ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญ ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจากเหตุยุบสภาฯ หรือสภาฯ อยู่ครบวาระ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ (ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167, 168, 169)
...
คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจากเหตุ ยุบสภาฯ หรือสภาฯ อยู่ครบวาระ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไข 4 ประการ ดังนี้...
1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2.ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการเลือกตั้งกำหนด
อนึ่ง.. เมื่อมีการยุบสภาฯ หรือสภาฯ อยู่ครบวาระ ส.ส.จะพ้นสภาพทันที แต่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปตามปกติ จนกว่าจะครบวาระ (ส.ว.ชุดนี้จะครบวาระ ส.ว.ในปี 2567)
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหว ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ จะต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่จะนัดประชุมกันในวันพรุ่งนี้ เพื่อหารือสรุปไทม์ไลน์เลือกตั้ง ทั้ง วันรับสมัครเลือกตั้ง-วันเลือกตั้ง ตามที่นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อเอาไว้
ล่าสุด มีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.๒๕๖๖ แล้วเป็นที่เรียบร้อย