เทคโนโลยีในโลกปัจจุบันพัฒนาไปไกลมาก สวนทางกับความไม่เสมอภาคทางเพศในสังคมไทยยังคงมีอยู่ แม้ดูเหมือนจะเปิดกว้างมากขึ้น แต่ยังคงพบความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศชาย เพศหญิง และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBT) หรือ “เพศที่สาม” เนื่องมาจากสังคมไทยถูกบ่มเพาะจากการเลี้ยงดูในครอบครัวมานานจากรุ่นสู่รุ่น ด้วยระบบชายเป็นใหญ่ ทำให้เกิดช่องว่างความไม่เท่าเทียมไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นในหลายด้าน
ผศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ "ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์" ว่า ปัจจุบันจะบอกว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศลดลงคงพูดยาก แต่ที่ผ่านมาได้รับความสนใจและแก้ไขจากสังคม ทั้งในเชิงนโยบายมากขึ้น รวมถึงได้มีกลไกต่างๆ ในเชิงกฎหมายออกมา อย่างพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ซึ่งไม่ใช่เพียงการแก้ไขเฉพาะความเท่าเทียมระหว่างหญิงและชายเท่านั้น ยังรวมถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ในกลุ่มชายรักชาย หญิงรักหญิง และคนข้ามเพศ นอกจากนี้ยังมีนโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติสำหรับผู้หญิง ภายหลังต่อสู้มากว่า 20 ปี
...
ภายหลังที่ไทยมีพ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ได้กำหนดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เปิดทางให้คนยื่นร้องเรียนเรื่องความไม่เป็นธรรมและถูกเลือกปฏิบัติในการรับเข้าทำงาน การศึกษา และการเลื่อนขั้นตำแหน่ง ขึ้นเงินเดือน โดยในช่วงที่ทำหน้าที่คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้รับเรื่องร้องเรียน 20 กว่าเรื่อง เช่น การเลือกปฏิบัติกับบุคคลหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีความแตกต่างจากเพศชีววิทยาที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิง จากการประกาศรับสมัครงาน ไม่รับบุคคลหลากหลายทางเพศ หรือการแต่งกายในการรับปริญญาบัตร ได้ทำให้หลายมหาวิทยาลัยมีการแก้ไขเปลี่ยนกฎเกณฑ์เรื่องการแต่งกายของนิสิตนักศึกษา และมีการยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนกรณีผู้หญิง ไม่ค่อยมีการร้องเรียน แม้บางคนถูกเลิกจ้างจากภาคเอกชนเนื่องจากตั้งครรภ์ก็ตาม
“ยอมรับพ.ร.บ.ฉบับนี้ อาจไม่เอื้อต่อผู้หญิงในการฟ้องร้องนายจ้าง จึงควรมีข้อบัญญัติในกฎหมายลูก ไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติ มีการเปิดกว้างให้กับคนด้อยอำนาจ ให้สามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ และที่ผ่านมาคณะกรรมการวินิจฉัยฯ พยายามแก้ไข เนื่องจากรัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้อยู่แล้ว ในการใช้กฎหมายใดๆ มาเป็นระยะ 5 ปี ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขจุดด้อย โดยได้ออกมาเป็นมติไม่ให้หน่วยงานต่างๆ เลือกปฏิบัติด้วยเหตุทางเพศ เช่น อนุญาตให้แต่งกายตามเพศสภาพ และเพิ่งมีการออกประกาศลดสัดส่วนเพศที่จะเข้าร่วมในหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น หลังจากหมักหมมมานานก็ได้รับการตอบสนอง เพื่อให้สังคมได้จดจำ”
นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่สังคมที่ยังตามไม่ทันกฎหมาย แต่ไม่ได้ให้การศึกษากับคนในสังคม ดังนั้นการจะให้คนในสังคมมีความคิดมุมมองที่ดีในเรื่องนี้ต้องใช้เวลา ต้องมีในระบบการศึกษา สร้างความเข้าใจในครอบครัวและชุมชน ในการปรับวิธีคิดและมุมมองใหม่ จากที่เราได้รับการสั่งสอนแบบเดิมๆ ให้รับรองเฉพาะเพศสภาพเฉพาะหญิงและชายเท่านั้น และหญิงต้องอยู่ภายใต้การนำของผู้ชายในหลายๆ เจนเนเรชั่น
กระทั่งมีกฎหมายเปิดกว้างเปลี่ยนแปลง แม้ไม่ได้ทำให้เกิดความเท่าเทียมจริง แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย เพราะเมื่อก่อนใครจะเรียนวิศวกร หรือนิติศาสตร์ หรือดำรงตำแหน่งนายอำเภอ ผู้ว่าฯ ต้องเฉพาะผู้ชายเท่านั้น จากรากเหง้าแบบเดิม ความคิดแบบเก่า ซึ่งต้องสร้างความรู้โดยจะไม่ให้ "อวัยวะเพศ" เป็นตัวแบ่งหญิงชาย ไม่ให้ชายเป็นใหญ่ หรือหญิงต้องเป็นรองเท่านั้น มันใช้ไม่ได้แล้วที่คนเกิดมาเป็นเพศแบบไหน ต้องเป็นแบบนั้น
ผศ.ดร.สุชาดา ยอมรับการรณรงค์เพียงอย่างเดียว คงไม่ทำให้วิธีคิดของคนเปลี่ยนแปลง และคิดว่ามีเพียง 20% ของคนในสังคมที่เปิดกว้างในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการส่งต่อความคิดเป็นรุ่นๆ ตั้งแต่ในโรงเรียน ครอบครัว และการเมือง ซึ่งนักการเมืองส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย นำไปสู่วิธีคิดของคนทั่วไปว่านักการเมืองผู้ชายดีกว่าผู้หญิง จึงพยายามผลักดันทั้งๆ ที่ประชากรเพศหญิงและชายในไทยก็ใกล้เคียงกัน แต่จำนวนผู้หญิงในวงการเมืองก็ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชาย แต่เปอร์เซ็นต์ก็ยังดีกว่าในอดีตมากๆ
...
หากมองหน่วยงานระดับกระทรวง กรม พบว่ามีผู้ชายอยู่ในตำแหน่งระดับสูงในหลายภาครัฐ รวมถึงภาคเอกชนที่มีมากกว่า ถือว่าไม่เป็นที่น่าพอใจ หากเมื่อเทียบปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยดีกว่ากัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา แต่อาจเท่ากับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ยกเว้นยุโรป ประเทศไทยด้อยกว่าแน่นอน
ส่วนกรณีการบวชภิกษุณี เคยมีการร้องเรียนในเรื่องนี้ เนื่องจากคณะสงฆ์ ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงบวช และที่เห็นผู้หญิงบวชก็ไม่ได้ถูกยอมรับจากคณะสงฆ์ และไม่มีกฎหมายรับรอง แต่มีพระจำนวนหนึ่งให้การยอมรับ โดยส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นความไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งมันเป็นเส้นทางไม่ให้เกิดการหลุดพ้น หรือเรียกว่าเส้นทางคนละเส้น ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถบรรลุเส้นทางธรรมได้อย่างสมบรูณ์ ต้องพึ่งพาผู้ชาย หรือเกาะชายผ้าเหลืองลูกชายเท่านั้น ไม่รวมถึงสวัสดิการที่พระสงฆ์ได้ แต่ภิกษุณี หรือแม่ชีไม่ได้เทียบเท่า ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ศรัทธาผู้ทรงศีลอยู่แล้ว แม้ว่าจะเป็นภิกษุณี
“บางคนมองว่าทำบุญกับภิกษุณี อาจไม่ได้บุญ เป็นการคิดแบบชาวบ้านที่บ่มเพาะมา แม้ภิกษุณีหลายท่านไม่คิดเรื่องนี้ เพราะหลุดพ้นแล้ว มองเป็นเรื่องทางโลกของฆราวาส จึงไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ แต่ก็ยอมรับผู้ชายในสังคมไทยสามารถเลื่อนสถานะทางสังคมได้ ด้วยการบวชเรียน ซึ่งมีมาตั้งแต่อดีต เพราะผู้หญิงกับพระอยู่ใกล้กันไม่ได้ เป็นการทำลายศาสนา จากมุมมองแบบนี้ทำให้ผู้หญิงไม่อาจใกล้ชิดพระได้ ส่งผลมาถึงปัจจุบัน แตกต่างจากผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ แต่ผู้หญิงหากไปบวชชีก็ถูกมองว่าอกหัก ยังมีทัศนะอย่างนี้อยู่ แต่ก็มีภิกษุณี ได้รับการศรัทธา แต่ไม่เท่ากับพระ โดยส่วนตัวมองว่าไม่น่าพอใจ ต้องควรปรับปรุงให้ดีขึ้น เพราะเรื่องเพศไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ”
...
แม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในสังคมไทย ไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น แต่มาช่วงหลังได้มีกลุ่มนักสตรีนิยมเปลี่ยนแนวทาง ในการสร้างแนวร่วมในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม ให้มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงและการขยายความร่วมมือให้มากขึ้นในทุกเจนเนเรชั่น ว่าได้สร้างทุกข์กับคนที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไร หรือเพราะคนคนนั้นเป็นลูกเป็นเมีย โดยเฉพาะในบางชนเผ่า บางชาติพันธุ์ได้มีจารีตประเพณีแบบเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบเดิมๆ ไม่ได้ทำร้ายเฉพาะผู้หญิง แต่ยังทำร้ายตัวคุณเองไปด้วย
และตราบใดสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเพศหลากหลายมีความทุกข์ ถามว่าจะมีความสุขได้อย่างไร เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ควรมองให้เห็นความทุกข์ของคนใกล้ตัวในครอบครัว รวมถึงญาติพี่น้อง คนในหมู่บ้าน และคนร่วมชาติเดียวกัน ควรต้องสร้างสรรค์โครงสร้างทางสังคมให้เป็นมิตรกับคนด้อยโอกาส โดยยอมรับว่าปัจจุบันความเข้าใจเกี่ยวกับเพศค่อนข้างเปลี่ยนได้ช้า เนื่องจากจารีตประเพณีแบบเดิมครอบงำอยู่ เมื่อเกิดมาดูโลกแล้วเป็นเพศหญิงจะเป็นอย่างไร หรือเกิดมาเป็นผู้ชายจะเป็นอย่างไร เพราะสังคมพยายามสร้างระเบียบให้กับคน โดยใช้เรื่องเพศเป็นตัวนำอยู่มาก
...
“ถามว่าคนรุ่นใหม่มีวิธีคิดแบบเข้าใจทั้งหมดทุกคนหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามีเพียง 20% เท่านั้น นอกนั้นมีการเลือกปฏิบัติ ซึ่งปัญหานี้จะไม่หมดไป จากคลื่นลูกเก่าครอบงำไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าคลื่นลูกใหม่จะมีแรงมากพอที่จะไล่ระบบนี้ออกไปจากสังคมไทยได้หรือไม่”
ขณะที่ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้คนรักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนสมรสได้ เพื่อรับรองการใช้ชีวิต โดยกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ และกลุ่มหลากหลายทางเพศ ได้ร่วมกันผลักดัน แต่เรื่องการรับบุตรบุญธรรมไม่สามารถทำได้ มีเพียงการจดทะเบียนสมรสเท่านั้น และไม่ครอบคลุมการเข้าถึงสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของคู่ชีวิต จึงต้องไปแก้กฎหมายแพ่ง ว่าด้วยการแต่งงานสมรส แม้ว่าจะไม่ใช้คำว่าหญิงชาย โดยเปลี่ยนเป็นบุคคลไม่ระบุเพศใดเพศหนึ่ง แต่เป็นเพียงการแก้เขียนศัพท์บัญญัติ ซึ่งมองว่ายังไม่เพียงพอ
เมื่อวิเคราะห์ให้ลึกในร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตฉบับเดิม ก่อนครม.มีมติเห็นชอบ ก็ยังไม่มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งส่วนตัวมองว่าพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ทำให้ทุกเพศได้ประโยชน์เท่ากัน แต่ไม่แน่ใจจะเป็นอย่างไรต่อไปในขั้นการพิจารณาของสภาฯ เนื่องจากก่อนหน้านี้พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ ซึ่งเคยมีการเสนอคู่กันระหว่างฉบับประชาชน และฉบับของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ แต่สุดท้ายแล้วฝ่ายนิติบัญญัติและกฤษฎีกา ได้เลือกฉบับของรัฐออกเป็นกฎหมายในที่สุด.