หากพูดถึงปัญหา "ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ในปัจจุบัน นับวันยิ่งจะเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของไทย นั่นเพราะการเข้าถึงการศึกษาของเด็กและเยาวชนทุกคนอย่างเต็มที่ จะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ ในอนาคต ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม เพราะเมื่อทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี ก็จะทำให้มีโอกาสได้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลให้มีรายได้ที่ดี ความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตก็จะดีตามไป
แต่ในทางกลับกัน หากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษานับวันยิ่งถ่างกว้างออก นร.-นศ.จำนวนมากไร้โอกาสในการเข้าถึงการศึกษา ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะยิ่งยากต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ซึ่งส่งผลถึงประเทศชาติในอนาคตโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง
รู้หรือไม่! ไทย มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วกี่คน?
สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผย รายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 1/2563 พบว่า สถานการณ์เด็กและเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษากลางคันเพิ่มขึ้น ซึ่งเด็กที่หลุดออกจากการศึกษา เพิ่มขึ้นตามระดับการศึกษาที่สูงขึ้น สัดส่วนคนยากจนในไทยเพิ่มเป็นกว่า 6.7 ล้านคน เป็นเหตุให้เด็กและเยาวชนต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา พบได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น
ขณะข้อมูล กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดย รศ.ดร.ชัยยุทธ ปัญญาสวัสดิ์สุทธิ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประมวลข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษ พบว่า ปี 2563 ภาคเรียนที่ 1 ช่วงผลกระทบโควิด-19 มีนักเรียนที่สมัครคัดกรองทั้งสิ้น 1,831,250 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 กว่า 1,558,397 คน หรือ 17.5% สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนยากจนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน
...
จากนักเรียนที่สมัครคัดกรองเข้ามาใหม่ทั้งหมดจะมีสัดส่วนนักเรียนยากจนพิเศษ ร้อยละ 20 หรือราว 300,000 คน แต่ปรากฏว่าเมื่ออ้างอิงรายได้เฉลี่ยของครัวเรือนยากจนพิเศษในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 1,337 บาทต่อคนต่อเดือน พบว่าภาคเรียนที่ 1 ปี 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 600,000 คน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึงร้อยละ 90 จำนวนนี้ยังไม่รวมนักเรียนทุนเสมอภาคที่ได้รับต่อเนื่องจากปีก่อน อีกราว 9 แสนคน
ขณะข้อมูลเมื่อปี 2559 ชี้ว่า ประเทศไทย มีเด็กจำนวนมากที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะฐานะยากจน เด็กไทยมากกว่า 5 แสนคน หลุดออกนอกระบบ และอีก 2 ล้านคน มีแนวโน้มจะไม่ได้เรียนต่อ
โควิด-19 กระทบกลุ่มเด็กยากจน-ด้อยโอกาส ขนาดไหน
วิกฤติ COVID-19 ยิ่งเห็นได้ชัด เด็กกลุ่มที่มีฐานะ สามารถศึกษาต่อที่บ้านได้โดยไม่ติดขัด มีเทคโนโลยีเรียนออนไลน์ เข้าถึงสื่อการศึกษาคุณภาพได้ทุกที่ทุกเวลา แต่กับเด็กมีฐานะยากจนต้องอยู่กับความยากลำบาก ยิ่งฐานะทางบ้าน เศรษฐกิจแย่ลง หลายครอบครัวได้รับผลกระทบ ส่งผลให้เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้เรียน ต้องออกมาช่วยงานที่บ้านเพื่อความอยู่รอด ทำให้มีความเสี่ยงออกนอกระบบ โอกาสในอนาคตก็เลยพลอยถูกจำกัดด้วย
หลายคนอาจไม่รู้ ครอบครัวยากจนกลุ่ม 20% ล่างสุดของประเทศ มีเด็กแค่เพียง 5% เท่านั้น ที่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย
ในฐานะ รมว.ศธ. มีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง
เรื่องนี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงปัญหา ความเหลื่อมล้ำการศึกษาของประเทศ ว่า ระบบการศึกษาไทยเราต้องเสริมสร้างทักษะ เพราะความสามารถของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน ความชอบก็ไม่เหมือนกัน พยายามหาตรงนั้นให้เจอเสียก่อน แต่ในระหว่างขบวนการนั้น เราก็มีการเตรียมการพัฒนาสู่เส้นทางที่เด็กนักเรียนคนนั้นๆ เก่ง ยกตัวอย่าง เขาเก่งเรื่องศิลปะ ดนตรี หรืออยากเก่งเป็นนักพูด หากเอาเรื่องกรอบวิชาการ เอาคะแนนไปวัดเขา เขาก็จะไม่เก่ง แปลว่าเขาเป็นคนไม่มีค่าทางสังคมเหรอ มันก็คงไม่ใช่ เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจ ถ้าเข้าใจตรงนั้น มันจะไม่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา
ขณะอีกส่วนหนึ่ง อาจเป็นเรื่องของเงินดิจิทัล มีความแตกต่าง ตรงนั้นก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโรงเรียน เพิ่มอุปกรณ์ หรืออะไร นั่นผมว่า มันไม่ใช่การแก้ความเหลื่อมล้ำ ผมว่าการแก้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คือ การทำให้มีโรงเรียนที่เป็นเลิศ มีนักเรียนที่เก่ง เฉพาะบริบทของเขาเอง มีครูที่เก่ง ก็จะลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปโดยปริยาย
คนมองว่า ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปัญหามันเกิดจากขัดสนเรื่องรายได้?
รมว.ศธ. กล่าวว่า ผมเห็นว่า อันนี้เราต้องช่วยกัน ถ้าคิดว่าตรงนั้นเป็นปัญหา อย่างการออกมาชุมนุมประท้วง ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุน ไม่มาเที่ยว ไม่มาใช้บริการต่างๆ ของประเทศไทย เฉพาะในช่วงนี้นะครับ เพราะหลายคนย้อนกลับไปว่า ตอนนั้นรัฐมนตรีก็เคยทำ ความแตกต่างกันตอนนั้นกับตอนนี้ แตกต่างกันเยอะมาก ตอนนี้เป็นทั่วทั้งโลก ก็ประสบภาวะคล้ายกัน ดังนั้น 1. เราต้องช่วยกันเองก่อน อันที่ 2. ต่างชาติจะไปประเทศไหนก็ได้ แต่เขาก็อยากมาประเทศเรามากที่สุด เพราะเราสามารถบริหารจัดการได้ ฉะนั้น วิกฤติโควิด-19 คือ โอกาสของประเทศ แต่ถ้ามาทำลายโอกาสประเทศตรงนั้น หรือปิดกั้นให้มีโอกาสน้อยลง ผมก็อยากลืมเรื่องต่างๆ แล้วมาช่วยกันดีกว่า แต่มันก็ทำยากครับ ยอมรับว่ายาก
ทำยังไง เมื่อปัญหา"ปากท้องและโควิด" ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทยยิ่งกว้างขึ้น
“เราต้องพยายามสร้างสถานศึกษาทั่วทั้งประเทศไทย ให้มีคุณภาพมากที่สุดที่เราสามารถทำได้ ในอดีตเรายังอาจมาโฟกัสในเมือง หรือโรงเรียนดังๆ ก็สนับสนุนให้มากๆ หน่อย ความจริงมันไม่ใช่ มันต้องกระจายให้แต่ละโรงเรียนมีเอกลักษณ์ตัวเอง จะเลือกด้านวิชาการ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น อันนี้แต่ละโรงเรียนวางแผนไว้ แล้วจัดงบประมาณตามนั้น เราก็จะได้การศึกษาที่มีคุณภาพกระจายไปทั่วประเทศไทย” นายณัฏฐพล กล่าว...
งานนี้คงต้องรอดูว่า จะทำได้ตามที่คาดหวังหรือไม่? "มีอนาคตของเด็กและเยาวชนไทยเป็นเดิมพัน"
ขอบคุณข้อมูล จาก กสศ.